หลัก 7 มี ดี 7 เรื่อง

หลัก 7 มี ดี 7 เรื่อง

การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม หากจะทำให้เป็นที่ยอมรับ น่าเชื่อถือ องค์กรต้องมีหลักที่ยึดโยง หากขาด (หรือใช้หลักกู)จะยุ่งเหยิงไร้ประโยชน์

จั่วหัวอย่างนี้ คงไม่เกี่ยวกับหนังที่กำลังลงโรงอยู่ในขณะนี้แต่ประการใด เพียงสื่อให้นึกถึงหลักการ (Principles) ในมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO26000 ที่มีอยู่ 7 ประการ และเรื่องหลัก (Core Subjects) ซึ่งก็มีอยู่ 7 เรื่องเหมือนกัน ที่ถูกแนะนำไว้ในมาตรฐานฉบับดังกล่าว


การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม หากจะทำให้เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือ แน่นอนว่าองค์กรจำต้องมีหลักให้ยึดโยงและต้องทำความเข้าใจร่วมกันในหมู่พนักงานให้เกิดขึ้นก่อนที่จะแปลงไปสู่การกระทำ หากองค์กรขาดหลักการ (หรือใช้หลักกู) ในการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ก็จะพาลให้เกิดความยุ่งเหยิงสับสน และยังสูญเสียทรัพยากรไปโดยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์โภชน์ผลที่ทั้งองค์กรและสังคมพึงจะได้รับในปลายทาง


การอ้างอิงหลักการอันเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เป็นหนทางหนึ่งที่สามารถใช้เป็นพวงมาลัยช่วยให้องค์กรเดินทางบนถนนความรับผิดชอบต่อสังคมได้โดยไม่แหกโค้งหรือตกข้างทาง ไม่พาผู้โดยสารที่เป็นพนักงานในองค์กรเจ็บตัวไปตาม ๆ กัน และยังป้องกันไม่ให้ผู้สัญจรรอบข้างซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ต้องประสบอันตรายหรือได้รับความเสียหายไปด้วย


หลักการในมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO26000 ที่มีอยู่ 7 ประการ หรือ “หลัก 7 มี” นั้น ประกอบด้วย


1) มีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ (Accountability) เป็นความสามารถขององค์กรในการตอบคำถามของผู้มีส่วนได้เสีย อันเนื่องมาจากการดำเนินงานและการตัดสินใจขององค์กร ในส่วนที่เป็นผลกระทบจากการตัดสินใจขององค์กร (โดยเฉพาะในด้านลบ) รวมถึงการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ โดยที่องค์กรสามารถตอบข้อสงสัยต่อสาธาณชนได้
2) มีความโปร่งใส (Transparency) เป็นการเปิดเผยการตัดสินใจและการดำเนินงานต่างๆ ขององค์กรอย่างชัดเจน ซื่อตรง ถูกต้อง ครบถ้วน และเหมาะสมกับช่วงเวลา ในเรื่องที่เกี่ยวกับกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ แหล่งที่มาของเงินทุน แนวโน้มผลกระทบจากการตัดสินใจและการดำเนินงานที่อาจเกิดขึ้น ฯลฯ
3) มีการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม (Ethical Behaviour) เป็นพฤติกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการปฏิบัติที่ดี ตามบรรทัดฐานสากล ในประเด็นการชี้บ่ง การนำไปใช้ การสื่อสาร การป้องกันแก้ไขข้อขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเหมาะสม รวมถึงประเด็นอื่น อย่างเช่น การเคารพต่อสวัสดิภาพของสัตว์
4) มีการเคารพถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย (Respect for Stakeholder Interests) เป็นการพิจารณาและตอบสนองต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย นอกเหนือจากผลประโยชน์ขององค์กร ซึ่งองค์กรต้องมีความสามารถในการชี้บ่งและจัดลำดับความสำคัญผู้มีส่วนได้เสีย การคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผลประโยชน์และความคาดหวังระหว่างผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงการพิจารณาถึงผลกระทบผู้มีส่วนได้เสียจากการตัดสินใจขององค์กร
5) มีการเคารพต่อหลักนิติธรรม (Respect for the Rule of Law) เป็นการพิจารณา ชี้แจง และกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งในขั้นตอนของการปฏิบัติให้สอดคล้องเหมาะสม การติดตามเพื่อให้รับทราบ และการทบทวนเพื่อให้มีความสอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
6) มีการเคารพต่อหลักปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานสากล (Respect for International Norms of Behaviour) เป็นการดำเนินงานที่คำนึงถึงหลักการสากล นอกเหนือจากหลักนิติธรรม ได้แก่ การเคารพและปฏิบัติตามแนวทางที่เป็นสากล หรือการหลีกเลี่ยงการร่วมมือกับองค์กรที่มีพฤติกรรมหรือการดำเนินงานที่ขัดกับแนวปฏิบัติสากล เป็นต้น
7) มีการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน (Respect for Human Rights) เป็นการปฏิบัติที่ดำเนินภายใต้ ธรรมนูญแห่งสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อาทิ การเคารพและส่งเสริมตามธรรมนูญฯ การหลีกเลี่ยงการแสวงหาผลประโยชน์ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน


ว่าในบทหลักการไปแล้ว ยังไม่ได้สาธยายถึงเรื่องหลักด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ “ดี 7 เรื่อง” ซึ่งเปรียบได้กับสถานีที่สารถี CSR ขององค์กร จะต้องขับเคลื่อนยานพาหนะของกิจการแวะเวียนไปทำกิจกรรมหรือเก็บแต้มความรับผิดชอบต่อสังคมบนเส้นทางที่มีความยั่งยืนเป็นสถานีปลายทางนี้ เนื้อที่ก็พลันหมดเสียก่อน คงไว้ให้ได้ขยายความกันในโอกาสต่อไป