Coronets ชฎา และการยอบตัวโดยธรรมชาติต่อความมลังเมลือง

Coronets ชฎา และการยอบตัวโดยธรรมชาติต่อความมลังเมลือง

นิทรรศการล่าสุดของ นักรบ มูลมานัส นักทำภาพคอลลาจ มือตัดแปะความเป็นไทยและความหลากหลายในโลก คราวนี้เขาขอตั้งคำถามกับการยอบตัวลงนมัสการโดยปราศจากคำถาม

หลังจากที่ทำงานภาพประกอบคอลลาจ 2 มิติที่มีเอกลักษณ์จนชื่อติดลมบนไปแล้ว นักรบ มูลมานัส ก็ได้แสดงนิทรรศการศิลปะแนวจัดวางร่วมกับภาพประกอบในชื่อ Coronets ที่ทองหล่อ อาร์ต สเปซ สลับกับการสร้างสรรค์ภาพคอลลาจที่งดงามจับใจ นี่เป็นอีกคราวที่เขาตั้งต้นด้วยคำถามต่อความเชื่อและการทำตามกันของผู้คน โดยเฉพาะคนไทย

610203_164716-1425619

เคยไหมที่บางครั้งเรายกมือไหว้ตามเพื่อนที่หันไปไหว้ "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" สักแห่ง โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เป็นรูปเคารพของเทพองค์ไหน มีที่มาอย่างไร  อาจเป็นเพราะคำว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" นั้น ฝังอยู่เป็นพื้นฐานความคิด ทั้งที่ความสงสัย ฉุกคิด ตั้งคำถาม และหาที่มา นั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อการมอบความเชื่อให้ เพราะความเชื่อที่รวมตัวกันมหาศาล สามารถเรียกได้ว่า "ศรัทธา" แต่ถ้าศรัทธานั้นยืนอยู่บนแก่นสารที่ไม่สมเหตุสมผล ก็อาจเรียกได้ว่า "งมงาย"

ความมลังเมลืองที่ไม่ถูกตั้งคำถาม

นักรบถามว่าเคยเห็นอนุสาวรีย์หมู ที่ตั้งอยู่ริมคลองหลอดไหม นั่นมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าอนุสาวรีย์สหชาติ สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงร่วมกับพระยาพิพัฒน์โกษา และพระยาราชสงคราม ซึ่งเกิดปีกุนเหมือนกัน ร่วมสร้างสะพานปีกุน และอนุสาวรีย์สหชาติขึ้น อนุสาวรีย์ที่ระลึกปีเกิดนั้นไม่ใช่เทพเทวาที่ไหน แต่ก็มีคนมาจุดธูปเทียนบูชา พันผ้า 7 สี ปิดทองอร่ามตามกัน จนในที่สุดก็มีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา เป็นที่พึ่งทางใจไปจนถึงขอเลขเด็ดด้วย นี่คือกรณีตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ยังมีลักษณะนี้เกิดขึ้นเต็มไปหมด

เพราะคนมักจะอ่อนไหวกับสีทองหรือเปล่า?

สีทองเป็นสีที่โดดเด่นมีพลัง ในอดีตทุกวัฒนธรรมสงวนสีทองไว้ให้สำหรับชนชั้นสูง สิ่งสูงค่า อย่างศาสนาและกษัตริย์ เมื่อจะสร้างสิ่งที่เป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาและมีความศักดิ์สิทธิ์ สีทองคือสีที่ถูกนำมาใช้เสมอ

610203_164055-1291454

มงกุฎ ชฎา รัดเกล้า ศิราภรณ์ ลอมพอก ฯลฯ ไทยเรามีคำเรียกเครื่องสวมศีรษะมากมาย ซึ่งแสดงฐานะ บทบาท และลำดับชั้นของผู้สวมยิ่งกว่าเครื่องประดับธรรมดา นักรบนำชฎามาเป็นตัวแทนในการเล่าเรื่อง โดยพิจารณาจากพื้นที่ทองหล่อ อาร์ต สเปซ ซึ่งเป็นโรงละครขนาดเล็ก สิ่งที่เชื่อมโยงกับละครก็คือ "ชฎา - Coronts"

เครื่องสวมศีรษะแสดงฐานะทางสังคมและเพื่อระบุบทบาทในศิลปะการแสดง มีอยู่ในทุกวัฒนธรรม ลำดับชั้นที่อยู่ในเครื่องแต่งกายคืออำนาจที่มองไม่เห็น แต่สามารถกดทับกำหนดการกระทำของคนเราได้

สำหรับนักเรียนนาฏศิลป์ เครื่องสวมศีรษะ สำหรับการแสดงนั้น "มีครู" ผ่านพิธีครอบครูและบูชาต่อเนื่องกันมานาน ไม่ต่างจากเครื่องสวมศีรษะของการแสดงแนวประเพณีของหลายวัฒนธรรมในอุษาคเณย์ ก็ล้วนมีครู มีพ่อปู่แม่ย่า มีครูบาอาจารย์ มิบังควรยิ่งที่จะนำมาล้อเล่นหรือลบหลู่

