Annapurna Base Camp ณ ที่ที่เราตกหลุมรัก “เขา”

Annapurna Base Camp ณ ที่ที่เราตกหลุมรัก “เขา”

เทรคกิ้งครั้งแรกบนเส้นทางยอดนิยมแห่งหิมาลัย เทรคแล้วได้อะไร ค้นหาคำตอบแตกต่างบนเส้นทางเดียวกัน

หากอยากรู้จักว่าตัวเองเป็นใคร (และเป็นอย่างไร) ให้ลองไปเทรคกิ้งหรือเดินป่าสักครั้ง คุณจะประหลาดใจกับสิ่งที่คุณได้ค้นพบ การเทรคกิ้งเป็นยิ่งกว่ากิจกรรมกลางแจ้ง แต่เหมือนประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่คุณจะได้ค้นพบตัวเองระหว่างทางเดินบนภูเขา

คำพูดนี้จริงหรือเปล่า? อยากรู้ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง

การเทรคไปอันนาปุรณะ เบสแคมป์ - Annapurna Base Camp หรือ ABC เส้นทางเทรคยอดนิยมแห่งเทือกเขาหิมาลัย หนึ่งในความใฝ่ฝันของเราหลังจากที่เริ่มสนุกกับกิจกรรมกลางแจ้งมาได้ปีกว่าๆ และนี่คือเทรคกิ้งครั้งแรกที่นอกจาก ABC แล้วยังเก็บจุดชมวิวปูนฮิล (Poonhill) ได้ด้วย

ไปคนเดียว เดี๋ยวก็มีเพื่อน

ผู้เขียนเดินทางคนเดียวเสมอ ทริปนี้ก็เช่นกัน แต่นี่ก็เป็นครั้งแรกของการออกนอกคอมฟอร์ทโซนของตัวเอง เพราะต้องไปกับคนอื่น กินนอนกับคนอื่นที่เพิ่งรู้จักกันครั้งแรก

เราขอแชร์ห้องนอนกับกลุ่มสาวๆ ที่มาเป็นจำนวนคี่ การพักระหว่างทางนั้น เราจะเข้าที่พักที่เรียกว่า Tea House หรือเกสต์เฮาส์เล็กๆ ที่มีบริการอาหารเครื่องดื่มทุกที่ ทีเฮาส์ส่วนมากก่อสร้างและกั้นห้องขึ้นมาง่ายๆ มีเตียงเล็กต่อขึ้นมาจากไม้วางในห้องแคบๆ 2 – 4 เตียง ผู้จัดให้คนที่มาคนเดียวเตรียมใจพักห้องเดียวกับคนนั้นคนนี้ขึ้นอยู่กับห้องที่ได้ และที่พักก็ต้องจองวันต่อวันเท่านั้น ไม่รับจองล่วงหน้า เพราะบางกลุ่มก็เดินไม่ถึงที่พักที่วางแผนไว้

เราโชคดีได้แชร์ห้องกับสาวๆ รุ่นน้องที่น่ารักและทัศนคติดีมาก โชคดีขั้นที่สองคือลูกทัวร์ 13 คนและสตาฟอีก 3 คน ทุกคนล้วนน่ารัก ต่างวัยและหน้าที่การงาน แต่มีความชอบและอัธยาศัยใกล้เคียงกัน ทำให้ทริปนี้ไม่มีปัญหาเรื่องการอยู่ร่วมกันเลย แถมความลำบากเหน็ดเหนื่อยระหว่างทางยังทำให้ทุกคนสนิทกันง่าย ช่วยดูแลกันเป็นอย่างดี ขาดเหลืออะไรก็หยิบยื่นให้กันตลอด เป็นอันว่าถ้าใครกลัวการเดินทางคนเดียว ขอให้เปิดใจไว้ เพื่อนใหม่ที่ถูกการเทรคกิ้งดึงดูดเข้าหากัน เข้ากันง่ายกว่าที่คิด

เตรียมรับความเปลี่ยนแปลง

เมืองใหญ่ที่เหล่าเทรคเกอร์เส้น ABC ต้องไปตั้งต้นคือเมืองโพคารา (Pokhara) เที่ยวบินในประเทศไปโพคารานั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากฟ้าฝนไม่อำนวย จากการบินเพียงครึ่งชั่วโมงจะกลายเป็นนั่งรถ 6 – 7 ชั่วโมงทันที และพวกเราก็ต้องเจอกับการยกเลิกเที่ยวบิน ทั้งๆ ที่มีบอร์ดดิ้งพาสอยู่ในมือ การนั่งรถตู้เบียดกันค่อนคืนเป็นช่วงเวลาที่โหดร้ายยิ่งกว่าเดิน 6 ชั่วโมงต่อวันเสียอีก

