ชีวิตคุณแม่ในแคนาดา ตอนที่ 2: รับมือกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด

ชีวิตคุณแม่ในแคนาดา ตอนที่ 2: รับมือกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด

คุณแม่จำนวนไม่น้อยมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด มายาคติของการซาบซึ้งในความเป็นแม่ทันทีที่เห็นหน้าลูก อาจทำให้ผู้หญิงหลายคนเครียดที่ไม่สามารถเป็นแม่แสนดีได้ ทั้งๆ ที่นั่นอาจเป็นอาการซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งรักษาได้

หลังให้กำเนิดชีวิตใหม่ ทุกคนคงรู้สึกว่า เป็นช่วงเวลาที่คนเป็นแม่มีความสุขที่สุด แต่ผู้หญิงที่คลอดลูกส่วนหนึ่ง จะมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Mood Disorder) ตามมา ทำให้คุณแม่เหล่านั้นไม่ได้มีความสุขกับชีวิตน้อยๆที่เพิ่งเกิดมา อย่างที่เราคาดหวังไว้เลย

ฉันมีอาการซึมเศร้าตั้งแต่วันที่ออกจากโรงพยาบาล แค่ 3 วัน หลังจากลูกคนเล็กเกิดมา ในวันที่เตรียมตัวกลับบ้านจากการไปผ่าคลอดที่โรงพยาบาล ฉันรู้สึกกลัว กังวล และเศร้ามาก บวกกับความเหนื่อยล้า อดหลับอดนอน อีกทั้งลูกชายคนโตไม่ยอมเข้ามาใกล้ฉันเลย เพราะรู้สึกว่าแม่มีน้องใหม่แล้ว ฉันพยายามบอกว่าฉันยังรักเขาและเป็นแม่ของเขาคนเดิม เขาก็ยังไม่ยอมเข้าใกล้ ทำให้ฉันรู้สึกเศร้ามาก พอเดินออกจากโรงพยาบาล มานั่งรอรถที่สามีกำลังไปขับมารับ น้ำตาก็ร่วงเลย

สังเกตภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

พอถึงบ้าน ฉันก็เริ่มมีอาการโมโห ฉุนเฉียวกับทุกสิ่งทุกอย่างและกับทุกคน โดยเฉพาะกับสามี ทุกสิ่งที่เขาทำ ไม่เคยถูกใจ และว่องไวทันใจฉัน สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้ฉันโมโหและหงุดหงิดเขามาก

สิ่งที่ฉันสังเกตว่าแปลกจริงๆ ก็คือ เสียงตอนสามีทานอาหาร และเสียงหายใจ  มันน่ารำคาญ อย่างบอกไม่ถูก ทั้งที่เขาก็เป็นเหมือนเดิม เราคบกันเป็น 10 ปี กว่าจะแต่งงาน เรา 2 คนรักกันมากมาตลอด

ลูกชายคนเล็กของฉัน เป็นเด็กเลี้ยงยาก ต้องนอนบนตัวฉันตลอด วางไม่ได้ แล้วก็ร้องไห้เยอะ จนอายุเกือบ 5 เดือน ลูกน้อยคนนี้ ไม่หยุดร้องไห้ถ้าคนอื่นแม้แต่สามีอุ้ม ต้องเป็นฉันเท่านั้น เขาจึงหยุดร้อง และบางทีเขาก็ไม่หยุดร้องไห้เลย จนดิฉันร้องไห้ตามไปด้วย ฉันไม่มีเวลาให้กับใครเลย แม้กระทั่งตัวเอง บางทีไม่ได้อาบน้ำ 2-3 วัน (ดีที่ลูกเกิดช่วงหน้าหนาว ยังพอทนได้)  เข้าห้องน้ำ บางทีก็ใส่เป้อุ้ม เอาเข้าไปด้วยกัน

พอดีช่วงก่อนคลอด ฉันสมัครเข้าโปรแกรม Healthy Babies Healthy Children ที่เป็นโปรแกรมสุขภาพฟรีของ Halton Region รัฐ Ontario

โปรแกรมนี้ถูกจัดขึ้นมาเพื่อช่วยให้พ่อแม่ของเด็กที่อยู่ในครรภ์จนถึงเด็กอายุ 3-4 ขวบ สามารถเลี้ยงลูกให้ได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ในสิ่งแวดล้อมที่ดี  และหนึ่งในบริการก็คือ ช่วยหาทางบำบัดแม่ที่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอด

ตอนสมัครเข้าโปรแกรม ฉันได้บอกพยาบาลที่ดูแลเคสของฉันเอาไว้ว่า ฉันมีประวัติเป็นโรคเครียดซึมเศร้ามาก่อน ทั้งตอนเรียน และหลังคลอดลูกชายคนแรก เขาก็ได้จดบันทึกไว้ เพื่อติดตามดูแลต่อไป

