งู ในความเชื่อ และความรู้สึกของคนโลกตะวันออก ตอนจบ

งู ในความเชื่อ และความรู้สึกของคนโลกตะวันออก ตอนจบ

ทำไม นาค ถึงผูกพันกับคนในภูมิภาคอุษคเนย์ โดยเฉพาะในมิติของศาสนา และอีกหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับงู

สำหรับผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบน ทั้งตำนานท้องถิ่นไทยวน กลุ่มลาว ปรากฏตำนานทั้งล้านนาและล้านช้างที่อิงกับแม่น้ำโขง ตำนานสุวรรณโคมคำและตำนานอุรังคธาตุ สะท้อนตำนานการเกิดแม่น้ำโขงและบ้านเมืองผู้คนสองฟากฝั่ง

background-images-1833270_1920

ย้อนกลับไปถึงทะเลสาบหนองแสซึ่งน่าจะอยู่ในบริเวณมณฑลยูนนาน ตอนใต้ของจีน เกี่ยวพันกับเรื่องการอพยพของผู้คนที่พูดภาษาตระกูลไทกลุ่มใหญ่อพยพลงสู่ทางใต้หลายระลอก แต่ในตำนานกล่าวถึงนาคที่ชื่อพินทโยนกวตินาคเป็นใหญ่อยู่ที่หัวหนองแส

ส่วนท้ายหนองแสมีนาคชื่อธนะมูลนาคเป็นใหญ่ นาคพินทโยนกวตนาคกับธนะมูลนาควิวาทเรื่องแย่งอาหารทำให้น้ำขุ่น สัตว์น้ำล้มตาย แม้เทวดาห้ามก็ไม่อาจยุติได้จึงไปทูลพระอินทร์ ในที่สุดวิสุกรรมเทพบุตรจึงขับไล่นาคทั้งสองออกจากหนองแส

ตำนานท้องถิ่นยังพรรณนาว่าการเลื้อยออกจากหนองแสทำให้ดินแดนที่เกิดขึ้นกลายเป็นแม่น้ำอูหรือุรังคนที พิทโยนกวตนาคคุ้ยดินเป็นแม่น้ำออกไปทางเมืองเชียงใหม่กลายเป็นแม่น้ำปิง และเกิดเมืองโยนกวตินคร หรือแคว้นโยนก สัตว์ทั้งหลายจึงล่องตามแม่น้ำอุรังคนที ส่วนนาคหนีไปตามแม่น้ำของหรือแม่น้ำโขง หรือแม่น้ำขลนที โดยตำนานสุวรรณโคมคำกล่าวว่าเป็นแม่น้ำที่พญาศรีสัตนาคขุดขึ้น

dusk-3158011_1920

ในตำนานอุรังคธาตุเชื่อมโยงว่าเมื่อนาคทั้งหลายออกไปจากหนองแส ทำให้ศรีสัตนาคไปอยู่ที่ดอยนันทกังรี และมีตำนานการเกิดหนองน้ำขนาดใหญ่กับแม่น้ำทั้งในภาคอีสานของไทยและในสปป.ลาว ที่ไหลลงไปสู่ตอนล่างในกัมพูชา โดยฝีมือของบรรดานาค ซึ่งในเวลาต่อมาผูกกับตำนานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา กล่าวถึงพระพุทธองค์เสด็จมายังดินแดนในภาคอีสานของไทย บรรดานาคทั้งหลายไม่ยอมสักการะอ่อนน้อมอีกทั้งยังแสดงท่าทีข่มขู่ จึงทรงแสดงพุทธปาฏิหาริย์ปราบทิฐินาคเหล่านั้น จนยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาและทูลขอรอยพระพุทธบาทเอาไว้บูชา

เรื่องของนาคสะท้อนวิถีชุมชนที่กล่าวถึงภูมิประเทศและความเชื่อมโยงกับดินแดนใกล้ไกล

ประวัติกำเนิดอาณาจักรฟูนันอิงตำนานซึ่งกล่าวถึงพราหมณ์โกณฑิญญะพุ่งหอกเพื่อหาที่สร้างเมือง ต่อมาอภิเษกกับนางโสมาเป็นธิดานาคซึ่งครองดินแดนอยู่ดั้งเดิม จนเป็นต้นวงศ์กษัตริย์ฟูนัน ขณะที่บันทึกของจีนซึ่งทำให้นักวิชาการยืนยันว่าฟูนันเป็นอาณาจักรที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาค บันทึกเรื่องราวในตำนานนิทานลักษณะคล้ายกันนี้ แต่ปรากฏชื่อนางนาคโสมาว่าหลิวเหย่

