จากป้าทุบรถถึงมนุษย์ล้อทุบลิฟต์ มานิตย์ อินทร์พิมพ์ เปิดใจถึงความเท่าเทียมที่มีแค่ในนิยาย

จากป้าทุบรถถึงมนุษย์ล้อทุบลิฟต์  มานิตย์ อินทร์พิมพ์ เปิดใจถึงความเท่าเทียมที่มีแค่ในนิยาย

ฟังอีกเรื่องของความเหลื่อมล้ำของสิทธิผู้พิการในสังคมไทย ที่มีแต่คนออกมาพูดถึงความเท่าเทียม แต่พวกเขาไม่เคยได้รับมันจริงๆ

จากเฟสบุ๊ก Accessibility Is Freedom เผยแพร่ภาพเหตุการณ์ผู้พิการชายผู้หนึ่งซึ่งอยู่บนรถวีลแชร์ ตัดสินใจใช้มือชกทุบกระจกลิฟท์บีทีเอส อโศก เมื่อคืนวันที่ 11 มีนาคม 2561 ที่นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายแง่มุม

29101178_1781565781866059_3753415145480098439_n

เขาคือ ซาบะ - มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้พิการ และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์  Accessibility is Freedom

นี่ไม่ใช่เสียงตะโกนทวงถามกับสังคมครั้งแรกของเขาเพราะหลายๆครั้งก่อนหน้านี้เขาและเครือข่ายมักจะหาโอกาสเพื่อสื่อสารเรื่องราวความเหลื่อมล้ำที่ซ่อนอยู่ในระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สุดที่ทุกคนควรจะเข้าถึงได้อย่างการเดินทาง

"ผมทนมามากกว่า 3 ปีแล้ว บอกไปทุกอย่างแล้ว วันนี้ผมทนไม่ไหวจริงๆ " เขายอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น 

ถ้ายังจำกันได้ คลิปวีดิโอวันที่ฝนตกเราจะพบมนุษย์ล้อตากฝนเดินผ่านทางเท้าจากรถไฟฟ้าบีทีเอสอโศกเพื่อไปยังทางเชื่อมรถไฟใต้ดินสถานีสุขุมวิทนี่เป็นความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดที่สุดบนระบบการเดินทางที่มักจะถูกเข้าใจว่าอำนวยความสะดวกให้กับทุกคนที่สุด

คลิปวีดิโอความยาว 5 นาทีนี้ ถูกปล่อยออกมาในช่วย ช่วงฤดูฝนในปี 2559 เพื่อกระตุกให้คนอื่นๆ ได้คิด ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม

"ทุกคนพูดถึงความเท่าเทียมเสมอๆ แต่ในโลกของความเป็นจริง มันไม่ใช่ ความไม่เท่าเทียมมีทุกที่ ตั้งแต่ออกจากบ้าน ทางเท้า ขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ อย่างการต่อเชื่อม" เขาบอก

มันคือช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างคนพิการกับสังคมไทยที่เขายืนยันกับ 'จุดประกาย' มาตั้งแต่ปี 2559 ว่า ทั้งเรื้อรัง และหมักหมมมาตลอด

ความเท่าเทียมของคนพิการที่ประกาศจากปากของนายกรัฐมนตรี ถึงการผลักดันนโยบายความเท่าเทียมของคนพิการ ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ 24 มิถุนายน 2559 รวมทั้งการออกมารับลูกของกระทรวงคมนาคมในเรื่องการดำเนินการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนพื้นฐาน

แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น 

จริงๆ ผมเชื่อว่าเขามองเห็นหมดน่ะ แต่มันมีคำถามว่า ทำไมถึงเกิดความไม่เท่าเทียม ทำไมความเท่าเทียมถึงยังไม่เกิดขึ้น เราต้องการทางที่อำนวยความสะดวก ต้องการทางลาด ต้องการลิฟท์ นี่คือสิทธิ์ที่จะนำไปสู่ความเท่าเทียม แต่พูดกันตรงๆ ก็คือ แม้แต่ทางลาด หรือลิฟท์ ที่ไม่ได้แค่ใช้เฉพาะมนุษย์ล้ออย่างพวกผม แต่มันใช้กับกลุ่มคนอีกมาก แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวที่มีกระเป๋าหนักๆ เขาก็สามารถใช้ได้

