โมเดล “น้ำตาลมิตรผล” Zero Waste โตอย่างยั่งยืน

โมเดล “น้ำตาลมิตรผล” Zero Waste โตอย่างยั่งยืน

“มิตรผล”คือผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับหนึ่งของประเทศธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ไร่,โรงงานน้ำตาล,ปาร์ติเกิลบอร์ดตลอดจนธุรกิจพลังงานธุรกิจแห่งอนาคต

กระบวนการคิดเรื่อง “ไร้ของเหลือทิ้ง” เปลี่ยนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่าน “Mitrphol Sustainable Zero Waste Model” คือ เข็มทิศธุรกิจแบบฉบับ “มิตรผลกรุ๊ป” ที่นำพาโอกาสในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมาสู่พวกเขา

มิตรผลเข้ามาจับธุรกิจพลังงานเมื่อปี 2545 โดยต่อยอดจากกลุ่มธุรกิจน้ำตาล ซึ่งเป็น Core business เริ่มจากนำชานอ้อยที่เหลือจากการบีบน้ำอ้อยมาผลิตเป็น “พลังงานไฟฟ้าชีวมวล” แล้วนำเอากากน้ำตาลหรือโมลาส ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สุดท้ายของกระบวนการผลิตน้ำตาล มาเป็นวัตถุดิบตั้งต้น สำหรับผลิตเป็น “เอทานอล 99.5%” ที่ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เหล่าพลังงานทดแทนที่จะช่วยลดมลพิษให้กับโลก

“ถ้าเทียบกับธุรกิจทั้งหมด กลุ่มพลังงาน อาจมีแค่ประมาณ 10% แต่ที่น่าสนใจคือ เราคิดต่อยอดจากน้ำตาลซึ่งเป็นธุรกิจหลัก วันนี้พูดได้ว่า ถ้ามิตรผลไม่มี ไร่ ไม่มีน้ำตาล ไม่มีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เราคงไม่สามารถเติบโตมาถึงขนาดนี้ การเติบโตของเราอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า Sustainable Zero Waste Model ซึ่งเกิดขึ้นจากการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน”

“ประวิทย์ ประกฤตศรี” กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด หนึ่งธุรกิจใต้ร่ม “มิตรผลกรุ๊ป” ร่วมแบ่งปันวิธีคิด ในเวทีสัมมนา “Green Energy Forum : พลังงานสีเขียว ดุลยภาพสู่ความยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน)

บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด เป็นโรงงานผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ประเภท เอทานอล โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจากฝรั่งเศส ที่ชำนาญในการออกแบบและก่อสร้างโรงงานเอทานอล

พลังงานทดแทนที่สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 ก่อนจะค่อยๆ ขยับขยายแหล่งผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อยที่ได้จากโรงงานน้ำตาลในกลุ่มมิตรผล จากโรงงานแรกที่ชัยภูมิ มาเป็นที่กาฬสินธุ์ และสุพรรณบุรี และยังได้ร่วมทุนกับบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้ง บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ขึ้น ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยเริ่มดำเนินการผลิตมาตั้งแต่ต้นปี 2552

กำลังการผลิตรวมของพวกเขาอยู่ที่ ประมาณ 1.1 ล้านลิตรต่อวัน กลายเป็นผู้ผลิตเอทานอลมากที่สุดในประเทศ โดยผลิตผลที่ได้จะส่งขายทั้งใน และต่างประแทศ

กระบวนการคิดตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อไปสู่วัฏจักร “Zero Waste” ทำให้พวกเขาสามารถรีไซเคิลของเสียทุกอย่างกลับไปเพิ่มมูลค่าให้กับ “ไร่อ้อย” ทำให้เกิดวงจรที่ยั่งยืน เช่น การทำปุ๋ยชีวภาพ จากกากหม้อกรองซึ่งเป็นของเสียจากการผลิตน้ำตาล แต่อุดมไปด้วยสารอาหารสำหรับพืช โดยได้นำนักวิจัยจาก บริษัท มิตรผลวิจัยอ้อยและน้ำตาล จำกัด

รวมทั้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมด้านอ้อยมาช่วยถ่ายทอดความรู้การทำปุ๋ยชีวภาพให้กับชาวไร่อ้อย ตลอดจนฝึกอบรมและให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปุ๋ยที่ได้ก็คือปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตของพวกเขาเติบโต ทั้งยังลดการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นการช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรลงได้ด้วย

