ถอดรหัสผ้าไหมอุบลฯ

ถอดรหัสผ้าไหมอุบลฯ

ผ้าไหมอุบลฯ ผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.สิทธิชัย สมานชาติ ที่ถอดรหัสจาก "ดอกบัว" พัฒนาสู่ผ้าไหมเฉดสีหวาน ที่ "กลุ่มคนนุ่่งซิ่น" จะหลงรัก...

 

          ผ้าไทย ผ้าไหม ใครว่าเชย... ตอนนี้มีคนรุ่นใหม่ตั้งกลุ่ม “คนนุ่งซิ่น” ขึ้น ด้วยใจรัก และเพื่อปลุกกระแสให้คนรุ่นใหม่สวมใส่ผ้าไทยผ้าไหมกันมากขึ้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดแสดงแฟชั่นโชว์ ผลงานวิจัยเพื่อสังคม เรื่อง ผ้ากลีบบัว และผ้าไหมซิลิก้า ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอทเซ็นทรัลเวิลด์ อันเป็นงานวิจัยที่จับต้องได้ ขายได้ จากผลงานของ ผศ.ดร.สิทธิชัย สมานชาติ นักวิจัยจากคณะศิลปะประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ นำเสนองานวิจัยเรื่อง ผ้ากลีบบัว ผ้าไหมอุบลฯ    

ผศ.ดร.สิทธิชัย สมานชาติ เล่าถึงที่มาของงานวิจัยผ้ากลีบบัวว่า “เดิมจังหวัดอุบลราชธานีมีผ้าทอประจำจังหวัดชื่อว่า “ผ้ากาบบัว” แต่คณะวิจัยเราต้องการสร้างสรรค์ผ้าทอผืนใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจาก ดอกบัวสีชมพู ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด จึงได้ร่วมกับชุมชนในการทำวิจัยตั้งแต่กระบวนการย้อมไหมจากสีธรรมชาติทำอย่างไรให้ได้สีชมพูที่มีความอ่อนหวาน และใช้เทคนิคการทอให้เกิดร่องขนาดเล็ก เมื่อทอเป็นผืนจะมีสีชมพูหวาน เกิดสีเหลือบเข้มอ่อนในผืนเดียวกัน เมื่อใช้ประสาทสัมผัส คือมองด้วยสายตาและสัมผัสด้วยมือแล้วเสมือนหนึ่งว่าเรากำลังชมและสัมผัสกลีบบัวตามธรรมชาติ ผสานกับการต่อหัวซิ่น และตีนซิ่นด้วยลวดลายดั้งเดิมที่ได้รับการพัฒนาเพื่อให้เข้ากับผ้ากลีบบัวผืนใหม่ จึงมีความงดงามและได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี สามารถขายได้ราคา จึงได้ส่งเสริมให้ชุมชนทอผ้ากลีบบัวจำหน่าย

ดร.สิทธิชัย2

และเราพบว่าผ้ากาบบัว ที่เริ่มเมื่อปี 2543 นั้นขายลดลงเพราะมีการแข่งขันทางการตลาด จนทำให้ลดวัสดุ ลดลาย จากมัดหมี่สวย ๆ ก็เป็นมัดหมี่ข้อเดียว อีกอย่างคือถึงลดอย่างนั้นแล้วก็ตาม ราคาที่ชาวบ้านได้มันต่ำจนเขาไม่สามารถผลิตได้ พอปี 59 เราก็ค่อย ๆ เริ่มประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงนิชมาร์เก็ต  คือกลุ่มที่ใช้ผ้าจริง ๆ ซึ่งนำชุมชนมาสู่โปรเจคงานวิจัยของปี 60 ทำให้ประสบความสำเร็จในการทอผ้าลายพิเศษขึ้นมา หลังจากพัฒนาแล้วก็มีผู้ประกอบการในจังหวัดเข้าไปออร์ดอร์ผ้าที่มีราคาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการย้อมสีธรรมชาติ เขาก็จะให้ราคาในการผลิตเยอะขึ้น เป็นผลมาจากการค่อย ๆ พัฒนาชุมชนให้ผลิตสินค้าดีขึ้นและขายได้ คุ้มแรงงาน คนทอก็มีความสุข คนใส่ก็ได้ผ้าสวย...”

20170731_161204aa

1505115458680aa

20170731_165428aa

กระบวนการทำงาน ดร.สิทธิชัย เล่าว่า

“เมื่อปีที่แล้วผมก็ได้นำข้อมูลเรื่องผ้าลายโบราณ ผ้าซิ่นที่เจ้านายสมัยก่อนใช้ นำลายนั้นไปให้ชุมชนได้ทอ และร่วมกับกรมหม่อนไหม เข้าไปร่วมพัฒนาชุมในในการย้อมสีธรรมชาติ แล้วทอผ้าที่เป็นเทคนิคของอุบลฯ คือลายริ้วและลายขิด พอปีนี้เป็นการสร้างลายผ้าที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด คือ “กลีบบัว” โดยถอดรหัสจากธรรมชาติของกลีบบัวให้ออกมาเป็นลายผ้า โดยบูรณาการกับฝ่ายวิชาการสิ่งทออีสานพัฒนาออกมาหลายเฉดสี ได้แก่ บัวเฉดสีม่วง สีฟ้า เหลือง และสีชมพู และให้ชุมชนโหวตเสียงกันโดยเลือกธีม “สีชมพู” เพื่อทำเป็นซีรีส์แรกของปีนี้ก่อน โดยทอจากการดูธรรมชาติของกลีบบัวที่มีสีหลากหลาย ไม่ได้เป็นสีเดียวแต่เป็น 3 เฉดสี ซึ่งปลายปีนี้จะทำสีชมพูอมม่วง ถวายสมเด็จพระเทพฯ

