ชีวิตคุณแม่ในแคนาดา ตอนที่ 5: เมื่อรัฐลงทุนการอ่านผ่านห้องสมุดสาธารณะ

ชีวิตคุณแม่ในแคนาดา ตอนที่ 5: เมื่อรัฐลงทุนการอ่านผ่านห้องสมุดสาธารณะ

การอ่านหนังสือและเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอน คือกิจกรรมสำคัญของพ่อแม่ แต่ใช่ว่าทุกบ้านจะจับจ่ายได้เมื่อหนังสือดีมีราคาสูง ที่แคนาดาจึงมีสวัสดิการเรื่องห้องสมุดเพื่อเป็นตัวช่วยหนึ่งในการเลี้ยงเด็กให้เติบโตขึ้นมามีคุณภาพ

- - - อ่าน ชีวิตคุณแม่ในแคนาดา ตอนที่ 1: คลอดลูกที่แคนาดา 

- - - อ่าน ชีวิตคุณแม่ในแคนาดา ตอนที่ 2: รับมือกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด

- - - อ่าน ชีวิตคุณแม่ในแคนาดา ตอนที่ 3: ศูนย์เด็กเล็ก

- - - อ่าน ชีวิตคุณแม่ในแคนาดา ตอนที่ 4: สนามเด็กเล่น

สมัยฉันเป็นเด็ก พ่อแม่ไม่ได้เล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ฟัง แต่ใช้เวลาอยู่ด้วยกันเยอะ เพราะแม่เลี้ยงลูกเอง มาได้อ่านหนังสือ ฟังนิทานก็ตอนเข้าโรงเรียนอนุบาลแล้ว พอฉันอ่านหนังสือเองได้ ก็อ่านนิทาน หนังสือต่างๆ เอง พอโตขึ้นมาอีกหน่อย คุณแม่ก็เริ่มซื้อหนังสือภาษาอังกฤษสีสันสวยงามสำหรับเด็กมาให้ ซึ่งถือเป็นสมบัติล้ำค่าของฉันเลยทีเดียว ฉันชอบเรียนภาษาอังกฤษมาก พี่น้องของฉันก็รักการอ่านเหมือนกัน

อ่านหนังสือให้ลูกก่อนนอนฟังมีประโยชน์อย่างไร?

พอมีลูกเองคนแรก ฉันก็เริ่มอ่านหนังสือให้เขาฟังตั้งแต่อายุ 6 - 7 เดือน เขายังไม่สนใจ จะคอยดึงไปขยำ ฉีกเล่น เอาไปกัดเสียมากกว่า แต่ฉันก็ยังอ่านให้ฟังไปเรื่อยๆ ทำไปทำมา พอเขาอายุประมาณ 10 เดือน จึงหันมาสนใจนั่งดูภาพนั่งฟังได้ ตั้งแต่นั้นมาหนังสือก็กลายเป็นที่พึ่งยามเหนื่อยกายของฉัน เพราะลูกๆ จะวิ่งกรูกันมานอนหนุนแขน นั่งตัก ฟังฉันอ่านหนังสือทันที

หนังสือเป็นผู้ช่วยยามเด็กงอแงได้ดีมาก ลูกทั้ง 2 จะหยุดทันทีที่ฉันเริ่มอ่านหนังสือให้ฟัง แม้จะเป็นเรื่องเดิมๆ ที่อ่านให้ฟังมาเป็นพันๆ รอบแล้วก็ตาม (ไม่ได้โอเวอร์นะคะ เพราะบางทีเล่มหนึ่งอ่านซ้ำๆ ครั้งละ 10 กว่ารอบ เป็นเวลาหลายปีแล้ว)

การอ่านหนังสือให้ลูกฟังมีประโยชน์ หลายอย่าง คือ สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก พัฒนาภาษา ความคิด สติปัญญา จิตใจ วินัย และสร้างวินัยในการนอน คือ อ่านหนังสือเสร็จ ก็คือเวลานอน แต่เป้าหมายสำคัญ คือ พ่อแม่ได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ แม้เพียง 15 นาทีก่อนนอน เวลาที่ใช้ร่วมกันก็มีผลดีกับลูกแล้ว 

ซื้อหนังสือเองแพงและรกบ้าน

ตอนมีลูกคนแรกใหม่ๆ พวกเรายังอาศัยอยู่ในเมืองไทย ฉันจึงได้รับมรดกมากมายจากพี่สาวคนโตที่ลูกๆ ของโตแล้ว ทั้งหนังสือ เสื้อผ้า ของใช้ และของเล่นต่างๆ

คนที่เป็นพ่อแม่จะรู้ดีว่า ของสำหรับเด็กราคาแพงมาก และใช้แป๊บเดียวเด็กก็โตเกินแล้ว หนังสือที่ได้รับส่งต่อมาเป็นหนังสือที่ดี เหมาะกับวัยทั้งนั้น บางเล่มที่เด็กๆ ชอบมาก คือ หนังสือของคุณครูชีวัน วิสาสะ กับ ลุงตุ๊บปอง และหนังสือภาพภาษาอังกฤษ

