ไอเดียสตาร์ทอัพสุดเจ๋ง ใครจะไปยกมือขึ้น!

ไอเดียสตาร์ทอัพสุดเจ๋ง ใครจะไปยกมือขึ้น!

ใครๆ ก็อยากเป็นสตาร์ทอัพ แต่ธุรกิจแบบไหนล่ะที่ทำแล้วจะรุ่ง ตามมาดูกันเลย

‘จุดประกาย’ ถอดบทเรียนจากบทความเรื่อง ‘The nine types of startups Y Combinator thinks the world needs in 2018’ จากเว็บไซต์ qz.com เขียนโดย แคท แมเนแลค (Kat Manalac) พาร์ทเนอร์จาก Y Combinator 

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก Y Combinator (YC) เราอาจสรุปง่ายๆ ว่า YC คือหนึ่งในแหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพระดับโลกเลยก็ว่าได้ เพราะที่นี่เป็นทั้งห้องเรียนสตาร์ทอัพ ที่ปรึกษา พี่เลี้ยง และเป็นแหล่งระดมเงินทุนยอดนิยมเป้าหมายของสตาร์ทอัพฝันหวานทั้งหลาย

ในแต่ละปี มีผู้ริเริ่มสตาร์ทอัพจำนวนนับพันยื่นใบสมัครมาที่นี่โดยหวังจะได้รับทุน หรือได้จารึกชื่อในฐานะเพื่อนร่วมสถาบันกับสตาร์ทอัพระดับโลก อาทิ Dropbox, Airbnb, Stripe, Instacart หรือแม้แต่ reddit ก็ล้วนแต่เคยผ่านมือ YC มาแล้วทั้งสิ้น และ แคท แมเนแลค ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ก็เป็นส่วนสำคัญในการเฟ้นหาสตาร์ทอัพดาวรุ่งที่มีแววจากใบสมัครนับพัน

โดยปกติแล้ว ในทุกๆ ปี ทีมงาน YC จะมานั่งระดมสมองกันเพื่อกลั่นเอากลุ่มก้อนของไอเดียที่เชื่อว่า ตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตได้ แล้วพวกเขาก็เรียกมันว่า ‘the Request for Startups’ (RFS) เพื่อให้เหล่าสตาร์ทอัพคัดกรองโอกาสและศักยภาพของตัวเองก่อนจะยื่นใบสมัครเข้าโปรแกรม YC Summer 2018 

ในปัจจุบันมีไอเดียที่ถูกจัดเข้าไว้ในลิสต์ทั้งสิ้น 25 ไอเดีย อาทิ ความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์, การศึกษา, กิจการพลังงาน, บริการทางการเงิน และบริการเพื่อการทำงานที่รองรับกับอนาคต เป็นต้น

ใน 25 ไอเดียที่ประกาศออกมาแล้วนั้น มีอยู่ 9 อย่างที่ทีมงานเพิ่งจะระดมสมองลงความเห็นและประกาศออกมาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

มีอะไรใหม่ๆ บ้างนั้น ตามไปดูกัน!

p0TodxEm

  • Brick and mortar 2.0

ถ้าให้แปลแบบตรงตัว Brick and mortar หมายถึง อิฐและปูน เป็นสำนวนหมายถึงสิ่งปลูกสร้างประมาณตึกรามบ้านช่อง แต่ในส่วนที่แคทกำลังพูดถึงนี้ แคบลงมาหมายถึง ร้านค้าที่เป็นร้านจริงๆ ไม่ใช่ออนไลน์ เธอบอกว่า YC ต้องการเห็นสตาร์ทอัพที่รู้จักใช้ประโยชน์จากหน้าร้าน ตึกราม อาคารพาณิชย์ให้เกิดประโยชน์อย่างน่าสนใจ แทนที่จะกระโดดไปแข่งขันอีคอมเมอร์ซที่มีรายใหญ่ครองพื้นที่อยู่ แบรนด์ควรที่จะคิดใหม่ว่าจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ขายแบบเก่าเพื่อสร้างให้เป็นจุดแข็งได้อย่างไร 

เธอยกตัวอย่างสตาร์ทอัพสามราย คือ เทสล่า บริษัทผู้ผลิตรถพลังไฟฟ้า, วอร์บี้ ปาร์คเกอร์ ผู้ให้บริการรับตัดแว่นออนไลน์ที่เสนอราคาต่ำกว่าการไปตัดที่ร้านที่แสนจะยุ่งยาก และ เพโลทัน (Peloton) สตาร์ทอัพที่ตอบโจทย์คนไม่มีเวลาแต่อยากออกกำลังกายด้วยการออกแบบจักรยานพร้อมจอที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ดูไลฟ์สตรีมมิ่งเทรนเนอร์ได้