เรื่องกษัตริย์กัมพูชาจะต้องสมภาสกับนางนาคยังปรากฏในบันทึกของโจวต้ากวาน ทูตจีนที่เข้ามายังกัมพูชาในปลายสมัยอาณาจักรกัมพูชาโบราณซึ่งได้ยินผู้คนพูดถึงภูติงูเก้าศีรษะเป็นร่างของสตรีและปรากฏกายทุกคืนพระเจ้าแผ่นดินจะต้องเข้าประทับบรรทมที่ปราสาททองคำ (ปราสาทพิมานอากาศ) กับภูติงูดังกล่าวก่อนที่จะเสด็จไปหามเหสี (เฉลิม ยงบุญเกิด, บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ, กรุงเทพฯ: มติชน, 2557, 12) เชื่อว่าภูติงูนั้นบันดาลความความอุดมสมบูรณ์ จนถึงราชพงศาวดารกัมพูชายังกล่าวถึงตำนานนาคและคน ในเรื่องพระทองกับนางนาคของกัมพูชาจนปัจจุบันพิธีแต่งงานเจ้าบ่าวจะจับชายสไบตามเจ้าสาวเข้าห้องหอ (ศานติ ภักดีคำ, นาค, กรุงเทพฯ: อัมรินทร์, 2556, 49-50.)

unnamed (4)

จากความเชื่อและเรื่องเล่าเกี่ยวกับงูหรือนาค พัฒนาไปสู่ศิลปกรรมตลอดจนสถาปัตยกรรมต่างๆ อาทิ ช่วงก่อนที่พระโพธิสัตว์จะตรัสรู้นั้นทรงออกจากบำเพ็ญทุกรกิริยาแล้วรับข้าวมธุปายาสในถาดทองคำจากนางสุชาดา หลังจากฉันข้าวทิพย์ดังกล่าวทรงอธิษฐานจิตลอยถาดทวนกระแสน้ำไกลถึง 80 ศอก แล้วถาดดังกล่าวจึงจมลงใต้บาดาลเหนือวิมานแห่งพญากาลนาคราช ถาดทองนั้นกระทบกับถาดของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าในอดีตทั้งสามองค์ จึงทำให้พญานาคล่วงรู้ว่าบัดนี้จะมีพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่บังเกิดขึ้น

ส่วนที่มาของการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก ตามพุทธประวัติเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วเสวยวิมุตติสุขบริเวณต้นพระศรีมหาโพธิและบริเวณใกล้เคียงแล้ว ปฐมสมโพธิกถากล่าวว่าในสัตตมหาสถานที่ 6 ประทับใต้ต้นจิก ปรากฏว่าเกิดฝนตกนาน 7 วัน พญานาคมุจลินทร์ขนดตัวล้อมพระวรกายและแผ่พังพานปรกพุทธองค์จากฝน เมื่อฝนหยุดจึงแปลงร่างเป็นมนุษย์ถวายอภิวาทต่อพระพุทธองค์

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นจึงกล่าวได้ว่าพญานาคปรากฏในประติมานวิทยา การสร้างพระพุทธรูปหรือแม้แต่เทวรูป ตลอดจนศาสนสถานที่ปรากฏพญานาคแพร่หลายจากอินเดียมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลของอาณาจักรกัมพูชาโบราณ ในไทย สปป.ลาว รวมถึงตอนใต้ของเวียดนาม

unnamed (6)

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงวิเคราะห์เรื่องพญานาคในศิลปะเขมรเอาไว้ว่านาคใช้เป็นเครื่องประดับสองข้างทางเข้าศาสนสถาน นาคนี้ก็คือรูปงูจงอางเวลาแผ่พังพาน แต่เพิ่มศีรษะขึ้น นาคขอมมีรูปร่างหยาบๆ ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 15 แต่ระหว่าง พ.ศ. 1450-1500 ที่เกาะแกร์นาคเริ่มมีรูปร่างสวยงามขึ้น

ในปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ที่ปราสาทพระวิหารในสมัยบาปวนตอนต้น นาคซึ่งมีรูปร่างงดงามก็กำลังชูเศียรขึ้น แต่รูปนาคที่แปลกประหลาดมีลักษณะพิเศษอย่างแท้จริงนั้นเกิดในพุทธศตวรรษที่ 17 พร้อมกับสมัยนครวัด ระยะนี้นาคไม่ได้เลื้อยอยู่เหนือกำแพงเตี้ยๆ อีกแล้ว แต่เลื้อยอยู่เหนือฐานศิลารูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์เล็กๆ วางอยู่ห่างๆ กัน

ต่อมาในสมัยบายนระหว่าง พ.ศ. 1700-1750 รูปครุฑก็เข้าไปปนอยู่กับนาค ทำให้มีรูปร่างแปลกขึ้นแต่ดูหนักลง แต่ในสมัยบายนนี้นอกจากรูปนาคจะปรากฏทางเข้าสองฟากของศาสนสถานแล้ว ยังมีเทวดายุดนาคอยู่ฟากหนึ่งส่วนอีกฟากคืออสูร หมายถึงการกวนเกษียรสมุทรและสะพานรุ้งที่จะนำไปสู่สวรรค์พร้อมกัน (หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง, กรุงเทพฯ: มติชน, 229.)

