UOB จับมือ CBS พลิกโฉมการพัฒนาหลักสูตรความเป็นผู้นำในยุคดิจิทัล

UOB จับมือ CBS พลิกโฉมการพัฒนาหลักสูตรความเป็นผู้นำในยุคดิจิทัล

UOB จับมือ CBS ผนึกกำลังต่อเนื่อง เดินหน้าปั้น UOB Leadership Academy ปีที่ 9 พร้อมพลิกโฉมการพัฒนาหลักสูตรความเป็นผู้นำในยุคดิจิทัล

ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกกำลังอยู่ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง และกลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจและทุกองค์กรที่จำเป็นต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็น ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ผลกระทบจาก digital disruption ที่กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม หรือวิกฤติสุขภาพต่างๆ อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น ไปจนถึงปัญหาความแตกต่างของคนหลายเจเนอเรชันที่ทำให้เกิดช่องว่าง แต่จำเป็นต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ เหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกการทำงานยุคใหม่ที่ทุกองค์กรไม่อาจมองข้าม

เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ UOB Leadership Academy เป็นโครงการที่ทางธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ร่วมมือกับ Chulalongkorn Business School สถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก AACSB (The Association to Advance Collegiate Schools of Business) ติดต่อกันเป็นปีที่ 9 ในการพัฒนาหลักสูตรภายใต้ยุทธศาสตร์ การพัฒนา "คน" ของธนาคาร ในการเตรียมความพร้อมพนักงานให้สามารถรับมือกับการทำงานกับทีมงานที่มีความหลากหลายของช่วงวัยและพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าเหนือความเปลี่ยนแปลงต่างๆ สู่การเป็นผู้นำที่ดีในอนาคต

ขับเคลื่อนสู่องค์กรที่คนอยากร่วมงานด้วยมากที่สุด

UOB จับมือ CBS พลิกโฉมการพัฒนาหลักสูตรความเป็นผู้นำในยุคดิจิทัล

“เรามุ่งเน้นเรื่องการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องและแนวคิดในการทำงานแบบคล่องตัว หรือ Agile เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โปรแกรม Leadership Academy จะช่วยให้พนักงานของธนาคารเพิ่มขีดความสามารถในการก้าวไปสู่บทบาทความเป็นผู้นำในอนาคตได้”

ศศิวิมล อารยวัฒนาพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ทรัพยากรบุคคล ธนาคาร ยูโอบี ประเทศไทย กล่าวถึงที่มาและแรงบันดาลใจของการจัดหลักสูตรนี้

ผลจากนวัตกรรมดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงานของธนาคารในรูปแบบต่างๆ ทำให้บทบาทของพนักงานธนาคารเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งคนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของธนาคารในอนาคตจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจถึงความต้องการเชิงลึกของลูกค้า สามารถวางแผนกลยุทธ์เพื่อมอบประสบการณ์ที่น่าประทับใจตลอดทั้ง Journey ที่ได้สัมผัสกับธนาคาร และในทุกๆ Touchpoint ไม่ว่าจะที่สาขาของธนาคาร หรือประสบการณ์การใช้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้มั่นใจได้ว่ายูโอบีได้ยึดความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลางในทุกๆ สิ่งที่ทำ โดยธนาคารมองว่าการที่จะผลักดันให้เป็นเช่นนั้นได้ คือบุคลากรของยูโอบีจะต้องมีกรอบความคิดที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีความยืดหยุ่น คล่องตัวต่างออกไปจากเดิม

จุดเด่นสำคัญของโครงการนี้ จึงเป็นการคัดสรรพนักงานที่มีผลงานดีเด่นในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ถึงผู้อำนวยการอาวุโส ในหลากหลายช่วงอายุซึ่งมีความมุ่งมั่น รวมถึงศักยภาพที่จะเติบโตในสายอาชีพ เข้าอบรมหลักสูตรการเรียนรู้ที่เข้มข้น ผ่านการฝึกแก้ปัญหาจากการจำลองโครงงานต่างๆ และความรู้สำหรับการเป็นผู้นำ

