คอมิกส์หม่นดำ โลกที่ขื่นขำของคาฟคา

คอมิกส์หม่นดำ โลกที่ขื่นขำของคาฟคา

หืมม?! นิยายของคาฟคาในรูปแบบคอมิกส์เนี่ยนะ จะเป็นคอมิกส์ที่ดำดาร์คดิ่งสู่ความสิ้นหวังแค่ไหนเนี่ย

ฟรันซ์ คาฟคา (Franz Kafka) นักเขียนสัญชาติเช็ค เชื้อสายยิว เกิดที่กรุงปราก พ่อเป็นพ่อค้าชาวยิว กลุ่มชนชั้นกลางค่อนสูง ที่บ้านพูดภาษาเช็ค แต่พ่อส่งเรียนในโรงเรียนที่สอนภาษาเยอรมัน เพราะคาดหวังว่าลูกชายจะเติบโตขึ้นในสังคมที่ได้รับโอกาสยิ่งกว่า แต่น่าเสียดาย คาฟคา ผู้ลูกไม่อาจเป็นได้ตามพ่อหวัง ความขัดแย้งกลายเป็นปมแห่งความแปลกแยก บทสนทนาที่เขามีกับตัวเอง ก็ได้กลายมาเป็นงานเขียนที่ผู้คนยุคหลังหลงใหล พากันตีความความดำมืดที่อยู่ในงานของเขากันใหญ่

และ Unfolding Kafka Festival ก็เป็นอีกหนึ่งงานที่ตีความวรรณกรรมของคาฟคาออกมาเพื่อคลี่คลาย ทำความเข้าใจในงานและชีวิตของเขา ที่ผู้คนมักบอกว่ามันช่างหนักอึ้งและอ่านยาก งานนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ชื่นชอบหรือต้องเคยอ่านงานของคาฟคามาก่อนถึงจะเข้ามาชมได้ ไม่ต้องเคยรู้จักคาฟคาเลยด้วยซ้ำ แล้วมาทำความรู้จักกันในงานนี้ก็ได้

เทศกาลนี้พาให้เราเรียนรู้งานคาฟคาผ่านศิลปะและการนำเสนอหลายรูปแบบ ทั้งสตรีทอาร์ต การแสดงสด การพูดคุยแบ่งปัน และนิทรรศการ โดยกระจายการแสดงไปหลายที่ในกรุงเทพและเชียงใหม่ ทั้งที่สถาบันเกอเธ่ ผู้นำเทศกาลนี้เข้ามา ซึ่งมีความร่วมมือของหลายองค์กรด้วย เช่น เจแปน ฟาวน์เดชั่น ซึ่งนำเสนอศิลปะการแสดงโดยศิลปินชาวญี่ปุ่น

601109_193424-2272897

เราได้ไปชมนิทรรศการ Kafka in Komiks ส่วนหนึ่งของเทศกาล Unfolding Kafka นิทรรศการนี้จัดแสดงมาแล้วในหลายประเทศ มี David Zane Mairowitz นักเขียน นักวาดคอมิกส์ชาวอเมริกัน (แต่อยู่ฝรั่งเศส) เป็นภัณฑารักษ์ เขามักเขียนคอมิกส์เกี่ยวกับงานวรรณกรรมเหล่านั้น อย่างงานของคาฟคา, กามู, ดิกเกนส์ และดอสโตเยฟสกี้

การชมนิทรรศการนี้มีผู้นำชม ซึ่งได้สัมภาษณ์ภัณฑารักษ์ผ่าน Skype จึงมีความเข้าใจงานนี้ดีพอสมควร และมีวิดีโอการสัมภาษณ์นี้ให้ชมด้วย ถ้าใครมีเวลาก็ควรนั่งฟัง จะยิ่งสนุกมากขึ้น

ภัณฑารักษ์คิวเรทงานนี้โดยนำผลงานของศิลปินนักวาดคอมิกส์ 3 คนมาแสดง และขยายภาพการ์ตูนในตอนต่างๆ ที่น่าสนใจออกมา ชี้ให้เห็นตัวตนของคาฟคาที่ซ่อนอยู่ในงานเขียน แน่นอนว่านิทรรศการไม่ได้เล่าเรื่องโดยละเอียด แต่จับบางอย่างออกมาวางให้ดูเพื่อเรียกน้ำย่อยให้คนอยากอ่านงานของคาฟคา คนที่เคยอ่านแล้วก็อยากกลับไปอ่านอีกรอบ เพื่อตามทบทวนสิ่งนี้อีกครั้ง

ทำไมจึงเป็นตัว K

นิทรรศการที่ใช้คำว่า Komiks แทนที่จะเป็น Comics ภัณฑารักษ์ให้เหตุผลว่าคาฟคาคิดว่าตัว K เป็นอักษรที่น่าเกลียดที่สุด ก็ชื่อของเขาประกอบด้วย K ต้องสองตัวนี่นะ คาฟคาเกลียดทุกอย่างที่เป็นตัวเอง ในงานเขียนของเขาทุกชิ้นล้วนพูดถึงการทำลายตัวเอง เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น?

