แม่สลองเทรล สนามวิ่งหน้าใหม่ สวยและท้าทายในไร่ชา

แม่สลองเทรล สนามวิ่งหน้าใหม่ สวยและท้าทายในไร่ชา

นักวิ่งเทรลชอบมองหาสนามวิ่งที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งอันซีนยิ่งสนุก เส้นทางใหม่ๆ จึงทยอยเปิดตัวกันขึ้นมา และที่แม่สสลองเทรล  (Maesalong Trail) ก็เป็นงานวิ่งใหม่ล่าสุด ที่จัดเป็นครั้งแรกบนดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

แม่สสลองเทรล  (Maesalong Trail) จัดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับงานวิ่งเทรลชื่อดัง ซึ่งนักวิ่งเทรลส่วนใหญ่ไม่อยากพลาด นักวิ่งที่ทราบข่าวและอยากลอง อาจวางแผนไม่ทัน เพราะยัง “ไม่ฟื้น” จากงานวิ่งก่อนหน้านี้ หรืออยากจะเก็บตัวสำหรับงานวิ่งสุดโหดครั้งต่อไป งานวิ่งหน้าใหม่นี้จึงมีนักวิ่งลงสมัครน้อย และกลายเป็นหนึ่งในงานวิ่งที่คนต้องเสียดายที่พลาด

GOPR0115

ส่วนเราซึ่งลงงานวิ่งเทรล 2 งานติดกัน จึงขอลดระยะจาก 23 กิโลเมตร เหลือ 10 กิโลเมตร เพราะเจ็บข้อเท้าเล็กน้อยจากโป่งแยงเทรล เราเลือกลงงานนี้ เพราะได้เห็นภาพเส้นทางวิ่งที่ผู้จัดร่วมกันบุกเบิกขึ้นมาใหม่ มีทั้งไร่ชา ป่าเขารกๆ นาข้าวขันบันได และสายน้ำ

แต่ก็ยอมรับเลยว่าใจหนึ่งอยากไปกิน “ขนมภูเขา” อันเลื่องชื่อของร้าน Sweet Maesalong Cafe ที่จะมีต้อนรับนักวิ่งที่จุดสตาร์ทด้วย

งานวิ่งนี้มี 3 ระยะทางคือ 52 กิโลเมตร 23 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร แบ่งงานวิ่งเป็น 2 วัน วันแรกแข่งระยะ 52 ส่วนวันที่ 2 เป็นของระยะ 23 และ 10 กิโลเมตร ด้วยความที่คนสมัครงานวิ่งมาน้อย จึงเป็นงานวิ่งที่อบอุ่นเกินคาด ผู้จัดงานมีไม่กี่คน กับจิตอาสาที่เป็นคนพื้นที่ดอยแม่สลอง ซึ่งทุกคนเต็มที่กับการดูแลนักวิ่งในงานนี้มาก

เราได้คุยกับ พี่อ๋า - กรตพงศ์ ชวาลดิฐ นักวิ่งอัลตร้า - เทรล และนักไตรกีฬา ผู้จัดซีรี่ส์งานวิ่ง Big Blue Run Charity for Kids เขาคือหนึ่งในผู้ริเริ่มจัดงานแม่สลองเทรลนี้ขึ้นมา พี่อ๋ามีีรุ่นน้องที่ทำร้าน Sweet Maesalong และได้มาซ้อมวิ่งบนดอยแม่สลองเป็นประจำ ธรรมชาติสวยๆ และชุมชนบนดอยแม่สลองจะมีนักท่องเที่ยวมาเฉพาะช่วง 3 เดือนสุดท้ายปลายปี แต่หากมีการท่องเที่ยวเชิงกีฬามากระตุ้น ก็จะยิ่งช่วยให้ภาพความงามของแม่สลองนั้นกระจายออกไป ดึงดูดนักวิ่งและผู้ที่ชื่นชอบกิจกรรมกลางแจ้งให้มาเยือนแม่สลองในช่วงเวลาอื่นๆ ด้วย