ศศิวิมล กล่าวเพิ่มเติมว่า การจะก้าวเป็นองค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากจะร่วมงานด้วยนั้น ยูโอบีเชื่อว่าต้องเป็นองค์กรที่มีจุดมุ่งหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับพนักงาน เปิดโอกาสให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยสามารถแสดงออกถึงศักยภาพและสร้างผลงานอันโดดเด่นเป็นที่จดจำ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถภาคภูมิใจในองค์กรที่พวกเขาทำงานด้วย

 

โครงการ UOB Leadership Academy ได้พัฒนาทักษะความเป็นผู้นำแก่ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมทั้ง 60 คน ผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากข้อจำกัดจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมีการแบ่งเนื้อหาการอบรม เป็น 2 ระดับ

ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสขึ้นไปจนถึงผู้ช่วยผู้อำนวยการจะได้รับการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำ ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดีและขับเคลื่อนประสิทธิภาพการทำงานผ่านการทำงานเป็นทีม ในหลักสูตร Leadership Academy 1 (LA1) ส่วนระดับผู้อำนวยการ ถึงผู้อำนวยการอาวุโสเป็นการออกแบบหลักสูตร Leadership Academy 2 (LA2) เพื่อเตรียมความพร้อมผู้นำสู่การเปลี่ยนแปลง และผลักดันทีมไปสู่ความสำเร็จ และด้วยความหลากหลายของคนต่างเจเนอเรชันของคนในองค์กร ที่ประกอบด้วย GenY (24-39 ปี) จำนวน 66 เปอร์เซ็นต์ GenX (40–55 ปี) และ Baby Boomer (56+) รวม 34 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ทางธนาคารเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับ Diversity เข้าไปในหลักสูตรปีนี้ด้วย เพื่อให้ผู้นำเข้าใจความแตกต่าง และสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับคนแต่ละเจน ได้อย่างมีความสุข

พัฒนาทักษะเดิม เพิ่มเติมทักษะใหม่ เพื่อปรับ “พนักงาน” ให้เปลี่ยนทันโลก

UOB จับมือ CBS พลิกโฉมการพัฒนาหลักสูตรความเป็นผู้นำในยุคดิจิทัล

รองศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง จุดเด่นสำคัญของโครงการนี้ว่า เป็นโครงการความร่วมมือระยะยาวที่มีความต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 9 ปี ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่า ธนาคารให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

“สิ่งสำคัญไม่ใช่การฝึกอบรมพนักงาน แต่เราพยายามสร้าง Brand DNA ให้บุคลากรมีสปิริตของยูโอบี เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ได้มุ่งเน้นแต่การแสวงหากำไรอย่างเดียว ซึ่งเราเองก็มองว่าถ้าเกิดมีองค์กรแบบนี้มากขึ้นจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทยด้วย”

ส่วนแนวคิดสำคัญของการดีไซน์หลักสูตรโครงการนี้ รศ.ดร.วิเลิศ กล่าวว่า เปรียบเสมือนการเติมเต็มทักษะเดิมที่ผู้บริหารมีอยู่ และเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็นให้แก่กลุ่มผู้นำ ยูโอบี เพื่อพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงในทุกสถานการณ์  นั่นเพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฉะนั้นธนาคารต้องปรับตัวอยู่เสมอ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ธีมหลักของเนื้อหาการเรียนการสอน ในแต่ละปีมีความแตกต่างกันไปด้วย

“จริงๆ คนที่มาเรียนส่วนใหญ่เขารู้ข้อมูล เขารู้จักลูกค้าดีกว่าเราอยู่แล้ว แต่เราแค่ไปชี้แนะมุมมอง มากกว่าการไปบอกให้วิเคราะห์ หน้าที่เราจึงเป็นการชี้แนะมุมมองภาพรวม เพราะหลักสูตรนี้เป็นการหา future leader เน้นพัฒนา conceptual skill หรือทักษะที่มองเห็นความคิดรวบยอด เพราะสุดท้ายแล้ว strategy ที่เกิดขึ้นทั้งหมดต้องเป็น strategy ที่เกิดจากการวิเคราะห์และตกผลึก และต้องมีในสิ่งที่คนอื่นไม่มี” รศ.ดร.วิเลิศอธิบาย