20180330_154809

ลาก่อนบอร์ดดิ้งพาส เมื่อเครื่องบินเล็กไม่อาจสู้ฟ้าฝนได้ การรอขึ้นเครื่อง 3 ชั่วโมงจึงจบลงที่รถตู้

การนั่งรถวันที่ 2 แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือนั่งรถบัสคันใหญ่ครึ่งวัน เป็นถนนเลียบเขาขรุขระแต่ก็กว้างพอควรและนับว่าเป็นทางสบายไปเลย เมื่อเทียบกับการเดินทางครึ่งบ่ายที่ขึ้นเขาต่อไปอีก ต้องเปลี่ยนมานั่งรถบัสคันเล็ก เฉพาะกลุ่มเรา รวมไกด์และลูกหาบ 25 คนนั่งก็เบียดกันแล้ว ยังมีคนพื้นที่โดยสารไปด้วย

บนรถบัสที่แน่นขนัด

รถบัสก็จะแน่นประมาณนี้ ใต้แผงไข่มีถุงมันฝรั่งอยู่ด้านล่าง ที่พอรถเบรคทีมันฝรั่งก็กลิ้งหลุดออกจากถุงไปทั่วรถ

เส้นทางชนบทเล็กแคบและขรุขระชนิดนั่งตัวโยกโยนเข้ากับจังหวะเพลงเนปาลีสตลอดทาง จนนาฬิกาอัจฉริยะนับก้าวให้เราไปเกือบสองหมื่นก้าว วิวธรรมชาติข้างทางสวยงามต้องแลกกับความน่ากลัวเล็กน้อย เมื่อฝั่งหนึ่งคือหน้าผาและอีกฝั่งคือเหว ทุกครั้งที่คนขับเร่งเครื่องเพื่อปีนขึ้นทางชันแล้วเบรคกะทันหันเพราะทางไปต่อมีแต่ต้องเลี้ยวหักศอกเท่านั้น เรามีตัวเลือกเดียวที่ต้องเชื่อใจคนขับรถเท่านั้น

อุ่นเครื่องที่ Poonhill

นั่งรถราว 4 ชั่วโมงก็มาถึงจุดที่จะเดินขึ้นหมู่บ้านโกเรปานี (Ghorepani) บนความสูง 2,850 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ใช้เวลาเดินเท้าราว 1 – 2 ชั่วโมง เป็นจุดทดสอบแรกว่าเราเตรียมร่างกายมาดีไหม

ทางเดินไปโกเรปานี

เดินขึ้นบันไดหินไปยังโกเรปานี

ทางเป็นบันไดหินที่เดินง่าย แต่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เหนื่อยกว่าที่คิด และเข้าใจระบบการแต่งกายแบบ Layering System ขึ้นมาเป็นอย่างดี เสื้อผ้าที่สวมเป็นชั้นๆ พร้อมถอดและใส่ได้เมื่ออากาศเปลี่ยน พอร่างกายร้อนจนเหงื่อออก ก็ต้องถอดแจ๊กเก็ต เดินไปสักพักอากาศเย็นก็หนาวไป เป็นอันว่าเดินใส่ๆ ถอดๆ ตลอดทาง สำหรับคนที่มีความอดทนมากกว่าจะไม่วุ่นวายเหมือนเราเท่าไหร่

หมู่บ้านโกเรปานี

หมู่บ้านโกเรปานี

ที่พักคืนแรกในโกเรปานี จัดว่าเป็นที่พักที่ค่อนข้างสบายเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ บนเขา หมู่บ้านนี้ค่อนข้างใหญ่ เพราะเป็นจุดแวะพักหลักมาแต่อดีต และเป็นจุดพักค้างคืนสำหรับนักเดินเขาที่ต้องการชมแสงแรกของวันที่ปูนฮิล จุดชมวิวที่จะเห็นทิวเขาและยอดเขาถึง 15 ยอด

