“เงินสงเคราะห์ - ปรับที่อยู่ผู้พิการ” ที่หายไป

“เงินสงเคราะห์ - ปรับที่อยู่ผู้พิการ” ที่หายไป

ยังมีเงินพึ่งจ่ายเป็นสวัสดิการสำหรับผู้พิการอีกมากมายที่ตกหล่น หรือหายไป

ถึงตอนนี้ เรารู้แล้วว่า คนพิการ 1.8 ล้านคน มีผู้สูงอายุถึง 50 เปอร์เซ็นต์ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องใช้ และจัดเตรียมงบประมาณสนับสนุนไว้ปีละกว่า 28,000 ล้านบาท และงบประมาณรอใช้สิทธิ์เพียงครั้งเดียวอีก 9,000 ล้านบาท อยู่ที่ว่าคนพิการจะแสดงตัวและออกมาใช้สิทธิ์ต่างๆ หรือไม่

แต่ผู้เขียนเห็นว่า สำคัญว่า คนพิการรู้สิทธิ์ตัวเองหรือไม่ต่างหาก

skynews-wheelchair-disabled_4202778

จุดเปลี่ยนผ่านกฎหมายแบบสังคมสงเคราะห์สู่กฎหมายสิทธิมนุษย์ชน แต่ทางปฏิบัติ สังคมไทยยังก้าวข้ามไม่ได้ อันเนื่องจากความยากจนของกลุ่มประชากรคนพิการ ร่องรอยแห่งการสงเคราะห์ยังคงอยู่ เช่น เบี้ยยังชีพคนพิการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยผู้ป่วยโรคเอดส์ จากเดิมมี “ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548” ให้มีการจ่าย “เงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพ” เป็นรายเดือนให้แก่ คนพิการเดือนละ 300 บาท ผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาท และผู้ป่วยโรคเอดส์เดือนละ 500 บาท 

จนปัจจุบันมี พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปี 2550 (แก้ไขปี 2556) และระเบียบปี 2559 ให้จ่ายเบี้ยยังชีพคนพิการเดือนละ 800 บาท สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำหรับผู้สูงอายุ จ่าย 600 – 1,000 บาท ตามขั้นบันไดช่วงอายุ

สอบถามรายละเอียดที่สายด่วน 1300 หรือที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ

แต่ระเบียบเดิมของกระทรวงมหาดไทยเรื่องการจ่าย “เงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพ” ยังมีผลอยู่ หาก จนท.ท้องถิ่นพิจารณาแล้วเห็นว่า คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเอดส์ ในพื้นที่ปกครองของตน มีฐานะความยากจนสามารถอนุเคราะห์จ่ายเบี้ยเพื่อการยังชีพได้สูงสุดถึงเดือนละไม่เกิน 1,000 บาท หรือพิจารณาให้เป็นครั้งละ 6 เดือนก็ได้ ดูได้จากเวลามีคนยากจนออกรายการทีวี จะมี จนท.พัฒนาจังหวัด และ จนท.อปท. จะวิ่งเข้าไปนำเงินไปให้รายละ 2,000-3,000 บาท

อีกงบประมาณหนึ่ง ที่กำลังดังในทางไม่สู้ดีนัก คือ “เงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง” ปีละ 3 ครั้งๆ ละ 2,000 บาท จากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สังกัด พม. ที่คอรัปชั่นเกือบทั่วประเทศ 

หากมองข้ามเรื่องนี้ไป คุณสมบัติของการได้รับการสงเคราะห์ นอกจากคนไร้ที่พึ่ง ยังมีกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือยากจนนั่นเอง ก็เข้าหลักเกณฑ์ด้วย โดยส่วนใหญ่คนพิการจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือทุกด้านที่ พมจ.ประจำจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ที่ศาลากลาง หรือศูนย์ราชการทั่วประเทศ

disable-japan

จะเห็นว่าเงินลักษณะสงเคราะห์จากทั้งสองหน่วยงานหลักคือ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นั้นจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย เนื่องจากไม่ได้มีการให้เงินสงเคราะห์ดังกล่าวกับทุกคน จึงอาจเป็นช่องว่างของการทุจริตคอรัปชั่นได้ อีกตัวอย่างของการสงเคราะห์และอาจจะมีการคอรัปชั่น ควบคู่ไปด้วย คือ “การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้แก่คนพิการ”

กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สังกัด พม. มีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งปัจจุบันมีขนาดกองทุนมากกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกองทุนนี้มีภารกิจในการช่วยเหลือคนพิการมากมายเช่นกัน แต่บทควมนี้ผู้เขียนขออ้างอิงถึงเฉพาะหัวข้อ “การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้แก่คนพิการ” (เป็นลำดับแรกก่อน) ตามประกาศสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ.2554 โดยมีอัตราวงเงินแบบเหมาจ่าย รายละไม่เกิน 20,000 บาท

คนพิการที่มีความประสงค์จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์ได้ที่ สำนักงานองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) (เช่น อบต. หรือเทศบาล) ทั่วประเทศ จากนั้นทาง อปท. จะส่งเรื่องไปยัง พมจ. แต่ละจังหวัด 

ปัจจุบันมีการพิจารณาโดยเฉลี่ยไม่เกิน 20 รายต่อปี ต่อ 1 จังหวัด เท่ากับใช้งบประมาณเฉลี่ยเพียง ประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี หรือสามารช่วยเหลือคนพิการได้ประมาณ 1,500 รายต่อปีเท่านั้น ในขณะที่มีคนพิการที่มีความต้องการปรับปรุงที่อยู่อาศัยจำนวนหลายแสนคน หรือจากข้อมูลในบทความตอนที่ 1-2 ระบุว่า มีคนพิการจากอุบัติเหตุปีละกว่า 5,000 คน

หากราชการยังคงปฏิบัติแบบนี้ กว่าคนพิการจะได้รับความช่วยเหลืออีก 200 กว่าปีก็ช่วยเหลือไม่หมด ปัจจุบันพบว่าการยื่นเรื่องขอปรับปรุงที่อยู่อาศัย ไปแล้วอาจต้องรอ 1-2 ปีขึ้นไป เพราะมีคิวรอล่วงหน้า อันเนื่องจากมีความต้องการที่มากกว่าการอนุมัติเรื่อง

หากภาครัฐคิดใหม่ ให้ความช่วยเหลือจังหวัดละ 200 ราย จะสามารถช่วยเหลือคนพิการได้ถึงปีละ 15,000 หลังคาเรือน และใช้งบประมาณเพียง 300 ล้านบาท เปรียบเทียบกับขนาดกองทุนฯ ที่มีมากกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท และเงินสมทบยังเพิ่มสะสมทุกปี

20180216130957074

ผู้เขียนเคยอยู่ในห้องประชุมเรื่องการใช้งบประมาณของกองทุนฯ บางส่วนงานประกาศกันว่ามีงบให้ 600 ล้านบาท ให้ผู้เกี่ยวข้องไปหารายการทำโครงการต่างๆ มา เป็นกระจกสะท้อนความด้อยศัยภาพของการบริหารงบประมาณ เรื่องปัจจัย 4 ที่อยู่อาศัยควรเป็นเรื่องสำคัญๆ ลำดับต้นๆ แต่ตรงกันข้ามกลับมองข้ามอย่างน่าตกใจ

ในส่วนของการทุจริตคอรัปชั่น ผู้เขียนเคยพูดคุยกับคนพิการตามต่างจังหวัดชนบท ย่อขนาดการคอรัปชั่นลงมา เช่น สั่งปูน 20 ถุง แต่ใช้จริงเพียง 5 ถุง หรือไม่ได้มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในบ้าน เช่น การปรับประตูบ้าน ประตูห้องน้ำ การเปลี่ยนสุขภัณฑ์ การติดตั้งอุปกรณ์จับยึดในห้องน้ำ การปรับพื้นทางลาด จุดเชื่อมต่อภายนอก-ใน เป็นต้น มีเพียงเปลี่ยนโถส้วมจากนั่งยอง เป็นแบบนั่งชักโครกหรือนั่งทรงสูงแล้วราดเท่านั้น แล้วให้เซ็นต์เอกสารรับมอบ ครอบครัวคนพิการได้รับฟรี ก็ดีใจ แต่อาจจะไม่ทราบเลยว่า มีมูลค่าถึง 20,000 บาทหรือไม่

สำหรับบทความตอนที่ 3 นี้ บอกให้ทุกท่านทราบว่า เมื่อมีการใช้ดุลพินิจจากเจ้าหน้าที่ ย่อมเปิดโอกาสให้มีการทุจริตคอรัปชั่นได้ เช่น “เงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง” หรือ “เงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพ” ที่ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ของหน่วยงานท้องถิ่น อปท. หรือ “การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้แก่คนพิการ” ที่อาจมีการยัดไส้ใช้เงินจริงไม่ถึง 20,000 บาท เรียกว่าเป็นการทุจริตงบประมาณแผ่นดิน อย่างไม่น่าให้อภัยครับ 

มาถึงตรงนี้ทั้งคนพิการ และผู้ดูแลคนพิการที่มีสิทธิ์หลังบัตรคนพิการ ไม่ควรที่จะเซ็นชื่อในสำเนาบัตรคนพิการให้ใครทีละมากๆ เพราะลายเซ็นของคนพิการมีมูลค่ามาก และไม่ควรตกเป็นเหยื่อทุจริตคอรัปชั่น เฮ้อ! (ถอนหายใจ) 

บางทีถ้าจะโกงกัน ก็ยังเอาสำเนาบัตรคนพิการไปถ่ายเอกสาร แล้วเซ็นชื่อแทน ก็ตามที่เห็นในทีวี ครับ!