เมื่อ “ออเจ้า” บุกวัดไชยวัฒนาราม

เมื่อ “ออเจ้า” บุกวัดไชยวัฒนาราม

คนแห่แหนแต่งชุดไทยไปเที่ยววัดไชยวัฒนาราม ตามรอยละครบุพเพสันนิวาส เป็นแค่การไปถ่ายรูปอวดกันของคนยุคโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์หรือหวงแหนโบราณสถานของชาติหรือเปล่า ไปคุยกับ ผอ. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยากัน

ความโด่งดังของละครอิงประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา ช่วงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจหลายอย่างทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม การตลาด การท่องเที่ยว ฯลฯ แต่ที่ฮิตที่สุดคือการที่คนลุกขึ้นมานุ่งห่มอย่างไทยไปเที่ยววัดไชยวัฒนารามตามรอยละครกันอย่างเนืองแน่นจนทำให้รถติดยาวเหยียด กระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้คึกคักขึ้นมาทันตาเห็น มีร้านให้เช่าชุดไทย ร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนลานจอดรถผุดขึ้นรายรอบวัด

ทว่า คนจำนวนมากย่อมมาพร้อมความวุ่นวายที่เกินกว่าจะควบคุม เมื่อนักท่องเที่ยวแอบไปนั่งบนขอบหน้าต่างเก่าแก่อายุหลายร้อยปีของ วัดเชิงท่า ต. ท่าวาสุกรี จนชำรุดเสียหาย ทางกรมศิลปากรต้องส่งช่างผู้ชำนาญการเข้าไปซ่อมแซม พร้อมติดป้ายเตือน “ห้ามนั่ง” เอาไว้ให้เห็นเด่นชัด

เหตุการณ์นี้เป็นการสะกิดสะเกาให้ฉุกคิดขึ้นมาว่า กระแส “ออเจ้า” บุกพระนครศรีอยุธยาครั้งนี้จะส่งผลดีหรือผลเสียต่ออุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งกำลังเสี่ยงต่อการถูกองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ถอดสถานะการเป็น “มรดกโลก” กันแน่ ซึ่งก็คงจะไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ดีไปกว่า นางสาวสุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อีกแล้ว เพราะหญิงเก่งแห่งวงการโบราณคดีคนนี้เป็นผู้ดูแลรับผิดโดยตรง แถมยังเพิ่งจะสร้างความฮือฮาด้วยการแจ้งความเอาผิดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ปีนป่ายโบราณสถานในวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขึ้นไปถ่ายรูปด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสมมาหยก ๆ

456569                                                        

ข่าวการแจ้งความเอาผิดนักท่องเที่ยวกลุ่ม “คนบาป 2018” ที่เผยแพร่ออกไปอาจทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า แล้วทางอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่ดูเข้มงวดกับการเข้าชมโบราณสถานไม่น้อยจะยินดีกับกระแสออเจ้าบุกวัดไชยวัฒนารามตามรอยแม่การะเกด และพี่ขุนเดชในละครหรือไม่ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมขึ้นมาอีก

 

เรื่องนี้ ผอ. สุกัญญา ยืนยันว่า ยินดี แถมเธอเองนี่แหละที่เป็นต้นคิดกิจกรรมเชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วม “แต่งชุดไทยชมวัดไชยวัฒนาราม” ที่กำลังเป็นเทรนด์ฮิตอยู่ในขณะนี้ด้วย โดยจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ จริง ๆ แล้วไม่ได้มาจากละคร แต่มาจากเหตุการณ์กลุ่มวัยรุ่นปีนขึ้นไปถ่ายรูปบนเจดีย์ในวัดมหาธาตุแล้วโพสต์แคปชั่นท้าทาย รู้ว่าผิดแต่ก็จะขึ้นต่างหาก เรื่องนี้ทำให้เธอฉุกคิดขึ้นมาว่า ถึงแม้จะมีป้ายเตือนติดอยู่ แต่คนที่มาเที่ยวอาจจะยังไม่รู้ว่าการทำแบบนั้นมันผิดกฎหมาย มีบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับ เธอเลยคิดเปลี่ยนเหตุการณ์ในมุมกลับ ให้เจ้าหน้าที่ใส่ชุดไทยไปถ่ายรูปตรงจุดเกิดเหตุเพื่อกลบกระแสในเรื่องที่เป็นปัญหาอยู่ แล้วละครก็เข้ามาพอดี

 

“เราสังเกตว่าละครออกไปประมาณ 4 ตอนแล้ว ช่วงต้นเดือนมีนาคมคนมาเยอะขึ้น เลยคิดขึ้นมาเล่น ๆ ไม่คิดว่าการตอบรับจะเยอะขนาดนี้ เราโพสต์ทางเฟซบุคอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เชิญชวนคนร่วมกิจกรรมแต่งชุดไทยชมวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งลงล็อกกับกระแสละครที่คนมาวัดไชยฯ พอดีจึงได้รับการตอบรับดีมาก คนแชร์ไปเป็นพันครั้งใน 1 ชั่วโมง แสดงว่าละครกับสิ่งที่เราให้ลองดูมันสอดรับกันได้พอดี”

“เราคิดแผนมาโดยที่ไม่เกี่ยวกับละคร แต่ใช้กระแสละครที่กำลังมาครอบเข้าไป ถ้าเราไม่ประกาศออกไปแบบนี้จะทำไม่ได้ เพราะปรกติแล้วการถ่ายภาพในอุทยานประวัติศาสตร์จะมีระเบียบกำหนดว่าถ้ามาถ่ายแฟชั่นชุดไทย หรือพรีเวดดิ้งจะต้องชำระค่าธรรมเนียมก่อนแล้วนำใบเสร็จไปแสดงที่ป้อมจำหน่ายบัตรถึงจะเข้าไปถ่ายภาพได้ คือ ก่อนหน้านี้คนที่จะเข้าอุทยานด้วยชุดไทยจะมาในอีกลักษณะหนึ่ง แต่ในคราวนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เราเลยต้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจนว่า สามารถแต่งชุดไทยมาเข้าชมวัดได้เลย ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการถ่ายรูป แต่ถ้าใครจะเข้ามาในเชิงธุรกิจก็ยังต้องเสียเหมือนเดิม”

 

ผอ. สุกัญญา กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์นักท่องเที่ยวปีนป่ายโบราณสถานขึ้นไปถ่ายรูป เธอก็เกิดความคิดที่จะสร้างรูปแบบใหม่ของการเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์ให้ดูน่าสนใจขึ้นด้วยการหันมาชักชวนคนให้แต่งชุดไทยมาเที่ยว เพราะเครื่องแต่งกายมันคุมท่าทาง และพฤติกรรมของคนได้ ถ้าชุดธรรมดาจะกระโดดโลดเต้น หรือโพสต์ท่าที่โลดโผนได้ แต่ถ้าเป็นชุดไทย แค่จะเดินก็ยังยากแล้ว

“เครื่องแต่งกายตามประเพณีมันคือขนบ แล้วขนบมันก็กำหนดพฤติกรรม พอมันกำหนดพฤติกรรมปุ๊บ บรรยากาศโดยรอบก็กำหนดอีกตัวหนึ่ง ภาพที่ออกมามันเลยสวยงามเหมาะสม”

  watchat-04  

มาเช็คอิน...ยังดีกว่าไม่มา

          เมื่อเราถามไปตรง ๆ ว่า แล้วพอใจกับกระแสละครที่ทำให้คนมาเที่ยวเยอะขึ้นไหม ผอ. สุกัญญา ตอบว่า พอใจ เพราะทำให้คนสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น แล้วการให้คนมีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์ได้ง่ายที่สุดก็คือให้พวกเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นั่นเอง อย่างพอดูละครย้อนยุค คนก็อยากจะแต่งกายย้อนยุคเวลามาตามรอยด้วยความอินเข้าไปในละคร อินเข้าไปกับบรรยากาศ ทีนี้มันก็ขึ้นอยู่กับทางอุทยานฯ แล้วว่าจะสอดแทรกอะไรเข้าไป อาจจะเป็นข้อกำหนด ข้อปฏิบัติ กฎหมาย ประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า อย่างตอนนี้ ถ้าเป็นสื่อโซเชียล ทางอุทยานฯ ก็จะสอดแทรกเรื่องสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ศิลป์ หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับวัดไชยฯ ที่เป็นวิชาการเข้าไป

            นอกจากนี้ ในวันเสาร์-อาทิตย์ ทางอุทยานฯ ยังส่งวิทยากรไปประจำที่วัดไชยวัฒนารามด้วยเพื่อบรรยายให้คนที่อยากรู้ประวัติศาสตร์ฟัง แล้วหลังจากนั้นก็ไปถ่ายรูป เช็คอินกันตามจุดต่าง ๆ ได้ตามอัธยาศัย ซึ่งต่างกับแต่ก่อนที่ต้องขอเข้ามาเป็นหมู่คณะถึงจะจัดหาวิทยากรมาบรรยายให้

            ส่วนเรื่องที่มีคนวิพากษณ์วิจารณ์กันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงการเห่อกันชั่ววูบ เหมือนไฟไหม้ฟาง คนแค่อยากมาถ่ายรูปเช็คอิน อวดคนในโซเชียล ไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์จริงจังนั้น ผอ. สุกัญญา กล่าวว่า ถ้าจะมองว่าเป็นเรื่องปรุงแต่งก็มองได้ แต่เธอเข้าใจดีว่าทุกวันนี้คนอยู่ในโลกของโซเชียล เราก็ต้องใช้เครื่องมือนี้เข้าไปสอดแทรก กำหนดพฤติกรรม และวิธีคิดของพวกเขา มันอาจจะฉาบฉวย บางคนอาจไม่รู้สึกลึกซึ้งต่อประวัติศาสตร์ มันขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละคน แต่เธอก็ยังมองในเชิงบวกอยู่

“เราต้องดูแลคนจำนวนมากก็ต้องทำงานหนักขึ้น ให้พวกเขารู้ว่าสถานที่ ๆ พวกเขามาไม่ใช่แค่ซากอิฐไม่มีชีวิต เราต้องรักษามัน การระมัดระวังไม่ให้ตัวโบราณสถานเสียหาย พังทลาย หรือเสื่อมค่ามันต้องทำยังไงบ้าง เราว่าตรงนี้สำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี มาถ่ายรูปยังดีกว่าไม่มาเลย เพราะการรับรู้ของผู้คนหลากหลาย จุดสนใจของคนก็หลากหลาย การได้มาเห็น จากเดิมที่ไม่เคยรู้จัก อย่างน้อยก็ได้รับรู้ความสำคัญ เราว่ามันต้องได้แหละ ไม่ใช่ว่าคนเราจะไม่สนใจอะไรเลย”

            นอกจากจัดวิทยากรไปบรรยายแล้วยังมีกิจกรรมดนตรีไทยจิตอาสา เชิญชวนให้โรงเรียน นักเรียน มาเล่นดนตรีไทยสร้างบรรยากาศที่วัดไชยวัฒนารามในยามแดดร่มลมตกโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย

            “ตอนนี้วัดไชยฯ เป็นเหมือนพื้นที่แสดงออกทางด้านศิลปวัฒนธรรมการอนุรักษ์ไปแล้ว อย่างนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ชอบมาดูคนไทยใส่ชุดเดินไปเดินมาในวัด มันเหมือนเป็นการจัดงานที่ไม่มีงาน”

