โรคซึมเศร้ากับเสาต้นนั้น

โรคซึมเศร้ากับเสาต้นนั้น

การต่อสู้ของหญิงสาวคนหนึ่งบนหนทางชีวิตที่มีโรคซึมเศร้าและอะนอเร็กเซียอยู่เคียงข้าง เมื่อตระหนักว่า "โรค" และ "เรา" ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เส้นทางนี้ก็ดูสดใสขึ้น

การเดินทางของหญิงสาวคนหนึ่ง บนหนทางชีวิตกับโรคซึมเศร้าและอะนอเร็กเซีย (Anorexia) หรือโรคคลั่งผอม โรคการกินผิดปกติ นั้นน่าสนใจ เพราะเธอไม่ได้ยอมจำนน

เมย์ - วรดา เอลสโตว์ ลูกครึ่งไทย - อังกฤษ บัณฑิตจากอักษรฯ จุฬาฯ ที่กำลังเรียนปริญญาโท สาขาสุขภาพจิต ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ครูสอนพิเศษภาษาฝรั่งเศส ที่รับงานแปล และถ่ายแบบอยู่สม่ำเสมอ

1_2

หญิงสาวช่างคิดคนนี้ต่อสู้กับโรคซึมเศร้าด้วยหลายวิธี มาถึงการรับมือล่าสุดด้วยการฝึกโพลแดนซ์ (Pole Dance) การเต้นกับเสาซึ่งมีภาพจำที่เย้ายวน แต่จริงๆ แล้วโพลแดนซ์ต้องใช้ความยืดหยุ่นแข็งแรงของร่างกายและความอดทนสูงมาก 

เรามารู้จักกับวรดา โรคซึมเศร้า และเสาต้นนั้นกัน

เรากับโรคไม่ใช่สิ่งเดียวกัน 

อาการป่วยของวรดาหาจุดเริ่มแน่นอนไม่เจอ โรคซึมเศร้าค่อยๆ คืบคลานเข้ามาจนเธอรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า อยากตายจริงๆ ตอนที่ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนั้นเธอไม่รู้ว่านั่นคืออาการของโรค

6

“เราไม่รู้ว่าอันไหนคือตัวเรา แล้วอันนั้นคือตัวโรค หลังจากที่รู้ตัว แล้วได้รับการวินิจฉัยว่าป่วย เราก็เริ่มหาความรู้ด้วยตัวเองเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนถึงเพิ่งไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้เอง ที่รู้ตัวว่าเรากับโรคคือสองอย่างที่แตกต่างกัน พอเกิดอาการเราก็จะรู้ตัวขึ้นมาว่านี่่คืออาการของโรคนะ ไม่ได้เป็นตัวเราจริงๆ”

เพราะความไม่รู้ว่านั่นคือโรค ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่คิดจะไปหาหมอ

“แม้แต่จะไปหาหมอ ยังกลัวว่าจะเป็นภาระให้หมอ เพราะเราไร้ค่า ไม่มีใครสมควรจะมาลำบากเพราะเรา” วรดาเล่า “ต้องให้แน่ใจ ให้เราพยายามฆ่าตัวตายก่อนค่อยไป แล้วมีเพื่อนๆ ที่เขาเป็น เขาไปหาหมออยู่ ทุกคนก็พยายามลากให้เราไปหาหมอ เราก็ไปหาหมอเพราะรำคาญ ปรากฏว่าเป็น”

โรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตอื่นๆ มี 3 สาเหตุหลักคือ Biology, Psychology และ Social หรือพยาธิสภาพทางกาย สุขภาพจิต และสังคม อาการพื้นฐานของโรคคือ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ตัวเองไม่มีความหมาย อยากตาย อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ โดยไม่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมเป็นเพียงตัวหนึ่งที่มากระตุ้น คนที่เกิดมาในสภาพแวดล้อมที่แย่ แต่มีการมองโลกที่ดี มีคนที่ให้ความรัก ก็ทำให้ผู้นั้นชื่นชมในสิ่งที่ตนมีอยู่ได้