ความอบอุ่นที่มากกว่างานวิ่ง

จิตอาสาที่ดอยแม่สลองนั้นใหม่สำหรับงานวิ่ง แต่สัมผัสได้ว่าทุกคนช่วยด้วยใจจริงๆ ชาวแม่สลองส่วนใหญ่เป็นลูกผสมระหว่างชาวจีนยูนนานและชาติพันธุ์ดั้งเดิมบนพื้นที่นั้น พวกเขามีความเอื้ออารีอยู่เป็นพื้นฐาน อย่างกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมหยินฟงไฉ่ และคณะครูโรงเรียนบ้านสันติคีรี ปักหลักต้อนรับนักวิ่ง คอยจัดอาหารน้ำดื่ม เตรียมเหรียญรอรับ

GOPR0149

จุดสตาร์ทของทุกระยะเริ่มที่ไร่ชาวังพุดตาล แต่เส้นชัยของระยะ 52 กิโลเมตรนั้นไม่ได้อยู่ที่จุดปล่อยตัวเหมือนระยะอื่น มาจบที่โรงเรียนบ้านสันติคีรี ระยะนี้มีนักวิ่งลงสมัครเพียง 17 คนเท่านั้น เวลาตัดตัวของระยะนี้อยู่ที่ 14 ชั่วโมง คือปล่อยตัวตี 5 จบ 1 ทุ่ม จึงจะถือว่าไม่ DNF (Did Not Finish) เมื่อฝีเท้าของแต่ละคนไม่เท่ากัน นักวิ่งคนแรกสามารถเข้าเส้นชัยได้ในเวลาเพียง 8 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เข้ามาในเวลาที่ทิ้งห่างกันเป็นชั่วโมง สตาฟที่หน้าเส้นชัยจึงต้องรอคอยกันนานมาก เรามาสังเกตการณ์ที่หน้าเส้นชัย ได้เห็นการต้อนรับของกลุ่มแม่บ้านที่อบอุ่นอย่างไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ทั้งเสียงปรบมือ กอด ล้อมวงกันเข้ามาดุจต้อนรับลูกหลานกลับบ้าน ทุกท่านปักหลักรอนักว่ิงคนสุดท้ายเข้าเส้นชัยในเวลาเกิน 1 ทุ่ม ด้วยความน่ารักที่ไม่ได้ลดน้อยกว่านักวิ่งคนแรกเลย ยอมใจจริงๆ

10 กม. สนุกครบรส

วันต่อมาเป็นวันแข่งของระยะ 23 และ 10 กิโลเมตร ที่มีนักวิ่งรวมกันราว 70  - 80 คน หน้าเส้นชัยมีก่อกองไฟให้ความอบอุ่นเหมือนมาเข้าค่าย อุณหภูมิตอนเช้ามืดบนดอยต่ำกว่า 20 องศา มีน้ำชาร้อนๆ จากไร่วังพุดตาล กาแฟสดที่ดริปให้ดื่มกันตรงนั้น และเบเกอรี่ฝรั่งเศสอย่างสโคน ครัวซอง และขนมภูเขา เตรียมไว้ให้เป็นมื้อเช้า

GOPR0139

ใครๆ ก็บอกว่าน่าจะลงระยะไกลอย่าง 23 กม. ขึ้นไปจะได้ชมวิวเต็มๆ ทั้งทะเลหมอก และวิวทุ่งดอกบัวตองสองข้างทาง ซึ่งปีหนึ่งๆ จะบานแค่ 10 วัน แต่ช่างภาพที่ไปสำรวจเส้นทางด้วยมอเตอร์ไซค์วิบาก แอบมาเตือนถึงความยากของระยะ 10 กม. ทั้งความชันและสิ่งที่จะได้เจอ เป็นการเตือนที่เหมือนขู่ แต่เรารู้ว่าสำหรับนักวิ่งเทรลนั้นยิ่งยากยิ่งสนุกต่างหาก