            ผอ. สุกัญญา ยังบอกด้วยว่ามีคนถามไถ่เข้ามาเยอะมาก ว่ากิจกรรม “แต่งชุดไทยเที่ยววัดไชยวัฒนาราม” นี้จะมีไปจนถึงเมื่อไร ซึ่งเธอบอกว่าขึ้นอยู่กับคนไทยว่าจะเลิกเมื่อไร เพราะตอนนี้ทางอุทยานฯ เปิดกว้างแล้ว วัดในอยุธยาที่ทางเราดูแลอยู่ทุกวัด คุณจะแต่งชุดไทยมาทุกวันก็ได้ มันเป็นสิทธิส่วนบุคคล เราไม่มองว่ามันถ่ายภาพแบบธุรกิจ ไม่มีระเบียบที่ต้องไปเก็บเงิน

watchat-02

จากร้อย..เป็นพัน...เป็นหมื่น

            สำหรับตัวเลขคนมาเที่ยววัดไชยวัฒนารามหลังจากที่ละครบุพเพสันนิวาสออกอากาศ ผนวกกับกิจกรรมแต่งชุดไทยชมวัดไชยฯ นั้น พุ่งพรวดพราดขึ้นหลายเท่าตัว โดยทางอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ผู้ดูแลพื้นที่ ถึงกับลุกขึ้นมาเก็บสถิติเองกันเลยทีเดียว และได้ข้อมูลมาว่า ก่อนหน้านี้ วันธรรมดาจะมีผู้เข้าชมจะไม่ถึง 1,000 คน แต่ในช่วงระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งละครกำลังพีค แล้วกิจกรรมแต่งชุดไทยชมวัดไชยฯ ก็กำลังเป็นที่พูดถึงนั้น ยอดคนมาเที่ยวทะยานขึ้นไปถึง 4,000 กว่าคนเลยทีเดียว

ส่วนวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันนักขัตฤกษ์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง จากที่เคยอยู่ที่ระดับ 1,600-1,700 คน ก็เริ่มเพิ่มขึ้นในวันมาฆบูชา 1 มีนาคมที่ผ่านมา มียอดเข้าชม 4,015 คน แล้วเพิ่มขึ้นมาเป็น 5,773 คน ในวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่เริ่มกิจกรรมแต่งชุดไทยชมวัดไชยวัฒนาราม และมีการแจกเหรียญพระพิฆเนศให้กับ 200 คนแรกที่เข้าร่วมกิจกรรม หลังจากนั้น ยอดคนมาเที่ยวชมก็กระโดดขึ้นไปเป็น 8,300 คน ในวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม จนทะลุหลัก 10,000 คน ในวันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม ไปเรียบร้อยแล้ว

             ผอ. สุกัญญา กล่าวว่า กระแสละครบุพเพสันนิวาสบวกกับกิจกรรม “แต่งชุดไทยชมวัดไชยวัฒนาราม” ทำให้การแต่งชุดไทยระบาดไปทั่วอยุธยา ชนิดที่แม้แต่งาน “ยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลก” งานใหญ่ประจำปีซึ่งเพิ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-24 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ก็ทำไม่ได้

“อยุธยาชวนคนใส่ชุดไทยไม่สำเร็จ แต่เรามองว่าที่มันจุดติดง่ายเพราะมันมีกระแสมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งงานอุ่นไอรัก งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ คล้าย ๆ เป็นการโหมโรงมาเรื่อย ๆ แล้วมาปังเอาตรงนี้ แต่ที่นี่มันเหมือนงานอีเวนท์ แต่ไม่ได้จัดงาน มีแค่โบราณสถานตั้งอยู่เท่านั้น”   

         watchat-03

แล้วสิ่งที่ ผอ. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา คาดหวังคืออะไร?

อยากให้เกิดการเปลี่ยนบรรยากาศการเที่ยวชมโบราณสถานด้วยตัวนักท่องเที่ยวเอง อยากให้เกิดการรับรู้ว่าถ้าไปเที่ยวอยุธยาแล้วให้แต่งชุดไทยถ่ายรูปนะ เธออยากเห็นภาพนั้น แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้ไหม ละครจบแล้วจะไม่มีใครแต่งรึเปล่า