แต่ด้วยความที่ไม่ได้ซื้อเองเลยไม่รู้ราคา พอได้ออกไปช้อปเอง หลังจากอ่านหนังสือที่ได้มาวนเวียนไปมาจนฉันเบื่อ ถึงได้รู้ว่าการซื้อหนังสืออ่านให้เด็กนี่ใช้เงินมหาศาลจริงๆ ถือเป็นการลงทุนขนาดย่อมเลย โดยเฉพาะหนังสือปกแข็งภาษาอังกฤษที่รูปสวยๆ และมีลูกเล่น นี่แพงมาก เล่มละหลายร้อยบาท แต่ฉันก็ซื้อค่ะ แต่ยิ่งนานวัน บ้านของฉันก็เริ่มเต็มไปด้วยหนังสือของเด็กๆ ฉันและสามีต้องเก็บแล้วเก็บอีก หรือ ช่วยกันเก็บกับลูก ก็กระจายลงมาอีก เฮ้อ..พอต้องย้ายบ้านเลยไม่ซื้อหนังสือเพิ่มอีก และลองหาที่พึ่งใหม่คือห้องสมุดสาธารณะ

ห้องสมุดสาธารณะ คือ คำตอบสำหรับพ่อแม่

ตอนอยู่โตรอนโต ครอบครัวฉันก็ได้สมัครเป็นสมาชิกห้องสมุดสาธารณะใกล้บ้าน สมัครสมาชิกฟรีและยืมหนังสือได้มากถึง 50 เล่ม ต่อ 1 บัญชี ยืมครั้งละ 3 สัปดาห์ ต่ออายุได้อีก 2 - 3 ครั้ง ครั้งละอีก 3 สัปดาห์ และเมื่อย้ายมาอยู่อีกเมืองหนึ่ง ห้องสมุดสาธารณะที่นี้ก็มีกฎการยืมคล้ายกัน อีกทั้งยังมีหนังสืออิเล็กทรอนิกซ์ หนังสือเสียง ดีวีดีหนัง การ์ตูน ให้ยืมด้วย

image1 (3)

นอกจากนี้ ทางหัองสมุดยังมีโปรแกรมฟรีหรือราคาย่อมเยาว์ สำหรับเด็กๆ และครอบครัวด้วย อย่างเช่น โปรแกรมเล่านิทานอ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟัง คอร์สสอนศิลปะ ต่อเลโก้ ทำงานฝีมือต่างๆ เรียกได้ว่า ทุกคนสามารถหากิจกรรมที่ตัวเองชอบได้ที่ห้องสมุด

ฉันและสามีจะพาลูกๆ ไปห้องสมุดสาธารณะเสมอ เดือนละครั้งสองครั้ง ทุกครั้ง เราจะยืมหนังสือไม่ต่ำกว่า 20 เล่ม และอ่านสลับไปมาทุกคืนก่อนนอน เป็นช่วงเวลาผ่อนคลาย และสร้างสายสัมพันธ์ของเราพ่อแม่ลูกค่ะ ลูกจะเชื่อฟัง ว่าง่าย และอ่อนหวานมากกว่าปกติ หลังจากที่เหนื่อยมาทั้งวันแล้ว มานอนนัวเนียหนุนแขน ฟังพ่อแม่อ่านหนังสือ และหนังสือบางเล่มยังทำให้ง่วงนอนและหลับดีมากทั้งผู้ใหญ่และเด็กเลยค่ะ

ตั้งแต่ย้ายมาอยู่แคนาดา 3 ปี ฉันซื้อหนังสือให้ลูกไม่ถึง 20 เล่ม ฉันเลยลองคำนวณดูว่า

ถ้าฉันซื้อหนังสือเองในจำนวนที่ได้ยืมมาจากห้องสมุด (20 เล่ม / 2 เดือน = 360 เล่ม ใน 3 ปี) และ ราคาหนังสืออย่างต่ำ เล่มละ 7 เหรียญ ฉันคงต้องจ่ายเงินไปแล้วอย่างน้อย 2,500 เหรียญ ตามมาด้วยบ้านที่เต็มไปด้วยหนังสือแน่ๆ

แต่ห้องสมุดสาธารณะทำให้ฉันได้ประหยัดเงินส่วนนี้ไป และยังได้ความสุขของครอบครัว บวกกับบ้านที่ไม่รกจนเกินไป ไม่เพิ่มขยะและการตัดต้นไม้เพื่อผลิตกระดาษ ห้องสมุดสาธารณะนี่ถือว่าเป็นอัศวินม้าขาวของครอบครัวและโลกของเราจริงๆ ฉันได้แต่หวังว่า เด็กๆ ทั่วโลกจะได้รับโอกาสแบบครอบครัวของฉันและอีกหลายครอบครัวที่แคนาดาเหมือนกัน

image4

 ลูกชายคนโตของฉัน ถึงวันเข้าโรงเรียนอนุบาลแล้ว คราวหน้าฉันจะมาเล่าเรื่องโรงเรียนอนุบาลเครือคาธอลิคแถวบ้านที่ลูกชายไปให้ฟังค่ะ