'ลอง' แล้วจะรัก

'ลอง' แล้วจะรัก

ปล่อยใจให้ว่าง วาง(สัม)ภาระลงก่อน แล้วไปเก็บเกี่ยวช่วงเวลาดีๆ ที่เมืองแพร่ด้วยกัน

มันคือท่วงทำนองของยามเช้าที่เราต่างคุ้นเคย... เสียงช้อนกระทบแก้วดังเป็นจังหวะ นมข้นหวานที่นอนก้นอยู่ค่อยๆ ผสมเป็นเนื้อเดียวกับน้ำกาแฟสีเข้ม รสชาติของกาแฟโบราณในตลาดเช้าเมืองแพร่ ช่างพอเหมาะพอดีกับการเดินทางในเงาของวันวาน ณ เมืองเล็กๆ ที่อยากชวนให้ไป... ‘ลอง’

IMG_7037

ชื่อของเมืองลอง หรือ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ อาจแค่คุ้นหูหรือเคยผ่านตา แต่หลังจากได้ไปใช้ชีวิตช้าๆ ละเลียดความสุขทีละเล็กละน้อย บอกเลยว่าเมืองนี้มีเสน่ห์เหลือหลาย ถ้าเป็นหญิงสาวก็ต้องบอกว่า “งามพิศ” มิใช่ “งามผาด” มองผ่านอาจดูเรียบๆ แต่พอสัมผัสใกล้ชิดเป็นต้องเผลอมีใจ

.....

ลองในอดีต คือเมืองหน้าด่านล้านนา เป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองแพร่แค่ 40 กิโลเมตร แต่มีวิถีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ มรดกสถาปัตยกรรมสวยงามโดดเด่น วัดวาอารามเก่าแก่ รวมถึงอาหารการกินขึ้นชื่อ

ตามธรรมเนียมไทยๆ “ไปลา มาไหว้” เราเริ่มต้นทักทายเมืองลองกันที่ วัดศรีดอนคำ หรือวัดพระธาตุศรีดอนคำ ซึ่งชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “วัดห้วยอ้อ” ว่ากันว่าสร้างขึ้นเมื่อคราวพระนางจามเทวีเสด็จจากเมืองละโว้ไปเมืองหริภุญชัย มีพระธาตุศรีดอนคำ เป็นพระธาตุเก่าแก่ขนาดใหญ่ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนกระดูกหน้าอกของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวบรวมตำนานพระพุทธรูปอีกด้วย

ในจำนวนพระพุทธรูปที่ทางวัดได้เก็บรักษาไว้มากมาย มีพระพุทธรูปลักษณะพิเศษกว่าองค์อื่นๆ คือ “พระเจ้าพร้าโต้” เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาผสมเชียงรุ้ง ทำจากไม้แก่นจันทร์ทั้งต้น เหตุที่ได้ชื่อนี้ก็เนื่องจากว่า ช่างได้แกะสลักพระพุทธรูปด้วยพร้าโต้ หรือมีดอีโต้ ออกมาได้อย่างประณีตสวยงาม

DSCF0208

ทว่า นอกจากการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ภายในวัดยังมีต้นเรื่องตำนาน “เมืองแป้แห่ระเบิด” ที่เราขอมาเห็นด้วยตา นั่นคือ ระฆังที่ทำจากลูกระเบิดของจริง

เรื่องมีอยู่ว่า...ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีระเบิดขนาดใหญ่ตกลงมาที่ทางรถไฟสถานีแก่งหลวง คนงานไปกู้มาได้ และผ่าเอาดินปืนด้านในออก แล้วเอาตัวระเบิดซึ่งทำจากเหล็กมาถวายให้วัดทำเป็นระฆัง โดยได้ขนใส่เกวียนลากมาที่วัด ชาวบ้านทราบข่าวก็พากันแห่ตามมาดูมากมาย คนที่อื่นไม่รู้ที่มาที่ไป เห็นคนแพร่แห่ลูกระเบิดก็เลยล้อเลียนเสียดสีต่อๆ กันมาว่า “คนแป้แห่ระเบิด” ซึ่งภายหลังลูกหลานชาวแพร่พยายามอธิบายเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีว่า “ที่แห่มาน่ะไม่ใช่ไม่รู้เรื่องรู้ราว แต่เพราะตัวระเบิดนั้นนำมาทำระฆังแล้วเสียงใสกังวานดี”