ส่องเทรนด์อนาคต ยุคที่ทุกคนกำลังมีโลกสองใบ

“เดิมทุกคนคาดการณ์เกี่ยวกับเทรนด์ในเรื่อง Omni Chanel โดยเชื่อว่าออนไลน์ (Online) กับออฟไลน์ (Offline) จะเชื่อมโยงบรรจบกัน ทำให้เราต้องตอบโจทย์ทั้งลูกค้าออนไลน์ และออฟไลน์ แต่ผมมองว่า แนวโน้มที่น่าเกิดขึ้นในอนาคต อาจมีแนวโน้มเป็นโลกออนไลน์เกือบ 100% เพราะอิทธิพลของ metaverse กำลังจะทำให้เกิดโลกออนไลน์แบ่งเป็นสองส่วน คือโลกออนไลน์แบบตัวตนจริง และแบบเสมือนจริงหรือเหนือจริง virtual เป็นเทรนด์แรกที่เรามองเห็น” รศ.ดร. วิเลิศกล่าว

รศ.ดร.วิเลิศ อธิบายต่อว่า ผลจาก Metaverse จะทำให้เราไม่ได้เห็นตัวจริงหรือตัวตนกันและกัน ขณะที่ออฟไลน์ไม่มีทางเป็นออฟไลน์อย่างเดียว แต่ต้องมีออนไลน์เข้ามา มีผลให้ธุรกรรมจะปรับตามเทรนด์ โดยจะวิ่งไปที่ออนไลน์ 100%

“ผู้บริโภคจะสามารถซื้ออวาตาร์ อุปกรณ์เสริมเสมือนจริง หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมทั้งหมดที่สร้างขึ้นในโลก Metaverse นอกจากนี้ ผู้บริโภคอาจต้องการเข้ามาทำธุรกรรมแบบ Peer-to-Peer ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการทำธุรกรรมแบบใหม่ ที่ผู้นำของธนาคารในอนาคตจะต้องวางแผนรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนไป”

ส่วนแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในลำดับถัดไป เมื่อคนไม่มีตัวตนมากขึ้น อาจทำให้เกิดการหลอกลวง โกงกันมากขึ้น และเมื่อเกิดปัญหามากขึ้น คนเริ่มตระหนักว่าโลกออนไลน์จำเป็นต้องมีกลไกเพื่อช่วยขัดเกลาสังคมออนไลน์ จึงเริ่มมีการนำเรื่องของจริยธรรม กฎระเบียบ หรือกฎหมาย ช่วยจัดระเบียบโลกออนไลน์มากขึ้น

ใครปรับตัวได้ก่อน ย่อมได้เปรียบ

รศ.ดร.วิเลิศ กล่าวต่อว่า กระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ส่งผลต่อธุรกิจธนาคารไม่น้อย ในระยะยาว ธุรกิจธนาคารต้องทำให้ตัวเองเป็นแบรนด์ที่คุ้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลูกค้า ไม่ใช่แค่ที่รับฝากถอนเงินอีกต่อไป ต้องตอบโจทย์ need หรืออินไซต์ของลูกค้า ธนาคารต้องหาดาต้าของลูกค้า ไม่ใช่แค่เพศ วัยและอายุ แต่สามารถวิเคราะห์ได้ว่า new need ของลูกค้าคืออะไร ซึ่งอาจเป็น latent need หรือความต้องการของลูกค้าที่ซ่อนอยู่ข้างใน

“หนึ่งต้องใช้ประโยชน์จากดาต้า สองต้องปรับผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมหรือความต้องการลูกค้า สาม จุดเด่นของธนาคารต้องถูกปรับ โดยไม่ใช่โฟกัสเรื่องฝาก ขาย เน้นบริการแบบเดิม แต่ต้องหา uniqueness ของตัวเอง หา value ใหม่ของตัวเอง เหล่านั้นคือ principle based ที่หลักสูตรนี้มีให้ ซึ่งถ้าผู้เรียนสามารถเข้าใจหลักการได้ก็สามารถนำไปประยุกต์ ใช้ได้จริง”