28699274_1781533218535982_3965314219329895957_o

เขายกตัวอย่างการเดินทางในชีวิตประจำวันของตัวเองผ่านระบบรางอย่างรถไฟฟ้าที่ถูกหมายมั่นปั้นมือให้เป็นระบบเดินทางหลักของคนเมืองเพื่อแก้ปัญหาการจราจรของกรุงเทพมหานครและเป็นการเดินทางที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

แต่สภาพแวดล้อมในการเดินทางจริงๆ นั้น ยิ่งทำให้คนพิการหนักขึ้นกว่าเดิม อาทิ ลิฟท์ที่คนนั่งวีลแชร์จะใช้แทนบันได แต่เขาก็ต้องรอเจ้าหน้าที่มาช่วยอำนวยความสะดวกให้ ซึ่งบางครั้งต้องใช้เวลาเกือบๆ 10 นาทีขณะที่ในขบวนรถทางเลือกในการร่วมทางกับคนอื่นๆก็ไม่ได้มีมากนักถ้าเข้าผิดประตูเขาก็จะต้องกลายเป็นเกะกะขวางทางคนอื่นทันที

นอกจากจะเป็นสิ่งที่เหล่ามนุษย์ล้อต้องพบเจอ มันยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินทางของผู้สูงอายุ เด็ก และนักท่องเที่ยวที่มีกระเป๋าใบใหญ่อีกด้วย 

หากเป็นชั่วโมงเร่งด่วนวันธรรมดา ที่ต้องเบียดเสียดไปกับฝูงชน แทบไม่มีที่สำหรับรถเข็น รวมทั้งผู้พิการประเภทอื่น อย่าง สัญญาณไฟกระพริบบนป้าย เพื่อบอกผู้พิการทางการได้ยินให้รู้ว่าถึงสถานีใดแล้ว หรือแม้แต่ การใช้ผิวสัมผัสวัสดุปูพื้นสำหรับผู้พิการทางสายตารอบสถานี ถือเป็นรายละเอียดที่ทำให้ผู้พิการสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เทียบเท่ากับคนทั่วไป 

28698998_1781505365205434_3243065617764542060_o

การเชื่อมต่อระหว่างระบบ ก็เป็นอุปสรรคไม่น้อย และหากถ้าเปรียบสิทธิ์ของคนพิการด้วยการเข้าถึงผ่านลิฟต์ของสถานีเอ็มอาร์ทีแล้ว พวกเขาคงมีสิทธิ์เพียงครึ่งเดียว

เพราะสถานีทั้งหมด 18 แห่ง ที่มีทางเข้าออก 61 จุด แต่กลับมีลิฟต์และทางลาดเพียง 30 จุดเท่านั้น 

การสัญจรของคนพิการมักจะไกลกว่าคนทั่วไป แต่ใครจะคิดว่า เขาต้องหมุนล้อเป็นระยะทางกว่า 600 เมตร ภายในสถานีเอ็มอาร์ที เพราะตำแหน่งของลิฟต์จากถนนลงมาชั้นร้านค้า และจากชั้นร้านค้าลงมาที่ชั้นจำหน่ายตั๋ว  

นี่เป็นสิ่งที่ผู้พิการทางตามรายงานของ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ อีกเกือบ 1.5 ล้านคนทั่วประเทศต้องเจอในชีวิตประจำวัน และกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนพิการไม่น้อยกว่า 5 แสนคนไม่สามารถเข้าสู่ระบบแรงงานได้อย่างที่ควรจะเป็น

คนพิการเกิดมาร่างกายไม่ปกติถูกไหมครับ กว่าจะโตขึ้นมาได้ กว่าจะไปเรียนได้ กว่าจะไปทำงานได้ จะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอีก ปัญหาเหล่านี้ เขาถึงด้อยโอกาสซาบะย้ำ

ปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ คงไม่ใช่เพียงแค่แก้ไขสิ่งปลูกสร้างทั้งระบบ แต่ยังรวมไปถึงการปรับทัศนคติ มองพวกเขาในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมที่เท่าเทียมกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

เพื่อวันที่ฝนตกครั้งหน้า จะได้ไม่มีใครต้องเปียก หรือมีใครต้องเจ็บตัวทุบกระจกเพราะความเหลื่อมล้ำอีก

ขอบคุณภาพจาก Accessibility Is Freedom

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม 

วันที่ฝนตก สะท้อนสังคมเหลื่อมล้ำ

จุดอ่อนรถไฟฟ้ากับคนพิการ