เหตุใด “ผู้นำ” จึงควรเป็น “ผู้นอน” (1)

เหตุใด “ผู้นำ” จึงควรเป็น “ผู้นอน” (1)

ระยะนี้ผมมีโอกาสได้ไปคุยกับหลายๆ องค์กรเรื่องการทำงานของสมองกับภาวะผู้นำ (Neuroscience and Leadership)

หนึ่งในคำถามที่มักถูกถามคือ “ทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ผู้นำใช้สมองของตนเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”

ดังนั้น 2-3 คอลัมน์หลังจากนี้ ผมขอแชร์ถึงวิธีดังกล่าวนะครับ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ประยุกต์จากหนังสือ Brain’s Rules ของ Dr. John Medina นักจุลชีววิทยาและการพัฒนาการของสมอง
เรื่องแรกคือ “การนอน”
 ขอเริ่มด้วยคอมเมนท์เฟสบุ๊คของเพื่อนผม ซึ่งเป็นผู้บริหารในองค์กรขนาดใหญ่ของไทยแห่งหนึ่งเขียนว่า “สรุปนอนได้ครบ 1.5 ชม. พอดิบ พอดี ลูกชายดันตื่นเร็ว ไปทำงานก่อนนะคร้าบบบบบบ” ขออนุญาตเอามาคุยต่อยอดที่นี่นะครับพ่อโดม
 ชั่วโมงครึ่ง!! ไปทำงานต่อได้ไง?? เม้นท์ที่ตามมาอีกยาวเหยียดด้วยความเป็นห่วงคือ นอนไม่พอเดี๋ยวเสียสุขภาพ จะทำงานไหวเหรอ ให้ดูแลตัวเองดีๆ ระวังจะเป็นลม ฯลฯ
 ถ้า 1.5 ชั่วโมงไม่พอ แล้วคนทำงานต้องนอนเท่าไหร่จึงจะ “พอ”? เอาอย่างนี้แล้วกัน
 เริ่มจากคำถามง่ายๆ ก่อน มนุษย์ต้องนอนเท่าไหร่จึงจะพอ? 6 ชั่วโมง 8 ชั่วโมง?
 คำถามง่าย คำตอบไม่ง่าย ตอบตรงๆ ทางวิทยาศาสตร์คือ “We don’t know”... เราม่ายรู้
 ?? จริงๆ ครับ วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถบอกได้ว่ามนุษย์ต้องนอนเท่าไหร่จึงจะพอ แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนต้องการนอนมาก บางคนต้องการน้อย บางทีคนๆ เดียวกันกลับไปกลับมาแล้วแต่ช่วงก็มี วัดลำบาก
 เอ้า...งั้นเปลี่ยนมุมถามก็ได้ แล้วถ้ามนุษย์ “ไม่นอน” จะเป็นอย่างไร?
 ถามอย่างนี้พอจะมีคำตอบ เอาอย่างนี้แล้วกัน Dr. Medina เล่าว่า มีเด็กคนหนึ่งเลือกทำโปรเจ็คงานวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนด้วยการตั้งใจ “ไม่นอน” ติดกัน 11 วัน เพื่อจะดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ที่ไม่น่าเชื่อคือเขาสามารถทำได้สำเร็จด้วย ส่วนผลสรุปง่ายๆ คือช่วงท้ายของสิบเอ็ดวันเด็กคนนี้กลายเป็นบ้า ไม่สามารถโฟกัสได้ คุยอะไรก็ไม่รู้เรื่อง ตัดสินใจไม่ได้แม้เรื่องง่ายๆ หงุดหงิด เจ้าอารมณ์ รุนแรง และรู้สึกเหนื่อยยยยยมาก ฯลฯ (ฟังดูคล้ายคนใกล้ตัวในองค์กรบ้างไหมครับ?)