20180401_060527

แสงทองเรื่อขึ้นจากขอบฟ้า ณ จุดชมวิวปูนฮิล ดวงอาทิตย์โผล่หน้าขึ้นมาหลังหมอกเลือน

เช้าวันต่อมา พวกเราตื่นแต่เช้ามืดเพื่อเดินให้ทันพระอาทิตย์ขึ้นที่ปูนฮิล ชมวิว 360 องศาที่มีธรรมชาติสะกดสายตา

20180401_065333

มุมมองขาลงจากปูนฮิล

ขาลงฟ้าสว่างแล้ว เห็นดงดอกกุหลาบพันปีมากมาย มาเทรคกิ้งเส้นทางนี้ช่วงมีนาคม – เมษายน จะเจอฝนตกบ่อย แต่แลกด้วยสีสวยสดของกุหลาบพันปีที่บานสะพรั่งไปทั้งภูเขา ลงจากปูนฮิลแล้วก็เริ่มต้นเดินสู่เส้นทางที่มุ่งหน้าไปยัง อันนาปุรณะ เบสแคมป์

ABC นับหนึ่งถึงรัก

ผู้จัดแนะนำให้เตรียมร่างกายมาให้พร้อม (วิ่งวันละ 1 – 2 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 3 วัน สควอตทุกวันวันละ 200 ครั้ง) เพราะต้องเดินเท้าขึ้นลงเขาวันละ 6 – 8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายพร้อมสำหรับภาระอันหนักหน่วง จะได้ไม่ต้องถามตัวเองว่า “ฉันมาทำอะไรที่นี่?!”

สำหรับเราซึ่งเตรียมร่างกายมาดีประมาณหนึ่ง บอกกับตัวเองทุกครั้งที่เงยหน้าขึ้นชมวิว “ขอบคุณที่พาตัวเองมาอยู่ตรงนี้”

ต้นกุหลาบพันปี

ดอกกุหลาบพันปีบานสะพรั่งระหว่างทางเดินจากโกเรปานี

ทิวทัศน์งดงามซึ่งไม่อาจพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ถือเป็นรางวัลตลอดเส้นทาง ได้พบความหลากหลายของธรรมชาติ ตั้งแต่ป่าเขียวชอุ่มราวกับป่าเขตร้อน แม่น้ำจากหิมาลัยที่เชี่ยวกราก ทุ่งหิมะที่มีแต่กอหญ้าเหลืองแห้ง ทุกธรรมชาติของขุนเขาค่อยๆ เป่ามนตร์ใส่เราจากเบาไปหาหนักให้หลงรักมากขึ้นเรื่อยๆ

20180401_105436

หมอกลงและอากาศยะเยือกในช่วงเช้า ระหว่างทางเดินจากโกเรปานีไปทาดาปานี

วันที่ 3 ของทริป พวกเราเดินจากโกเรปานี จุดหมายคือหมู่บ้านทาดาปานี (Tadapani) เป็นจุดชมวิวหนึ่งที่สามารถมองเห็นยอดเขามัชฉะปูชเร (Machhapuchhre) หรือยอดเขาที่คล้ายหางปลาได้ชัดเจน 

20180401_121727_1

เวิ้งเจดีย์หินน้ำตก ซึ่งสวยงามจนสติหลุด

เริ่มต้นเส้นทางด้วยป่าโปร่งที่มีต้นกุหลาบพันปีดอกพราวขึ้นมากมาย ต่อด้วยป่าโบราณที่หมอกลงหนา ทะลุมาเจอน้ำตกไหลเซาะแนวหิน เจดีย์หินที่ก่อกันเป็นเวิ้งกว้าง ที่ทำให้เราตื่นเต้นอยากถ่ายรูปจนลื่นล้ม ทุกย่างก้าวท่ามกลางภูมิประเทศตระการตานี้ ต้องอาศัยสติประคองอยู่เสมอ “เส้นทางนี้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ได้บอกว่าง่ายหรือไม่เหนื่อยนะ” เป็นจริงดังที่ผู้จัดบอกไว้

วิวจากทาดาปานี

มุมมองหนึ่งจากทาดาปานี

ทางเดินอันเกิดจากการใช้งานของคนภูเขาแต่อดีต หลายจุดก็มีบันไดหินเรียงให้ เหมือนจะง่าย แต่ก็ไม่ เพราะบันไดที่มีลูกตั้งลูกนอนตามใจธรรมชาติทำให้ละสายตาและสติไม่ได้เลย วันนี้พวกเราถึงทาดาปานี หมู่บ้าน ณ ความสูง 2,630 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล  ราว 5 โมงเย็น 

20180402_094027

ระหว่างทางเดินในช่วงเช้า จากทาดาปานี ไปซินูวา 

วันต่อมา เดินจากทาดาปานีไปยัง ซินูวา (Sinuwa) ที่สูงพอๆ กัน ระหว่างทางจะผ่านหลายจุดแวะพัก รวมถึงชมรง (Chomrong) อีกหนึ่งจุดพักยอดนิยมที่มีทีเฮาส์และร้านค้าหลายแห่ง

20180402_104818

ตลอดเส้นทางต้องข้ามบันไดเหล็กแบบนี้ 3 รอบ สูง แต่ไม่น่ากลัว

วันนี้เป็นวันที่เดินหนักมากวันหนึ่ง และช่วงกลางวันก็แดดแรง ร้อนจนต้องปอกเปลือกชุดกันหนาวในช่วงเช้ากลายเป็นชุดเดินป่าแขนสั้นขาสั้น แล้วก็กลับมาต่อขาใส่แจ๊กเก็ตอีกครั้งในช่วงเย็น

20180402_105041

มองลงมาจากเขา ระหว่างทางไปซินูวา

การเดินวันนี้เน้นลงยาวๆ ซึ่งเราสนุกมากกับการเดินลง เพราะไม่เหนื่อย แต่ผลลัพธ์ที่ปรากฏยามเย็นคืออาการปวดกล้ามเนื้อน่องที่มักใช้ตอนลงเขาอย่างหนัก การสควอต 200 ครั้งต่อวันคือสูตรโกงให้กล้ามเนื้อหน้าขาแข็งพอต่อการปีนทางชัน แต่กับน่องของคนที่ซ้อมวิ่งมาน้อยนั้นปวดร้าวสาหัส โดยเฉพาะเมื่อวันนี้ได้ห้องนอนชั้น 2 ท่าหันหลังเดินเกาะบันไดลงมาช่างชวนสังเวช

หุบเขาจุดชมวิวทิวเขา

หุบเขาสลับซับซ้อน ณ จุดชมวิวที่ซินูวา 

ก่อนเดินถึงที่พักในซินูวา ต้องผ่านหน้าผาชมวิวที่เห็นความสลับซับซ้อนของเทือกเขาสองฝั่งมาบรรจบกันเป็นหุบตรงกลาง พวกเราใช้เวลาถ่ายรูปตรงนี้หลายสิบนาที

ความงามเยือกเย็นของธรรมชาติหลังความเหนื่อยล้าตลอดวัน บวกกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างการเดิน อาจทำให้ใครบางคนน้ำตาร่วงต่อภาพความรักของคู่รัก ที่ได้พิสูจน์ใจกันในเส้นทางอันลำบากนี้ แม้จะเป็นความอ่อนไหวเฉพาะบุคคล แต่เราทุกคนก็เข้าใจความซาบซึ้งนั้นเป็นอย่างดี เมื่อคนเราพาร่างกายและจิตใจของตัวเองมาไกล ใกล้แตะขีดจำกัด ความรู้สึกก็ย่อมเปราะบางขึ้นเป็นธรรมดา

20180403_133103

ระหว่างทางจากซินูวา ไปดูเรลลี

วันที่ 5 เดินจากซินูวา จุดหมายคือดูเรลลี (Deurali) วันนี้ต้องผ่านถึง 3 หมู่บ้าน แบมบู (Bamboo), โดแวน (Dovan) และ หิมาลายา (Himalaya) เป็นวันที่เดินหนักที่สุด แต่ก็ได้เห็นวิวธรรมชาติที่สะพรึงยิ่งขึ้น

“สะพรึง” สำหรับเราคือความรู้สึกที่ยิ่งกว่าสวย เพราะบวกความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ที่ทำให้เรารู้สึกสะพรึง ไม่ใช่กลัว แต่รู้สึกสยบยอมต่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินประมาณ

20180403_133442

ระหว่างทางจากซินูวา ไปดูเรลลี

การเดินช่วงบ่ายหลังจากผ่านหิมาลายา สำหรับเราแล้วคล้ายหนังชีวิต เพราะเป็นเส้นทางชันเต็มไปด้วยหินทุกขนาด แม้จะเห็นทางไปชัด แต่ไม่มีตรงไหนวางเท้าได้เต็มเท้าเลย บางจุดชันจนต้องใช้มือไต่ ตอนนั้นราว 4 โมงเย็น หมอกลงหนา ฝนโปรยปราย และเริ่มหมดแรง