5555

สิ่งประดับตกแต่งอาคารในสถาปัตยกรรมไทย ประเพณีได้รับอิทธิพลจากขอมแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบตามยุคสมัยและประโยชน์การใช้งาน กระนั้นหลายสิ่งก็ยังเกี่ยวพันกับพญานาค บางส่วนแปรเปลี่ยนรูปลักษณ์และชื่อเรียกจนแทบลืมไปแล้วว่าเดิมทีเป็นลักษณะเลียนแบบงู หรือพญานาค เช่น ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ก็นำธรรมชาติของงูมาประกอบการสร้างอาคารสำคัญ เป็นวิวัฒนาการจากปราสาทขอมที่เดิมนิยมใช้หินทรายก่อแล้วแกะสลักเรื่องราวทางศาสนา กระทั่งใช้อิฐก่อประดับปูนปั้น

ช่อฟ้า คือส่วนหางของงูสองตัวที่เลื้อยแยกออกจากกันแต่หางยังเกี่ยวกระหวัดกัน ใบระกา คือครีบหลังของพญานาค หางหงส์ พัฒนาจากเศียรพญานาค ส่วนนาคสะดุ้งคือลำตัวขณะเลื้อย เป็นต้น

นอกจากนี้ราชรถอัญเชิญพระบรมศพก็พัฒนามาจากเรือนาคที่จะนำวิญญาณกลับสู่โลกเดิมเพราะผู้ที่จะนำพาวิญญาณกลับไปอย่างปลอดภัยต้องเป็นนาคเท่านั้น ยังมีประเพณีอยู่ในกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเพณีออกพระเมรุมาศกษัตริย์ไทยแม้ว่าจะไม่จำเป็นต้องไปทางเรือแต่ราชรถที่ประดิษฐ์ขึ้นก็เป็นราชรถแต่ทางหัวและหางก็ยังเป็นลวดลายสัญลักษณ์นาคดังเดิม (สุจิตต์ วงษ์เทศ, พระเมรุทำไม ? มาจากไหน, กรุงเทพฯ: กองทุนเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ, 2551, 28)

unnamed (7)

ท้ายสุด งูปรากฏในวรรณกรรมที่คนไทยคุ้นเคย แต่การเปรียบเปรยนาคเป็นงูแล้วโยงมาสอนคนที่แยบยลที่สุด คือ โคลงโลกนิติ (อ่านว่า โลก-กะ-นิด) สำนวนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ซึ่งหลายคนเคยผ่านตาและท่องจำเมื่อครั้งเรียนวิชาภาษาไทย กล่าวถึง งูไม่ว่าจะชนิดใดมีพิษร้ายแรงแค่ไหนมักไม่อวดเบ่งพิษสง จะใช้เพียงเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น เปรียบเทียบแมลงป่องที่มักจะโอ้อวดราวแสดงตนว่ามีพิษร้ายแต่มีอยู่แค่เพียงปลายหาง ดังความว่า

นาคีมีพิษเพี้ยง สุริโย

เลื้อยบ่ทำเดโช แช่มช้า

พิษน้อยหยิ่งยโส แมลงป่อง

ชูแต่หางเองอ้า อวดอ้าง ฤทธี

เราได้เรียนรู้หลายสิ่งจากวัฒนธรรมและความเชื่อของชาวบูรพทิศเกี่ยวกับ งู ที่โยงไปสู่นาค และพญานาค แต่ยังมีอีกมากมายที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับงู

เพรา “งู” ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่น่าสนใจให้ค้นหา และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับงู

หมายเหตุ : วสิน ทับวงษ์ จากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นักวิชาการรุ่นใหม่ที่สนใจความเชื่อมโยง และความเป็นไปของโลก เขาได้เข้ามามีส่วนร่วมใน นิทรรศการ โลกแห่งสรพิษ (World of Snake) ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 21-29 เมษายน 2561 จากการสืบเสาะเรืองราวด้านวัฒนธรรมและความเชื่อของงู ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต ศาสนา ศิลปะ-สถาปัตยกรรม วรรณกรรมของผู้คนในภูมิภาคแถบนี้ จึงได้มีโอกาสนำมาบอกเล่าผ่านข้อเขียนชุดนี้