001ผ้ากลีบบัว

          อีกทั้งลักษณะผ้าซิ่นเอกลักษณ์ของอุบลฯ ที่เราเก็บแคแรคเตอร์ไว้คือ “ลายร่อง” คือตัวริ้วที่เป็นทางยาวที่เห็นจากผืนผ้าซึ่งสวมใส่แล้วทำให้คนดูสง่าขึ้น และผ้าอุบลฯ มีลักษณะพิเศษคือมี “หัวซิ่น” ปกติซิ่นจังหวัดอื่นเวลานุ่งจะพับหัวซิ่นเข้าไปในเข็มขัด แต่อุบลฯ จะเปิดโชว์หัวซิ่นให้คนดูเพราะเขาทอสวยเป็นพิเศษ และ “ตีนซิ่น” ก็มีแคแรคเตอร์แบบอุบลคือ ถ้าตีนซิ่นเล็ก ๆ จะเป็นผู้ดี ถ้าตีนใหญ่ ๆ เรียกว่า แบบเวียงจันทน์ หรือจำปาศักดิ์ จะถือว่าไม่ใช่สไตล์อุบล”

006ผ้ากลีบบัว2

          อาจารย์เสริมว่า ชาวเมืองอุบลฯ สร้างแคแรคเตอร์พิเศษขึ้นมาเพื่อแสดงถึงความเป็นผู้ดี หลักฐานนี้มีมาแต่โบราณ

          “เรื่องนี้เป็นแนวคิดของ ดร.บำเพ็ญ ณ อุบล ซึ่งเป็นทายาทเจ้านายสมัยก่อน ท่านได้สัมภาษณ์เรื่องนี้กันในเครือญาติและตั้งข้อสังเกตเอาไว้ แล้วเมื่อผมกลับไปดูผ้าโบราณของอุบลฯ ก็เป็นสไตล์นี้จริง ๆ”

          เรื่องผ้าซิ่น สืบย้อนอดีตไปถึงยุคที่เจ้านายจากเวียงจันทน์ หนีภัยสงครามมาอยู่ที่เมืองอุบลฯ จึงได้สร้างความแตกต่างของวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างไว้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเจ้านายสมัยก่อน เช่น หม่อมเจียงคำ หม่อมห้ามในกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ที่มาปกครองเมืองอุบลฯ สมัยรัชกาลที่ 5 อันมีบันทึกเรื่องราวของผ้าไหม ผ้าซิ่น ทั้งลวดลายและการนุ่งห่มจนเกิดเป็นเอกลักษณ์พิเศษ

1505115426561

          “ของจังหวัดอื่นก็มีแคแรคเตอร์ต่างกันไป แต่เนื่องจากเราถอดรหัสมาจากซิ่นเจ้านาย ถ้าชาวบ้านนุ่งก็เป็นหมี่พื้นธรรมดา แต่ของเจ้านายจะมีวิธีการนุ่งซิ่นที่มีแบบแผน และการทอผ้าที่เป็นแพทเทิร์นโบราณแต่เรานำเอามาใช้กับองค์ประกอบสีใหม่ที่ได้จากงานวิจัย และในความหมายใหม่ ยกตัวอย่างลายไข่ปลา แต่ของเราเป็นริ้วกลีบบัวที่เอามาขิด (เส้นพุ่งพิเศษตลอดหน้าผ้า ถ้าจกคือเป็นเส้นพุ่งพิเศษไม่ตลอดหน้าผ้า) ให้กลืนไปกับลวดลาย”

          อาจารย์นักวิจัยเสริมอีกว่า

          “จากงานวิจัยที่เราทำนั้น เราพบว่า ผู้บริโภคต้องการเฉดสีใหม่ เขาจะไม่นุ่งซิ่นสีเข้ม ๆ สีดำ ๆ แล้วเพราะดูเป็นซิ่นผู้สูงวัย เมื่อเราคิดลายใหม่ที่ถอดรหัสจากกลีบบัวแล้วเราก็เสริมด้วยเฉดสีใหม่ เช่น แบบโบราณย้อมมะเกลือสีก็จะดำเข้ม แต่ปัจจุบันเราต้องการสีที่ประหยัดวัสดุด้วยทำให้ได้เป็นสีเทา จากผลมะเกลือสีเขียวแต่ย้อมเข้มจะได้สีดำ เราย้อมอ่อนกว่าได้เป็นสีเทา เราถอดรหัสจากกลีบบัวที่มีความเงามันเป็นสีเทา จะไม่มีสีดำในกลีบบัว สูตรสีแดงเข้มเราก็ปรับย้อมให้สีอ่อนลง”

          ซิ่นผ้ากลีบบัวจึงมีเฉดสีพาสเทล อ่อนหวานละมุนตา ตั้งแต่เฉดสีชมพูอ่อน เทาเหลือบเงา ชมพูอ่อนอมส้ม ชมพูอมครีม ฯ

          “และจากงานวิจัยเราได้ข้อมูลว่า คนนุ่งซิ่นเขาจะแข่งความพิเศษกัน ถ้าผ้าถูกขายไม่ได้นะ เขาแข่งกันที่ความสวยงาม เช่น กลุ่ม “นุ่งซิ่นอินเทรนด์” เขามีความต้องการบริโภคโปรดักใหม่ เราวิจัยแคแรคเตอร์ของซิ่นอุบลฯ อีกด้วย อย่างผ้าอุบลฯ หัวซิ่นมีลักษณะพิเศษ เราก็จะยังแคแรคเตอร์นั้นอยู่ เช่น ซิ่นตีนเล็ก มีรายละเอียด มีเทคนิคขิดลายต่าง ๆ ผ้าอุบลฯ มีเส้นลายขวางตัวอันเกิดการไล่สีเส้นยืนไม่เหมือนกันคือ ทออ่อนแก่ อ่อนแก่ สลับกัน เป็นต้น เมื่อนำผลวิจัยแคแรคเตอร์มาผสมกับการถอดรหัสกลีบบัว เมิร์ชสองเรื่องเข้าด้วยกัน เมื่อนำผ้าออกมาจัดแสดง ทุกคนจะบอกว่า..นี่ใช่เลย ตรงใจผู้บริโภค จะไม่ใช่สีแดงแปร๊ดย้อมครั่งแบบนั้น จะไม่ใช่มะเกลือดำปี๋แบบเดิมแล้ว ก็เพราะลูกค้าในปัจจุบันรสนิยมเปลี่ยน เขาอยากได้อะไรที่รู้สึกสวยสง่า คลาสสิก”

ดร.สิทธิชัย เคยนำเสนอการใช้ผ้าไหมในหลากหลายรูปแบบ

“เคยทำงานวิจัยของที่ระลึกสำหรับผาแต้ม คิดฟังก์ชั่นการใช้งานจากผ้าไหม คือทำเป็นเสื้อได้ 12 แบบ ทำแสกได้ 6 แบบ เป็นการแปลงจากผ้าที่ใช้นุ่งให้กลายเป็นเสื้อคลุม โดยติดกระดุม 4 เม็ด พอถอดจากผ้าคลุมเป็นภาพแขวน แต่ที่คิดหลายฟังก์ชั่นนั้นเป็นผ้าฝ้ายกับมัดหมี่ลายผาแต้ม จำได้ว่าเคยคิดจากผ้าไหมหนึ่งผืน ทำออกมาได้ 36 ฟังก์ชั่น จากผ้าชิ้นเดียว เช่น ถ้าเป็นเสื้อสวมด้านนี้ หมุนอีกทีเป็นเสื้อคลุม ถอดออกมาเป็นผ้าพันคอ หรือเอามากลึงกับไม้แขวนเป็นผ้าแขวนผนัง แต่ต้องเป็นลายที่ใช้แขวนผนังได้นะ ไม่ใช่เอาผ้าซิ่นไปแขวน แต่สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้เราคิดออกมาเป็นผ้าซิ่นเพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนนุ่งซิ่น ซึ่งสามารถพลิกแพลงการนุ่งซิ่นได้หลายแบบจากการใช้หัวเข็มขัดกับตัวเสื้อท่อนบน หรือจะตัดเป็นชุดอื่น ๆ ก็แล้วแต่วัตถุประสงค์ของการใช้งาน

โดยเฉพาะเสน่ห์ของผ้าอุบลฯ มีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าซิ่นอุบลฯ และแพทเทิร์นใหม่คือต่อให้อ้วนใส่แล้วก็จะไม่ดูอ้วน อันเกิดจากลวดลายที่พรางตาไว้ อีกอย่างคือคงแคแรคเตอร์ของผ้าอุบลฯ คือโชว์หัวซิ่น ถ้าอ้วนไม่กล้าโชว์ก็พรางด้วยเสื้อทับก็ได้ แต่โชว์ตีนซิ่น ที่ตาของเราเมื่อมองใกล้เข้าไปจะเห็นสีได้มากขึ้น สุดท้ายจากงานวิจัยคือเราต้องมีความซับซ้อนในการผลิต ในขณะที่งานเหมือนเรียบง่าย”

สง่างาม สมคุณค่าผ้าซิ่นเมืองผู้ดี ตอนนี้ใครยังไม่เข้ากลุ่ม “นุ่งซิ่นอินเทรนด์” ถือว่าตกเทรนด์ แล้วจะช้าอยู่ไย...