ซึมเศร้าและอะนอเร็กเซีย

คนที่เป็นทั้งโรคซึมเศร้าและอะนอเร็กเซียอย่างวรดา วิเคราะห์ว่าโรคทั้งสองมาคู่กัน โดยโรคซึมเศร้านั้นเป็นพื้นฐาน เมื่อคนเรามองตัวเองไร้ค่า ก็ย่อมมองไม่เห็นความงามของตัวเอง ยิ่งพยายามทำตัวเองให้ดูดีด้วยการลดความอ้วน (เพราะสังคมชี้นำว่าผอมเท่านั้นจึงสวย) ก็นำไปสู่โรคการกินผิดปกติ

บวกกับอาการคิดทำร้ายตัวเอง “ถ้าเราทำร้ายตัวเองด้วยวิธีอื่น ก็จะถูกมองว่าเป็นคนมีปัญหา ถ้าทรมานตัวเองด้วยการอดข้าว ก็ปกตินะ ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ได้ผอม ได้สวยด้วย คนก็ยอมรับ นี่คือวิเคราะห์ตัวเอง”

5_1

ตอนนี้วรดากำลังทำธีสิสเกี่ยวกับการกินผิดปกติในอาชีพนางแบบ เธอไปสัมภาษณ์นางแบบหลายคน แต่กลับพบว่านางแบบส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นโรคการกินผิดปกติ “เราทำงานกับนางแบบคนอื่นๆ แล้วรู้สึกว่าเราอ้วนกว่า สวยน้อยกว่า แต่ทำไมเขาถึงไม่ไปถึงจุดนั้นที่เราไปถึง จึงได้ข้อสรุปว่าเป็นพยาธิสภาพของตัวเองที่ก่อให้เกิดอาการพวกนี้”

ข้อน่าสังเกตของการทำร้ายตัวเองของวรดาคือ เธอใช้มันเป็นสิ่งผลักดันให้มีแรงทำสิ่งดีๆ ให้ตัวเอง เหมือนกับทำร้ายตัวเองแล้วต้องชดเชยด้วยการทำดีให้ตัวเอง

เรียนเพื่อบำบัดผู้อื่น

เคยเข้าใจว่าวรดาเลือกเรียนปริญญาโทสาขาสุขภาพจิต เพื่อจะเยียวยาตัวเอง แต่จริงๆ แล้ว เธอต้องการเรียนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น

“เพราะเราป่วย พอบำบัดจนไม่มีอาการ เรามีความสุขอะ นี่คือสิ่งที่ควรเป็น ไม่เคยรู้สึกอย่างนี้มาก่อน เราจำครั้งสุดท้ายที่รู้สึกอย่างนี้ไม่ได้แล้ว ที่ผ่านมาเราจมกับความทุกข์มาตลอด หาจุดมุ่งหมายของชีวิต พอเข้าใจสิ่งนี้ และคนอื่นอาจไม่เข้าใจอย่างเรา เลยอยากช่วยให้คนที่กำลังทุกข์เหมือนอย่างตอนที่เราทุกข์”

ก่อนหน้านั้นเธอเคยมีแฟนที่มีอาการแบบเดียวกัน และช่วยกันบำบัดจนดีขึ้นส่วนหนึ่ง เธอจึงคิดว่าน่าจะทำหน้าที่นี้ได้ ก็ได้พบกับหลักสูตรนี้พอดี

4_1

นิสิตปริญญาโทบอกว่า โรคทางจิตเวชทุกโรคเป็นไปในลักษณะคล้ายกัน คือมองโลกและมองตัวเองผิดไปจากความเป็นจริง “อย่างโรคซึมเศร้าก็มองตัวเองไร้ค่า อะนอเร็กเซียก็มองตัวเองที่ผอมว่าอ้วน คนอาการหนักอย่างโรคจิตเภท แบบคนที่เราเห็นว่าเดินพูดคนเดียว ผมเผ้ารุงรัง เขามีอาการหูแว่ว ภาพหลอน บางคนเราไปถามว่ามีอาการหูแว่วภาพหลอนมั้ย เขาก็จะบอกว่า ไม่มี เขาเห็นจริงๆ คือเขามองความจริงต่างๆ การรับรู้ความจริงที่แตกต่าง