“วันนี้เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) รุนแรงมาก ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป โมเดลที่ใช้กันมาเป็นสิบๆ ปี เริ่มใช้ไม่ได้ ผมคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว ที่ทำเรื่องเหล่านี้ โดยหน้าที่ของเราคือ จะไปส่งเสริมให้ชาวไร่ ปลูกอ้อยให้ได้คุณภาพและมากขึ้น ให้ชาวไร่อ้อยมีความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น เพื่อที่เขาจะได้มีเงินมาลงทุน เพิ่มผลผลิต”

เมื่อ “ชาวไร่อ้อย” กลายเป็นหัวใจในการทำธุรกิจ พวกเขาบอกว่า จึงต้องพยายามส่งเสริมเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ ในภาคเกษตร ทดแทนแรงงานสูงอายุที่ทยอยผลัดใบไป โดยการสนับสนุนด้านเครื่องมือ พัฒนาระบบและเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถเพิ่มผลผลิตอ้อยให้มาก ขณะที่ชาวไร่ก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย

“เราใช้ปรัชญาว่า “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ฉะนั้นตลอดกว่า 55 ปี จากบริษัทเล็กๆ มาเป็นบริษัทแสนล้านบาท ในวันนี้ ผมคิดว่า สำหรับชาวไร่ทุกคน คงไม่ใช่สัญญาทาส แต่เป็นสัญญาแห่งการแบ่งปัน และร่วมอยู่ร่วมเจริญด้วยกันจริงๆ จึงเติบโตมาขนาดนี้”

เขาบอกวิธีคิดและมุมมองที่มีต่อชาวไร่ หุ้นส่วนที่สำคัญของพวกเขา

สำหรับเป้าหมายธุรกิจในอนาคต เขาบอกว่า คงไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ แต่ยังต้องพัฒนาต่อไป ทั้งในภาคเกษตรที่มุ่งพัฒนาและแก้ปัญหาเรื่องแรงงาน แนวทางลดต้นทุนของชาวไร่ สำหรับเอทานอล เขาบอกว่า ยังมองถึงการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ยังมีโอกาส นอกเหนือจากการนำมาใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิง

“สำหรับเอทานอล มีโอกาสที่จะขยายไปสู่บายโปรดักส์ในอนาคต ซึ่งการเติบโตขึ้นอยู่กับตลาด ว่ากระแสจะเป็นอย่างไร แต่เราคงไม่กระโดดเข้าไปเพื่อสร้างอะไรให้เกิดขึ้นทั้งนั้น ทว่าเราจะทำทุกอย่างบนความพอเพียง รอบรู้ มีเกราะป้องกันตัวเอง มองทุกอย่างอย่างรอบคอบ เราใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการทำงาน ทุกครั้งจึงต้องมั่นใจว่า มีทุกอย่างพร้อมถึงตัดสินใจทำ นี่คือนโยบาย”

สอดคล้องกับนโยบายในการดำเนินธุรกิจ ที่เขาบอกว่า ต้องควบคู่ไปกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR)

สำหรับกลุ่มมิตรผล พวกเขาวางกรอบโครงสร้างการดำเนินงานที่โปร่งใส มีจรรยาบรรณ ให้ความเป็นธรรมและคำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้อง ทั้ง คู่ค้า ลูกค้า ผู้บริโภค ตลอดจนการดูแลสิ่งแวดล้อมและพัฒนาชุมชน

โดยเชื่อว่า..จะเป็นหนทางนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในที่สุด

“เราคิดว่าการเติบโตแบบนี้ จะเป็นวัฏจักรที่สมบูรณ์ ช่วยลดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และยังช่วยทำให้ความเป็นอยู่ของลูกหลานเราในอนาคตดีขึ้นด้วย”

เริ่มคิดจากธุรกิจหลัก ต่อยอดมาเป็นพลังงานทดแทนที่มาจากวัตถุดิบทางการเกษตรที่เราสามารถผลิตได้เอง เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี โลกที่สะอาดและน่าอยู่ และธุรกิจก็มีมูลค่าเพิ่มจากวิธีคิดเหล่านี้

เรียกว่า “วิน-วิน” ทั้ง ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม