“ต้นกล้วย” กับคนโสดเมียนมา และปริศนาแห่งความตาย  

“ต้นกล้วย” กับคนโสดเมียนมา และปริศนาแห่งความตาย   

ชวนคุยเรื่องความโสด ความตาย และต้นกล้วย ตามภาษาชาวเมียนมา

                             “ไม่คิดจะหาคู่ควง ตายไปไม่กลัวต้องนอนกอดต้นกล้วยในโรงหรือไง” 

                             “ตอนตาย จะหากล้วยต้นอวบงามใส่ในโรงให้นะ” 

                             “ชาตินี้เป็นโสด มีหวังได้สะเดาะเคราะห์ด้วยต้นกล้วยเป็นแน่”

          ใช่แล้วครับ  คุณได้ยินไม่ผิดหรอกครับ ต้นกล้วยที่เรา ๆ ท่าน ๆ ทราบกันดีว่ามีดีมากมาย สามารถนำทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็น ใบตอง  กาบกล้วย  ก้านกล้วย  หยวกกล้าย ปลีกล้วย  ผลกล้วย   มาใช้ทำประโยชน์ได้สารพัด แต่กลับกลายเป็นคำแสลงหู  สิ่งแสลงตา ทิ่มแทงใจคนโสดชาวเมียนมา

banana-1315054_1280  

          ใครก็ตามไม่ว่าหญิงสาวหรือชายหนุ่ม ถ้ายังครองตน ครองใจ เป็นโสดอยู่ได้ เมื่อถึงวัยอันควรแต่งงานมีเหย้ามีเรือนแล้วละก็...มีอันต้องถูกแซว ถูกล้อกันไปตามระเบียบ อย่างแน่นอน  

          หากว่าคนแซวเป็นเพื่อนสนิทหรือคนที่รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ก็ไม่มีปัญหาอะไร  คนถูกแซวอาจจะไม่คิดอะไรมาก และไม่ถือโทษโกรธ ด้วยว่าคุ้นเคยสนิทรักใคร่กันดี  ถือว่าเป็นคำทักทาย หยอกล้อเล่นให้ชวนขำขันกันตามประสาในหมู่เพื่อนฝูง

           แต่ถ้าคนแซวไม่ได้เป็นเพื่อนที่สนิทคุ้นเคยกัน พูดแซวว่า นอนเปลี่ยวเหงากอดต้นกล้วยตอนตายในชาตินี้  อาจทำให้คนถูกแซวโกรธเคืองและไม่พอใจเอามากๆ บางทีคนถูกแซวก็อาจจะอารมณ์ขึ้นพุ่งปรี๊ดและด่าว่าโต้กลับคนแซวทันควัน เพราะถือว่าไม่ได้สนิทกัน การมาพูดแซวหรือล้อเล่นเช่นนี้ถือเป็นการพูดที่ “แรง”  

          การพูดแซวหรือล้อคนโสดเช่นนั้นไม่ได้ต้องการเย้ยหยันหรือดูถูก แต่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกดดัน กระตุ้นเตือนคนโสดให้พวกเขาแต่งงานและมีลูก อันถือเป็นหน้าที่ทางสังคมที่พึงปฏิบัติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมโบราณซึ่งค่อนข้างเคร่งครัดเรื่องนี้ในระดับหนึ่ง

           อย่างไรก็ดี  คนโสดหนุ่มสาวเมียนมาสมัยใหม่ดูจะไม่แยแสและไม่แคร์กับคำแซวดังกล่าวมากนัก เพราะสังคมและยุคสมัยได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนุ่มโสด สาวโสดในเมืองใหญ่   ที่ใช้ชีวิตครองโสดกันมากขึ้น  ถ้าเป็นสังคมเมียนมาสมัยก่อนโน้นแล้วละก็...การเป็นหนุ่มโสด ไม่ถูกเป็นเป้าให้คนแซวหรือโดนเพ่งเล็งเท่ากับการเป็นสาวโสด  เพราะผู้หญิงเมียนมาสมัยโบราณการครองตนเป็นโสดจะมีชีวิตอยู่อย่างลำบาก จนมีคำกล่าวกับผู้หญิงในสังคมเมียนมาว่า “สามีดุจร่ม”  ซึ่งคอยช่วยคุ้มครอง ปกป้อง ช่วยเหลือ  เหมือนร่มที่ใช้กางกั้นแดดฝน

20180418175303294

           ในยุคปัจจุบัน เราไม่ค่อยพบเห็นธรรมเนียมปฏิบัติตามคำแซวที่ว่า  ชาตินี้เกิดมาเป็นโสดไม่มีคู่ต้องสะเดาะเคราะห์โดยการนำต้นกล้วยหนึ่งต้นมาใส่ไว้ข้างศพคนโสดและนำไปเผาด้วยกัน  เพราะการเผาศพในเมืองใหญ่นิยมเผาด้วยเตาไฟฟ้า จึงทำให้รายละเอียดธรรมเนียมปฏิบัติปลีกย่อยแต่โบราณค่อยๆ ถูกลดทอนออกไป

             อย่างไรก็ดี  ในชนบท หรือ ตามต่างจังหวัด  ยังพบเห็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ว่า เมื่อคนโสดเสียชีวิต ญาติๆ จะนำต้นกล้วยมาใส่ในโรงศพและนำเผาไปพร้อมกัน ณ สุสาน  การทำเช่นนี้เชื่อกันว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้คนตาย โดยกำหนดให้ต้นกล้วยเป็นสัญลักษณ์แทนคู่ครอง เพื่อที่ว่าชาติหน้าฉันใดจะได้ไม่ต้องครองตัวเป็นโสดเหมือนชาตินี้อีก 

          อันที่จริงแล้ว ถ้าลองคิดพิจารณาให้ดีแล้ว จะพบว่า สาระสำคัญและความหมายของต้นกล้วยในคำล้อและในธรรมเนียมปฏิบัติของชาวบ้านแต่โบราณฝังแฝงไว้ซึ่งการสอนธรรมมากกว่าจะมีน้ำเสียงสื่อไปในทางกดดันคนโสด หากเราถามพระสงฆ์และแม่ชี ตลอดจนผู้เฒ่าผู้แก่ชาวเมียนมา เราจะได้คำตอบว่า ต้นกล้วยในคำล้อคนโสดและในโรงศพคนโสดนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่ให้ทุกคน ไม่ว่าชายหรือหญิง โสดหรือไม่โสด  รวมถึงพระสงฆ์องค์เจ้า แม่ชี โยคีบรรดามีในสังคมเมียนมาได้ฉุกคิดและเป็นการสอดแทรกธรรมของชาวบ้านเมียนมาโบราณอย่างแยบยล 

myanmar-1746003_1280

          ถ้ารู้และคิดเสียว่า “นอนกอดต้นกล้วยตาย”  เป็นการสอนธรรม ก็จะมิทำให้คนโสดโกรธเคืองหรือผิดใจกันกับคนแซวล้อ  เพราะท่านกำลังเปรียบต้นกล้วยที่ใส่ในโรงศพคู่กับศพคนตายว่า

                             สังขารนี้เป็นอนิจจัง 

                             สังขารนี้เป็นทุกข์ 

                             สังขารนี้เป็นอนัตตา  

          ท่านกำลังสอนให้คนที่ไปร่วมงานศพได้พิจารณาอสุภว่าคือต้นกล้วยที่แข็งทื่อแน่นิ่งฉะนั้น  โดยสอนให้ยอมรับนับถือกฎธรรมดาของร่างกาย

           ใจความสำคัญ คือ เธอจงอย่าสนใจในร่างกายตนเองและในกายผู้อื่นและในวัตถุธาตุใดๆ ในโลกนี้ว่าเป็นของเรา ให้เห็นว่าร่างกายนี้ไม่มีในเรา เราไม่มีในร่างกาย  หากพ้นเสียจากการเกาะร่างกายเสียได้ก็พ้นทุกข์ สุขอันอิงอายตนะสัมผัสไม่สุขจริง ทุกข์ที่อิงอายตนะสัมผัสก็ไม่ทุกข์จริง อาการที่ร่างกายรับสัมผัสนั้นมันมีวิญญาณบอกให้รู้ ในที่สุดร่างกายก็ต้องตาย จิตหลุดออกจากร่างไปแล้ว  อายตนะทั้งปวงก็หยุดทำงาน

            เมื่อพิจารณาอสุภคือต้นกล้วยเห็นเป็นอย่างนี้แล้ว จะไปมัวยึดติดรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทำไมกัน   ทำจิตให้ยอมรับกฎธรรมดา เสียดีกว่า 

          นั่นคือสิ่งที่ท่านกำลังชี้ให้เห็นถึงความหมายที่แท้จริงของต้นกล้วยที่ปรากฏในคำแซวล้อและในธรรมเนียมปฏิบัติของชาวบ้านเมียนมาโบราณ   ผู้เขียนเห็นด้วยว่าต้นกล้วยในที่นี้เป็นปริศนาธรรมแห่งความตาย ชี้ให้คนเกิดปัญญา กอปรกับมีคำกล่าวในสังคมเมียนมามาช้านานแล้วว่า

                             “ไปงานศพเพียงหนเดียว เท่ากับไปทำบุญทำทานถึงสิบหน” 

          เพราะการไปงานศพทำให้ผู้ไปร่วมงานมองเห็นกฎอันเป็นธรรมดาของชีวิตมากที่สุด 

20180418175526068

          ท้ายสุดแต่มิได้สำคัญน้อยที่สุด  มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง คือ สังคมเมียนมาสอดแทรกปริศนาธรรมแห่งความตายให้คนพึงยอมรับกฎธรรมดานี้ตั้งแต่เด็ก เริ่มจากบทอาขยานของเด็กระดับประถมศึกษาที่ใช้ท่องกันในวิชาภาษาเมียนมา แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า 

          “การเดินทางนี้ ใกล้สิ้นสุดจุดหมายหรือยังเล่า  จวนเจียนจะเข้าห้าโมงเย็นแล้วหนา   เจ้าจงโดยสารมาโดยรถไฟ  ขอให้เจ้าระวังตัวให้ดีเถิด”

          กลอนบทนี้กำลังชี้ว่า ชีวิตเรามุ่งเข้าใกล้จุดหมายคือความตายอยู่ทุกวัน  ฉะนั้นพึงใช้ชีวิตอย่างมีสติ   พอโตขึ้นมาหน่อย เป็นวัยรุ่น ก็มีคำแซวคำล้อกันว่า “นอนตายกับต้นกล้วย”   สหายท่านหนึ่งของผู้เขียนบอกว่า         เขาโดนแซวว่า “นอนตายกับต้นกล้วย” อยู่บ่อย ๆ  แต่ก็รู้สึกชินเสียแล้ว   เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนก็ต้องเป็นต้นกล้วยไร้วิญญาณเหมือนกันทุกคนไม่ว่าจะโสดหรือไม่.