ทำอย่างไรให้ลูกพี่กด Like

ทำอย่างไรให้ลูกพี่กด Like

เมื่อไม่นานมานี้ ดิฉันได้มีโอกาสฟังมุมมองของ Dr. Heidi Grant Halvorson อาจารย์คนดังด้านจิตวิทยาสังคมของมหาวิทยาลัย Columbia

 ประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่อง มืออาชีพจะประสบความสำเร็จได้ ต้องไม่หยุดพัฒนา

 วิธีหลักที่จะทำให้เราพัฒนาได้ เริ่มจากการเข้าใจถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง

 ปัญหาสำคัญ คือ ไม่ว่าเราจะอยากเข้าใจตนเองขนาดไหน มนุษย์ส่วนใหญ่มักมองตนเองเพี้ยนผิดบิดเบือนไปบ้าง อย่างปุถุชนคนธรรมดา ที่ย่อมมีอคติ มีอัตตา ส่งผลให้ตาเขเฉไฉ ยามมองตนเองเมื่อใด มักหาจุดด้อยไม่ค่อยเจอ หรือแม้พบบ้าง ความเข้มข้นอาจห่างจากความเป็นจริง

 ผมเป็นอย่างนี้ เขาเรียกว่าเป็นคน “แกร่ง” ใครจะว่า “กร้าว” แปลว่าเขาไม่เข้าใจ 

 การที่ยอมหยวนให้ใครๆ เช่นนี้ เขาเรียก “อ่อนโยน” ใครหาว่า “อ่อนแอ” แปลว่าใจร้ายจ้ะ

 Dr. Halvorson ฟันธงว่า จากการวิจัยเรื่อง Perception หรือมุมมอง แกพบว่า มุมมองของคนทำงานที่มีเกี่ยวกับตนเอง เปรียบเทียบกับมุมมองของคนอื่นเกี่ยวกับตัวเขา มักมองพ้องกัน เฉลี่ยเพียงแค่ 40% หรืออีกนัยหนึ่ง มุมมองทั้งสอง ต่างกันถึง 60%

 ทั้งนี้ ไม่ว่ามุมมองของคนอื่นที่เกี่ยวกับเราจะถูกหรือไม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามุมมองของคนรอบตัวเรา ย่อมมีอิทธิพลต่อการกระทำของเขาที่เกี่ยวข้องกับเรา เช่น แม้ว่าเราจะเห็นว่าเราเป็นน้องใหม่แสนเก่ง กล้าถาม กล้าแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ออกจะน่าชื่นชม หัวหน้ารุ่นลุงๆ ป้าๆ อาจมองพฤติกรรมเดียวกันว่าก้าวร้าว ไม่เข้าตากรรมการ ทำงานกับเขาเลยไม่รุ่ง เพราะทำให้เขาหงุดหงิดจิตตก

 การได้รับรู้ว่าคนอื่นดูเราอย่างไร บางครั้งไม่ใช่เรื่องสนุก ฟังแล้วอาจขนลุกเกรียว น่าสยดสยอง ว่าเขามองเราเช่นนี้ได้อย่างไร

 กระนั้นก็ดี กรุณาทำใจว่า มุมมองเหล่านี้ ไม่ว่าเราจะได้รับรู้รับฟังหรือไม่ มันมีอยู่ดี

 ดังนั้น ทางเลือก คือ เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ไม่ฟัง !

 หรือ รู้ ยังดีกว่าไม่รู้ หากใช่ จะได้หาหนทางปรับปรุง หากไม่ใช่ จะได้มีโอกาสแก้ภาพที่ผิด

 คิดได้เช่นนี้ น่าจะมีโอกาสพัฒนา

 ดังนั้น จะพัฒนาได้ ต้องหมั่นใช้ตาคนอื่นให้เป็นประโยชน์

 ทั้งนี้ บทบาทสำคัญหนึ่งของผู้บริหารยุคใหม่ที่จะช่วยให้ทีมงานพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การให้ Feedback หรือ การบอกให้เขารับรู้ว่ามุมมองของหัวหน้าเกี่ยวกับตัวลูกน้องเป็นอย่างไร

 แต่ไม่น่าแปลกใจว่า หัวหน้าจำนวนไม่น้อยไม่ค่อยให้ Feedback เพื่อช่วยลูกทีมพัฒนาเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นเพราะไม่ถนัด ไม่มีเวลา หรือ เห็นว่า Feedback ไปก็ไร้ประโยชน์ โกรธกันเปล่าๆ สู้ทำไม่รู้ไม่ชี้ ดีกว่าเยอะ

 ลูกน้องทั่วไป เลยได้แต่ตะเกียกตะกาย เรียนรู้จากการดูเขา จำเอามาลอง ได้ความผิดเป็นครู กว่าจะเรียนรู้ ต้องวิ่งสู้ฟัด จัดเอง

 ข้อแนะนำสำหรับคนทำงานที่ต้องการพัฒนา คือ กรุณาอย่านั่ง “รอ” ให้ใครๆ เขาใจดีมีเวลาและเมตตามาชี้แนะว่า น้องจ๋า หนูลุยมากเกินไปไหม หนูควรใส่ใจในเรื่องรายละเอียด หนูอย่าเครียดเกินไป หนูน่าจะหาความรู้เพิ่มเรื่องตัวเลข ฯลฯ

 คนยุคใหม่ต้องกล้าลุกขึ้นไป “ขอ” Feedback

 คุณ Marshall Goldsmith โค้ชดังด้านการบริหารจัดการระดับโลก มีข้อแนะนำง่ายๆ ให้เราไปใช้ในการขอ Feedback อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

 แทนที่จะถามลูกพี่รวมๆ ว่า “พี่ขา มีอะไรชี้แนะหนูในการทำงานไหม” ช่วยลูกพี่เพื่อให้แนวทางได้กระจ่างขึ้น โดยถามไล่เป็นประเด็นที่เขาเรียกว่า 3 S คือ Start Stop Stay

 พี่ขา หนูอยากพัฒนา จะได้ช่วยงานพี่ได้ดีขึ้น อยากรบกวนเวลา สอบถามพี่ว่าหนูต้องพัฒนาเรื่องอะไรบ้าง

 - มีเรื่องไหนที่หนูยังไม่ได้ทำ หรือทำน้อยไป (Start)

 - มีเรื่องไหนที่หนูทำมากไป ควรทำน้อยลง หรือหยุดทำ (Stop)

 - มีเรื่องใดที่พี่เห็นว่าหนูทำได้ดีอยู่แล้ว จะได้ตั้งใจทำต่อไป (Stay)

 การขอ Feedback เช่นนี้ นอกจากดูมืออาชีพ ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และรู้ใจเขามากขึ้นแล้ว ยังเป็นการบริหารหัวหน้าอย่างเนียนๆ

 เพราะหัวหน้าทั่วไป ย่อมอยากให้ลูกน้องพัฒนา เด็กน้อมเข้ามาหาเช่นนี้ พี่ย่อมกด Like สบายเรา!