ดรามาหอศิลป์ฯ ถึงศิลปะในฐานะสวัสดิการของสังคม

ดรามาหอศิลป์ฯ ถึงศิลปะในฐานะสวัสดิการของสังคม

ดรามานิทรรศการคาราวัจโจ ปลุกการถกเถียงเรื่องมาตรฐานของพื้นที่ทางศิลปะของไทย และเมื่อกทม. หมายตาหอศิลป์ฯ ก็ยิ่งชวนให้ตั้งคำถามถึงวิสัยทัศน์ที่รัฐมีต่อศิลปะเพื่อประชาชน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ดูเหมือนว่าวงการศิลปะร่วมสมัยของกรุงเทพฯ (ไทย) กำลังระอุ ตั้งแต่ดรามานิทรรศการคาราวัจโจ ไปจนถึงข่าวการพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ มีแนวคิดให้สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเข้ามาบริหารจัดการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แทนมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดความเห็นแย้งถึงการเข้ามาครอบงำพื้นที่ทางศิลปะที่ควรจะเป็นกลาง มากกว่าอยู่ภายใต้การควบคุมของราชการ และรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งในที่สุดแนวคิดนี้ก็ยุติลง เมื่อปะทะกับกระแสสังคม

ย้อนกลับไปถึง นิทรรศการคาราวัจโจ “Carravaggio Opera Omnia” ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานของศิลปินอิตาเลียนชื่อดังแห่งศตวรรษที่ 16 มิเกลันเจโล เมรีซี ดา คาราวัจโจ (Michelangelo Merici da Carravaggio)  ที่กำลังจัดแสดงอยู่ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครนั้น ได้เป็นประเด็นถกเถียงในวงการศิลปะ ถึงการนำเสนอผ่านการผลิตซ้ำอย่างการพิมพ์อิงค์เจ็ทปะติดลงบนกล่องไฟ ว่าทำลายอรรถรสของการชมผลงาน แทนที่จะนำงานผลิตซ้ำมาจัดแสดงหลายสิบผลงาน สู้นำงานจริงมาแสดง 1 ชิ้นยังดีกว่า แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความเห็นต่างจากคนในวงการศิลปะว่าการนำงานจริงมาจัดแสดงนั้นเป็นเรื่องยากมากด้วยประการทั้งปวง เพราะหอศิลป์ในไทยยังขาดปัจจัยพื้นฐานในการนำงานจริงมาจัดแสดง (หรือต้องใช้งบมหาศาล) แต่ในแง่การศึกษา ซึ่งเป็นคนละเรื่องของสุนทรียะ การชมงานจำลองก็ไม่ได้จำกัดการต่อยอดความรู้แต่อย่างใด

แต่ไม่ว่าจะมีความเห็นอย่างไรเกิดขึ้น ทั้งหมดก็จบลงที่มาตรฐานและวิสัยทัศน์ของรัฐที่มีต่อศิลปะ ที่ยังทำให้คนไทยไม่สามารถเข้าถึงสุนทรียะในการชมงานจริงระดับมาสเตอร์คลาสสิกได้ ผิดกับที่ประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างสิงคโปร์ ที่หลายคนยกขึ้นมาเปรียบเทียบกันเรื่องนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรมชัดเจนและก้าวหน้า หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของสิงคโปร์นั้นก็มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับโลก ถึงขนาดนำคอลเลกชั่นระดับมาสเตอร์พีซมาแสดงแล้วหลายชุด แต่ในไทยล่ะ?

แม้นิทรรศการดังกล่าวมีสถานทูตอิตาลีเป็นผู้นำเข้ามา ไม่ใช่การริเริ่มของหอศิลป์ฯ หากความน้อยเนื้อต่ำใจในข้อจำกัดของเรานั้นเป็นของจริง ใช่ว่าไม่เข้าใจเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านศิลปะของไทยไม่เอื้ออำนวย แต่เพราะเข้าใจดีจึงยิ่งเศร้าใจ และอดนึกถึงคำๆ หนึ่งขึ้นมาไม่ได้ เป็นคำที่ฟังแล้วช่างไกลตัว คำว่า

               “ศิลปะในฐานะสวัสดิการของสังคม”

ซึ่งผู้เขียนเห็นจากแบบสอบถามหลังการชมการแสดงที่ Pichet Klunchun Dance Company ไม่แน่ใจว่าเมื่ออ่านคำนี้แล้ว แต่ละคนจะรู้สึกอย่างไร สำหรับผู้เขียนแล้วนั่นหมายถึงโครงสร้างพื้นฐานของสังคมที่รัฐต้องจัดหาให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีสมกับความเป็นมนุษย์ ในประเทศไทยที่รุ่มรวยด้วยศิลปวัฒนธรรม แต่โครงสร้างพื้นฐานด้านศิลปะของเรายังอยู่ในระดับที่ต้องศิลปินและองค์กรต่างๆ ขวนขวายกันเองเป็นส่วนมาก

งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้กระทรวงวัฒนธรรมสำหรับปี 2561 นั้นอยู่ที่ประมาณ 8,602 ล้านบาท จัดว่าเป็นงบไม่น้อย แต่สัดส่วนของการสนับสนุนอาจอยู่ที่ศิลปะแนวประเพณีเป็นหลัก   แถมทัศนคติต่อศิลปะของประชาชนส่วนใหญ่ที่อาจคิดว่า ศิลปะเป็นเรื่องเกินความจำเป็น ไม่ดู ไม่ฟัง ไม่ได้เสพ ก็ไม่เห็นตายนี่

ไม่ต้องพูดถึงการถกเถียงเรียกร้องจะชมผลงานจริงระดับมาสเตอร์ของโลก ก็ยิ่งดูเป็นเรื่องเกินตัวไป... หรือเปล่า?

ศิลปะสำคัญอย่างไร

ก่อนจะพูดถึงสวัสดิการด้านศิลปะ เราก็ยังคงต้องตอบคำถามคลาสสิกให้ได้ก่อนว่าศิลปะสำคัญอย่างไรสำหรับชีวิต ทำไมสื่อหรือคนในวงการศิลปะต้องเดือดร้อน เมื่อศิลปะร่วมสมัยไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ เมื่อพื้นที่ทางศิลปะต้องถูกควบคุมโดยราชการ

รศ.ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ ศิลปิน และอาจารย์ประจำภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อธิบายถึงบทบาทของศิลปะที่ควรจะเป็น แต่ยังไม่ถูกทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจ

“ฟังก์ชันข้อแรกก็คือศิลปะเป็นประสบการณ์ที่สะท้อนมาสู่ความเข้าใจโลกอีกทีหนึ่ง ตรงนี้คือสิ่งจำเป็น แต่ในประเทศนี้ ฟังก์ชันนี้ของศิลปะไม่เคยถูกทำให้เข้าใจเป็นสาธารณะอย่างแพร่หลาย”

สำหรับพิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินศิลปาธร ด้านศิลปะการแสดง ผู้ก่อตั้ง Pichet Klunchun Dance Company คำถามนี้ต้องย้อนกลับไปที่คำถามที่ว่า “ศิลปะคืออะไร?” เลย

“ในสังคมไทยเราคิดว่าศิลปะทำหน้าที่เพื่อความบันเทิง แต่อันนั้นไม่ได้เรียกว่าศิลปะ ศิลปะจริงๆ ทำหน้าที่ในการขัดเกลา ทำนุบำรุงจิตวิญญาณของคนทุกคน วันนี้เรากำลังถูกทำร้ายด้วยระบบที่เรียกว่าระบบความบันเทิง ทุกอย่างที่เป็นความบันเทิงรอบตัวเรา ดึงสติหรือความคิดที่จะอยู่กับตัวเองออกไปจนหมด โทรศัพท์มือถือ ทีวี อินเตอร์เน็ท อะไรก็แล้วแต่ ทำให้เราไม่มีสติอยู่กับตัวเอง ไม่เคยตั้งคำถาม ศิลปะยิ่งมีความสำคัญในวันนี้ เพราะทำให้เราได้หยุดและสื่อสารกับตัวเอง”

“ศิลปะยังทำให้คนรับรู้และเรียนรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เพราะงานศิลปะร่วมสมัยเป็นงานที่สร้างขึ้นใหม่ ตามสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ในสังคม และบอกสิ่งที่กำลังจะเกิดต่อไป ก็ทำให้คนฉุกคิด ตื่นรู้กับตัวเอง โอเค ฉันจะเจอกับเรื่องนี้ในอนาคต”

สิ่งสำคัญที่ทำให้บทบาทเพื่อพัฒนาด้านจิตวิญญาณของมนุษย์นั้นไม่เกิดขึ้นในระดับสาธารณะ ดร.สิทธิธรรม โรหิตะสุข นักประวัติศาสตร์ศิลป์ อธิบายว่า

“ต้องย้อนกลับไปที่หลักสูตรศิลปะของบ้านเรา แต่ไหนแต่ไรก็ยังไม่เคยเป็นหลักสูตรที่จะสร้างประชาชนให้เป็น ‘ผู้เสพศิลปะ’ ผมพูดอย่างนี้ได้เลย สังเกตว่า ถ้าไม่ใช่คนที่สนใจศิลปะ เขาจะกลัวการวาดรูป กลัวคำว่าศิลปะต่างๆ บอกว่าไม่รู้เรื่อง ปัญหาเหล่านี้สะสมกันมาเป็น 50 – 60 ปีแล้ว เพราะหลักสูตรของประเทศไทยเรา เน้นแต่การปฏิบัติ ตั้งแต่ประถม มัธยม เราถูกสอนให้วาดรูป เขียนแบบ แต่ไม่มีเรื่อง Art Appreciation (ศิลปะวิจักษณ์ ให้เกิดความเข้าใจในรสของศิลปะ อย่างเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของชีวิต) และเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกคนทั้งห้องเก่งศิลปะเหมือนกันหมด พอใครทำไม่ได้ก็ถูกกันออกไปจากศิลปะ”

หากมีการศึกษาให้เข้าใจศิลปะกันอย่างเป็นธรรมชาติแล้ว ต่อให้ทุกคนไม่ได้ลงเอยในวงการศิลปะ ก็ยังมีความประทับใจและรักศิลปะ ทำให้เกิดวงจรการสนับสนุนซึ่งกันและกัน เกิดนักธุรกิจที่สะสมงานศิลปะ เกิดบรรยากาศที่เด็กๆ ไปเดินเล่นในมิวเซียม ถกเถียงกันเรื่องศิลปะก็จะเกิดขึ้นอย่างเป็นปกติ แต่เมื่อการเรียนการสอนของไทยไม่เป็นเช่นนั้น คนส่วนมากจึงถูกกีดกันออกจากศิลปะ และไม่เข้าใจว่าศิลปะเป็นเรื่องของการพัฒนาปัญญาอย่างไร

สวัสดิการด้านศิลปะของไทยมีอยู่อย่างไร

ศิลปะในฐานะสวัสดิการของสังคมมีอยู่หรือไม่? ดูจากงบประมาณของกระทรวงวัฒนธรรม ก็ต้องบอกว่ามี แต่ยังจำกัดอยู่ที่การส่งเสริมแต่ศิลปะตาม “ระเบียบรัฐ” (ขอให้คิดถึงการที่รัฐส่งเสริมศิลปะแนว “ออเจ้า” อย่างครึกครื้น) ส่วนศิลปะร่วมสมัยยังค่อนข้างจำกัด

“เป็นคำถามที่ยากและใหญ่ เพราะมันไปถึงโครงสร้างของสังคม” รศ.ธเนศ ตอบทันที “สังคมไทยเป็นสังคมที่มีโครงสร้างเหลื่อมล้ำและรวมศูนย์อยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ ถ้าเราพูดทั้งประเทศ คำถามที่ถามถึงสวัสดิการด้านศิลปะจึงยังห่างไกลมาก และดูสถานการณ์รวมแล้วตอนนี้ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ในการที่รัฐจะคิดว่าสวัสดิการที่มนุษย์ที่เจริญแล้วควรจะได้รับรู้ศิลปะ จะต้องตอบคำถามนี้ให้สังคมรับรู้ก่อนว่า ศิลปะมันฟังก์ชั่นกับมนุษย์ในแบบที่เราไม่น่าจะขาดได้ แต่คนที่ไม่เคยมีเขาก็ไม่เข้าใจว่ามันดีอย่างไร”

การกระจายพื้นที่ทางศิลปะก็ยังไม่เท่าเทียมครอบคลุม ต่อให้พูดถึงเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีทุกสิ่งมากกว่าต่างจังหวัดก็ยังมีประเด็นเรื่องมาตรฐานของพื้นที่ศิลปะสาธารณะอีก

“เช่น เรามีมิวเซียมดีๆ ที่มีคอลเลกชั่นดีๆ มีการสร้างองค์ความรู้ มีมาตรฐานแล้วหรือยัง มีการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันในระดับอย่างที่สิงคโปร์มีไหม ถ้าเรายกสิงคโปร์มาเปรียบเทียบ ผมมองว่า ประเทศนี้คนที่มีอำนาจที่สามารถสร้างให้เกิดความเคลื่อนไหวได้ไม่มีวิสัยทัศน์ในรื่องนี้ อย่างสิงคโปร์เขาตั้งประเทศหลังเราตั้งนาน แต่แป๊บเดียวเขาก็สามารถเป็นประเทศโลกที่หนึ่งได้ อันนี้มันเป็นเรื่องการมีวิสัยทัศน์ก่อน แล้วก็มีความพยายามที่จะไปถึง ถ้ามีก็เป็นไปได้ แต่ของเราดูเหมือนว่าไม่มีตรงนี้เลย ผมคิดว่าถ้าจะตอบตรงๆ คือ สวัสดิการด้านศิลปะ ไม่พอ ไม่มี และเขาไม่คิดว่าจะต้องทำให้ศิลปะเป็นองค์ความรู้ที่เข้าใจได้จริง และฟังก์ชันศิลปะในแง่การยกคุณภาพของจินตนาการ ของสำนึกเรื่องตัวตนมนุษย์ ที่เป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าขึ้นมายังไม่มี ผมคิดว่ามันพัวพันกัน”

ศิลปะในมือรัฐ

นักประวัติศาสตร์ศิลป์อย่าง ดร.สิทธิธรรม ย้อนให้ฟังว่าอันที่จริงนโยบายรัฐที่มีต่อการจัดการพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมนั้นมีมาตั้งแต่ยุคของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งให้ความสำคัญต่อพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก (ดร.ป๋วย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงบประมาณในขณะนั้น และตั้งงบสำหรับการก่อสร้างหอศิลป์ตั้งแต่ก่อนออกจากสำนักงบประมาณ และได้ดำเนินการต่อในปี 2507) แต่หลังจากนั้นจนถึงตอนนี้ แม้ว่าจะมีหอศิลป์เกิดขึ้นหลายแห่ง ก็ยังไม่ได้ทำงานอย่างเต็มบทบาท

“จริงๆ แล้วนโยบายด้านศิลปะของรัฐบาลต้องชัดเจน ต้องมีพื้นที่ก่อน ไม่ว่าจะสเกลไหนก็ตาม จากนั้นก็เป็นการจัดการพื้นที่ จะเป็นมิวเซียม เป็นที่สำหรับการเรียนรู้โดยเฉพาะ ที่ต่างประเทศน่าจะเหมือนกันหมด แต่ในไทยก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนกันบ้าง แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการพูดเรื่องนี้มาก่อน และยังไม่พูดถึงต่อไป เพราะไม่ถูกให้ความสำคัญ แต่งานที่จะถูกให้ความสำคัญก็ต่อเมื่อมันไปสนับสนุนการโปรโมทอะไรของรัฐ เช่น ความเป็นไทย แนวประเพณี ตรงนโยบายของรัฐ แต่ถ้าอะไรไม่เกี่ยว ในระยะยาวก็ไม่ได้รับการพูดถึง

นโยบายสนับสนุนด้านศิลปะ “อย่างจริงจัง” ที่ดร.สิทธิธรรมย้ำคือ “ความหลากหลายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วม”

ด้านรศ.ธเนศเห็นว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านนี้เมืองนี้คือชนชั้นนำมองแบบหนึ่ง ประชาชนส่วนหนึ่งที่มีการศึกษามองแบบหนึ่ง ประชาชนที่อยู่ในโครงสร้างข้างล่างก็มองอีกแบบหนึ่ง คือไม่ค่อยสนใจหรือถูกทำให้ไม่ค่อยสนใจ (ศิลปะ)  เพราะถูกทำให้ไกลตัว เมื่อผมตีความว่ามนุษย์ควรจะอยู่อย่างไรในสังคมแบบนี้ ก็ไปกระทบรัฐ ทั้งหมดกลับไปที่เรื่องเดียวคือการเมือง คือเราจะอยู่อย่างไรดีในประเทศนี้ ที่รัฐหรือชนชั้นนำเอาเงินภาษีเราไปบริหาร แต่เขาบริหารโดยไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนจริงๆ แต่เขาเป็นประเภท... ถ้าเราใช้คำศัพท์เชยๆ ก็ ‘คุณพ่อรู้ดี’ คิดอย่างนี้แล้วก็จัดการไปทำให้สังคมเหลื่อมล้ำตลอด ยังไม่เห็นแนวทางว่าจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น”

สวัสดิการไม่เท่ากับ “ให้”

รศ.ธเนศ บอกว่าการพูดถึงศิลปะในฐานะสวัสดิการสังคมเป็นการเรียกร้องที่สูงเหลือเกิน “คำนี้เป็นอุดมการณ์ที่เรียกร้องมากเลย” ในบริบทสังคมปัจจุบันที่คำว่า “สวัสดิการ” ไม่ได้อยู่ในสำนึกของการบริหารบ้านเมือง ตราบใดที่รัฐยังคิดว่าสวัสดิการ คือการ “ให้” แก่ประชาชน

“สวัสดิการ ไม่ได้แปลว่าให้ มันแปลว่าคุณเข้าไปทำงานแทน คุณเอาภาษีผมไป ผมเลือกตั้งคุณเข้าไป แต่ทีนี้คุณเป็นรัฐประหาร มันก็หลุดออกจากกรอบคิดแบบนี้ ใกล้ขึ้นของรัฐประหาร ก็คือเขาคิดว่าเขาใช้เงินภาษีของประชาชนบริหารประเทศ มันต้องถูกคืนกลับมาที่ประชาชน แต่ตรงนี้ไม่ได้ถูกคิดเลย”

แต่คำที่เป็นอุดมคติสูงนี้ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะรศ.ธเนศเห็นว่าหากใช้คำเพื่อเป็นยุทธวิธีบ่อยครั้งเข้า คำก็จะทำงานให้สังคมรู้สึกตัวว่า นี่คือสิ่งจำเป็น จะต้องมีหรือเปล่าในสังคมไทย แล้วต้องมีแบบไหน?

เช่นเดียวกับที่พิเชษฐ กลั่นชื่นพูดถึงศิลปะในฐานะสวัสดิการสังคม

“รัฐสามารถโต้แย้งผมได้ทันทีว่าเขาทำไปแล้ว เช่น เวลาที่มีโขนละครให้เราดูตามที่ต่างๆ แต่ว่า เขาไม่ยอมบอกเราว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสวัสดิการ หรือสิ่งที่เขากำลังให้เราในอดีตที่ผ่านมา จริงๆ แล้วเป็นเงินของประชาชนเอง แต่เขากลับทำเงียบเฉย ประหนึ่งจะบอกว่า ‘ฉันให้เธอนะ’ จริงๆ ไม่ใช่ เป็นสิทธิที่ประชาชนควรจะได้ สิ่งที่เคยมีก็ดีอยู่แล้ว แต่วันนี้สังคมดำเนินมาถึงยุคที่เราเรียกว่าร่วมสมัย มีคนรุ่นใหม่ มีศิลปะที่มีความหลากหลายมากขึ้น มีงานศิลปะแบบร่วมสมัยเกิดขึ้น เมื่อศิลปะประเภทนี้เกิดขึ้น และคนในสังคมต้องการ รัฐก็ต้องหันมาใส่ใจเรื่องนี้ และทำให้เรื่องนี้เป็นสวัสดิการไปพร้อมๆ กับคนรุ่นใหม่ที่กำลังถือกำเนิดขึ้น และเพื่อเชื่อมโยงกับสังคมที่เป็นสังคมโลก

“ผมก็เลยเรียกร้องการมีพื้นที่ทางศิลปะเพื่อเป็นสวัสดิการของสังคม โดยปราศจากการครอบงำของรัฐและไปในทิศทางเดียวเท่านั้น ให้ทุกคนได้มีสิทธิ์แสดงออก และจะทำอย่างไรให้มันถอยออกมาจากศูนย์กลางคือกรุงเทพฯ เท่านั้น เพื่อให้คนที่อยู่รอบนอกเข้าถึงได้ด้วย”

เพราะเมื่อไร้ความหลากหลาย ก็ไม่ต่างอะไรกับการเซ็นเซอร์ การที่หอศิลป์หรือพื้นที่ทางศิลปะจะไปอยู่ในความควบคุมดูแลของระบบราชการไทยในปัจจุบัน ที่ยังมีแนวทางจำกัด ก็ไม่ต่างอะไรกับการครอบงำ ในเมื่อรัฐไทยตอนนี้ยังไม่ใช่ประชาธิปไตยด้วยซ้ำ

แม้ศิลปะในฐานะสวัสดิการของสังคมจะเป็นอุดมการณ์เกินความจริงในตอนนี้ สำหรับคนที่เห็นความสำคัญของการต่อสู้เพื่อการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งกรุงเทพมหานครโดยมือศิลปินอย่างเดิมนั้น ก็ต้องควรพิจารณาถึงแนวทางไปต่อ หรือผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการศิลปะ อันที่จริงต้องบอกว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างขึ้นมา เพื่อจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งให้ไทยเข้าใกล้สังคมอุดมคติขึ้นมาบ้าง