สตาร์ทอัพทั้งสามกิจการนี้ ได้ใช้ “ร้านค้า” (แบบที่เป็นร้านค้าจริงๆ) ให้เป็นโชว์รูม และเชื่อมโยงการขายจากช่องทางออนไลน์ได้ โดยเฉพาะถ้าจัดการสต๊อกสินค้าดีๆ พื้นที่ขายก็สามารถทำให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้น

เพราะธุรกิจรุ่นใหม่จำต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่คาดหวังบริการจำพวกจัดส่งสินค้าทางออนไลน์ การเชื่อมโยงระหว่างบริการอื่นๆ ที่สำคัญคือ ต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วชนิดที่เรียกว่า “ทันที” นอกจากนี้หัวใจสำคัญอีกอย่าง คือ ความยืดหยุ่นที่ธุรกิจรุ่นใหม่จะต้องรู้จักปรับใช้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะหมดยุคแล้วกับการทำสัญญาเช่าแบบหลายๆ ปีเพื่อสร้างความมั่นใจเพราะในอนาคต รูปแบบการเช่าจะลดลงอย่างมากเหลือแค่เป็นวัน หรือไม่กี่ชั่วโมงแค่นั้นเอง

อีกเรื่องที่ แคท แมเนแลค พูดไว้ในบทความ คือ ยุครุ่งเรืองของห้างใหญ่ที่เคยต้อนรับลูกค้าจำนวนมากให้เข้ามาใช้บริการจะสิ้นสุดลง และในตอนนั้นรูปแบบความสัมพันธ์ของร้านค้ากับผู้คนก็จะยากสุดคาดเดาได้ เธอและทีม YC จึงมองหาสตาร์ทอัพที่คิดถึงเรื่องเหล่านี้ และสามารถปรับใช้อาคาร ร้านค้า ให้เกิดประโยชน์ได้ในอนาคต

  • Carbon-removal technologies

จาก “ข้อตกลงปารีส” ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่วางเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้นั้นแมเนแลค ระบุว่า แค่การเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนไม่เพียงพอที่จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ แต่เราจะต้องลดจำนวนคาร์บอนในชั้นบรรยากาศลงให้ได้ด้วย

ปัญหาก็คือ เทคโนโลยีเพื่อขจัดคาร์บอนยังอยู่ในระยะเริ่มต้น เพราะฉะนั้น สตาร์ทอัพรายไหนที่ริเริ่มไอเดียเพื่อลดคาร์บอนในชั้นบรรยากาศได้.. บอกเลยว่า นอกจากจะหล่อเพราะรักษ์โลกแล้ว ยังมีเงินทุนรออุดหนุนอย่างแน่นอน

1_Vcm1hdo4pXOrzogorsuWBA

  • Cellular agriculture and clean meat

จะบอกว่าเป็นข่าวดี อาจไม่เต็มปากนัก สำหรับข่าวที่ว่า ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สามารถผลิตอาหารอย่างเนื้อ หรือผลิตภัณฑ์นมจากสัตว์ได้โดยใช้เพียงแค่เซลล์ได้สำเร็จ

นั่นหมายความว่า ในอนาคตเรามีโอกาสที่จะได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่กำเนิดจากเซลล์ที่ไม่ได้มีชีวิตเป็นหมู หรือวัว หรือไก่อย่างที่คุ้นเคยกัน โดยมันออกจะดูเพี้ยน หรือเข้าขั้นสยองหน่อยๆ แต่ความจริงก็คือ เราอาจหลีกเลี่ยงสถานการณ์นั้นไม่ได้

นอกจากนี่จะเป็นวิธีการได้มาซึ่งโปรตีนโดยไม่ทำร้ายหรือเบียดเบียนสัตว์แล้ว ทราบหรือไม่ว่า ทุกวันนี้อุตสาหกรรมอาหารจากเนื้อและนมที่มีอยู่นั้นเกิดขึ้นอย่างโหดร้ายและเสียเปล่า ไม่คุ้มค่า แถมไม่มีความยั่งยืน เนื่องจากพื้นที่ปศุสัตว์ส่วนใหญ่บนโลกนี้ถูกใช้ไปเพื่อการผลิตเนื้อสัตว์จนแทบจะหมดแล้ว นั่นหมายความว่า เมื่อประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้น เราจะไม่สามารถเพิ่มพื้นที่เพื่อผลิตเนื้อสัตว์เพื่อตอบสนองได้อย่างเพียงพอ

