"ทฤษฎีความร่วมมือ" แก้ปัญหาป่าน่านสไตล์ "น้ำพางโมเดล"

"ทฤษฎีความร่วมมือ" แก้ปัญหาป่าน่านสไตล์ "น้ำพางโมเดล"

ถอดรหัสปัญหาป่าน่านที่หายไป 1.8 ล้านไร่ กับคำสัญญาของชาวน้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน ที่จะเอาป่าคืนมาให้ได้ภายใน 5 ปีต่อจากนี้

ดูเหมือนตัวเลข 1.8 ล้านไร่ที่หายไปของป่าน่านจะกลายเป็นทั้ง รอยประทับ และภาพจำที่ทำให้วันนี้ เวลาพูดถึงปัญหาการรุกป่า จ.น่านมักกลายเป็นตัวอย่างแรกๆ ที่ทุกฝ่ายจะหยิบยกขึ้นมาพูดถึง และการลบภาพดังกล่าวดูจะเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนน่านกับสังคมไทย 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้ ได้มีความพยายามจากหลายหน่วยงานที่พยายามเข้าไปช่วยแก้ปัญหาโดยมีธงในการ “พลิกฟื้นคืนผืนป่า” เพื่อให้ป่าน่านกลับมาเขียวเหมือนเดิม กระทั่งมาตรการทวงคืนผืนป่าของ คสช. เอง น่านก็กลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายแรกๆ ในการ “เก็บป่า” ให้ห่างจากไร่ข้าวโพด 

image2 (1)

เขาหัวโล้น และ ไร่ข้าวโพด ภาพจำที่อยู่คู่กับ จ.น่านตลอดมา

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า “การปลูกให้เสร็จ" กับ "การปลูกให้สำเร็จ" นั้นต่างกัน โดยเฉพาะพื้นที่ป่าต้นน้ำอย่างน่านที่มีปัจจัยแวดล้อมค่อนข้างซับซ้อน และพัวพันเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้

ทั้งในเรื่องของสภาพภูมิประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นแนวเขาสูง มีที่ราบอยู่ไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มประชากรที่กระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ ทั้งที่มีการจัดสรรมาตั้งแต่ก่อนประกาศเขตป่าสงวน และปัญหาปากท้องที่เช่อมโยงกับการรุกคืบของเกษตรอุตสาหกรรม 

ลักษณะการแก้ปัญหาจึงไม่ใช่แค่การประกาศยึดที่คืนแล้วทุกอย่างจะจบ

“ถ้าเปรียบเทียบตัวเลขป่า 61 เปอร์เซ็นต์ที่ป่าน่านมีวันนี้ กับนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศมีป่าร้อยละ 40 นั่นเท่ากับว่า คนน่านรักษาป่าแทนคนจังหวัดอื่นๆ เสียด้วยซ้ำ” หากมองตามสิ่งที่ ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ หรือ สกน. ตั้งข้อสังเกตไว้บนเวทีเสวนาในงานมหกรรม “น้ำพางโมเดล: บทพิสูจน์ความยั่งยืนจากมือประชาชน” ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าคิด 

ข้อมูลอีกด้านที่เขาหยิบขึ้นมาบอกเล่าสำหรับป่าน่านในฐานที่ตกเป็น “จำเลยสังคม” หลายครั้งถึงการรุกป่า ก็คือ คำถามที่ว่า ทำไม จังหวัดที่มีความหนาแน่นของป่าเป็นอันดับ 7 ของประเทศอย่างน่าน ถึงได้กลายเป็นเป้าอันดับแรกๆ ในการเอาป่าคืน ทั้งๆ ที่พื้นที่ป่าเมืองน่านเกินมาตรฐานรัฐไปกว่า ร้อยละ 20 เสียด้วยซ้ำ 

ที่สำคัญ จากรายงานของกรมป่าไม้ วันนี้ ป่าน่านก็มีพื้นที่เพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 3,750 ไร่ แสดงให้เห็นว่า น่านสามารถหยุดการรุกพื้นที่ป่าได้แล้วส่วนหนึ่ง และเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำที่ซ่อนอยู่ในการแก้ไขปัญหาป่าไม้ของประเทศไทย เหมือนอย่างที่หลายๆ จังหวัดในภาคเหนือตอนบนโดนใช่หรือเปล่า 

“13 จังหวัดภาคเหนือตอนบนที่ตกเป็นเป้าหมายหลักในการทวงคืนผืนป่าส่วนใหญ่มีพื้นที่ป่าเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ทั้งนั้น” เขาจึงไม่แปลกใจว่า ทำไมจนถึงวันนี้ ป่าไม้ที่รัฐบาลได้คืนไปจึงต่ำกว่าเป้าหมาย

ส่วนเรื่อง “คนรุกป่า” เขาชวนคิดต่อด้วยตัวเลขประชากรบนพื้นที่ที่ถูกขีดเส้นไว้ว่าเป็น “ป่า” ราว 375 หมู่บ้าน ผลสำรวจจากสำนักงาน คสช.เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ออกมายอมรับเองว่า มีกว่า 356 หมู่บ้านที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า คนที่นี่อยู่มาก่อนประกาศเขตป่าสงวน 

หากถามคนน่านอย่าง ปวรวิช คำหอม ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนน้ำพาง เขารู้สึกว่า “ป่าน่าน” กลายเป็นตราบาปที่คนน่านหนีไม่พ้น เหมือนอย่างที่ ต.น้ำพาง อ.แม่จริม บ้านเกิดของเขาเอง พื้นที่กว่า 2.8 แสนไร่ มีผู้คนอาศัยอยู่ 1,332 ครัวเรือน ถูก “คร่อม” ด้วยอุทยานแห่งชาติ 2 แห่งก็คือ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา และอุทยานแห่งชาติแม่จริม ทำให้คนแถวนี้ “ผิดกฎหมาย” ไปโดยปริยาย หากไม่ได้พิสูจน์การถูก “รุกราน” จากพระธาตุคำเปลว สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจประจำหมู่บ้านที่มีมาหลายชั่วอายุคน

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่ออุตสาหกรรมเกษตรได้กลายเป็นวงจรชีวิตที่ผูกติดกับชาวบ้านมาไม่ต่ำกว่า 2 ทศวรรษ ทันทีที่มี คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 พร้อมกับมีการประกาศใช้แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทรัพยากรป่าไม้การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทำให้ชาวน้ำพางถูกยึดคืนพื้นที่คืนไปกว่า 1,900 ไร่ ยิ่งทำให้ปัญหาปากท้อง และหนี้สิน

image2 (2)

ข้าวโพด พืชเศรษฐกิจหลักของคนในพื้นที่สูง

ปลายปี 2558 จึงเกิดการรวมตัวกันของชุมชนเพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์การจัดการที่ดิน อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “น้ำพางโมเดล” โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียว แก้ไขปัญหาที่ดินที่ทำกิน วางเป้าหมายเป็นระยะเวลา 5 ปี ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดให้หมดไป โดยลดลงปีละไม่น้อยว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งหมด

แนวคิดนี้ได้รับการหนุนเสริมจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่หน่วยงานในพื้นที่ องค์กรพัฒนาเอกชน โดยมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือที่เข้ามาร่วมสนับสนุนการจัดการ และหนุนเสริมศักยภาพของชุมชน ฝ่ายวิชาการโดย เดชรัตน์ สุขกำเนิด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีบทบาทในการจัดกระบวนการทำแผนชุมชนทั้งการผลิต และเศรษฐกิจในภาพรวม องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย ช่วยประสานบทบาทของภาคส่วนต่างๆ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่สนับสนุนองค์ความรู้ และคุณภาพชีวิตชุมชนภายใต้กฎหมาย

โดยลำดับขั้นตอนการพัฒนานั้นจะเริ่มตั้งแต่ ตัวชุมชนกำหนดบทบาทการรักษาทรัพยากร อันรวมไปถึงการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างชุมชน และธรรมชาติ กำหนดเขตพื้นที่ชุมชน และป่าเพื่อ “ห้ามเลือด” ไม่ให้ป่าถูกทำลายเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปสู่การยกระดับรูปแบบการผลิต โดยการปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวไปสู่การทำวนเกษตร ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับ และหนุนเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นตามลำดับอีกด้วย 

ปวรวิชเล่าว่า รูปแบบการดำเนินงานนี้จะสามารถตอบโจทย์ 2 เรื่องหลักๆ คือ การเข้าถึงสิทธิการใช้ประโยชน์ของชาวบ้านที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และคุณภาพชีวิตของคนในหมู่บ้านที่จะไม่หวนกลับไปสู่วงจรหนี้สินแบบเดิมอีกต่อไป 

ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 285 ครัวเรือน พื้นที่รวม 4,253 ไร่ โดยชาวชุมชนน้ำพางได้ปักหมุดคืนต้นไม้สู่ป่า คืนป่าสู่น่าน ตั้งเป้าหมาย 100,000 ต้นภายใน 5 ปี

จักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและการรณรงค์ขององค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย ชวนคิดตามว่า หากอยากเห็นต้นไม้อย่าให้ความสำคัญแค่การปลูก แต่ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาด้วย 

"การปลูกต้นไม้ไม่ใช่เรื่องยากที่สุด เรื่องยากที่สุดคือทำอย่างไรให้ต้นไม้นั้นไม่ตาย ถามว่าคนเมืองบินไปปลูกต้นไม้เสร็จแล้วใครจะเป็นคนรดนำ้ดูแล ก็หนีไม่พ้นชาวบ้านเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งมีอาชีพมีทักษะในการดูแลสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ตรงนี้เองเป็นคำตอบให้กับสังคมไทยว่า การที่เราจะเดินไปข้างหน้านั้น จะต้องตอบโจทย์ของชุมชนกับ สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน และตรงนี้เองที่เราต้องแสดงออกร่วมกัน รับผิดชอบร่วมกัน" 

image1 (3)

การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าจะถูกพิสูจน์ผ่านการกระทำในอีก 5 ปีนับจากนี้

ด้าน ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหารด้านพัฒนาความยั่งยืนภาคกิจกรรมสัมพันธ์และการศึกษา สำนักบริหาร ความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เปิดเผยว่า ทางบริษัทพร้อมที่จะก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการน้ำพางโมเดล เพื่อช่วยกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร สร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาป่า ส่งเสริมสนับสนุนในการสร้างรายได้แก่ชุมชนน้ำพาง เพื่อให้ชุมชนน้ำพางเติบโตได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมกับความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า

เมื่อปัญหาของป่าไม่ได้เริ่มด้วยการคำถามว่า “ใครผิด” หากแต่มันคือความรับผิดชอบร่วมในฐานะผู้ที่เป็นทั้งคนเริ่ม และคนรับของทุกฝ่าย โดยมีชุมชนเป็นที่ตั้ง นี่จึงเป็นอีกโมเดลการตอบคำถามถึงการคืนป่าน่านของคนน่านในอีกแบบที่ไม่ใช่แค่ “ตัดเสื้อโหล” อย่างที่แล้วๆ มา

จนน่าติดตามต่อถึงความเปลี่ยนแปลงของ น้ำพางโมเดลในอีก 5 ปีข้างหน้า แน่นอนว่า นี่ถือเป็นคำสัญญาของชาวน้ำพางต่อคนไทยทั้งประเทศ