GOPR0146

ระยะ 10 กม. กับความชันสะสม 650 เมตรนั้นถือว่าชันมาก (มากกว่าเทรลระยะนี้ที่เคยเจอมาทั้งหมด) ซึ่งเราบอกได้ระยะนี้ที่แม่สลองเทรลนั้น Very Recommended คุณจะไม่เจอเส้นทางคอนกรีตเลย แถมยังได้เจอพื้นผิวธรรมชาติหลากหลาย ความชันแบบขึ้นๆ ลงๆ ท้าทายไม่หยุดหย่อน

พื้นที่หลักอยู่ในไร่ชากลางหุบเขา ออกสตาร์ทปั๊บก็เจอทางชันลาดลงหักเลี้ยวทันที วิ่งตะลุยดินแดงไปไม่นานก็เจอคลองเล็กๆ ที่เพิ่งทำสะพานไม้ไผ่ข้ามกันเพื่องานนี้ วิ่งเข้ารกเข้าป่าในทางซิงเกิลแทรคที่คนพื้นที่ใช้กัน ทะลุออกไปเจอเว้ิงนาขั้นบันได กับทางเดินแคบๆ เลียบไหล่เขา ด้านหนึ่งคือคูน้ำสำหรับการเกษตร อีกด้านหนึ่งถ้าประคองตัวไม่ดีอาจล้มกลิ้งไหลไปกับเขาได้ จุดนี้เองที่สิงห์มอเตอร์ไซค์เตือนไว้ มันอันตรายสำหรับสองล้อ แต่สองขาไม่อันตราย แค่ต้องมีสติเพิ่มมากขึ้นอีกหน่อย

GOPR0160

จากนาข้าวก็วิ่งไต่ขึ้นไปตามความสูงของไร่ชา แต่ละเนินที่พาตัวเองขึ้นไป มีความชันจากเบาไปหาหนัก หลายจุดที่ปีนขึ้นไปด้วยอัตราการเต้นของหัวใจในระดับพีค แต่วิวเลียบเขาช่างสุดยอด ทุกการพักที่ยอดเนินคือการมองไปที่ความเขียวของไร่ชาท่ามกลางป่าไม้ และเทือกเขาที่กว้างไกล สุดออกซิเจนให้เต็มปอด แล้วค่อยพาตัวเองวิ่งลงเนินต่อ เพื่อพิชิตเนินอีกลูกแล้วลูกเล่า

GOPR0182

เป็นการวิ่งระยะสั้นได้เจอสายน้ำตัดผ่านถึง 4 ครั้ง สะพานที่ 2 คือต้นไม้ผ่าครึ่งแล้ววางตัวเป็นสะพานเดี่ยวๆ ข้ามน้ำ ถึงจะสูงไม่กี่เมตร แต่ก็น่าหวาดเสียวทั้งความแคบและความชั่วคราว สายน้ำจุดต่อมาตื้นแค่ครึ่งขา ทุกคนจึงลุยน้ำกันสนุก ให้ความเย็นของน้ำเยียวยาขา ผู้จัดให้นักวิ่ง 52 กม. มาวิ่งเล่นฟรีที่ระยะ 10 กม.ด้วย เราจึงได้เห็นนักวิ่งหลายคนสวมเสื้อฟินิชเชอร์มาวิ่งอย่าง “ชิลๆ” กัน บางคนก็ลงน้ำทั้งตัวเล่นกันสนุกไปเลย และครั้งสุดท้ายเป็นการข้ามคูที่ต้องใช้สองมือปีนป่ายขึ้นมา แบบที่คิดว่า ให้เราปีนอย่างนี้จริงๆ เหรอ