20180403_150258_1

ระหว่างทางจากซินูวา ไปดูเรลลี

การเดินที่แท้คือการดูแลลมหายใจ โดยเฉพาะการขึ้นทางชัน เราพยายามหายใจตามจังหวะก้าว เหนื่อย แต่ร่างกายได้ปรับตัวให้ “อยู่ได้” ก่อนถึงจุดหมายของวันนี้ เราข้ามอาการหมดแรง จุดพลังขึ้นใหม่มา 2 – 3 รอบ ทุกก้าวคือการคิดว่าจะวางเท้าตรงไหน ยันตัวขึ้นในทิศทางใดให้เหนื่อยน้อยที่สุด แต่ไม่เคยมีคำตอบที่ถูกให้ ทุกย่างก้าวคือความเหนื่อยและเจ็บปวดร่างกาย แล้วสะท้อนไปถึงใจ

ชีวิตคือการบริหารความเจ็บปวด

ไม่เคยมีเส้นทางไหนที่ผิดหรือถูก บนพื้นผิวธรรมชาติที่หินก้อนวางตัวอย่างสะเปะสะปะ ไม่เคยบอกให้เราวางเท้าลงบนจุดไหน ไม่มีใครเดินเหมือนกัน แต่ทุกคนต่างรู้ดีว่าทุกก้าวของตัวเองมีเหตุผล สำหรับเรามันคือการบริหารความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ สำหรับคนอื่นอาจเป็นความท้าทาย

หากเราหลีกหนีความเจ็บปวดบางอย่าง เราจะเห็นมันชัดเจนยิ่งขึ้นระหว่างทาง และรู้ดีว่ามันคงอยู่ไม่หายไปไหน ผิดเพียงแต่เมื่อรู้แล้วว่าชีวิตคือการบริหารความเจ็บปวด ก็รู้วิธีจัดการกับมัน

เจ็บกล้ามเนื้อเข่าด้านนอก ก็วางเท้าเพื่อลงน้ำหนักมาที่เข่าด้านในให้สมดุลกัน ทุกส่วนของร่างกายส่งผลถึงกัน บางส่วนแข็งแรง บางส่วนเปราะบาง บริหารสนับสนุนกัน ก็สามารถพาตัวเองไปถึงจุดหมายได้ ชีวิตก็เป็นแบบนี้เช่นกัน

แม่น้ำก่อนถึงดูเรลลี

น้ำตกไหลเชี่ยวก่อนจะถึงดูเรลลี

เมื่อปีนหินมาถึงจุดสูงสุด อยู่ๆ ก็เป็นเส้นทางหักลง มองเห็นน้ำตกที่ไหลเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ ตรงหน้าเปลี่ยนฉับจากภูเขาหินกลางป่าไผ่ เป็นแม่น้ำไหลผ่านโตรกหินขนาดยักษ์กลางเวิ้งเขาที่ยอดลับหายไปกับสายหมอก

ทิวทัศน์นี้กระชากความรู้สึก เหมือนฝ่าฟันมาเจอสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เสียงน้ำซัดซ่า สายฝนลงเม็ดหนา สะพานไม้ที่ต้องข้ามผ่าน น้ำตาเอ่อมาจากที่ไหนสักแห่ง ข้ามไปอีกนิดก็จะถึงดูเรลลี คนอื่นๆ คงรู้สึกไม่ต่างกัน เพราะพอถึงป้ายหมู่บ้าน พวกเราดีใจกันยกใหญ่เหมือนมาถึงเส้นชัยแล้ว เราผ่านวันที่โหดมากไปได้อีกวันหนึ่งแล้ว

มองจากทีเฮาส์ในดูเรลลี

มองจากทีเฮาส์ ที่พักในดูเรลลี เมื่อมาถึงในช่วงเย็น

บนความสูง 3,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ยิ่งสูงฟ้าก็ยิ่งสวย ยามดึกหลังฝนหยุด เมฆละลายเปิดฟ้าให้ดาวเปล่งแสง อากาศหนาวจัด แต่พวกเรา 4 – 5 คนยังออกมายืนดูดาว

“การที่พวกเรามายืนด้วยกันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรอก”