 การอดนอนร้ายแรงขนาดไหน? มันมีโรคชนิดหนึ่งเรียกว่า “Fatal Familial Insomnia” แปลซื่อๆ ว่าการนอนไม่หลับจนทำให้เสียชีวิต เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ โชคดีที่มีคนแค่ไม่กี่คนในโลกนี้ที่เป็น อาการคือไม่สามารถนอนหลับได้ ผลคือชีวิตเหมือนตกนรก เป็นโรคจิตหลอน ขวัญผวา เสียสติ จนสุดท้ายเข้าขั้นโคม่าและเสียชีวิต
 ดังนั้นดูเหมือนว่าการ “นอน” จะจำเป็น คำถามต่อไป... แล้ว “นอน” ไปเพื่ออะไร?
 คำตอบทางวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สรุปชัดเจนเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่รู้และที่น่าประหลาดใจมากคือ เราเคยเชื่อว่าการนอนคือการพักผ่อน หมายความว่าอวัยวะทุกส่วนในร่างกายลดการทำงานลงรวมถึงสมองของเราด้วย เราเคยเชื่อว่าต้องนอนเพราะร่างกายต้องพัก
 ข้อเท็จจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นทั้งหมด เวลาส่วนใหญ่ที่เรานอน หากเอาปลั๊คเสียบดูในสมอง (เขาทำอย่างนี้จริงๆ) จะพบว่า ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย “หลับ” สมองของเรากลับ “ตื่น” มากกว่าเวลากลางวันเสียอีก เสียงพูดคุยในหัวของเราจ๊อกแจ๊กจอแจวุ่นวายไปหมด เหมือนผับที่คึกคักตอนดึกๆ ในยามที่โลกหลับ
 ลองคิดดูก็อาจจริงนะ เพราะเวลาฝันเรามักคิดอะไรต่อมิอะไรได้เตลิดเปิดเปิงกว่าเวลาตื่นเยอะเลย เช่น มังกรไฟถือสามง่ามวิ่งไล่แทงคุณแม่ยายตกหน้าผา (ขออภัย แต่ข้าพเจ้าเคยฝันงี้จริงๆ) เป็นต้น ซึ่งเวลาตื่นไม่เค้ยไม่เคยคิด
 เป็นที่มาของสมมติฐานใหม่ในปัจจุบันว่า มนุษย์ไม่ได้นอนเพื่อให้ “สมอง” พัก แต่นอนเพื่อให้สมองได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพโดยไม่ต้องมีระบบอื่นมารบกวนต่างหาก ผมนึกเปรียบเทียบดูคงคล้ายกับคอมพิวเตอร์เวลาเรา Defragment ฮาร์ดไดรฟ์เพื่อจัดเก็บข้อมูลให้เข้าที่ โดยระหว่างนั้นโปรแกรมอื่นๆ จะไม่สามารถทำงานได้ และกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาหลายชั่วโมงเพราะข้อมูลมันเยอะมาก
 ดังนั้นหากคุณคิดอะไรไม่ออก ข้อแนะนำแรกคือ... ไปนอนซะ ตื่นขึ้นมาอาจได้ความคิดใหม่ๆ
 การค้นพบที่สำคัญคือ มนุษย์มี “บัญชี” การนอนด้วย กล่าวคือถ้าเรานอนได้เพียงพอ บัญชีของเราก็จะเป็นบวก คือสะสมชั่วโมงนอนเอาไว้ (sleep surplus) แต่หากเรานอนไม่พอ บัญชีของเราก็จะติดตัวแดง คือขาดทุนชั่วโมงนอน (sleep deficit) และสะสมไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดผลกระทบต่อการทำงานของสมองในระยะยาว เราได้นอนเมื่อไหร่ก็ได้กำไรคืนมาบ้าง เราอดนอนเมื่อไหร่ก็กลับไปขาดทุน
 แล้วเรื่อง “การนอน” มันเกี่ยวกับคนในองค์กรอย่างไร? หน้ากระดาษหมดแล้วติดไปครั้งหน้าแล้วกันนะครับ
 ฝากคำถามทิ้งท้ายไว้ แล้วบัญชีการนอนของคุณผู้อ่านล่ะครับ ปัจจุบันกำไรหรือขาดทุน?