ยกระดับองค์กรด้วย Benchmarking

ยกระดับองค์กรด้วย Benchmarking

เครื่องมือการจัดการที่ได้รับความนิยมของผู้บริหารในองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

ในการสำรวจเกี่ยวกับเครื่องมือการจัดการที่ได้รับความนิยมของผู้บริหารในองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป จะพบว่า Benchmarking มักจะได้รับการโหวดให้ติด Top Ten มาตลอดทุกปี แต่ในประเทศไทยกลับยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์ใดที่จะลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถึงมีก็จะเป็นการประยุกต์ใช้ในกรอบแคบๆ ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ การปรับปรุงการบริการของโรงพยาบาล ด้วยการเรียนรู้แนวทางปฏิบัติจากโรงแรมชั้นนำระดับ 5 ดาว และการปรับปรุงกระบวนการรักษาพยาบาลด้วยการนำแนวคิด Lean ที่ได้ผลดีในอุตสาหกรรมยานยนต์มาใช้

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล Benchmarking เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งความคืบหน้าของการดำเนินการที่ได้รับทราบมา พอจะสรุปให้เห็นเป็นภาพกว้างๆ ดังนี้

1.การพัฒนากรอบมาตรฐานสำหรับการทำ Benchmarking (Benchmarking Framework)
คณะทำงานได้ทำการศึกษากรอบแนวคิดด้านการบริหารจัดการที่เป็นสากลต่างๆ ว่ากรอบแนวคิดใดที่น่าจะนำมาพัฒนาเป็นกรอบมาตรฐานสำหรับการทำ Benchmarking และเห็นว่าควรจะนำกรอบแนวคิดของ Malcolm Baldrige Criteria มาใช้เป็นกรอบมาตรฐานสำหรับการทำ Benchmarking เนื่องจากเป็นกรอบแนวคิดที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจได้ง่าย มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และมีการพัฒนานำมาใช้ในประเทศไทยแล้ว (ภายใต้ชื่อ Thailand Quality Award for Performance Excellence) ซึ่งทำให้ง่ายต่อการขยายผลและต่อยอด

2.การศึกษาวิธีปฏิบัติที่ดี (Good Practices) ในการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูล Benchmarking
คณะทำงานได้ศึกษาดูงานการดำเนินกิจกรรม Benchmarking ของ China Productivity Center ประเทศไต้หวัน Korea Productivity Center ประเทศเกาหลีใต้ และ Malaysia Productivity Corporation ประเทศมาเลเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับรูปแบบของการทำ Benchmarking วิธีการบริหารจัดการเครือข่าย การพัฒนาระบบฐานข้อมูล Benchmark รูปแบบบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำ Benchmarking ปัญหาอุปสรรคของการให้บริการ รวมทั้งความร่วมมือในการทำ Benchmarking ระหว่างประเทศในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล Benchmarking เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายกับองค์กรที่ดำเนินกิจกรรม Benchmarking ในประเทศต่างๆ

3.การพัฒนากระบวนการ Benchmarking (Benchmarking Approach) และการพัฒนาตัวชี้วัดมาตรฐาน (Standard Indicators)
คณะทำงานได้ดำเนินการพัฒนากระบวนการ Benchmarking ในลักษณะโครงการนำร่อง โดยปรับ
รูปแบบการทำ Benchmarking ที่เหมาะกับบริบทขององค์กรไทย ร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่น จำนวน 20 ราย ทำ Benchmarking ใน 3 หัวข้อได้แก่ กระบวนการบริหารการผลิต กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการพัฒนาบุคลากร ซึ่งกระบวนการ Benchmarking จะเริ่มตั้งแต่ การกำหนดขอบเขตของหัวข้อ การพัฒนาตัวชี้วัด การพัฒนาแบบสอบถาม การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติ และการจัดทำแผนปรับปรุง