หลังที่ฉันคลอด 1 เดือน พยาบาลประจำเคส ก็มาเยี่ยม ถามไถ่ ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลเด็กแรกเกิด และประเมินสุขภาพจิตคุณแม่ ผลออกมาว่า ฉันมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ซึมเศร้าไม่เท่ากับเป็นแม่ที่ไม่ดี   

4 ใน 5 ของผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตร หรือ กำลังตั้งครรภ์ จะมีอาการที่เรียกว่า ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด Baby Blues หรือ Postpartum Blues อาการบ่งบอกหลายๆอย่าง คือ หดหู่ เศร้า โมโหง่าย หงุดหงิด เสียใจง่าย เหนื่อยล้า นอนไม่หลับ แต่มักค่อยๆ หายไปเองหลังคลอด ไม่เกิน 2 สัปดาห์ แต่ที่พบได้บ่อยน้อยกว่านิดหน่อย (1 ใน 5) อย่างที่ฉันเป็นนั้น อาการเหล่านี้ยังอยู่นานกว่า คืออาจจะเริ่ม ตั้งแต่หลังคลอด หรือ เมื่อไหร่ก็ได้ จนลูกอายุ 1 ขวบเลยทีเดียว อันนี้เรียกว่า โรคซึมเศร้าหลังคลอด Postpartum Depression

พอเป็นแล้ว เราต้องจัดการอย่างไร?

ข้อแนะนำในการบำบัด Postpartum Mood Disorder อย่างแรกเลย คือ อย่าโทษตัวเองและคนรอบข้าง

ใครๆก็ป่วยได้ทั้งนั้น ให้โฟกัสไปที่การบำบัดดีกว่า แล้วก็ให้ดูแลตัวเอง พักผ่อนให้พอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย หาเวลาพักผ่อนโดยปราศจากลูกบ้าง หาอะไรที่ทำแล้วมีความสุขทำ หาทางผ่อนคลายที่ตัวเองชอบ ต้องยอมให้คนอื่นดูแลลูกและตัวเองบ้าง และสุดท้าย ถ้าจำเป็น อาจต้องใช้ยาร่วมด้วย ซึ่งยาก็มีหลายตัวที่เหมาะกับแม่ที่กำลังให้นมและใช้แล้วไม่ติด

ผู้ดูแลเคสของฉันยังแนะนำอีกว่า ฉันควรจะได้ออกไปพบปะผู้คนบ้าง ฉันเพิ่งย้ายบ้านมา ไม่มีเพื่อนเลยอาจหาเพื่อนใหม่โดยการไปเข้ากลุ่มคุณแม่ที่นัดพบกันที่ศูนย์เด็กเล็กของเมือง ฉันก็เลยลองดู

ในกลุ่มคุณแม่หลังคลอดนี้ เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นโดยเฉพาะสำหรับคุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ฉันได้พบเพื่อนใหม่ๆ และพบว่า ภาวะซึมเศร้าที่ฉันมีนั้น มีคนอื่นเป็นเหมือนกัน เยอะเลยด้วย ทำให้รู้สึกไม่แปลกแยกอีกแล้ว และได้ผ่อนคลายอารมณ์ เพราะได้ฟังประสบการณ์ที่คล้ายๆกันแล้วยังได้ระบายความอัดอั้นตันใจต่างๆ ในกลุ่มคุณแม่ ซึ่งทุกสิ่งจะเป็นความลับในรู้กันเฉพาะในกลุ่มผู้นำกลุ่มซึ่งเจ้าหน้าที่ในศูนย์และเป็นผู้เชียวชาญในการเลี้ยงเด็ก ยังบอกอีกว่า ถ้ามีโอกาสได้เข้าบำบัดกับนักบำบัดจิต จะช่วยได้มาก ฉันเองก็สนใจ แต่ก็คิดว่า ตัวเองยังไหวอยู่ ยังไม่ต้องไปหรอก อีกทั้งลูกยังเล็กและติดฉันมาก ไม่สามารถปลีกตัวได้

พยาบาลและผู้ดูแลประจำเคสของฉัน มาเยี่ยมเป็นระยะๆ จนอาการของฉันดีขึ้น จนหมดความเสี่ยง (ประมาณ 11 เดือน) แต่ฉันก็ยังคงต้องดูแลสุขภาพกายใจของตัวเองให้ดีต่อไป

รับมือกับความซึมเศร้า

ในครึ่งปีแรกของช่วงเวลาที่มีภาวะซึมเศร้านี้ ฉันไม่เคยรู้สึกมีความสุขจริงๆ เลยสักครั้ง เกือบทุกวันฉันจะร้องไห้ และหาเรื่องทะเลาะกับสามีหรือลูกชายคนโต (เขาอายุแค่ 3 ขวบ!)

