ไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึง จึงไม่พัฒนา

ไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึง จึงไม่พัฒนา

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในมิติต่างๆ เพื่อให้การพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืน

 ภาพรวมของการพัฒนาประเทศในอดีตที่ผ่านมา นับตั้งแต่ระยะของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1-7 (2504-2539) สรุปได้ว่า “เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน” จึงทำให้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 (2540-2544) ได้ปรับแนวคิดการพัฒนาประเทศใหม่จากเดิมที่ให้ความ สำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นประเด็นหลัก มาเป็นการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและสังคมไปพร้อมกัน และเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดการพัฒนาที่มี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” โดยให้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเปลี่ยนวิธีการพัฒนาเป็นแบบองค์รวมที่เชื่อมโยงมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันอย่างสมดุล


 แต่วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 ทำให้การปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการพัฒนาไม่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม สังคมไทยได้เริ่มรับรู้ถึงหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งได้รับการขานรับอย่างกว้างขวางในขณะที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตครั้งสำคัญของประเทศ


 ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (2545-2549) จึงได้อัญเชิญหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ โดยให้ความสาคัญกับการพัฒนาที่สมดุล ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายหลักเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยสู่ความอยู่ดีมีสุข พร้อมทั้งยึดหลักทางสายกลาง เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤต สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง มีคุณภาพและยั่งยืน


 และในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (2550-2554) ยังคงน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างสมดุล การอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุขในสังคม และการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 นี้ ได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของทุน 3 ด้าน ได้แก่ ทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ และการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและความอยู่เย็นเป็นสุขของคนในสังคม


 ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การพัฒนาประเทศ ภายใต้ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) โดยยังคงยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและ “สร้างสมดุลการพัฒนา” ในทุกมิติ เป็นไปในแนวทางที่ยั่งยืนและสร้างความสุขให้กับคนไทย สำหรับทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในมิติต่างๆ เพื่อให้การพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืน โดยขยายการนำทุนของประเทศที่มีศักยภาพ จาก 3 ทุน ทั้งทุนสังคม ทุนเศรษฐกิจ และทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็น 6 ทุน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนสังคม ทุนกายภาพ ทุนทางการเงิน ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทุนทางวัฒนธรรม มาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน


 อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า แนวคิดแห่งการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีลักษณะที่สำคัญ ได้แก่
 1) ให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาคน” ในการดำเนินวิถีชีวิตอย่างมั่นคงบนพื้นฐานของการรู้จักความพอประมาณ การคำนึงถึงความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
 2) เน้นการ “เข้าใจ เข้าถึง และร่วมพัฒนา” อย่างสอดคล้องกับ “ภูมิสังคม” ที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของระบบภูมินิเวศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
 3) เป็นการพัฒนาที่คำนึงถึงการ “ทำตามลำดับขั้นตอน” จากการสร้างพื้นฐานให้มั่นคงพอควรแล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ


 จะเห็นว่าแนวทางแห่งการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น นอกจากการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์อย่างเป็นลำดับขั้นโดยคำนึงถึงภูมิสังคมแล้ว ยังต้องพัฒนาคนให้เตรียมพร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกอย่างมีความสมดุลด้วย