"เราก็เลยอยากพยายามเข้าใจและช่วยคนอื่นได้ ทุกโรคดูมีพื้นฐานเป็นโรคซึมเศร้า เพราะทุกโรคทำให้เกิดความเครียด พอเครียดก็จะมีอาการซึมเศร้าออกมา ถ้าช่วยอะไรไม่ได้ ก็ช่วยตรงนั้นก่อน”

อาหารของจิตวิญญาณ

ถึงตอนนี้วรดาก็ยังคงอยู่ภายใต้การรักษา กินยาให้ครบ แต่นอกจากนั้น เธอจะยึดความสุขจากความสำเร็จเล็กๆ ในแต่ละวันเข้ามาช่วย

“อย่างวันนี้ เครียดมาก ไม่อยากลุกออกมาจากเตียงเลย แต่รู้ตัวว่านี่คืออาการของโรค พอตื่นขึ้นมา แต่งหน้า ขึ้นบีทีเอสได้ ก็รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นความสำเร็จของวันนี้แล้ว แม้ว่าวันนี้คงทำโครงร่างธีสิสไม่เสร็จหรอก แต่ตอนนี้เราทำอันนี้ได้แล้ว เราโอเค แฮปปี้ ไม่หวังเยอะ”

7

นอกจากมุ่งเป็นนักบำบัดจิต โพลแดนซ์คือสิ่งหนึ่งที่เป็นความสุขของชีวิตช่วงนี้ มากพอที่จะยึดเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งได้ โดยที่ไม่ต้องกดดันตัวเอง แล้วทำไมจึงเป็นโพลแดนซ์ล่ะ?

“ตอนเด็กๆ เต้นบัลเล่ต์ แล้วรู้สึกว่ามันเป็นอาหารของวิญญาณ เราต้องกินอาหารเพื่อมีชีวิตอยู่ใช่ไหม วิญญาณเราก็ต้องมีอาหารเหมือนกัน เรายังอยากเต้นบัลเลต์อยู่ แต่บัลเล่ต์ค่อนข้างเป็นระบบโรงเรียน ถ้าจะเต้นระดับนี้ก็ต้องเต้นกับเด็กๆ เลยต้องหาอย่างอื่น

“ก่อนหน้านี้เรียนโยคะ ซึ่งก็ดี แต่เราเป็นคนแดนซ์ เลยเลือกอันนี้ คือกีฬาทุกอย่าง ถ้าเจอที่เหมาะกับเรา มันช่วยเรื่องสุขภาพจิตทั้งหมด”

โยคะทำให้เธอใช้ชีวิตได้ตามปกติ แม้ตอนนั้นยังไม่ได้ไปพบแพทย์เลย มาถึงโพลแดนซ์ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน มีช่วงหนึ่งที่วรดาหยุดกินยา เพื่อปล่อยให้ตัวเองมีอาการ เพราะต้องเขียนธีสิสเกี่ยวกับอะนอเร็กเซีย “พอกินยา เมย์ก็ไม่ได้เป็นมาพักใหญ่ เลยจำไม่ได้ว่าเป็นยังไง ซึ่งก็เจออะไรใหม่เหมือนกัน” แต่เธอไม่แนะนำให้ทำตามเด็ดขาด

เมื่อมีไม่ได้กินยา ก็รู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ แต่เพราะฝึกโพลแดนซ์ ก็ทำให้อยู่ได้มากขึ้น

“แต่ปัญหาคือ เราเล่นหนักจนร่างกายพัง ตอนนี้หลังก็บาดเจ็บ พอรู้สึกตัวว่าเราอยู่ในจุดที่เยอะเกินไป ก็มาดูตัวเองใหม่อีกครั้ง ว่าเรากำลังทำอะไรผิดอยู่หรือเปล่า”

จึงต้องทบทวนตัวเองว่า การออกกำลังกายหนักนั้นเกิดจากอะไร หากไม่ได้เกิดมาจากความไม่พอใจตัวเอง แต่มาจากความรักตัวเอง อยากให้ร่างกายได้รับสิ่งที่ดี โดยไม่ต้องทรมานร่างกาย ก็คือสิ่งที่ถูกต้อง