            ผอ. สุกัญญา กล่าวด้วยว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ณ วัดไชยวัฒนาราม ในตอนนี้เป็นสิ่งที่คนคลุกคลีอยู่ในแวดวงโบราณคดีแบบเธอไม่เคยเห็นมาก่อน อย่างโพสต์กิจกรรมแต่งชุดไทยชมวัดไชยวัฒนารามที่มีการแชร์กันไปนั้น มีคนเห็นโพสต์ร่วม 2 ล้านคน จนเล่นเอาเธอตกใจ เพราะตอนแรกไม่คิดว่าคนจะมา จนต้องนำเหรียญพระพิฆเนศมาแจกเรียกแขก 200 เหรียญ แต่ปรากฏว่าหมดภายในพริบตาเดียว ซึ่งสำหรับคนทำหน้าที่อนุรักษ์โบราณสถานแบบเธอรู้สึกพอใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่ของรายได้ สถิติ การส่งเสริมการท่องเที่ยว มันตอบโจทย์ของคนทำงานอุทยาน เพราะนอกเหนือจากภารกิจหลักในการบำรุงรักษา ดูแลพื้นที่ การอนุรักษ์ และการบูรณะแล้ว ทางอุทยานฯ ยังทำงานด้านบริการ เป็นแหล่งเรียนรู้ ให้ข้อมูล ต้อนรับและดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วย

watchat-05

แน่นอนว่าคนมาเที่ยวเยอะขนาดนี้ แล้วทางอุทยานฯ ต้องรับมืออย่างไรบ้าง?

ผอ. สุกัญญา บอกว่า พอกระแสแรง สิ่งที่กังวลก็คือปัญหาคนแอบเข้าหลังวัด (ทั้งที่ค่าเข้าแค่ 10 บาท) เลยต้องวางกำลังคนป้องกันคนทำผิดกติกา ระวังคนปีนป่าย เสาร์-อาทิตย์ ข้าราชการ รวมถึงตัว ผอ. เองก็ต้องลงไปดูแล ส่วนพนักงานรักษาความสะอาดก็ต้องให้มาทำงานทุกวัน

นอกจากนี้ก็มีเรื่องการจัดการของแจก เพราะมีร้านค้ามาพีอาร์ตัวเองด้วยการเอามะม่วงน้ำปลาหวาน ขนมไทย แล้วก็น้ำดื่มมาแจกคนที่มาเที่ยวชมวัดไชยวัฒนาราม ทางอุทยานฯ ก็กำหนดให้แจกตอนขาออกทั้งหมด เพราะไม่อยากให้คนถือของเข้าไปกินในวัดเป็นพัน ๆ คน ปัญหาขยะจะตามมาแน่นอน

ส่วนเรื่องเหตุการณ์ที่วัดเชิงท่าได้รับความเสียหายนั้น ผอ. บอกว่า ทุกเหตุการณ์จะมีอีกมุมหนึ่งให้มองเสมอ พอเกิดกรณีแบบนี้แล้วทางเราจะได้แนวร่วมเยอะมาก สังเกตได้จากคอนเมนท์ตำหนิผู้ทำผิดกันหนักหน่วง ทำให้กลุ่มคนที่ยังไม่ได้กระทำมองเห็นว่าการทำแบบนี้มันผิด เขาก็จะรู้ว่าต่อไปต้องระมัดระวังยังไง เห็นป้ายห้ามขึ้นก็ไม่กล้าขึ้นแล้ว ไม่ฝ่าฝืน

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาอยากจะฝากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวไทย คือ ต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี แล้วการเที่ยวโบราณสถาน ต้องเตรียมตัว อย่างน้อยก่อนออกจากบ้านต้องสำรวจเครื่องแต่งกายก่อนว่าเหมาะที่จะเข้าวัด วัง หรือเปล่า ถึงแม้จะร้างไปแล้วก็ตาม แต่มันยังมีความหมาย เพราะเป็นเมืองเก่า ราชธานีเดิม ตรงนี้คือการเคารพสถานที่ ให้เกียรติผู้คนที่มาด้วยกัน แล้วยังจะช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่ได้ด้วย และพอเข้าไปแล้ว สิ่งที่เจ้าหน้าที่เตือนและป้ายเตือนขอให้เคารพกติกาของอุทยานที่วางเอาไว้ ซึ่งไม่มีอะไรยุ่งยากเลย

อยากขอให้เป็นเจ้าบ้านที่ดี เพราะเธอไม่อยากให้เรื่องที่ไม่ดีเกิดขึ้นจากน้ำมือคนไทยเลย