พี่คนหนึ่งพูดขึ้น จะมีสักกี่คนในโลกที่ (ลำบากลำบน) พาตัวเองขึ้นมาชมวิวตรงนี้ หากไม่ใช่คนแบบเดียวกันคงไม่มาเจอกัน

อลังการแต่สงบงาม

เช้าตรู่วันที่ 6 เดินทางออกจากดูเรลลี เพื่อไปถึงจุดหมายที่อันนาปุรณะ เบสแคมป์ ระหว่างทางแวะกินข้าวกลางวันกันที่ มัจฉะปูชเร เบสแคมป์ (Machhapuchhre Base Camp - MBC) ฐานของยอดหางปลาที่เราเห็นมาตลอดทาง การเดินในช่วงเช้าเบิกบานมาก เพราะทางส่วนใหญ่เป็นทางราบสลับกับขึ้นลงเป็นจุดๆ วิวสวยจนแทบใจละลาย เพราะเรากำลังเดินอยู่ตรงหุบเขา เงยหน้าขึ้นก็เห็นเทือกเขาสูงงามตระหง่านอยู่ตลอดทาง

20180404_103105

ระหว่างทางจาก ดูเรลลี ไป MBC

เป็นอีกวันที่เดินหนัก ไม่ใช่ด้วยระยะทาง แต่เป็นเพราะความสูงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ออกซิเจนในอากาศที่ต่ำลงบวกความเหนื่อยสะสม พอแวะพักกลางวัน เราเพิ่งรู้ตัวว่าหมดแรงจนแทบหลับ ขณะนั้นเราอยู่บนความสูง 3,700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล บางคนเริ่มมีอาการเวียนหัวบ้าง แต่ไม่มีใครแพ้ความสูง

20180404_100456

ระหว่างทางจาก ดูเรลลี ไป MBC ในช่วงครึ่งวันเช้า

การเดินครึ่งหลัง จริงๆ แล้วระยะทางจาก MBC ถึง ABC ไม่ไกลมาก แต่คาดว่าจะใช้เวลาราว 1.30 – 2 ชั่วโมง

20180404_135959

วิวเมื่อมองย้อนกลับไปที่ MBC ยอดเขาที่พ้นขึ้นมาเหนือเมฆคือยอดมัจฉะปูชเร

สตาฟบอกให้พวกเราค่อยๆ เดิน เพราะออกซิเจนจะยิ่งบางลง ช่วงแรกยังสนุกและตื่นเต้นกับความสวยอยู่

20180404_135923

วิวช่วงบ่ายต้น หมอกยังไม่จัด 

แต่หมอกที่มาเยือนตอนบ่ายแก่ เมฆปกคลุมฟ้าจนมิด ทำให้เราปลงใจว่าเย็นนี้ไม่มีทางได้เห็นวิวที่คาดหวัง ความสูงทำให้แต่ละก้าวเชื่องช้าลง ไม่ได้เหนื่อยหอบเหมือนวิ่ง แต่คล้ายหายใจไม่เต็มปอด

20180404_142545

หมอกลงจัดระหว่างทางขึ้น ABC ไม่กี่กิโลเมตร แต่ก้าวได้เชื่องช้า

ขณะที่จดจ่ออยู่กับการเดิน ละอองขาวปลิวก็ผ่านหน้ามาเป็นระยะ พอตั้งใจดู ละอองเล็กนั้นละลายหายเมื่อถึงพื้น พวกเราหันมามองหน้ากัน “หิมะตก” หิมะตกตอนใกล้ถึง ABC เต็มที สตาฟและเพื่อนๆ ที่ไปถึงก่อน ตะโกนเรียกอยู่หลังแนวหมอกไกลๆ นั่น บางคนลงมารับ “ใกล้ถึงแล้ว อีกนิดเดียว”

ในที่สุดก็เห็นป้าย NAMASTE ANNAPURNA BASE CAMP พวกเรามาถึงแล้ว! เป็นความดีใจอย่างบอกไม่ถูก แม้หมอกหนา มองไม่เห็นอะไรที่เรียกว่าสวย แต่พวกเราก็ยังร้องเฮ กอดกันยินดีที่ขึ้นมาจนถึง 4,130 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล (ถึงจะรู้ว่ายังมีขาลงรออยู่) พวกเราทำได้แล้ว!​