ฉะนั้น ระหว่างเส้นทางการต่อสู้กับโรคซึมเศร้า จึงต้องใจเย็น และทบทวนตัวเองเสมอ

ความยากและสิ่งเติมเต็ม

ไม่ต่างจากคนทั่วไป ที่ต้องการหาสิ่งเติมเต็มบางอย่าง ความรู้สึกว่า “เราทำได้” คือจุดร่วมเดียวกัน

“สิ่งสำคัญของโยคะและโพลแดนซ์ที่เมย์รู้สึกว่าช่วยได้ คือความรู้สึกที่เราทำอะไรสำเร็จ อย่างตอนที่เล่นโยคะแล้วดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ใช่ว่าเราทำท่าบิดตัวได้ แต่จะเป็นท่าแฮนด์สแตน์ อาร์มสแตนด์ทั้งหลาย พอทำท่ายากได้ รู้สึกเรามีค่า มันมีความเติมเราอยู่ ก็ต้องเติมไปเรื่อยๆ แต่ต้องระวังไม่ให้มากเกินไป

2_1

"เหมือนตอนที่มาเล่นหนักๆ ตอนนั้นผิดหวังกับคะแนนสอบ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่คะแนนที่น่าผิดหวังคือได้ 3.79 แต่อยากได้ 4.00 (หัวเราะ) เลยเอามาลงกับตรงนี้ เหมือนต้องหาคุณค่าให้ตัวเองชดเชย”

ซึ่งวรดาเหมือนอยู่บนเส้นทางที่ต้องคอยเติมเต็มตัวเองอย่างสมดุล “ทุกอย่างต้องบาลานซ์จริงๆ ถ้าอะไรหนักไปก็ทำให้ที่เหลือมันเอียงหมด”

เป้าหมายที่ไม่กดดัน

ความทุ่มเทของวรดาตอนนี้เป็นไปเพื่อให้มีชีวิตอย่างเป็นปกติ แต่ระหว่างทางหากเธอทำบางสิ่งได้ดีพอ เพื่อให้เป็นอาชีพหรือเป้าหมายอย่างหนึ่ง เธอก็ยินดี

“ตอนที่ฝึกโยคะ ก็คิดว่าถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ แล้วเรียนเป็นครูก็ดีเหมือนกัน การเป็นนักจิตบำบัดก็มีเส้นทางของมัน ส่วนโพลแดนซ์ก็ได้แรงบันดาลใจจากครูเก่งๆ แล้วใครๆ ก็พูดว่าเราเร็วมาก ก็รู้สึกว่าถ้าไปถึงจุดนั้นก็อาจจะดีได้ ถือว่าเป็นงานอดิเรกที่จริงจัง”

แต่ไปถึงไม่ถึงก็ช่างมัน

“เหมือนเราเดินทางมาไกล หลายอย่างในชีวิตที่เราคาดหวัง เรากดดันตัวเองมาเยอะแล้วกับเป้าหมายที่เราไม่ได้ เราก็โกรธ  แต่เราเหนื่อยแล้ว ไม่มีเหตุผลที่ต้องทำขนาดนั้น มันทำร้ายตัวเอง”

8

วรดามีเป้าหมาย เธอก็เลือกเดินไปเรื่อยๆ อย่างไม่กดดัน

“รู้สึกว่าชีวิตก็เท่านั้น เราไม่ได้อยู่เป็นอมตะตลอดไป ถึงจุดหนึ่งเราก็ถึงจุดจบ เราควรใช้ชีวิตอย่างไม่ทำร้ายตัวเอง ทำให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น และไม่เสียใจภายหลัง ใช้แค่มีกิน มีเก็บ ให้อยู่ถึงวันที่เราทำไม่ไหว อะไรที่เกินความจำเป็น ถ้ามีกำลัง อยากได้แล้วมีความสุขก็เอามา แต่ถ้าต้องต่อสู้จนไม่ไหว ก็ไม่เป็นไร อย่าให้เสียสุขภาพจิต

“ตอนนี้ถือว่าอยู่ในที่ๆ ดี คือสมองอยู่ในจุดที่โอเคมากค่ะ”

/////////

ตีพิมพ์ใน หน้า 2 เซคชั่นจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันอังคารที่ 20 มีนาคม 61

ขอบคุณสถานที่ : Fly Me to The Moon Pole and Aerial Studio ซอยพหลโยธิน 7