ที่ทางของสัญลักษณ์แห่งเพศแม่ในโลกปัจจุบัน

ที่ทางของสัญลักษณ์แห่งเพศแม่ในโลกปัจจุบัน

สัญลักษณ์แห่งองค์กำเนิดที่ถือว่าเป็นใหญ่มาก่อนหน้าความเป็นชาย ถูกทำให้ต่ำค่าในบางสังคม แต่ที่จริงเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์มาแต่โบราณ และปัจจุบันก็ยังมีที่ทางของตัวเองอยู่

สัญลักษณ์แห่งความเป็นองค์กำเนิดที่เก่าแก่โบราณยิ่งกว่าศิวลึงค์ แห่งความเป็นเพศชาย ก็คือสัญลักษณ์แห่งความเป็นเพศแม่ ที่มีมาแต่เก่าก่อนการเกิดศาสนาที่นิยมชูเพศชายให้เป็นศาสดา เพศแม่คือต้นกำเนิดแห่งธรรมชาติ

โยนี หรืออวัยวะเพศหญิง ในภาษาไทย (แบบคำหยาบคายสุดขั้ว) นั้นย่นย่อมาจาก หีน คำบาลีที่แปลว่า เล็ก ต่ำต้อย ด้อยกว่า ทั้งๆ ที่สังคมโบราณไม่ว่าของวัฒนธรรมไหนๆ ต่างยกให้ผู้หญิงเป็นใหญ่ เช่น สัญลักษณ์บางอย่างที่ถูกใช้กันมาแต่โบราณกาล หรือการยกย่องเทพแห่งธรรมชาติของไทย ก็มักใช้คำว่า แม่ มานำหน้า แท้ที่จริงโยนี มีความหมายเชิงบวกมาเนิ่นนาน

นัยซ่อนเร้นในสัญญะที่คุ้นตา

สัญญะที่ถ่ายทอดรูปลักษณ์ของโยนีจึงมีมายาวนาน อย่างรูปสามเหลี่ยมที่ปลายแหลมคว่ำลง สัญลักษณ์ Egyptian Ankh กากบาทของอียิปต์ ซึ่งมีวงเหมือนริบบิ้นอยู่ด้านบน ต่อด้วยด้ามตรงที่อยู่ด้านล่าง

1024px-Kom_Ombo_0333

Egyptian Ankh เครดิตภาพ: commons.wikimedia.org

แท้จริงก็ร่างขึ้นมาเพื่อแทนค่าเพศหญิง วงตรงกลางหมายถึงอวัยวะเพศหญิง ส่วนเส้นตรงข้างล่างคืออวัยวะเพศชาย เมื่อรวมร่างกันจึงมีความหมายถึงการเกิดขึ้นของชีวิตใหม่ การมีชีวิตนิรันดร์ ความอุดมสมบูรณ์ ส่วนแขนสองข้างที่กางออกไปนั้นหมายถึงแขนของเด็ก หรือชีวิตที่เกิดใหม่ แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันแล้ว กากบาทซึ่งมักนำมาใช้ทำเป็นจี้เครื่องประดับนั้น เข้าใจกันว่าหมายถึงคำอวยพรให้โชคดี

jesus-fish-image

ส่วน Jesus Fish สัญลักษณ์รูปปลาในคริสต์ศาสนา ซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์เช่นกัน เมื่อวางแนวขวางแล้ว เรามองอย่างไรก็เป็นรูปปลาเท่านั้น เชื่อมโยงกับความตอนหนึ่งในพระคัมภีร์ ที่พระเยซูได้เสกข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงคนได้ไม่มีวันหมด

สัญลักษณ์ นี้เมื่อวางในแนวตั้ง ก็จะเห็นได้ว่าจำลองรูปทรงของเพศหญิงออกมา นี่เป็นสัญลักษณ์ที่มีใช้มาเนิ่นนาน เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์อย่างอทาร์กาทิส (Atargatis) ของชาวซีเรียน เงือกไซเรนที่โชว์ สืบต่อมายังตำนานเทพของกรีก สัญลักษณ์ของเทพีอะโฟรไดต์ หรือวีนัส (Aphrodite / Venus) ซึ่งเป็นเทพแห่งความรักและเพศสัมพันธ์ มาถึงตำนานของความเชื่อเพแกน กับ เทพีมหามารดา (Great Mother Goddess) ซึ่งคริสต์ศาสนานั้นได้เข้าสวมทับเครื่องหมายแห่งความเชื่อนั้น เพื่อสืบต่อความศรัทธาอย่างกลมกลืน แต่ยังความความหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์อยู่ตามเดิม