20180404_174339

มาถึงที่พักที่ ABC ประมาณ 5 โมงเย็น หิมะตกปกคลุมไปทั่ว

หิมะตกหนักตลอดคืน ไกด์ไม่รับประกันว่าวันพรุ่งฟ้าจะเปิด แต่เช้าตรู่ต่อมาท้องฟ้าก็ใส ให้พวกเราได้สัมผัสความงามของเทือกเขาที่เราเห็นเป็นวิวไกลๆ ตอนนี้มาตระหง่านอยู่ตรงหน้า 

20180405_065338

ฟ้าเปิดในวันต่อมา 

ภาพที่เห็นทั้งยิ่งใหญ่และสงบงาม ไม่แปลกใจเลยที่จะมีอีกชื่อหนึ่งว่า Annapurna Sanctuary สถานที่ที่ธรรมชาติแสดงพลังงดงามอย่างน่าเกรงขาม ทำให้เราต้องพักทุกเรื่องราววุ่นวาย แล้วหายใจลึกๆ ดื่มด่ำกับทุกสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

20180405_065053

เทือกเขาหิมะ หุบเหวที่มีลวดลายน่าพิศวง หิมะตกใหม่แผ่คลุมทุกที่ เกล็ดน้ำแข็งเคลือบปลายยอดหญ้า อากาศหนาวเยือกไปถึงปลายนิ้วในถุงมือ ไอขาวจากลมหายใจบ่งบอกถึงชีวิต

ขอบคุณชีวิต ขอบคุณตัวเองที่มายืนอยู่ตรงนี้

20180405_092940

คิดถึง “เขา” ตลอดเวลา

พวกเรายังเหลือการเดินลงอีก 2 วัน พอฟ้าเปิดแล้ว เส้นทางขากลับมุ่งหน้า MBC ยิ่งงดงามใต้แดดเช้า เป็นการเดินที่ได้อิ่มเอมกับวิวตลอดทาง

20180405_094132

วิวระหว่างทางลงจาก ABC

ขาลงวันแรกเดินยาวจาก ABC – MBC – ดูเรลลี – หิมาลายา – โดแวน ไปนอนพัก 1 คืนที่แบมบู วันต่อมาเดินจากแบมบู ผ่าน ซินูวา – ชมรง ไปพักที่จินู (Jhinu) ซึ่งมีบ่อน้ำพุร้อน เป็นแหล่งหย่อนใจสำคัญ แต่ต้องเดินเท้าไปอีกราวครึ่งชั่วโมง หลายคนจึงขอพักผ่อนอยู่ที่ทีเฮาส์ดีกว่า ตอนแรกรู้สึกคิดผิดที่ไป เพราะเดินไกลพอควรในสภาพขาที่ใช้งานมาหนักหน่วง แต่พอแช่น้ำร้อนแล้วรู้สึกผ่อนคลาย ขาเดินขึ้นจึงง่ายกว่าเดิม อันนี้ก็แล้วแต่บุคคลที่จะเลือก

วันสุดท้ายเดินครึ่งวันจากจินูไปสิไว (Siwai) เพื่อขึ้นรถกลับไปโพคารา แต่เป็นครึ่งวันที่โหดเอาเรื่อง เพราะฝนตกหนักในป่าเกือบตลอดทาง ทำให้การลงเขาลื่น ต้องใช้ความระมัดระวังสูง แถมบางคนยังโดนทากอีก เห็นว่าทางในป่าหิมาลัยจะมาช่วงเดือนพฤษภาคม แต่นี่เมษายนก็เริ่มมีทากแล้ว

20180405_095812

วิวระหว่างทางลงจาก ABC

ความรู้สึกขากลับนั้นปนเปกันอย่างบอกไม่ถูก คือรู้สึกผ่อนคลายที่ไม่ต้องเดินเหนื่อยและจะได้กลับบ้านแล้ว แต่อีกใจหนึ่งก็เหงาขึ้นมา และ “คิดถึงเขา” เหลือเกิน เพราะ “เขา” ได้เป่ามนตร์ให้เราค่อยๆ หลงรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น จะบอกว่าการเทรคกิ้งให้อะไรกับเราก็พูดยาก เพราะบางความรู้สึกนั้นไม่อาจนิยามออกมาเป็นคำพูดได้

แต่จนถึงตอนนี้ในหัวก็ยังวนเวียนและหาทางกลับจาก “เขา” ไม่ถูก และเชื่อว่ามีคนมากมายบนโลกนี้ที่ยัง “หลง” อยู่เหมือนกัน