หนำซ้ำ การทำปศุสัตว์ยังเป็นส่วนหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นปริมาณที่กว่าการจราจรขนส่งเสียอีก แถมการใช้ยาปฏิชีวนะระหว่างกระบวนการเลี้ยงก็ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนเราอีกด้วย

แนวทางการผลิตเนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยงโดยตรงจากเซลล์จึงเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ และ YC ก็กำลังมองหาสตาร์ทอัพเจ๋งๆ ที่จะสามารถสร้างตลาดให้กับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากเทคโนโลยีใหม่นี้ได้

หรือถ้ามีสตาร์ทอัพผู้เชี่ยวชาญที่สามารถขยายกำลังการผลิตเนื้อสัตว์จากเซลล์ได้ก็จะยิ่งเจ๋งขึ้นไปอีก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ผ่านการผลิตที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นในราคาที่ถูกลง

  • Cleaner commodities

ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่ายังคงเป็นวาระสำคัญระดับโลก โดยคาดการณ์ว่า ป่าฝนจะหมดไปในอีกร้อยปีถัดจากนี้ โดยที่ผ่านมา เริ่มมีสตาร์ทอัพที่หันมาจับความต้องการที่จะบริโภคสินค้าที่ดีต่อโลก แต่ในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์อย่าง น้ำมันปาล์ม ซอสถั่วเหลืองนั้น กลับยังได้รับความสนใจน้อยอยู่

โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มซึ่งถูกผลิตมากที่สุดในหมู่น้ำมันจากพืช โดยกินพื้นที่ขายบนชั้นวางสินค้ากว่าครึ่งในร้านขายของชำ จากการประเมินมูลค่าตลาดน้ำมันปาล์มทั่วโลกในปี 2016 พบว่า มีมูลค่าสูงถึง 65 พันล้านเหรียญ และคาดว่าจะพุ่งไปสูงถึง 92.84 พันล้านเหรียญในปี 2021

นอกจากนี้ กระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มยังต้องพึ่งพาน้ำมันดิบ มีการเผาไหม้ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม แถมยังเป็นส่วนหลักของการเกิดภาวะโลกร้อนที่มากที่สุดในหมู่สินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ด้วย

ทาง YC จึงมีความเห็นว่า เจ้าอุตสาหกรรมที่ใหญ่ยักษ์แต่ล้าสมัยนี้ควรจะต้องได้รับความสนใจที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น เป็นต้นว่า ถ้ามีสตาร์ทอัพรายใดที่คิดอยากจะพัฒนากระบวนการผลิตที่สะอาดยิ่งขึ้น หรือคิดค้นรูปแบบซัพพลายเชนที่เป็นมิตร 

HI_284108_James_Morgan_WWF_International  www.worldwildlife.org

  • Improving memory

ความจำของคนเรานั้นถือว่า ประหลาด โดยเฉพาะถ้าเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์ เพราะในขณะที่เราจดจำความรู้สึกได้แม้เรื่องราวจะผ่านมาเป็นสิบปี แต่เรากลับนึกไม่ออกว่า วางโทรศัพท์ไว้ที่ไหน หรือมาห้างเพื่อจะซื้ออะไร จริงอยู่ที่เทคโนโลยีดีๆ มันสามารถช่วยให้คนอยู่ได้สะดวกขึ้นแม้จะลืมโน่นนี่นั่น แต่สิ่งที่ทาง YC อยากเห็นคือ เทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาสมองมนุษย์เสียมากกว่า เพราะเรากำลังอยู่ในโลกที่มีแนวโน้มการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม และอัลไซเมอร์มากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

  •  Longevity and anti-aging​

แมเนแลค เปิดเผยว่า ทีม YC กำลังมองหาที่จะลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพซึ่งกำลังเริ่มต้นทดลองเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ชีวภาพ โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยอย่างนี้ การมีชีวิตที่ยืนยาวยังไม่เพียงพอ แต่เราต้องอยู่อย่างมีคุณภาพด้วย มันคงจะดีถ้าสามารถจัดการกับโรคอันเนื่องจากอายุ และช่วยให้คนเรามีสุขภาพที่แข็งแรงยาวนาน ซึ่งถ้าทำสำเร็จ เราก็จะสามารถแก้ปัญหาสุขภาพที่เข้าขั้นวิกฤติได้อย่างแน่นอน