ความโด่งดังของวลี “แป้แห่ระเบิด” นอกจากจะถูกให้ความหมายใหม่อย่างที่คนแพร่ไม่ต้องเขินอายอีกต่อไป ยังถูกใช้เป็นชื่อ “ร้านกาแฟแห่ระเบิด” จนทุกวันนี้กลายเป็นจุดเช็คอินฮิปๆ ของเมืองลอง ที่ไม่ได้มีแค่เครื่องดื่มร้อนเย็นสูตรเฉพาะ ยังมีแกลเลอรี่งานศิลปะสวยๆ พร้อมเรื่องเล่าเมืองลองในแง่มุมต่างๆ แบบครบรสจากเจ้าของร้านที่เป็นทั้งบาริสต้าและนักเขียน

และหนึ่งในเรื่องที่เขาภูมิใจเสนอคือ ต้นสายปลายเหตุของการก่อสร้างสถานีรถไฟบ้านปิน สถานีรถไฟไม้ที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ได้ยินได้ฟังแล้ว...ต้องขอไปชมของจริง เรามุ่งหน้าไปตามคำแนะนำจนมองเห็นอาคารสไตล์บาวาเรียนดูแปลกตา บรรยากาศเดิมๆ ของที่นี่เหมือนจะฉุดกลับไปในฉากของวันวานเมื่อประมาณร้อยกว่าปีที่แล้ว ครั้งนั้นซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 นายช่างชาวเยอรมันชื่อ เอมิล ไอเซนโอเฟอร์ ได้รับมอบหมายให้ออกแบบสถานีรถไฟท้องถิ่นเล็กๆ บริเวณนี้ เขาเลือกสไตล์“เฟรมเฮาส์”แบบบาวาเรียน ซึ่งเป็นที่นิยมมากในแคว้นบาวาเรียของเยอรมนีมาผสมผสานเข้ากับเรือนปั้นหยาแบบไทยๆ โดยใช้ไม้สักเป็นวัสดุหลักที่หาได้ในท้องถิ่น สร้างสถานีรถไฟบ้านปินขึ้นมาอย่างสวยงามและน่าจะทันสมัยที่สุดในเวลานั้น

DSCF0137

ถามว่า...แล้วทำไมต้องให้นายช่างชาวเยอรมันเป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง? เชษฐา สุวรรณสา เจ้าของร้านกาแฟแห่ระเบิด ผู้พยายามค้นคว้าหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ตั้งข้อสังเกตว่า "ในยุคล่าอาณานิคมเฟื่องฟู อังกฤษเข้ามาสำรวจวางแผนสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมจากบางกอกพาดผ่านล้านนาไปจีนตั้งแต่สมัย ร.4 และนำเสนอต่อเนื่องถึงสมัย ร. 5 จนเกือบได้รับความเห็นชอบ แต่สยามรู้แกวจากพฤติการณ์ที่อังกฤษปฏิบัติต่อรัฐเพื่อนบ้าน จึงปฏิเสธไป และตอนนั้นสถานีรถไฟสายใต้ก็สร้างโดยอังกฤษ จึงอันตรายมากๆ หากให้อังกฤษสร้างทางรถไฟสายเหนือ

ลองจินตนาการถึงแผนที่ทวีปเอเชียยุคนั้นดูครับ สมัยนั้นอังกฤษครอบครองรัฐทางเหนือตั้งแต่ อินเดีย จีน มาจนถึงพม่า เหลือล้านนาและสยามอยู่ตรงกลาง ส่วนทางรถไฟสายใต้อังกฤษเป็นผู้สร้างเริ่มต้นตั้งแต่สถานีบางกอกน้อย และสามารถเชื่อมไปถึงมลายู สิงคโปร์ ซึ่งก็เป็นของอังกฤษ เว้นไว้แต่ล้านนาพื้นที่เดียวเท่านั้น หากอังกฤษได้สัมปทานทำรถไฟในพื้นที่ทางเหนือ การเชื่อมอาณานิคมของอังกฤษทั้งหมดจะสมบูรณ์แบบ

การที่ ร. 5 นำเยอรมันเข้ามาสร้างทางรถไฟสายเหนือก็เพื่อคั่นกลางอังกฤษและคานอำนาจเป็นสำคัญ และเป็นเหตุผลที่ตอบคำถามว่า "สถานีรถไฟบ้านปิน" (สร้างเสร็จ ร.6) ทำไมต้องสร้างเป็นศิลปะเยอรมัน กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ประเทศมหาอำนาจด้วยสัญญะ"

แม้จะเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน แต่ต้องยอมรับว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2457 เป็นต้นมา ชานชาลาสไตล์บาวาเรียนก็ได้ทำหน้าที่ประตูสู่เมืองลองมาตลอด กว่า 100 ปีแล้วที่อาคารไม้แบบเฟรมเฮาส์ยังคงสวยงามสะดุดตา และกลายเป็นสัญลักษณ์อีกแห่งของเมืองลองที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องแวะมาเก็บภาพ

สำหรับคนไทย สถานีรถไฟบ้านปิน ไม่เพียงบันทึกบางหน้าในประวัติศาสตร์และรอยต่ออันกลมกลืนทางวัฒนธรรม ยังเป็นมรดกที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ในวันที่หลายสิ่งหลายอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไป

............................

เสียงสะล้อ ซอ ซึง สำเนียงท้องถิ่นล้านนาเหมือนร่ายมนต์ให้เราเดินทางต่อมายัง โฮงซึงหลวง แหล่งอนุรักษ์เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของอำเภอลอง

DSCF0146

ที่นี่นอกจากจะเปิดสอนทั้งการผลิตและเล่นเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ แล้ว ยังเป็นบ้านพักแบบเกสต์โฮม เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมด้านดนตรีของชาวล้านนา

ภายในตัวอาคารไม้แบบพื้นเมือง 3 หลัง หลังแรกใช้เป็นโรงเรียนสำหรับคนที่สนใจเรื่องราวทางดนตรี อีกหลังจัดแสดงผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นใหม่ และหลังสุดท้ายเป็นโรงผลิตเครื่องดีด สี ตี เป่า ทั้งหลาย

“อำเภอลองเป็นอำเภอเล็กๆ แต่มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง การละเล่นอะไรต่างๆ ก็มีเรื่องราวทางดนตรีเข้าไปแทรก ทีนี้พอยุคหนึ่งมันมีดนตรีอื่นเข้ามาแล้วคนให้ความสนใจ ดนตรีพื้นบ้านก็เกิดความเชยล้าสมัย ดนตรีก็เลยหายไปพักใหญ่ กระทั่งคนเริ่มโหยหาสิ่งเดิมๆ เราก็ไปหาซื้อเครื่องดนตรี ราคาก็ค่อนข้างสูง วัตถุดิบก็หายาก เราก็เลยรวบรวมช่างในพื้นถิ่นให้มาทำกันก่อน แล้วก็มาฝึกให้คนรุ่นใหม่ รวมถึงไปศึกษาจากครูคนนั้นคนนี้ แล้วก็มาพัฒนาเรื่อยมา จากนั้นก็จะมีพวกสล่าน้องๆ มาฝึกงาน ทั้งที่เรียนดนตรีตะวันตก ดนตรีพื้นเมือง ใช้องค์ความรู้ของน้องๆ ที่เรียนมา แล้วมาพัฒนาร่วมกัน"

"เรียกว่าใหม่ก็เอา เก่าก็ไม่ทิ้ง เพราะฉะนั้นการที่เรามีของเดิมแล้วใช้ทฤษฎีใหม่ๆ มาอธิบาย มันจะทำให้เกิดการยอมรับมากขึ้น” บอม-จีระศักดิ์ ธนูมาศ ผู้ริเริ่มก่อตั้งโฮงซึงหลวง บอก และว่า ที่นี่ยังมีวัตถุประสงค์อีกอย่างหนึ่งคือ ต้องการให้คนที่สนใจวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ามาท่องเที่ยวในลักษณะ’พักบ้านเพื่อน’ โดยจะมีการเชื่อมโยงวัฒนธรรมทั้งด้านดนตรี ภาษา ผ้าพื้นเมือง อาหารการกิน รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

“ใครทำขนมอาหารอะไรก็มาร่วมกิจกรรม เรามีเรื่องราวของไม้ ดนตรี ทอผ้า ถ้าใครอยากลงพื้นที่ไปปักเม็ดเดือยเราก็พาไปทิ้งไว้ที่บ้านนั้น ธรรมชาติก็มี อย่างบ้านแม่จอบมีบ่อน้ำร้อน มีต้นสักที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดแพร่ มีอ่างเก็บน้ำห้วยแม่กลาง ที่สำคัญคือวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัดศรีดอนคำ วัดสะแล่ง วัดแหลมลี่ เพราะว่าอำเภอลองถูกปวารณาให้เป็นข้าของพระธาตุ 5 พระองค์ หรือพระเจ้า 5 พระองค์ ก็จะมีพระธาตุประจำของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ด้วย”

เสียดายที่คราวนี้เวลาน้อย เลยได้แค่ชมและชิมพอหอมปากหอมคอ จากนั้นก็ถึงเวลาเดินทางไป ต.ห้วยอ้อ เพื่อเก็บเรื่องราวแต่เก่าก่อนที่ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อนแพง

DSCF0182

“สมัยก่อนที่นี่เป็นโรงภาพยนตร์ คุณพ่อคุณแม่(สุพจน์-ทองยุ้น ประเสริฐศักดิ์) ท่านเก็บพวกเหรียญ พวกของเก่าๆ ไว้เยอะ แล้วก็เครื่องเงินเครื่องทองสมัยที่ทำร้านทอง พอท่านเสียผมก็มีความรู้สึกอยากจะแบ่งปัน ก็เลยเอามาทำเป็นพิพิธภัณฑ์” ณรงค์ชัย ประเสร็จศักดิ เล่าถึงที่มา

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับการจัดแสดงธนบัตร เหรียญ ตราต่างๆ, ปัญจรูปและสัตตภัณฑ์, เครื่องเล่นบันเทิงในอดีต, เครื่องฉายหนังโบราณ รวมถึงผ้าพื้นเมืองจากหลายพื้นที่ แสดงให้เห็นพัฒนาการของลวดลายและสีสันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่สำคัญเพื่อยืนยันว่า แพร่คือแหล่งของผ้าตีนจกที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์

DSCF0179

เราเดินตามเรื่องราวและร่องรอยในอดีตที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีด้วยความชื่นชม ก่อนจะขอตัวไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกแห่ง ณ วัดสะแล่ง วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยทวารวดี

วัดนี้เป็นวัดร้างมาหลายยุคหลายสมัย ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ.2506 ตามตำนานกล่าวไว้ว่า สมัยพุทธกาลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาถึงดอนสะแล่ง หรือ สะแล่งแก้วดอนมูล หรือดอนสะแล่งหลวง ปัจจุบันภายในวัดมีศาสนวัตถุที่สำคัญ เช่น พระธาตุชะอูบคำ อุโบสถ กุฏิ กำแพง บ่อน้ำ ซุ้มพระ และซุ้มสิงห์จามเทวี

มาถึงตรงนี้เริ่มเกิดคำถามขึ้นในใจว่า แล้ว ‘สะแล่ง’ นี่ล่ะคืออะไร คนแพร่แต้ๆ ตอบให้หายสงสัยว่า เป็นชื่อของดอกไม้ป่าชนิดหนึ่ง เป็นไม้ยืนต้น ดอกสีขาวนวล ลักษณะคล้ายดอกปีป (กาสะลอง) นั่นเอง

แม้จะยังไม่มีโอกาสได้เห็นดอกสะแล่ง แต่การได้มาเยือนวัดโบราณเช่นนี้ก็ทำให้รู้สึกได้ถึงศรัทธาในพุทธศาสนาที่ไม่เคยเสื่อมคลาย 

ไม่นานนัก ภาพความขรึมขลังของวัดโบราณก็ถูกขับเน้นด้วยเมฆฝนที่กำลังตั้งเค้า ราวกับเป็นสัญญาณว่า ได้เวลาอันสมควรแล้วที่จะกล่าวคำร่ำลาเมืองลอง เมืองเล็กๆ ที่อดีตและปัจจุบันเล่นล้อกันอย่างมีความสุข

แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็เพียงพอที่จะบอกว่า “มาเมือง‘ลอง’เถอะ...แล้วคุณจะหลงรัก”

 

########

-การเดินทาง-

แพร่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 555 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง รถไฟ และสายการบิน ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯแนะนำให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี จนถึงชัยนาท แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 11 ผ่านจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และเข้าสู่ตัวจังหวัดแพร่ ใช้เวลา เดินทางประมาณ 7-8 ชั่วโมง จากนั้นเดินทางต่อไปยังเมืองลอง ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1023 อีกประมาณ 40 กิโลเมตร หรือถ้าใช้บริการรถไฟสายเหนือ ให้ลงที่สถานีบ้านปิน ตำบลบ้านปิน แล้วนั่งรถโดยสารต่อเข้ามายังตัวอำเภอเป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอลอง โฮงซึงหลวง โทร. 08 5713 8021, พิพิธภัณฑ์เพื่อนแพง โทร. 08 1903 1623 หรือสอบถามรายละเอียดทื่ททท.สำนักงานแพร่ โทร. 0 5452 1127