ทรัมป์ แบบนี้ก็ได้เหรอ?

ทรัมป์ แบบนี้ก็ได้เหรอ?

วีรกรรม "โดนัลด์ ทรัมป์" กับทวีตทรัมป์รายวัน สร้างประเด็นแบบรัวๆ มาตั้งแต่ปีใหม่เหมือนกลัวเราจะคิดถึง 

ทวิตเตอร์ หรือ Twitter (ทวิสเตอร์นั่นพายุ) คือโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มหนึ่งที่ผู้ใช้สามารถส่งข้อความยาวไม่เกิน 280 ตัวอักษรเพื่อบอกความคิดให้โลกให้รู้ ความที่มีผู้ใช้จำนวนมากและสื่อสารได้รวดเร็ว ทำให้มันกลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญของทั้งสำนักข่าว คนดัง ผู้นำทางความคิด และแม้กระทั่งนักการเมืองในที่สุด

หนึ่งในผู้ใช้คนสำคัญของทวิตเตอร์เห็นจะหนีไม่พ้น โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ทวีตทรัมป์รายวัน (ที่มีผู้ติดตามถึง 46 ล้านคน ณ วันที่ 10 ม.ค. 2561) สร้างประเด็นแบบรัวๆ มาตั้งแต่ปีใหม่เหมือนกลัวเราจะคิดถึง 

ตั้งแต่บอกว่าตัวเองมี “ปุ่มยิงนิวเคลียร์” ที่ใหญ่กว่าและเด็ดกว่าของ คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือซึ่งออกแถลงการณ์ออกมาก่อนหน้าว่า วางปุ่มยิงนิวเคลียร์ไว้ใกล้มือบนโต๊ะทำงานตลอดเวลา 

หรือคุยว่า ตัวเองนั้นมีสติปัญญาระดับอัจฉริยะและมีสุขภาพจิตที่ดี เพื่อตอบโต้หนังสือ Fire and Fury ของ ไมเคิล วอล์ฟ (Michael Wolff, นักข่าวและนักเขียนที่มีผลงานในแวดวงสิ่งพิมพ์ของสหรัฐฯ มาเนิ่นนาน) ซึ่งอ้างว่าทรัมป์อาจไม่มีวุฒิภาวะและไม่มีความเข้าใจน้ำหนักของเก้าอี้ตำแหน่งประธานาธิบดีมากพอที่จะนั่งบนนั้น รวมทั้งอาจมีภาวะสมองเสื่อม หรือ dementia ด้วยเบาๆ

แต่ทั้งหมดด้านบนนั้น อาจไม่ชวนให้อึ้งเท่าตอนที่ทรัมป์ทวีตว่า “เราอาจจะต้องการใช้ภาวะโลกร้อนกันบ้าง” (“Perhaps we could use a little bit of that good old Global Warming [..]”, 29 ธ.ค. 2560) เมื่อทวีปอเมริกาเหนือต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวจัดจนนักอุตุนิยมวิทยาตั้งชื่อเล่นให้ว่า “arctic outbreak” มาตั้งแต่ก่อนปีใหม่

แต่ท่าทีไม่ศรัทธาในภาวะโลกร้อนของทรัมป์นั้นขึ้นชื่อมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ในปี 2555 ทรัมป์เคยประกาศว่า “ภาวะโลกร้อนนั้นเป็นเรื่องที่จีนแต่งขึ้นเพื่อทำลายอุตสาหกรรมการผลิตในสหรัฐฯ” (“The concept of global warming was created by and for the Chinese in order to make U.S. manufacturing non-competitive.”, 7 พ.ย. 2555) 


สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับภาวะโลกร้อน
คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change
ทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศแบบสุดโต่งรุนแรง
และเกิดบ่อยครั้งขึ้น ที่หนาวก็หนาวขึ้น ที่ร้อนก็ร้อนขึ้น
รวมไปถึงความรุนแรงของพายุที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน

..โลกร้อนแล้วทำไมเราถึงหนาว? 

ถ้าหาความรู้สักนิด เราก็จะเข้าใจได้ไม่ยากว่า สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับภาวะโลกร้อนคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change ซึ่งทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศแบบสุดโต่งรุนแรงและเกิดบ่อยครั้งขึ้น ที่หนาวก็หนาวขึ้น ที่ร้อนก็ร้อนขึ้น รวมไปถึงความรุนแรงของพายุที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน

นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์ได้ตัดสินใจทำเรื่อง “พีค” ค้านสายตาประชาคมโลกที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมไปแล้วหลายประการ เช่น การถอนตัวออกจาก Paris Agreement ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมมือกันเพื่อป้องกัน แก้ไข และรับมือการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนนั้น ได้พาเงินสนับสนุนมูลค่ากว่าสามพันล้านเหรียญ (ประมาณกว่าแสนล้านบาท) หายไปกับสายลม

ไม่นับเทคโนโลยีและบุคลากรสนับสนุนต่างๆ จากทางการสหรัฐฯ รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายควบคุมมลภาวะต่างๆ ทั้งที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับสองของโลก

อาจดูเป็นคนละเรื่อง แต่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อไม่นานนี้ยังชี้ให้เห็นว่า นอกจากพลเมืองจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีในประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองแล้ว การบริหารประเทศของรัฐบาลที่มีคุณภาพยังทำให้ความพยายามในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้นมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า และส่งผลให้ประเทศนั้นรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ได้ดีกว่าประเทศใกล้เคียงที่อาจมีต้นทุนทางธรรมชาติในระดับที่คล้ายคลึงกัน แต่ขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ทัดเทียมกัน (Amano, Tatsuya, et al. “Successful conservation of global waterbird populations depends on effective governance.” Nature, vol. 553, no. 7687, 2017, pp. 199–202., doi:10.1038/nature25139)

ประเด็นว่า ทรัมป์จะเสียสติหรือไม่ อาจไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงเท่ากับท่าทีของทรัมป์ที่เหมือนจะบอกคนทั้งโลกว่า ต่อให้ไม่สนใจข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ไม่สนใจว่าโลกหมุนไปถึงไหนแล้ว และทำอะไรบ้าบอขนาดไหน

ฉันก็ยังได้เป็นผู้นำ ยังมีคนสนับสนุนจำนวนมากอยู่ดี และก็ไม่มีใครทำอะไรฉันได้ด้วย