คาฟคาคือมนุษย์ที่แปลกแยกจากครอบครัว แปลกแยกจากทุกสิ่งรอบตัว แม้แต่ตัวเอง

พ่อที่อยากให้เขาเป็นลูกชายที่เชิดหน้าชูตาครอบครัวในสังคมชั้นสูง ให้ลูกชายเรียนภาษาเยอรมัน เพื่ออยู่ในสังคมที่ดีกว่า แต่ที่บ้านก็นับถือศาสนายิว ไม่ใช่ศาสนาคริสต์อย่างสังคมภายนอก เขาพูดภาษาเยอรมันในโรงเรียน แต่คนแถวบ้านพูดภาษาเช็ค เป็นเด็กที่ไม่ได้รับการยอมรับจากที่ใด เมื่อไม่ได้อย่างใจ พ่อก็เย็นชามองเขาไร้ตัวตน แม่ก็ไม่ช่วยพยุงจิตใจ มีแต่น้องสาวที่ยังเห็นคุณค่าของเขาบ้าง

601109_193701-1926155

คอมิกส์ในนิทรรศการดึงเอาบทตอนต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นการทิ้งตัวดำดิ่งลงในปัญหาที่ทั้งจริงทั้งเหลือเชื่อ การทำลายตัวเองล้างตัวเองในรูปแบบต่างๆ ขนาดเดินทางไปอเมริกาดินแดนในฝัน ก็ยังอุตส่าห์เห็นเทพีเสรีภาพถือดาบเสียอย่างนั้น คาฟคาไม่ต่างอะไรกับเทียนที่จุดแสงสว่าง แต่ละลายตัวเองให้หดหายไปตลอดเวลา

สัตว์คลานท้องติดพื้น

คาฟคามักใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ในงานเขียนของเขาเสมอ เพราะเป็นอุปมาอุปไมยที่ชัดเจน สามารถสื่อตรงถึงสัญชาตญาณดิบที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคนได้ด้วย

อย่างเรื่อง A Hunger Artist ที่พูดถึงศิลปินที่อดอาหารในกรง เพื่อสร้างชื่อเสียง เรียกร้องความสนใจจากสาธารณชน แต่กลับไม่มีใครแยแส จนตายไปในกรงอย่างนั้น ครั้นเมื่อคนนำเสือดำมาแสดงในกรงแทน ก็กลับได้รับความสนใจอย่างมากมาย เสือดำก็เป็นสัญลักษณ์ของความสง่างาม แข็งแรง อยู่ในระดับท๊อปของห่วงโซ่อาหาร ต่างจากตัวเขาโดยสิ้นเชิง ที่ถึงแม้จะเป็นคนก็ยังมีคุณค่าสู้เสือดำไม่ได้

601109_193618-2645227

ส่วนเรื่อง Metamorphosis ที่เขาขึ้นต้นเรื่องมาก็พูดถึงชายคนหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วกลายเป็นแมลงเลย แมลงตัวนี้ก็ใช้ชีวิตไปด้วยความหวาดระแวง คอยสังเกตปฏิกริยาของผู้คนรอบข้างเมื่อเขากลายเป็นแมลงไปแล้ว จนได้รู้ว่าแมลงอย่างเขาไม่ว่าอย่างไรก็ไร้ตัวตนต่อทุกคน ท้ายที่สุด ก็คลานไปนอนตายอยู่ใต้เตียง เน่าสลายกลายเป็นซากให้น้องสาวมากวาดทิ้งไป

เดวิด ภัณฑารักษ์ให้เราสังเกตว่า คาฟคามักจะเปรียบตัวเอง (ตัวละครหลัก) ในงานเขียนให้เป็นสัตว์ประเภทคลานแล้วท้องติดพื้น จะเข้าใจความสำคัญของสิ่งนี้ได้ก็ต้องเข้าใจถึงวิธีคิดของชาวยิว ชาวยิวจะมีสิ่งที่เรียกว่าโคเชอร์ อยู่ คล้ายๆ ฮาลาลของชาวมุสลิม ที่จะไม่กินอาหารที่ไม่ใช่ฮาลาล ส่วนชาวยิวก็จะไม่กินอาหารที่ไม่ใช่โคเชอร์ ซึ่งสัตว์ที่ถือว่าเป็นโคเชอร์คือสัตว์ที่คลานแล้วท้องไม่ติดพื้น เช่น วัว  (เป็นสัตว์สะอาดอยู่ในระดับสูงกว่า) แต่สัตว์ที่คลานแล้วท้องติดพื้น เช่น แมลง งู กบ และแม้แต่หมู ซึ่งท้องติดพื้น คือสัตว์ที่ไม่โคเชอร์ หรือสัตว์สกปรก

คาฟคาเปรียบตัวเขาเป็นแมลง เป็นกบ ซึ่งถือเป็นสัตว์ระดับต่ำ แต่เสือดาวเป็นสัตว์ระดับสูง เขาก็เขียนให้เป็นอะไรที่มีค่ายิ่งกว่าตัวเขา

ในไดอารี่ของคาฟคา เขาเล่าถึงตัวเองที่ถูกเหยียดหยามจากสังคม ในบ้านก็ถูกพ่อเมิน ออกนอกบ้านก็ถูกคนตะโกนใส่ “แมลงโสโครก” ไม่ใช่มนุษย์ด้วยซ้ำ จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าใน เมตามอร์ฟอซิส หนึ่งในงานที่โด่งดังที่สุดของเขา เขาจะกลายร่างเป็นแมลงไป

ความสัมพันธ์ที่ยากเย็น

The Castle หนังสือที่สะท้อนความสัมพันธ์ของคาฟคากับผู้หญิง คนที่ไม่อาจจะรักตัวเองได้ เมื่อมีความรักเรื่องก็ไม่เคยง่าย ชีวิตจริงของคาฟคา เขามีความรักหลายครั้ง แต่ไม่เคยลงเอยด้วยดี อย่างคู่หมั้นคนหนึ่ง ที่เลิกแล้วกลับมาคบกันใหม่ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้แต่งงานกัน หรือแอบรักผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ไม่กล้าที่จะสานสัมพันธ์ และน้องสาว คนในครอบครัวคนเดียวที่ยังมองเห็นเขาอยู่ งานนี้เป็นฝีมือของ Jaromir 99 นักร้อง นักวาดคอมิกส์ ชาวเช็ค ถ่ายทอดการ์ตูนเรื่องนี้ด้วยสไตล์ภาพพิมพ์แกะไม้ (Wood Cut) ที่แข็งกระด้าง แหลมคม ประหนึ่งจะถ่ายทอดความยากเย็นในความสัมพันธ์ออกมา

601109_193931-1218388

ท้ายที่สุด ภัณฑารักษ์อยากชี้ให้เห็นว่าคาฟคาที่จริงแล้วเป็นคนมีอารมณ์ขัน (หืมม?!) เขาว่ามันชัดเจนมากในแต่ละสถานการณ์ที่ตัวละครเจอนั้นเต็มไปด้วยความขบขัน (แต่ออกจะเป็นตลกเจ็บตัวอยู่สักหน่อย) คนที่ไม่มีอารมณ์ขันเขียนอย่างนี้ไม่ได้หรอก

ได้ชมเพียงส่วนหนึ่งของเทศกาลก็อยากจะกลับไปรื้องานของคาฟคามาอ่านใหม่ เทศกาลนี้น่าสนใจมากทีเดียว ช่วยเปิดมุมคิดแง่ต่างๆ ออกมา เราอาจค้นพบบางอย่างเมื่อได้เห็นบางปมที่มนุษย์โลกมีร่วมกัน อาจเข้าใจคาฟคาได้ง่ายกว่าที่คิด และอาจจุดประกายให้เราดึงวัตถุดิบบางอย่างในตัวออกมาใช้งาน เหมือนคาฟคาที่สร้างงานระดับตำนานได้ แม้ไม่อาจไขปัญหาของตัวเองได้ทั้งชีวิตก็ตาม

ชมนิทรรศการนี้ได้ที่สถาบันเกอเธ่ สาทรซอย 1 ได้ถึงวันที่  30 พฤศจิกายน 2560

ติดตามรายละเอียดได้ที่ Unfolding Kafka Festival