4.การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและ Application ที่เกี่ยวข้อง
คณะทำงานได้ดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางสำหรับกระบวนการ Benchmarking ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลตัวชี้วัดในระดับกระบวนการ (Process Benchmark Data) และข้อมูลตัวชี้วัดในระดับ
องค์กร (Productivity Benchmark Data) ซึ่งจะรองรับการจัดเก็บข้อมูลทั้งในลักษณะ Off-Line และ
On-Line การประมวลผล และจัดทำรายงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเปรียบเทียบค่าตัวชี้วัดของตนเองกับฐานข้อมูลได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน (Intra-Industrial Benchmarking) การเปรียบเทียบระหว่างอุตสาหกรรม (Inter-Industrial Benchmarking) หรือ การเปรียบเทียบกับบริษัทในต่างประเทศ (International Benchmarking)

5.การจัดหาข้อมูล Benchmarking
คณะทำงานได้ดำเนินการจัดหาข้อมูลจาก 3 ส่วน เพื่อนำมาจัดทำฐานข้อมูล Benchmarking ประกอบด้วย
-ตัวชี้วัดในระดับกระบวนการ (Process Benchmark Data) ใน 3 กระบวนการเป้าหมาย โดยสำรวจข้อมูลจาก 67 องค์กรที่เข้าร่วมโครงการ
-ตัวชี้วัดในระดับกระบวนการ (Process Benchmark Data) ใน 3 กระบวนการเป้าหมาย โดยจัดหาข้อมูลจาก American Productivity and Quality Center (APQC)
-ตัวชี้วัดในระดับองค์กร (Productivity Benchmark Data) โดยจัดหาข้อมูลทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

6.การรวบรวมวิธีปฏิบัติที่ดี (Best Practices)
คณะทำงานได้สรุปและรวบรวมวิธีปฏิบัติที่ดีจากองค์กรที่เข้าร่วมโครงการ โดยเป็นวิธีปฏิบัติที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรในรูปแบบต่างๆ เช่น การนำเสนอ การ Site Visit องค์กรต่างๆ และจัดทำเป็นหมวดหมู่ตามกระบวนการเพื่อให้องค์กรอื่นๆ ที่สนใจสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีวิธีปฏิบัติที่ดีจำนวนทั้งสิ้น 11 เรื่อง ประกอบด้วย กระบวนการผลิต 5 เรื่อง กระบวนการพัฒนาบุคลากร 4 เรื่อง และกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ 2 เรื่อง

7.การสร้างเครือข่าย Benchmarking Network
องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การทำ Benchmarking เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด คือ การสร้างความไว้วางใจระหว่างองค์กรที่อยู่ในกลุ่ม หากองค์กรมีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ช่วยให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและวิธีปฏิบัติระหว่างกันทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนั้นคณะทำงานจึงได้จัดการสัมมนาให้ความรู้ทางเทคนิคในกระบวนการต่างๆ เพื่อให้องค์กรที่เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกัน ในขณะเดียวกันก็ได้ความรู้ไปพร้อมๆ กัน

8.การประชาสัมพันธ์ศูนย์ข้อมูล Benchmarking
คณะทำงานกำลังดำเนินการพัฒนา Website เพื่อเป็นช่องทางหลักในการเผยแพร่ข้อมูล Benchmarking ให้แก่ผู้ประกอบการทั่วไป รวมถึงมีแผนที่จะจัดงานสัมมนาเกี่ยวกับ Benchmarking เป็นประจำทุกปี ซึ่งอาจเป็นรูปแบบของการให้ความรู้ การนำเสนอวิธีปฏิบัติที่ดีจากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ หรือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากองค์กรที่ประสบความสำเร็จ

และเพื่อให้ Benchmarking นำไปสู่นวัตกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในองค์กรส่วนใหญ่ สถาบันจึงมีแนวคิดที่จะขยายเครือข่ายไปยังอุตสาหกรรมและบริการอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยางและพลาสติก อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจโรงพยาบาล เป็นต้น เชื่อว่าถ้าการบริหารจัดการองค์กรอยู่บนพื้นฐานของการใช้ข้อมูล ความจริง และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ย่อมนำมาสู่การยกระดับขีดความสามารถของประเทศในที่สุด