ซึ่งศิลปินก็มิได้คิดจะหลู่ความศรัทธาของวัฒนธรรมใดๆ 

แต่ความสยบยอมยอบตัวอย่างไร้คำถามนั้นฝังใจ ลุกลามถึงสิ่งที่คล้ายคลึงกับชฎา ในที่นี่ศิลปินหยิบยกชฎามาเป็นเครื่องชี้ความเป็นจริงอย่างหนึ่งของสังคมไทย อะไรก็ตามที่ดูวิจิตรมลังเมลืองขรึมขลังยิ่งปิดทองเข้าไป ไม่ต้องไถ่ถามที่มา ความสำคัญอะไรให้มากความ กราบไหว้ไว้ก่อนเป็นดี

ชฎาต่างที่ต่างทาง

ฉะนั้น เมื่อเดินเข้ามาในพื้นที่แสดงงาน เห็นยอดชฎายาวสูงเสียดเพดาน (และเสียดสวรรค์เมื่อมองร่วมกับภาพประกอบ) ยิ่งสูงคือยิ่งสูงศักดิ์ และยอดแหลมอันแบบบางนั้นควรวางไว้ให้ไกลมือ แต่กลับถูกวางไว้ในต่ำติดพื้นเทียมเท่าเราท่าน และมีมาลัยบูชาอยู่เสมอฐาน

610203_164352-1663357

แม้รู้ว่านี่คืองานสั่งทำที่ไม่ผ่านพิธีกรรมครอบครู แต่ความกระอักกระอ่วนอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อคนไทยไม่เคยชินกับการวาง "ของสูง" ไว้แทบเท้า นั่นยิ่งต้องทำให้ทบทวนตัวเองว่าอะไรทำให้รู้สึกประหลาด

610203_164433-1813761

หรืออย่างหัวกวางที่นักรบเคยจัดแสดงในงานนิทรรศการ Sacrifice เมื่อปีที่แล้ว เมื่อเขานำมาลัย 7 สี 7 ศอกมาแขวนประดับไว้ ก็เป็นการให้ความหมายศักดิ์สิทธิ์บางอย่างที่ชวนเคารพขึ้นมา เพราะนอกจากมาลัยแล้ว กวางน้อยยังสวมรัดเกล้าสีทองอร่ามอีกด้วย องค์ประกอบครบขนาดนี้ ต้องไม่ใช่กวางธรรมดาเป็นแน่

610203_164823-1774049

เมื่อเดินลงไปส่วนจัดแสดงด้านล่าง ศิลปินจัดวางวัตถุแสดงไว้ท่ามกลางความมืด สาดแสงแบบโรงละครเข้ามาที่หุ่นปูนปลาสเตอร์ที่มีแค่คอ หุ่นนิ่งเค้าหน้าแบบชาวโรมัน ประดับคอด้วยเครื่องแสดงฐานันดรแบบยุโรป และสวมรัดเกล้า สัญลักษณ์ซ่อนนัยอยู่ในการจัดวางที่เรียบง่ายและทรงพลัง นักรบไม่ขอเผยต่อ แต่ชวนผู้ชมพิจารณาตาม

610203_163922-1619865

เครื่องสวมศีรษะแสดงฐานะทางสังคมและเพื่อระบุบทบาทในศิลปะการแสดง มีอยู่ในทุกวัฒนธรรม ลำดับชั้นที่อยู่ในเครื่องแต่งกายคืออำนาจที่มองไม่เห็น แต่สามารถกดทับกำหนดการกระทำของคนเราได้ ต่อให้เป็นเพียงเครื่องปิดทองที่ภายในคือกระดาษหรือพลาสติก วัสดุนั้นไม่สำคัญ แต่รัศมีที่มลังเมลืองออกมา ก็ทำให้บางคนอุ่นใจ มีที่พึ่ง และอยากอยู่ใต้การปกป้องแห่งอำนาจนั้น

610203_164650-1588634

ซึ่งก็เป็นส่วนใหญ่นั่นแหละ เพราะเรานั้นล้วน "อยู่เป็น"

แต่ใครอาจหาญเอ่ยปากถามว่า "นั่นอะไร" "จริงๆ แล้วนั่นคือดอกอะไร" เหมือนคำถามในการแสดงชุด "สวรรค์อาเขต" โดย อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ แห่งคณะ B-Foor ขึ้นมาล่ะก็ คงตกอยู่ในสภาพตะเกียกตะกาย  และต้องประคับประคองร่างยักแย่ยักยันไปจนทุกอย่างมืดมิด

จริงๆ แล้วจะดูงานศิลปะให้สนุก ก็ตีความอย่างอิสระแล้วมาลองวิพากษ์กันดู ความเห็นที่กระเด้งกระดอนโต้ตอบกันอาจสร้างมุมมองใหม่ๆ ที่น่าสนใจขึ้นมาก็ได้

- - - - - - - - -

นิทรรศการ Coronets โดยนักรบ มูลมานัส จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1 - 20 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ Thonglor Art Space

และในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ จะมีการแสดงพิเศษสำหรับงาน Galleries' Night 2018 ในชื่อ "Reflection: Invisibility" การแสดงต่อเนื่องของศิลปิน สรีนา สัตถาผล ในพื้นที่เดียวกับนิทรรศการ "Coronets"  โดยสรีนาจะต่อยอดจากความเคร่งครัดในประเพณีนิยมและการศิโรราบอันเป็นธรรมชาติของผลงานชฎาที่แสดงอยู่ ตั้งแต่ 19.00 - 22.00 น. เท่านั้น ชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย