Black Panther ช่วยยกระดับหนังคนดำจริงหรือ

Black Panther ช่วยยกระดับหนังคนดำจริงหรือ

แบล็ก แพนเธอร์ กวาดรายได้ถล่มทลาย และคำชมไปอื้อในสัปดาห์แรกที่เข้าฉาย จุดประกายความหวังว่าจะทำให้หนังของคนผิวดำในวงการฮอลลีวู้ดเรืองรองขึ้น แต่ความจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือ ไปฟังผู้เชี่ยวชาญเขาวิเคราะห์กัน

ไม่ใช่แค่ทำรายได้ถล่มทลายในหลายประเทศทั่วโลกเท่านั้น แต่ Black Panther แบล็ค แพนเธอร์ ยังเป็นหนังที่ “สร้างปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรม” ขึ้นด้วยความที่เป็นหนังฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวู้ดที่มีผู้กำกับเป็นคนผิวดำ มีนักแสดงเกือบทั้งหมดเป็นคนผิวดำ แล้วก็มีเนื้อหาเชิดชูวัฒนธรรมของชาวแอฟริกันตลอดทั้งเรื่อง

 

black-panther-movie-boseman3-ht-roku-mem-180216_12x5_992

            แบล็ค แพนเธอร์ คือหนังจากค่ายมาร์เวลที่พูดถึงซูเปอร์ฮีโร่จาก “วาคันดา” ประเทศสมมุติในทวีปแอฟริกาที่อุดมไปด้วยแร่ไวเบรเนียมอันทรงพลัง มีเทคโนโลยีล้ำสมัยแต่กลับปกปิดเอาไว้ไม่ให้โลกรู้ นักรบที่เก่งกาจที่สุดของประเทศจะได้รับตำแหน่ง “แบล็ค แพนเธอร์” ซึ่งเป็นซูเปอร์ฮีโร่คนสำคัญในจักรวาลมาร์เวล โดยผู้ที่รับตำแหน่งแบล็ค แพนเธอร์คนปัจจุบันคือ “เจ้าชายทีชัลลา” ที่จะต้องกลับไปรับตำแหน่งกษัตริย์ต่อจากพระบิดาที่เสียชีวิตลง เขาต้องเผชิญทั้งการต่อสู้แย่งชิงบัลลังก์แล้วก็ต้องตัดสินใจว่าจะนำพาประเทศไปสู่ทิศทางใด

            ต้องชื่นชมที่มาร์เวลเคารพเนื้อหาดั้งเดิม ไม่กระทำการ whitewashing หรือ เอาคนขาวมาเล่นเป็นคนเชื้อชาติอื่น เหมือนกับหนังหลาย ๆ เรื่องที่ถูกโจมตีในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น การให้ เอ็มมา สโตน รับบทลูกเสี้ยวจีนฮาวายสวีดิชใน Aloha, เจค จิลเลนฮาล รับบทเจ้าชายอิหร่านใน Prince of Persia, สการ์เลตต์ โจแฮนสัน รับบทนำใน Ghost In The Shell ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากอะนิเมชั่นญี่ปุ่น หรือการให้ ทิลดา สวินตัน รับบทพระทิเบตใน Doctor Strange

ดังนั้น พอแบล็ค แพนเธอร์เข้าฉายก็เลยเกิดกระแสความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมแอฟริกันเกิดขึ้น มีการชักชวนกันสวมเครื่องแต่งกายพื้นเมืองแบบชาวแอฟริกันไปดูหนังกันอย่างสนุกสนาน หรือแม้แต่คนที่ไม่ใช่ชาวผิวดำแบบฉันก็ยังชื่นชอบการเขียนบทที่เชิดชูวัฒนธรรมแอฟริกัน และนักแสดงผิวดำแบบจริงจัง และจริงใจไปด้วยไม่ได้เลย

            ความสำเร็จทั้งเงินและกล่องของแบล็ค แพนเธอร์ จุดประกายความหวังขึ้นมาว่า ต่อไปนี้เราน่าจะได้เห็นหนังที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับคนผิวดำในฮอลลีวู้ดมากขึ้น เพราะแบล็ค แพนเธอร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถ้าหนังดี คนก็จะชอบแล้วออกไปดู โดยไม่สนใจว่าเป็นหนังคนขาวหรือคนดำ

แต่ความจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือ?

 

180213-black-panther-movie-janeshia-adams-ginyard-se-1359p_c283f16d2a7e8f43908f1b3b7f9fc441.focal-860x430

marvel-black-panther-movie-stills-10

เรื่องนี้มีหลายคนออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าแบล็ค แพนเธอร์ อาจถูกมองเป็นเพียง “ข้อยกเว้น” ที่เกิดขึ้นเพียงเรื่องเดียว ไม่ได้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับหนังคนดำทุกเรื่องที่พยายามต่อสู้หาที่ทางของตัวเองในฮอลลีวู้ดมานมนานหลายทศวรรษแล้ว

            “ผมว่า...ไม่ว่าหนังเรื่องนี้ (แบล็ค แพนเธอร์) จะทำเงินได้มากแค่ไหน มันก็จะถูกคนในห้องประชุมสตาฟฟ์ของสตูดิโอแล้วก็คณะกรรมการที่มีอำนาจไฟเขียวให้สร้างหนังมองว่าเป็นแค่ข้อยกเว้นเรื่องเดียวเท่านั้น” แหล่งข่าวระดับสูงเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันในฮอลลีวู้ดที่ไม่ประสงค์จะออกนามให้สัมภาษณ์ “เดอะ วอชิงตัน โพสต์” เอาไว้ พร้อมตั้งคำถามกลับมาว่า “แล้วมันจะต้องมีหนังที่เป็นข้อยกเว้นแบบนี้อีกซักกี่เรื่องกันพวกเขาถึงจะตระหนักถึงความจริงนี้ได้

            แบล็ค แพนเธอร์ กวาดรายได้ช่วง 3 วันแรกที่ออกฉายในแถบอเมริกาเหนือไปได้ถึง 192 ล้านดอลลาร์ กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับ 5 ในประเทศสหรัฐทันที และตอนนี้ก็กำลังลุ้นว่าจะทำลายสถิติอื่นไปได้เรื่อย ๆ

            ทั้งนี้ ปรกติแล้วภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคนผิวดำแทบจะไม่เคยได้รับการสร้างเป็นหนังฟอร์มยักษ์ งบการตลาดก็ได้น้อย แล้วก็มักจะทำรายได้ในระดับกลาง ๆ มาโดยตลอด ในอดีต หนังที่มีดาราส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำแล้วทำรายได้สูงมากได้แก่ Coming to America นำแสดงโดย เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ ที่ออกฉายเมื่อปี 1988 ทำเงินไปได้ 274 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เมื่อปรับค่าเงินเฟ้อแล้ว) อยู่ที่อันดับ 291 ของหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของสหรัฐ

91RKL-fOIEL._SL1500_

  coming_to_america_still      

   แต่ 30 ปีหลังจากนั้น กระแสความดังของ Coming to America ก็แทบจะไม่ได้ช่วยปลุกกระแสอะไรให้กับหนังคนดำที่ยังคงถูกเมินเฉยจากสตูดิโอต่าง ๆ ว่าเป็นหนังที่ไม่ค่อยทำเงินอยู่ดี

            ทว่า สำหรับแบล็ค แพนเธอร์แล้ว นักวิเคราะห์ในสหรัฐหลายคนมองว่าได้ทำลายรูปแบบเก่า ๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับหนังคนดำทิ้งไปด้วยการที่มีคนขาวอยากไปดูหนังเรื่องนี้มากพอ ๆ กับคนดำ โดยอ้างอิงผลสำรวจที่ YouGov จัดทำขึ้นก่อนหน้าหนังเข้าฉายราว 2 สัปดาห์ พบว่าชาวอเมริกัน-แอฟริกันมากถึง 74% บอกว่าจะไปดูหนังเรื่องนี้ ขณะที่คนขาวบอกว่าจะไปดู 49% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากพอ ๆ กับหนังซูเปอร์ฮีโรของคนขาวเรื่อง Iron Man ที่มีคนขาวบอกว่าอยากไปดู 46%

            ศาสตราจารย์ ดาร์เนลล์ ฮันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสังคมศาสตร์ประจำ UCLA ที่เชี่ยวชาญเรื่องฮอลลีวู้ดและเชื้อชาติ นำกรณีของแบล็ค แพนเธอร์ไปเทียบกับรายการ The Cosby Show ที่เขาบอกว่ายังไงคนดำก็ดูอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้รายการนี้ประสบความสำเร็จล้นหลามก็เพราะมีคนขาวจำนวนมากดูด้วยนั่นเอง

            นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ฮันท์ ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาเรื่องความหลากหลายในฮอลลีวู้ดเป็นประจำทุกปียังเสริมด้วยว่า เรื่องที่มีคนขาวดูมากอาจจะไม่จำเป็นก็ได้เพราะจริง ๆ แล้วคนกลุ่มน้อยนี่แหละที่เป็นตัวผลักดันหนังบล็อกบัสเตอร์หลายต่อหลายเรื่อง โดยสถิติล่าสุดที่เขาเก็บมาได้นั้น ชนกลุ่มน้อยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของผู้ซื้อตั๋วหนังในสหรัฐ เพื่อมาดูหนัง 4 ใน 10 เรื่องที่ทำรายได้สูงสุดทั่วโลกในปี 2015 และคิดว่าสถิติของปี 2016 น่าจะสูงกว่านี้ด้วยซ้ำ

            ด้าน มาร์ค มอเรียล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองนิวออร์ลีนส์ ตอกซ้ำด้วยประโยคเด็ดว่า

“นับตั้งแต่โมทาวน์ (ค่ายเพลงคนดำที่มีชื่อเสียง) มาจนถึงพรินซ์ (นักร้องผิวดำชื่อดัง) แล้วก็เพลงฮิพฮอพ...วงการเพลงเข้าใจดีว่าศิลปินผิวดำสามารถดึงดูดคนในวงกว้างที่มากกว่าแค่คนผิวดำ แต่ทำไมวงการฮอลลีวู้ดถึงยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ซักที”