GOPR0178

เราได้เห็นคุณแม่ชาวต่างชาติพาลูกน้อยมา “เดินป่า” กันด้วย คนหนึ่งมีลูกน้อยวัยทารกอยู่ในเป้อุ้มเด็ก อีกคนพาลูกสาววัยเกือบ 2 ขวบมาเดินๆ อุ้มๆ ด้วย เราเจอกันบางจุด หนูน้อยเดินอย่างมุ่งมั่น ต่อให้ขาเล็กๆ จะตุปัดตุเป๋เซล้มลง แต่เธอก็ลุกขึ้นมาเดินต่อไม่งอแงเลย เราว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมากสำหรับเด็กเล็ก แม้หนูๆ จะยังไม่รู้ความ แต่ธรรมชาติน่าจะประทับสิ่งดีๆ ลงในใจของพวกเขาได้

วันก่อนวิ่งมีฝนตกหนัก แม้ดินบนดอยจะซับน้ำเร็วจนหน้าดินไม่เละเป็นเลน แต่กลายเป็นดินผิวแน่นเตียนลื่น ผู้จัดจึงขอตัดจุดที่ชันโหดที่สุดออกไป 2 กม. เพราะงานนี้มีแม่บ้าน เด็กๆ ชาวดอย รวมถึงแม่และเด็กมาร่วมวิ่งด้วย จึงเลือกตัดจุดเสี่ยงลื่นออกไปดีกว่า

งานนี้เลยได้วิ่งกันแค่ 8 กม. แต่เป็น 8 กม.ที่ครบรสมาก และได้สัมผัสกับธรรมชาติเต็มที่ พอได้ฟังเสียงชื่นชมเส้นทางจากนักวิ่งระยะไกลแล้ว ปีหน้าต้องลงระยะ 23 กม. แล้วล่ะ

GOPR0211

การต้อนรับที่หน้าเส้นชัยวันนี้ ก็แสนพิเศษ เพราะนอกจากจะมีบะหมี่เกี๊ยวยูนนานให้ชิมแล้ว กลุ่มแม่บ้านอาสาสมัครก็พากันล้อมวงเต้นวัฒนธรรมให้ชม เพิ่มความเพลิดเพลิน และสร้างอัตลักษณ์ให้กับแม่สลองเทรลแบบหาที่ไหนไม่ได้

งานวิ่งที่ได้เรียนรู้วัฒนธรรม

เราไม่เคยไปดอยแม่สลองมาก่อน แม้เคยได้ยินมาว่าบนดอยนั้นเป็นพื้นที่ของชาวจีนยูนนานอพยพ ซึ่งเป็นกองทหารที่หนีมาจากสงครามการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ก็รู้เพียงเท่านั้น

เมื่อมาถึงบนดอยจริงๆ เราพบว่าที่นี่เป็นเหมือนหนึ่งมณฑลของจีน คือแม้เวลาจะผ่านมากว่า 50 ปีแล้ว แต่ชาวจีนรุ่นที่ 3 ของที่นี่ก็ยังคงสืบทอดความเป็นจีนยูนนานไว้อย่างเหนียวแน่น แม้ว่าเด็กรุ่นใหม่จะเริ่มไม่รู้จักแล้วว่า “นายพลต้วน” เป็นใคร แต่ภาษา อาหาร และวัฒนธรรมจีนที่หลอมรวมกับชาติพันธุ์ทั้ง 7 บนภูเขาสูงนั้นก็ยังคงอยู่อย่างเหนียวแน่น ผู้ใหญ่บนดอยใจดี เราถามขอความรู้อะไร พวกเขาก็ยินดีตอบและเล่าเรื่องของบรรพบุรุษให้ฟังในมุมต่างๆ ราวกับพวกเขานั้นเป็นพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่

นี่คือเสน่ห์สำคัญของการวิ่งเทรล ไม่ใช่เพียงการท่องเที่ยวที่ตามมาเท่านั้น การได้เจอผู้คนและเรื่องราวในพื้นที่ต่างๆ ช่วยเปิดสมองของเราได้มาก และทำให้ยิ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงกีฬาที่เต็มอิ่มยิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสารของแม่สลองเทรลได้ ที่เฟซบุ๊ค Maesalong Trail