134739

ในทำนองเดียวกัน วงรีแนวตั้งที่มีบนล่างเป็นมุมตัด (เหมือนสัญลักษณ์ปลาในแนวตั้ง) หรือ “เรือแห่งปลา (Vessel of Fish)” นั้น มักปรากฏอยู่ในโครงร่างของรูปเคารพ รวมถึงสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะในยุคโกธิค ก็มีผู้วิเคราะห์ว่านั่นคือโครงร่างของอวัยวะเพศหญิงซึ่งซ่อนเพื่อสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ แม้แต่ในรูปเคารพของพระแม่มารี ก็ยังมีผู้มองเห็นและชี้ว่าที่ซ่อนความเป็นเพศแม่อยู่ในนั้น เมื่อไม่เคยนึกถึงมาก่อน ก็ไม่มีทางดูออก แต่เมื่อมีผู้ชี้จุดแล้ว จะเห็นได้ว่าชัดเจนอยู่เหมือนกัน แต่ทั้งนี้ เราคิดว่าไม่ได้มีความหมิ่นหยามอยู่ในนั้น เมื่อเราคิดในบริบทว่า อวัยวะเพศหญิงคือสัญลักษณ์แห่งการเกิด ความมีชีวิต และความอุดมสมบูรณ์

เครื่องรางสำหรับคนรุ่นใหม่

ความเชื่อมีที่ทางของตัวเองเสมอทุกยุคทุกสมัย สัญลักษณ์โบราณนี้จึงถูกนำมาออกแบบเป็นเครื่องประดับ ทั้งเพื่อความสวยงามเก๋ไก๋โดยไม่คำนึงถึงความหมาย ทั้งใส่ใจความหมาย โดยปรับรูปแบบให้เรียบง่าย ไม่ดูตรงตัวเกินไป หรือกระทั่งการนำรูปแบบมาใช้อย่างตรงไปตรงมา และหวังผลในเชิงโชคลางอย่างจริงจัง

Yoni Amulet หรือแม่โยนีมหาเสน่ห์ เครื่องรางจำลองรูปอวัยวะเพศหญิงจากเมืองไทย มีขายแพร่หลายในร้านค้าออนไลน์ระดับบิ๊ก เครื่องรางโยนีมีฤทธิ์ด้านมหาเสน่ห์ พกพาเพื่อดึงดูดและให้โชคเรื่องความรัก

mary va

ภาพ เครื่องประดับจาก TheOrphanageYVR และ GoddessesElemental

ขณะที่เครื่องรางของไทยนั้นออกแบบสัณฐานของแม่โยนีเข้าขั้นเหมือนจริง ในโลกตะวันตกซึ่งตอบรับเอาความเชื่อและศาสนาโบราณมาใช้ ออกแบบเครื่องรางใหม่ให้ดูทันสมัย สีสันสดใส ดูป๊อบมากขึ้น เชื่อมโยงกับแนวธรรมชาติบำบัด การกลับคืนสู่ธรรมชาติ หรือพลังงานบำบัด อย่างพลังงานของจักระทั้ง 7 โดยโยนีนั้นสื่อถึงกุณฑาลินี คือจักระบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ นอกจากงานศิลปะที่หยิบเอาอวัยวะเพศหญิงมาเป็นหัวข้อ เพื่อกระตุ้นพลังของผู้หญิง ก็มีร้านค้าออนไลน์ที่ขายเครื่องรางโยนีกันมากมาย ดีไซน์สวยงาม ดัดแปลงให้ไม่ต้องสมจริงเกินไป

ในโลโกเงือกดั้งเดิมของสตาร์บัคก็มีสัญลักษณ์นี้เช่นกัน แต่ถูกซ่อนไม่ให้มองเห็นไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อลดการถกเถียงกันว่าเงือกสองหางของสตาร์บัคคืออะไร แท้จริงแล้วก็คือเงือกนั้นเชื่อมโยงกับสัญลักษณ์ “ปลา” ของเพศหญิงอย่างชัดเจน เงือก 2 หางนั้นแท้จริงคือตั้งใจโชว์ “เรือแห่งปลา” เพื่อหมายถึงความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งนั้นเอง (ว่ากันโดยโชคลาง ก็นับว่าได้ผลจริงนะ)

ซึ่งตัวอย่างของการใช้สัญลักษณ์นี้มีมากมายมหาศาล ถึงกับรวบรวมเป็นพิพิธภัณฑ์ได้เลย ลองเข้าไปดูได้ที่ www.vaginasuseum.com

ไม่ว่าตอนนี้โลกจะก้าวไกลไปถึงไหนต่อไหน แต่การอ้างอิงถึงรากความเชื่อเดิม ยังคงจำเป็นอยู่เสมอในการเล่าเรื่อง จึงเป็นเรื่องที่สนุกมากในการเฝ้าสังเกตการมีอยู่ของสัญลักษณ์เก่าแก่ที่มีอยู่และหมุนเปลี่ยนไปตามโลกสมัยใหม่

-ตีพิมพ์ในหน้า 2 จุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2560-