พรุ่งนี้จะมีงานทำไหม?

พรุ่งนี้จะมีงานทำไหม?

งานที่ทำอยู่ รู้สึกเบื่อ เหมือน เป็นของตาย อาจสูญเสียอย่างรวดเร็ว ชั่วพริบตา แก่ผู้ที่มุ่งไขว่คว้าเมื่อไหร่ก็ได้

คำถามนี้เหมือนจะห่างเหินชีวิตคนทำงานในเมืองไทย ที่สภาวะตลาดแรงงานเอื้อให้ คนมีฝีมือ คนมีประสบการณ์ คนทำงานระดับพอไหว หรือผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา “เลือกได้” ว่าจะหมายตาที่ทำงานใหม่ๆ ขนาดเล็กใหญ่ สัญชาติไทย อินเตอร์ หรือยังปักหลักอยู่กับที่ทำงานเก่า ที่ดูแล้วว่า “มั่นคง”
 ประเด็นนี้มิได้เกิดมาแต่การสมมุติฐานอันเลื่อนลอยของดิฉัน หากมา

แต่ตัวเลขอัตรา การว่างงานของไทยเรา จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 อยู่ที่ 0.6% เมื่อมองตัวเลขซ้ำจนแน่ใจว่าตัวเลขนี้บอกกล่าวอย่างชัดแจ้งว่า คนไทยมีงานทำ จนถึงระดับ งานล้นคน และคนทำงานอยู่ในภาวะเลือกได้


 ยิ่งไปกว่านั้น รูปแบบความสัมพันธ์ของคนทำงานกับที่ทำงานเริ่มสลายรูปแบบ นายจ้างกับ ลูกจ้างเป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม สามารถแสดงออกถึงความคาดหวังของความสัมพันธ์ต่อกัน และกันอย่างเปิดเผย


 นั่นเป็นตัวเลขทางทฤษฎีในภาพใหญ่ ซึ่งหากวิเคราะห์ลงไปทางปฎิบัติ ในรายละเอียด เชิงลึก องค์กรไม่น้อยยังประสบปัญหาในการสรรหาคนทำงานที่ใช่ ในสองปัจจัยหลัก ปัจจัยหนึ่งเป็นเรื่องระดับตำแหน่ง คนทำงานที่หาได้ยากเย็นยิ่งยุคนี้ เป็นคนทำงานระดับบริหาร และระดับล่าง ในขณะที่ระดับกลางยังมีตัวเลือกอยู่มากมาย เพราะเป็นแรงงานกึ่งชำนาญ ทั้งยังเปลี่ยนงานเปลี่ยนใจบ่อย ด้วยยังอยู่ระหว่างค้นหาตัวเอง


 ปัจจัยอีกประการ แม้จะหาผู้สมัครที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ตรง ตามคุณสมบัติ ที่สำคัญของงานนั้น แต่สิ่งที่หาได้ยากยิ่งคือ คุณลักษณะ บุคลิกภาพ หรือบางแห่งเรียกว่า DNA ที่ไม่ตรงต่อวัฒนธรรมที่ปรารถนาขององค์กรนั้น


 แต่โลกทุกวันนี้ที่ไม่มีสิ่งใดจะคงที่ ต้นทุนในการรักษาสิ่งเดิมเพิ่มทวี ยิ่งเสียกว่าการ รักษาสิ่งใหม่ สภาวะการณ์นี้ใช่จะคงเดิมเรื่อยไปตราบนิรันดร์ ยิ่งกับกระแสเศรษฐกิจถดถอย ที่กระจายตัวไปทั่วยุโรปทุกวันนี้ ไม่มากก็น้อย ไม่ช้าก็เร็ว ก็จะส่งผลกระทบ รูปแบบใด รูปแบบหนึ่ง ต่อตลาดแรงงานไทย อย่างน้อยๆ ขณะนี้ตลาดแรงงานระหว่างรัฐชาติ ก็เริ่มทะลาย กำแพง จากกลยุทธ์การ ร่วมมือกับทางการค้า


 หากเรามองอัตราการว่างงานของยุโรปในเลนส์ของพลเมืองโลก ที่สเปนอัตราการว่างงาน สูงถึง 25.1% ตามมาติดๆ ด้วยกรีซ 23.1% โปรตุเกส 15.7%   ซึ่งขณะนี้ชาวสเปนรุ่นใหม่ ที่เพิ่งจบ การศึกษาต่างรุดไปตายเอาดาบหน้าด้วยการหางานยังสหราช อาณาจักร เพราะดีกรีวิศวกรรมศาสตร์ หรือบริหารธุรกิจไม่ได้ช่วยให้หางานได้แต่อย่างใดในบ้านตัวเอง


 การเคลื่อนตัวของแรงงานกึ่งชำนาญ หรือชำนาญการณ์มายังทวีปเอเซีย เป็นเรื่องที่คาด หมายได้ไม่ยาก เพียงแต่ยังคลุมเครือเล็กน้อยว่าจะทวีความรุนแรงสูงสุดเมื่อใด แต่อย่างช้าย่อมไม่เกิน กว่า ค.ศ.2015 เป็นแน่


 คนทำงานก็มีส่วนคลับคล้ายผลิตภัณฑ์ค่ะ จำเป็นต้องอ่านโจทย์ความต้องการของตลาด และสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้สัมพันธ์กับช่วงเวลาของอายุประสบการณ์และอายุตัว


 เพราะในโลกเกือบจะเสรีโดยสมบูรณ์เฉกเช่นทุกวันนี้ งานที่ทำอยู่ รู้สึกเบื่อ เหมือน เป็นของตาย อาจสูญเสียอย่างรวดเร็วชั่วพริบตาแก่ผู้ที่มุ่งไขว่คว้าเมื่อไหร่ก็ได้


    มิใช่เรื่องเกินจริงแต่ประการใดค่ะ