  • Safeguards against fake video

เทคโนโลยีสุดล้ำที่มนุษย์พัฒนาขึ้นอย่างน่าภาคภูมิใจ แม้ข้อดีจะมีอยู่เยอะ แต่ทุกอย่างก็มีดาบสองคม อย่างเช่นเทคโนโลยีตัดต่อ การทำคอมพิวเตอร์กราฟิกสุดเจ๋ง เมื่อบวกเข้ากับความฉลาดของ AI ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาการปลอมแปลงคอนเทนต์วิดีโอที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยในต่างประเทศเรียกมันว่า Dortored Video

ขณะที่มันยากจะแยกแยะว่า นี่คือเรื่องจริงหรือปลอม แต่คอนเทนต์ที่สุ่มเสี่ยงนี้ก็ได้แพร่กระจายไปถึงคนอื่นๆ ภายในเวลาอันรวดเร็วด้วยสมาร์ทโฟนเครื่องจิ๋ว ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า ถ้าวิดีโอหลอกลวงแบบนี้เกิดเยอะขึ้น ความวุ่นวายจะมากแค่ไหนถ้า สปีชของผู้นำถูกนำมาตัดต่อเสียใหม่ให้เกิดความขัดแย้งระดับประเทศ หรือสร้างความเกลียดชังต่อกัน ทีมงาน YC จึงต้องการเห็นเทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่สามารถตรวจจับหรือระบุได้ว่า นี่คือภาพเคลื่อนไหวหรือเสียงที่เกิดจากการตัดต่อหรือไม่

  Screen Shot 2561-05-01 at 20.48.34

  • Supporting creators

เมื่ออินเทอร์เน็ตสามารถแพร่งานสร้างสรรค์ไปยังคนนับล้านได้อย่างง่ายดาย แต่จะมีสักคนไหมที่คิดจะช่วยให้งานสร้างสรรค์ดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ขณะที่ในวงการศิลปะ จะมีคนกลางระหว่างศิลปินกับแฟนๆ ผู้ติดตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการ, โปรดิวเซอร์ ตัวแทนขาย หรือมนุษย์แกลเลอรี่ใดๆ ก็ตามแต่ ซึ่งไม่ได้เป็นตัวกลางหรือตัวแทนของศิลปินเท่านั้น แต่ยังเป็น “ส่วนแบ่ง” รายได้ที่ศิลปินได้รับด้วย 

ทาง YC จึงต้องการเห็นสตาร์ทอัพที่ช่วยสร้างเครือข่ายที่ต่อท่อให้ศิลปินได้เชื่อมถึงแฟนๆ หรือผู้ซื้องานได้โดยตรง ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ศิลปินสามารถระดมเงินทุน รับรู้ฟีดแบ็คจากภายนอก รวมถึงป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ได้อีกด้วย

  • Voice apps

เมื่อบ้านไหนๆ ก็มีลำโพงกันทั้งนั้น YC จึงตั้งตารอที่จะได้เห็นแอพพลิเคชั่นที่สร้างมูลค่าบนแพลทฟอร์มดังกล่าวนี้ได้โดยต้องแตกต่างจากแอพฯ บนเว็บหรือบนมือถือที่มีอยู่เดิมๆ แต่จะต้องเปี่ยมด้วยนวัตกรรมสุดเจ๋ง โดยแมเนแลค ระบุว่า บริษัททำแอพฯ ทางด้านเสียงรายใดที่ได้เข้าร่วมงานกับ YC ก็จะได้ต่อตรงทำงานกับทีมผู้ช่วยของอเมซอน, อเล็กซ่า และกูเกิลเลยล่ะ

แม้การเข้าระดมทุนหรือเข้าร่วมเป็นศิษย์สำนัก YC อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำหรับใครที่ยังตันๆ คิดไม่ออกว่า อยากทำอะไรดีก็น่าจะมีประโยชน์อยู่บ้าง เพราะอย่างน้อย นี่ก็คือเทรนด์ที่สกัดมาแล้วโดยพี่เลี้ยงสตาร์ทอัพสำนักใหญ่แห่งหนึ่งของโลกเชียวนะ