For English, please press 2

For English, please press 2

จากงานวิจัย Harvard Business School พบความเสียหายที่ตีออกมาเป็นเม็ดเงินมากมายมหาศาล ถึง40 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากความผิดพลาดของการสื่อสาร

“แม่คะ แม่คะ แม่ แม่ แม่รู้เปล่า วันนี้นะ หนูเสียดายมากเลย” ภายในลิฟท์ที่เต็มไปด้วยผู้คนยืนเบียดกัน เสียงเล็กๆ ของหนูน้อยระดับประถมคนหนึ่งได้ดังขึ้น

ผมเองได้แต่แอบยิ้มน้อยๆ บนความน่ารักของสิ่งที่หนูน้อยพยายามกระซิบให้แม่ฟังว่า “วันนี้นะ คุณครูให้แข่งกันสะกดคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ทีมเราแพ้แค่นิดเดียวเอง คือ… คือ… ตอนที่ต้องสะกดคำว่า Restaurant ที่แปลว่าภัตตาคาร เพื่อนในทีมตอบไปโดยไม่ทันได้ปรึกษากันว่า Restaurent  เพื่อนหนูใช้ตัว “e” ตอบออกไปอย่างมั่นใจ แต่หนูคิดว่า ที่ถูกน่าจะเป็น “a” คือ Restaurant”

เด็กน้อยหยุดถอนใจพักใหญ่ดึงมือแม่ให้เอี้ยวตัวมาฟังเธอให้ถนัดขึ้น แล้วเล่าต่อว่า “หนูว่าจะขอแก้เป็น Restaurant แล้ว แต่ใจก็ลังเล ไม่กล้าขอสิทธิ์ จริงๆ คุณครูให้แก้ได้หนึ่งครั้ง แต่คือ… คือ… ตอนนั้น มันก็ตื่นเต้นมากนะแม่ พอตื่นเต้นแล้วก็เลยไม่มั่นใจว่าที่ถูกคือคำไหนกันแน่ พอตอนเฉลย ทีมเราแพ้ หนูก็มาเจ็บใจตัวเอง เพราะหนูไม่กล้าเองแท้ๆ ไม่เช่นนั้นทีมเราชนะแน่ เฮ้อ .....” 

 นี่คือตัวอย่างของคนไทยหลายๆ คนที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษ แต่ก็ไปไม่ถึงไหนเพราะความไม่กล้า ความไม่มั่นใจในตัวเองและกลัวว่าจะผิด เมื่อผิดก็มักจะรู้สึกว่าต้องอายคนรอบๆ ข้าง

ในขณะที่อีกตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่เราๆ ท่านๆ อาจจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาแบบมันส์ๆ ขำๆ ดังนี้ “You me go market together same same นะ and mom not must go, stay stay here side นี้ wait wait, ok.  See ไหม, must see car good good, one car garden come, one car garden go” ภรรยาคนไทยพยายามสื่อสารกับสามีฝรั่งว่า ให้แม่รอฝั่งนี้ ในขณะที่ต้องข้ามถนนไปตลาดอีกฝั่งหนึ่ง ต้องข้ามถนนฝ่ารถที่สวนไปมา

หรืออย่างเรื่องเล่าขำๆ ที่จำมาจาก Facebook ที่ส่งต่อๆกันมา เรื่องมีอยู่ว่า “ฝรั่งทะเลาะกับเมีย ฝรั่งอยู่ชั้นบนอพาร์ตเมนต์ เมียอยู่ข้างล่างตะโกนด่าสามีฝรั่งดังลั่นไปถึงปากซอยว่า  You know me a little go (แกรู้จักข้าน้อยไป)  You go far far feet เลย you  (แกไปไกลๆตีนเลย)  If you come down face look (ถ้าลงมาละน่าดู)  Which wood do you come with me (แกจะมาไม้ไหนกะข้า)

สองกรณีนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า คนรู้ไม่กล้าใช้ คนกล้าใช้กลับไม่รู้ แล้วเราจะทำอย่างไรให้คนรู้กล้าใช้ และทำอย่างไรให้คนกล้าใช้ต้องรู้หลักภาษาที่ถูกต้อง งานวิจัยชิ้นหนึ่งของ Harvard Business School เคยรวบรวมข้อผิดพลาดของการทำงานจากหลายๆ องค์กรในสหรัฐอเมริกา ค้นพบว่า ความเสียหายที่ตีออกมาเป็นเม็ดเงินมากมายมหาศาลต่อปีนั้น ประมาณ 40% เกิดจากความผิดพลาดจากการสื่อสาร ทั้งๆ ที่ใช้ภาษาเดียวกันและเป็นการทำงานในประเทศเดียวกันกับผู้คนที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน

วันนี้ หลายๆ องค์กรได้ขยายกิจการทั้งทางด้านการขายและการผลิตไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศกลุ่ม  AEC ( Asean Economic Community) แน่นอนว่า “ภาษา” เป็นส่วนสำคัญที่สุดของการสื่อสารเพื่อให้กิจการเดินได้ทุกวันทุกนาที ผู้คนทั้งสองแบบ (แบบรู้แต่ไม่กล้าและแบบกล้าแต่ไม่รู้) จากทางไทยที่ไปอยู่ในประเทศอาเซียน และผู้คนทั้งสองแบบที่เป็นคนท้องถิ่นในประเทศอาเซียน จากสองประเทศ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม มาทำงานร่วมกัน รับรองได้ว่า โอกาสของงานที่ออกมาจะผิดพลาด เพราะการสื่อสารน่าจะมากกว่า 40% 

ตัวอย่างใกล้ตัวที่เกิดขึ้นระหว่างคนงานในตำแหน่งแม่บ้านพม่ากับแม่บ้านไทยที่อาวุโสกว่า แล้วต้องทำงานร่วมกันมาได้ประมาณสี่ห้าเดือนโดยที่ผ่านมาก็พยายามใช้ภาษาอังกฤษกันแบบ Snake Snake Fish Fish อาหารมื้อกลางวันสองชนิดที่จัดเตรียมให้กับแขกของคุณแม่ที่มาเยี่ยมบ้านสี่ห้าคนในมื้อนั้น เป็นข้าวหมูแดงกับก๋วยเตี๋ยวราดหน้าหมู พวกเราเห็นแม่บ้านทั้งสองช่วยกันถือเข้าครัวไปจัดใส่จานออกมา ปรากฏว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นเพราะภาษาหรือไม่ก็ตาม วันนั้นพวกเราได้ทานเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ราดด้วยน้ำหมูแดงเปล่าๆ และข้าวราดหน้าคะน้าที่มีหมูต่างชนิดมากมายทั้งหมูแดง หมูกรอบ กุนเชียง หมูชิ้นและไข่ต้มผ่าครึ่งอีกหนึ่งชิ้น ทุกคนนั่งหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน กรณีนี้เราจะมองว่าผิดพลาด 100% ก็ได้ ไม่ถึง 100% ก็ได้ เพราะอย่างน้อยจานที่เป็นข้าวราดหน้าสารพัดหมูก็ยังทานได้ ส่วนเส้นก๋วยเตี๋ยวราดน้ำหมูแดงที่ไม่มีเครื่องอะไรเลย กับรสชาติที่ไม่เข้ากัน คงทำใจทานลำบาก ( ดูรายการสอนภาษาอังกฤษของ Adam Bradshaw ในรายการ Wink Wink English จะเห็นข้อผิดพลาด ในการใช้ภาษาของคนไทย )  http://www.youtube.com/watch?v=a4lq_3AlXEg&feature=relmfu       

จากเรื่องง่ายๆ ของอาหารสองอย่างยังผิดพลาดกันได้ นับประสาอะไรกับงานที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นอย่างองค์กรที่ไปลงทุนในประเทศต่างๆ ในอาเซียน เพราะแน่นอนว่า Language Barrier คงจะต้องเป็นอุปสรรคของความก้าวหน้าของกิจการ ข้อผิดพลาดย่อมต้องมีมากกว่า ส่งผลให้ต้องมีการแก้ไขงานบ่อยกว่า ความล่าช้าของงานก็จะตามมาเช่นกัน ในเมื่อความเข้าใจซึ่งกันและกันคงต้องใช้เวลาในการอธิบายความมากกว่าที่ทำกันในประเทศไทยกับพนักงานคนไทยด้วยกัน และจากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น

 เราๆท่านๆคงจะมานั่งหัวเราะกันเหมือนกรณีของอาหารสองอย่างไม่ออก

หนึ่งในทางออกระยะสั้น คือ การค้นหาบุคลากรที่พูดภาษานั้นๆ ให้ได้ เช่น หากไปเปิดโรงงานในประเทศพม่า คงต้องหาคนไทยที่พูดพม่าได้หรือคนพม่าที่พูดไทยได้ นอกเหนือจากภาษาอังกฤษที่ถือว่าพนักงานทั้งสองชาติต้องมีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว หมดเวลาไม่กล้า กลัวผิด อายคนรอบข้าง วันนี้พูดผิดๆ ถูกๆ ไปก็ยังจะดีกว่าไม่กล้าพูด พูดผิดจึงจะได้เรียนรู้และปรับแก้ไขให้ถูกต้องได้ต่อไป  ทางออกในระยะยาว องค์กรบริษัทห้างร้านคงต้องเน้นการรับพนักงานที่ใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นมาตรฐานและมุ่งเน้นการอบรมทางด้านภาษาให้มากยิ่งขึ้น
 
ที่น่าเป็นห่วง คือ ระบบการศึกษาของภาครัฐ ไม่อยากเชื่อเลยว่า นักศึกษาที่เรียนจบจากสาขาธุรกิจระหว่างประเทศ ใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ เนื่องจากตลอดสี่ปีในระดับปริญญาตรี ได้โอกาสเรียนภาษาอังกฤษไม่ถึง 4 วิชา พื้นฐานทางภาษาอังกฤษของคนไทยทั่วไป ยังคงตามหลังผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศอาเซียนอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม พม่า ไม่ต้องไปเทียบกับมาเลเซียและสิงคโปร์เลย ลองทดสอบเรื่องง่ายๆใกล้ตัวดู เวลาโทรศัพท์เข้าไปตามบริษัทหลายๆแห่ง มักจะมีเสียงรับสายบอกว่า ภาษาไทยกด 1  For English, please press 2  ทดลองกด 2 ทีไรก็ตอบรับเป็นภาษาไทยกลับมาทุกทีหรือไม่ก็จะเป็นเทปภาษาอังกฤษบอกให้ต่อเบอร์ภายใน ถ้าไม่มีคนรับก็จะเด้งกลับไปยังโอเปอร์เรเตอร์ที่ใช้ภาษาไทยอยู่ดี

ท้ายนี้ ขอฝากเทคนิคการฝึกฟังและอ่านง่ายๆ ที่จำมาจากคุณครูของลูกครับ คุณครูแนะนำให้ดูภาพยนตร์ฝรั่งจาก DVD เลือกเสียง Sound Track และเลือกคำบรรยาย  Subtitle เป็นภาษาอังกฤษ ตาดูหูฟัง วิธีนี้จะพัฒนาไปเร็วครับ ไม่ต้องเปลืองตัวฝึกภาษาอังกฤษโดยการหาแฟนฝรั่งมาควงต่อไป

 เมื่อคนรู้กล้าใช้และคนกล้าใช้ได้รู้จริง ก็คงไม่ต้องอาศัยระบบเสียงอัตโนมัติแบบ  For English, please press 2
http://www.facebook.com/WinkWinkEnglishFanpage    แนะนำกด Like เฟซบุ๊กนี้เพื่อเรียนรู้ภาษาอังกฤษทางลัดครับ