โชคดีที่สามีฉัน เข้าใจ และยอมรับในอาการของฉัน ตลอดเวลาที่ฉันปฏิบัติไม่ดีกับเขา เขาอดทนและไม่โต้ตอบฉัน เขาบอกว่า เขารู้ว่านี่ไม่ใช่ตัวฉัน แต่เป็นอาการป่วยที่ฉันเป็น เขายังช่วยดูแลลูกทั้งสอง โดยเฉพาะลูกชายคนโต และช่วยงานบ้าน เราจ้างพี่เลี้ยงแบบไปกลับมาช่วยดูแลลูกชายคนโตตั้งแต่เช้า จนถึงเวลานอนกลางวัน แต่ก็แพงมากจนเราจ่ายไม่ไหวเลยส่งลูกชายคนโตไปเดย์แคร์แทน ซึ่งเขาก็ชอบมาก เพราะมีเพื่อนเล่นเยอะทั้งวัน

เวลาผ่านไป 8-9 เดือน อาการของฉันก็ยังขึ้นๆ ลงๆ ดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิม สามีอดทนและแนะนำซ้ำๆ ว่าควรจะหาหมอเพื่อรักษาอย่างจริงจังเสียที ทุกคนในบ้านจะได้กลับมามีความสุขอีกครั้ง เพราะเวลาฉันไม่มีความสุข ทุกคนในบ้านก็ไม่มีความสุข ฉันก็เห็นด้วย แต่ฉันตัดสินใจว่า จะไม่กินยาเด็ดขาดเพราะ เคยกินแล้วตอนที่เรียนต่ออยู่ แล้วไม่ดีขึ้นแต่มีอาการข้างเคียง คือ นอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร ตามมาด้วย แต่พอเปลี่ยนมาบำบัดโดยการเข้าคอร์สบำบัดจิตแห่งหนึ่งแทน อาการซึมเศร้ากลับดีขึ้นมาก ฉันเลยเชื่อว่าการพบนักบำบัดจิตจะได้ผล

ฉันก็เลยขอให้หมอประจำตัวออกไปส่งตัวเพื่อพบนักบำบัดทางจิต ส่วนค่าใช้จ่ายในการบำบัดจิตนี้ พวกเราใช้สิทธิ์ของประกันสุขภาพที่บริษัทของสามีทำให้ค่ะ

หลังจากพบนักบำบัดจิต 4 - 5 ครั้ง (ขอไม่ลงรายละเอียด เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน) พวกเราก็ได้ขอสรุปว่า ถ้าฉันได้กลับไปหาครอบครัวที่เมืองไทย จะเป็นการดีต่ออาการของฉันมาก

กำลังใจคือการเยียวยาที่ดี

ฉันกับลูกๆ จึงกลับไปอยู่เมืองไทยเกือบครึ่งปี อาหารการกิน และครอบครัว ช่วยได้มาก

สำหรับผู้ป่วยทางจิต ผู้สนับสนุนและกำลังใจรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญมาก

ในเคสของฉัน มีกำลังหลัก คือสามี เขารัก เข้าใจ และให้กำลังใจ ช่วยเหลือทุกสิ่งอย่าง เป็นเสาหลักให้ฉันอย่างจริงจัง  และที่ขาดไม่ได้ คือ ครอบครัวที่เมืองไทยก็ช่วยให้กำลังใจตลอด (ส่วนใหญ่ทางไลน์ เพราะอยู่ไกลกัน)

ตอนนี้ฉันกลับมาอยู่แคนาดาแล้ว อารมณ์แจ่มใสขึ้น และรู้จักสังเกตและดูแลตัวเองมากขึ้น อาการยังมีอยู่บ้าง แต่ดีขึ้นมาก หัวเราะได้ ยิ้มได้ และมีความสุขมากขึ้น ความสัมพันธ์กับสามีดีขึ้น และเอ็นดูลูกน้อยทั้งสองมากขึ้นแล้วค่ะ

จากที่เล่ามา ดูเหมือน ชีวิตแม่บ้านที่ต้องเลี้ยงลูกและทำทุกอย่างด้วยตัวเองในแคนาดา จะยากลำบาก แต่จริงๆ มีตัวช่วยเยอะเลย คราวหน้าฉันจะมาเล่าถึงสิ่งที่ดีงามต่างๆ ในการเลี้ยงลูก อย่างเช่น สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ และ ศูนย์เด็กเล็กให้ฟังค่ะ

ภาพ: Mother and Child โดย Christian Krohg (Public Domain)

- - - อ่าน ชีวิตคุณแม่ในแคนาดา ตอนที่ 1