ในหลวงอานันทฯ ผู้เป็นที่รักของแผ่นดิน

ในหลวงอานันทฯ ผู้เป็นที่รักของแผ่นดิน

ภาพ : PIA Interior Co., Ltd

aa

แม้ว่าระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติจะมี 12 ปี หากคุณูประการที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ที่ทรงมอบไว้ยังประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยตราบจนถึงวันนี้

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเป็นหนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณ โดยถือกำเนิดจากพระราชปรารภเมื่อคราวเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489

มีใจความตอนหนึ่งว่า “...พระองค์มีพระราชประสงค์ให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์ผู้ได้สำเร็จหลักสูตรให้มีปริมาณมากขึ้น เพื่อออกมาช่วยเหลือประเทศชาติ...”

bb

ในห้วงเวลานั้น ประเทศไทยประสบความทุกข์ยากจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากบ้านเมืองที่เสียหายแล้ว ประชาชาชนยังได้รับผลกระทบทั้งทางด้านโรคภัยไข้เจ็บรวมถึงด้านเศรษฐกิจ           “แพทย์”เป็นหนึ่งในบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญ หากในขณะนั้นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สามารถผลิตแพทย์ได้ประมาณ 50 คนต่อปี

คณะแพทยศาสตร์ แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในนามของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จึงถือกำเนิดขึ้น ในวันที่ 4 มิถุนายน 2490 ต่อมาย้ายมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2510

ในวาระที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอายุครบ 70 ปี ในปี 2560 ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จึงดำเนินการจัดสร้าง ห้องเรื่อง ในหลวงอานันทฯ (King Ananda Mahidol Gallery)ขึ้น เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระอัฐมรามาธิบดินทรและเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณให้คนรุ่นหลังได้ประจักษ์ในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย

 

dd ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มาของ ห้องเรื่อง ในหลวงอานันทฯ ว่า

“ในปีที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯมีอายุครบ 70 ปี ประกอบกับคณะของเราอยู่ในอาคารอานันทมหิดล เรามองว่าน่าจะมีอะไรเป็นอนุสรณ์ของพระองค์ท่าน นอกจากนี้ยังไม่มีพิพิธภัณฑ์หรือห้องภาพใดๆที่จัดแสดงสิ่งของเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 8

เป็นเรื่องที่น่ายินดีเมื่อมีผู้ทราบว่าเราจะจัดทำห้องเรื่อง มีผู้นำสิ่งของมามอบให้มากมาย คุณประเวศ อิงคดาภา ผู้สะสมภาพถ่ายและวัตถุโบราณจำนวนมาก ท่านมองเห็นว่าคณะแพทย์ศาสตร์ก่อกำเนิดโดยในหลวงรัชกาลที่ 8 ท่านจึงนำพระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมรูปจำลอง เหรียญที่ระลึก หีบบุรี มอบให้กับทางคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ

เหลนของนายพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่น อินทรโยธิน) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ 8 เมื่อท่านทราบเรื่องก็เดินทางมาร่วมบริจาคเงินเพื่อปรับปรุงห้องนี้ทันที รวมทั้งคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ร่วมบริจาคเงินด้วย”

ee

เนื่องจากพื้นที่จัดแสดงมีเพียง 64 ตารางเมตร ทางคณะทำงาน นำโดย รศ.พญ.กัญญรัตน์ กรัยวิเชียร จึงเห็นควรให้จัดเป็นห้องเรื่อง โดยจัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจโดยสังเขป

ในนิทรรศการจัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมรูป สำเนาลายพระหัตถ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวประกอบคำบรรยาย ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากหอภาพยนตร์และพระนัดดาของสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้นำภาพยนตร์พระราชกรณียกิจที่หาชมได้ยากมาจัดแสดงในห้องเรื่องนี้ด้วย

“ห้องเรื่อง ในหลวงอานันทฯ เป็นความภาคภูมิใจของพวกเราชาวคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬา ทำให้พวกเราได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านมีวิสัยทัศน์กว้างไกลที่ทำให้มีคณะแพทย์ศาสตร์เกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง และคณะแพทย์ศาสตร์ของเราได้ตอบสนองพระองค์ท่านด้วยการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ออกไปรับใช้ประชาชนจำนวนมาก 70 รุ่นมาแล้ว

โอกาสนี้ผมยากเชิญชวนศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และประชาชนทั่วไปได้มาเห็นสิ่งต่างๆ แม้ว่าช่วงรัชกาลพระองค์ท่านจะสั้นแต่สิ่งที่พระองค์ท่านได้กระทำนั้นมีประโยชน์มหาศาลกับคณะแพทย์ศาสตร์และประเทศชาติมาจนถึงปัจจุบันนี้”

ff

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวทิ้งท้าย พร้อมเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าชมห้องเรื่อง ในหลวงอานันทฯ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย วันจันทร์ – ศุกร์ 9.00-15.00 น. หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะพร้อมมัคคุเทศน์นำชม โทร.โทร 02 256 4183