ล้วงสูตรลับเบื้องหลังเพลง "คุกกี้เสี่ยงทาย" ของ BNK48 ที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

ล้วงสูตรลับเบื้องหลังเพลง "คุกกี้เสี่ยงทาย" ของ BNK48 ที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

แมน ละอองฟอง ผู้แต่งเพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” เผยประสบการณ์สุดหิน กว่าจะแต่งเวอร์ชั่นไทยให้เป๊ะกับเวอร์ชั่นต้นฉบับ แล้วยังต้องน่ารักน่าฟังด้วย

“คุกกี้เสี่ยงทาย” เพลงของ BNK48 เกิร์ลกรุ๊ปสัญชาติไทยที่เป็นวงน้องสาวของวง AKB48 จากประเทศญี่ปุ่น โดยมี โมบายล์- พิมรภัส ผดุงวัฒนะโชค สาวน้อยวัย 15 ย่าง 16 ปี เป็น “เซ็นเตอร์” ในการร้อง เพราะเธอมีคาแรกเตอร์ที่เหมาะกับเพลง ทำให้เป็นตัวแทนในการถ่ายทอดได้ดี ในขณะที่ ตนุภพ โนทยานนท์ หรือ แมน ละอองฟอง ทำหน้าที่สำคัญอย่างการแต่งเนื้อร้อง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของเพลง

Secret Recipe สูตรลับห้ามเปลี่ยน

แมน เล่าให้ฟังว่าการทำเพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” ออกมานั้นไม่ง่ายเลย เพราะมีกฎเหล็ก 3 ข้อที่ทางญี่ปุ่นกำหนดมาว่าต้องปฏิบัติตาม นั่นก็คือ เนื้อร้อง ทำนอง และพยางค์ ต้องเป๊ะเหมือนกับเพลงต้นฉบับของวง AKB48 ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งความยากของภาษาไทยคือวรรณยุกต์ ถ้าร้องผิดทำนองไปก็จะผิดความหมายทันที

IMG_5897

เริ่มจาก “เนื้อร้อง” ที่แมนบอกว่าเป็นหัวใจสำคัญ เขาต้องคิดว่าจะแปลเพลงออกมายังไงให้คนไทยเข้าใจที่สุดภายใต้เงื่อนไขของทางญี่ปุ่นว่าจะต้องเก็บเนื้อหา (จากเพลงต้นฉบับ) มาครบทุกประเด็น ถ้าเป็นไปได้ ให้ถอดความมาบรรทัดต่อบรรทัดได้ก็ยิ่งดี แต่แมนลองทำดูแล้วพบว่ามันไม่เวิร์ค

“เพลงนี้เป็นเพลงที่ติดหู ฟังง่าย ผมเลยคิดว่าถ้าเนื้อเพลงโดนใจคนไทย มันจะทำให้คนอยากฟังเข้าไปอีก เพลงนี้จึงเป็นเพลงที่ผมแอบไม่ทำเหมือนเค้าร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าเราแปลเหมือนเค้าร้อยเปอร์เซ็นต์มันจะงง

"เค้าจะเล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ ชั้นชอบคนนี้อยู่แต่เค้าไม่ชอบฉัน เพลงญี่ปุ่นจะเขียนเป็นเรื่องราว มีพรรณนาโวหารที่เป็นน้ำทั้งนั้น ถ้าเราทำตามเค้าหมดเพลงมันก็จะล่องลอย ฟังเพราะ สวยหรูแต่ไม่เข้าใจ เลยบอกกับพี่เอ๊ะว่า (เอ๊ะ ละอองฟอง ผู้เป็นครูใหญ่ หรือ มิวสิค ไดเร็กเตอร์ ของ BNK48) ถ้าเพลงนี้ทำให้เป็นเพลงป๊อปแล้วเขียนให้เข้าใจง่าย ๆ ลองดูไหม ตอนแรกผมเขียนตามเขาเลยแล้วให้พี่เอ๊ะฟัง พี่เอ๊ะฟังแล้วบอกว่าไม่รู้เรื่อง ผมก็เลยคงคำหรือประเด็นที่เค้าต้องการไว้ทั้งหมด แต่เล่าเรื่องใหม่ ไม่ได้เขียนตามเค้าร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วทดลองส่งไปให้ทางญี่ปุ่นฟัง แปลเพลงกลับไปให้เค้าเข้าใจด้วย แล้วก็ผ่าน”

“โชคดีที่เราเก็บหมด เราเล่าทุกประเด็นที่เค้าต้องการ แค่ว่าอาจจะไม่ได้บรรทัดต่อบรรทัด ตรงไหนที่เค้าบรรยายมาก ๆ เราก็แค่สรุปสั้น ๆ

ยกตัวอย่างเช่น ในท่อนที่ร้องว่า....เหมือนว่าฉันนั้นเคว้งคว้างลอยไปกับเสียงเพลง ยังคงบรรเลงไม่มีวันเลือนราง....ผมเขียนแค่ 2 บรรทัดแต่ญี่ปุ่นเค้าเขียนประมาณ 5 บรรทัด ประมาณว่า....ฉันกำลังนั่งอยู่ในร้านกาแฟ ฟังเพลงอยู่ เสียงเพลงมันทำให้ฉันต้องเคาะเท้าเป็นจังหวะ เสียงเพลงก้องในหัวตลอดเวลา ก้องด้วยความสับสนว่าเค้าจะรักฉันรึเปล่า ประมาณนี้”

นอกจากความหมายรวมของทั้งเพลงแล้วยังมี “คำที่เป็นไม้ตาย” หรือ ประโยคเด็ด 2 ประโยคที่ทำให้ “คุกกี้เสี่ยงทาย” ติดหู นั่นก็คือ “แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ...เธอไม่รู้บ้างเลย” ท่อนนี้แมนบอกว่ามันมีความเป็นละอองฟองอยู่ เนื้อเพลงของละอองฟองจะมีความไม่มั่นใจในตัวเองอยู่ เหมือนเด็กสาวอินโนเซนต์ที่ไม่มั่นใจในตัวเอง เขาแค่ใส่ความใสเพิ่มเข้าไป

“คำพวกนี้มันเป็นคำที่ผมใช้กับละอองฟองอยู่แล้ว มันเลยทำให้เพลงน่ารัก พอขึ้นมาปุ๊บคนก็ฟังต่อ ๆ”

ส่วนอีกประโยคก็คือ “ให้คุกกี้ทำนายกัน” ซึ่งความหมายดั้งเดิมของท่อนนี้ถ้าแปลตรง ๆ จากภาษาญี่ปุ่นเลยคือ...มาสิมาลองทำนายกันนะ มาลองทำนายกันดูดีกว่า....แต่ด้วยความที่เขาอยากจะขยี้คำว่า “คุกกี้”  ให้คนไทยรู้ว่าคุกกี้อะไรกัน

“ผมก็ทำหน้าที่แค่ว่าทำอะไรก็ได้ให้คุกกี้เยอะ ๆ ที่สุดในเพลง คนไทยต้องถามว่าคุกกี้มันคืออะไรเพราะมันไม่ใช่วัฒนธรรมเรา ดังนั้น เราเลยต้องหยอดคำนี้เข้าไป เราก็เลยสรุปเป็นคำสั้น ๆ เลยว่า ....ให้คุกกี้ทำนายกัน....พอคนถามว่าคุกกี้ทำนายอะไรเหรอ ท่อนฮุคก็บอกแล้วว่าทำนายความรัก อาจจะเจอคนที่ใช่ก็ได้ หรืออาจจะเจอความเสียใจก็ได้ แต่ว่าสุดท้ายทุกคนมีความหวังนะ สักวันทุกคนก็จะมีความรักอย่างที่อยากเป็น”

เราเก็บหมด เราเล่าทุกประเด็นที่เค้าต้องการ แค่ว่าอาจจะไม่ได้บรรทัดต่อบรรทัด ตรงไหนที่เค้าบรรยายมาก ๆ เราก็แค่สรุปสั้น ๆ