รศ.ดร.วิเลิศ กล่าวต่อว่า ทักษะสำคัญที่ผู้เรียนได้จากโครงการนี้ต้องไม่เป็น technical skill และไม่ใช่ analytical skill แต่เป็น conceptual skill เป็นทักษะที่มองเห็นความคิดรวบยอด เพราะสุดท้ายแล้วกลยุทธ์ในการบริหาร ที่ต้องเกิดจากการวิเคราะห์และตกผลึกของผู้บริหารเอง

ประสบการณ์จากผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร UOB Leadership Academy

UOB จับมือ CBS พลิกโฉมการพัฒนาหลักสูตรความเป็นผู้นำในยุคดิจิทัล

หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ นิธิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการอาวุโสแผนก Global Market Structuring ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมอบรมในหลักสูตร ระดับ LA2 เผยถึงเหตุผลหนึ่งที่ค่อนข้างประทับใจหลักสูตนี้ คือการได้อัพเดทเทรนด์และความรู้ในโลกปัจจุบัน และทำให้เห็นภาพรวมของธุรกิจทั้งหมด แน่นอนว่า เป็นสิ่งที่ทำให้เขาตระหนักถึงก้าวต่อไปที่ธนาคารกำลังจะเดินไป

“การเรียนครั้งนี้เปรียบเสมือนการกลับมารีเฟรชความรู้และเทรนด์ต่างๆ อีกครั้ง เพราะบางครั้งการที่เราต้องทำงานในหน้าที่ที่เฉพาะทางมากๆ อย่างเช่นในงานของผม อาจทำให้เราไม่เห็นมุมมองภาพใหญ่ หลักสูตรนี้ช่วยให้ผมรู้ว่า ตอนนี้มีอะไรเกิดอะไรขึ้นข้างนอกบ้าง  เราควรมีมุมมอง หรือบริหารจัดการอย่างไร โดยหลักสูตรนี้สอนวิธีคิดให้ผู้เรียน ทำให้เราตระหนักว่านี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น” นิธิกล่าว

นอกจากนี้ รูปแบบการทำงานส่วนใหญ่ของนิธิต้องเจอกับคนในหลายฝ่ายเพื่อบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามเป้าหมายและเกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด ความท้าทายของเขา คือต้องพยายามทำให้ทุกฝ่ายสามารถเห็นพ้องร่วมมือไปในทิศทางเดียวกัน

“การได้เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรนี้ทำให้เราเข้าใจว่า ทุกคนต่างมีแรงจูงใจ หรือ motivation ที่แตกต่างกัน หากเราหาความต้องการของแต่ละคนเจอ ก็จะทำให้งานบรรลุตามเป้าหมายได้ ซึ่งผมสามารถนำความรู้ที่ได้นี้มาใช้ในการทำงานได้”

หลักสูตร Leadership Academy เป็นอีกหนึ่งความพยายามของธนาคาร ที่จะช่วยเพิ่มพูนทักษะหลากหลายด้านและเปิดประสบการณ์แห่งโลกการทำงานในระยะยาวอย่างยั่งยืน ซึ่งศศิวิมลให้คำมั่นว่าธนาคารยังลงทุนกับบุคคลากรเพื่อมุ่งยกระดับหลักสูตรในปีต่อๆ ไปให้ดียิ่งขึ้น

จากการดูแลเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ที่ดีทั้งในเรื่องการทำงานผ่านการจัดอบรมพัฒนาบุคคลากรหลักสูตรต่างๆ และการดูแลไปยังเรื่องสุขภาพความเป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลพนักงานและครอบครัวในช่วงโควิด ทำให้ในปี 2564 ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ได้รับรางวัลด้านทรัพยากรบุคคล (HR) จากองค์กรทั้งใน และต่างประเทศ รวม 11 รางวัล นอกจากนี้ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ยังได้รับยกย่องให้เป็นบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในประเทศไทย จากรางวัล Best Company to Work for in Asia Awards 2021 โดยมีคะแนนความผูกพันระหว่างองค์กรและพนักงานเป็นสิ่งพิสูจน์ คะแนนความผูกพันของพนักงานของธนาคาร เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 และความผูกพันของพนักงานในปี 2563 อยู่ที่ 83% เหนือค่าเฉลี่ยของธนาคารต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกที่ 66%