ส่วนเรื่อง “ทำนอง” ก็ต้องตรง ห้ามเปลี่ยน ห้ามพลิก แมนบอกว่าเขาเคยลองมาแล้วในเพลง 365 วันกับเครื่องบินกระดาษ โดยตอนแรกเขาเขียนเนื้อไปว่า “ขอเพียงเชื่อมั่นและศรัทธา” ซึ่งมันทำให้เมโลดี้ไม่ตรงกับต้นฉบับของญี่ปุ่นแค่นิดเดียว แต่ก็โดนไล่กลับมาเปลี่ยนเนื้อร้องใหม่เป็น “แค่เพียง” เพื่อให้เมโลดี้ตรงกันเป๊ะกันทุกเม็ด เขาเลยรู้ว่าแค่นิดเดียวก็ไม่ได้ ทางนั้นซีเรียสมาก

สุดท้ายเรื่อง “พยางค์” แมนบอกว่าบางเพลงอาจลักไก่ได้นิดหน่อย แต่ต้องเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ที่เป็นคำผ่าน ไม่สลักสำคัญอะไร ส่วนใน “คุกกี้เสี่ยงทาย” นี่ทุกอย่างตรงเป๊ะกับต้นฉบับร้อยเปอร์เซ็นต์

IMG_5824

เมื่อถามว่าแล้วมีสมาชิก BNK48 ร้องเพลงนี้ตั้ง 16 คน แล้วแบ่งสัดส่วนกันยังไง แมนบอกว่าง่ายมาก เพราะมีฟอร์แมตมาจากญี่ปุ่นที่ต้องทำตามอยู่แล้ว ทางนั้นจะกำหนดมาหมดเลยว่าเบอร์ 1-3 ร้องท่อนนี้ เบอร์ 4 - 6 ร้องท่อนนี้ เขาจะเขียนมาให้เลย ซึ่งทางไทยก็แค่มาทำการบ้าน คุยกันว่าตอนนี้วางโพสิชั่นของเด็กยังไงในแต่ละเพลง แล้วก็ต้องดูเรื่องเสียงร้องด้วยว่าเหมาะไหม

ไวรัลแรงเกินความคาดหมาย

“คุกกี้เสี่ยงทาย” ต้นฉบับญี่ปุ่นนั้นเป็นเพลงป๊อปที่ติดหูอยู่แล้ว แมนเคยคิดเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าถ้าถูกนำมาแปลงใส่เนื้อไทย คนจะต้องต้อนรับแน่ ๆ แล้วมันก็ดีจริง ๆ สำหรับกระแสตอบรับที่ลามไปทุกวงการนั้นเขาบอกว่าเกินความคาดหมาย

ส่วน “คุกกี้เสี่ยงทาย” เวอร์ชั่นแปลงที่เขาชอบที่สุดเลยก็คือ “คุกกี้เสี่ยงคุก” ที่มีเรื่องการเมืองมาผูกด้วย แต่กลับมีความน่ารัก คนร้องสามารถพรีเซนท์เรื่องแรง ๆ ออกมาให้ดูตลกได้ ในขณะที่ “โมบายล์” เซ็นเตอร์ของเพลงนี้บอกว่า เพื่อนในห้องเอามาให้ฟังแล้วก็นั่งขำกัน โดยตัวเธอเองชอบเวอร์ชั่นที่คนพูดตามภาพในเอ็มวีแล้วแปลงท่อนที่เธอร้องว่า “ให้คุกกี้ทำนายกัน” เป็น “น้องคนนี้ชอบโชว์ฟัน” ซึ่งมันได้กลายเป็นแฮชแท็กของเธอไปเรียบร้อยแล้ว

ในความง่าย...มีความยาก

“คุกกี้เสี่ยงทาย” เป็นเพลงป๊อปติดหู ฟังง่าย ร้องตามเต้นตามได้ง่าย หลายคนเลยคิดว่าเพลงนี้เป็นเพลงง่าย ๆ ที่ไม่มีอะไร แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ

พลงนี้เมีแพทเทิร์นของคอร์ดเป็นวันซิกส์ทูไฟว์ ซึ่งถ้าพูดเป็นภาษานักดนตรีก็คอร์ด ซี เอไมเนอร์ เอฟ จี เป็นคอร์ดพื้นฐานที่นักดนตรีใหม่ ๆ เล่นกัน ซึ่งคุกกี้ก็เป็นแบบนั้นเลยทำให้ดูง่าย

แมนตอบว่า ต้นฉบับเวอร์ชั่นของ AKB48 คนฟังจะรู้สึกว่าเป็นเพลงน่ารัก ไพเราะ สนุก แต่ลึกลงไปในดีเทลแล้ว ขั้นตอน กระบวนการคิดของทีมทำเพลงญี่ปุ่นนั้นละเอียดมาก 

“ผมรู้สึกว่าเค้าทำดราฟท์แรกออกมาแล้วปุ๊บต้องมาฟังอีกดราฟท์ที่สอง เมโลดี้ตัวนี้มันไม่ลงตัวต้องปรับต้องอะไร เขาถึงไม่อยากให้เราเปลี่ยนเมโลดี้ ไม่อยากให้เราปรับอะไรของเขาเลย แล้วผมก็คิดว่ามันก็ดีจริง ๆ นะ มันเป็นเพลงป๊อปน่ะแหละ แต่ว่าความเป็นป๊อปมันมีอะไรเยอะมาก”

แมนบอกว่า “คุกกี้เสี่ยงทาย” มีแพทเทิร์นของคอร์ดหรือโปรเกรสชั่นคอร์ดเป็นวันซิกส์ทูไฟว์ ซึ่งถ้าพูดเป็นภาษานักดนตรีก็คอร์ด ซี เอไมเนอร์ เอฟ จี เป็นคอร์ดพื้นฐานที่นักดนตรีใหม่ ๆ เล่นกัน ซึ่งคุกกี้ก็เป็นแบบนั้นเลยทำให้ดูง่าย แต่จริง ๆ แล้วดีเทลของการต่อแต่ละท่อน คอร์ดที่ใช้ในการทรานสิชั่นจากท่อนหนึ่งไปอีกท่อนหนึ่งมันไม่ใช่คอร์ดที่เป็นเมเจอร์ปรกติ แต่เป็นคอร์ดที่มีรายละเอียด อย่างคอร์ดปรกติมี 3 โน้ตรวมกันเป็นหนึ่งคอร์ด แต่คอร์ดนี้จะมี 5 โน้ต มันจะมีโน้ตต่าง ๆ ที่เขาคิดมาแล้วว่ามันจะเป็นตัวที่เชื่อมระหว่างท่อนนี้กับท่อนนี้ อย่างเช่น ท่อนปาดับ ๆๆ ปั๊บ จะเป็นฟีลที่มีความสับสนลังเล แต่ก็มีความน่ารัก

ส่วนเรื่องของดนตรี แม้ว่าเพลงนี้จะออกมาตั้งแต่ปี 2556 แล้ว แต่ทางนั้นกลับทำซาวนด์ให้อยู่มาถึงได้ปัจจุบัน ไม่รู้สึกว่าเชยล้าสมัย ซึ่งตรงนี้มันเป็นเสน่ห์ของเพลง AKB48

เอาง่าย ๆ เลยแมนบอกว่าถ้าใครเป็นนักดนตรี ลองฟัง “คุกกี้เสี่ยงทาย” แล้วลองแกะตามดูจะรู้เลยว่าไม่ง่าย เพราะตั้งแต่เขาฟังคุกกี้เสี่ยงทายมายังไม่เคยเจอนักดนตรีคนไหนที่โคฟเวอร์แล้วแกะได้เหมือนเป๊ะ อาจจะโคฟเวอร์ให้เป็นสไตล์ตามที่แต่ละคนถนัด แต่ว่าจะไม่มีดีเทลที่ละเอียดจริง ๆ เหมือนต้นฉบับเลย