THE MET สู้เพื่อความเป็นธรรม กรณีคัดค้านการอนุมัติ EIA โครงการ 125 Sathorn

THE MET สู้เพื่อความเป็นธรรม กรณีคัดค้านการอนุมัติ EIA โครงการ 125 Sathorn

ผู้อยู่อาศัยในโครงการ THE MET และชุมชนใกล้เคียง ร่วมกันเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีการสร้างตึกสูงใหม่ ในโครงการ 125 Sathorn ชี้เรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

นักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์ ระบุผู้อยู่อาศัยในโครงการเดอะ เม็ท (THE MET) และชุมชนใกล้เคียง ควรร่วมมือกันต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมต่อกรณีคัดค้านการอนุมัติ EIA โครงการ 125 Sathorn หากมีข้อสงสัยเรื่องความไม่โปร่งใสในกระบวนการอนุมัติ EIA ควรดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายด้วยการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางและยื่นคำร้องต่อป.ป.ช.

THE MET สู้เพื่อความเป็นธรรม กรณีคัดค้านการอนุมัติ EIA โครงการ 125 Sathorn

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th) แสดงความเห็นต่อกรณีที่กลุ่มผู้อยู่อาศัยโครงการเดอะ เม็ท เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการอนุมัติ EIA โครงการ 125 Sathorn เพื่อแสดงความโปร่งใสในขั้นตอนการพิจารณาว่า การที่ประชาชนที่อาศัยในชุมชนใกล้เคียงกับพื้นที่ก่อสร้างโครงการตึกสูงโครงการใหม่จะตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดการพิจารณาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการจึงดำเนินการอย่างรวดเร็วทั้งที่มีการยื่นรายงานคัดค้านต่อคณะกรรมการตรวจสอบผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ถือเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและควรดำเนินการไปตามกฎหมาย

กล่าวว่า กลุ่มผู้อยู่อาศัยโครงการ เดอะ เม็ท และชุมชนใกล้เคียงนั้นต้องรวมตัวกันแต่งตั้งทนายความเพื่อเป็นตัวแทนยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลางฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณา EIA ขณะเดียวกันก็ให้ยื่นคำร้องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วยเพื่อให้มีการตรวจสอบความโปร่งใส่ในกระบวนการดำเนินงานอนุมัติ EIA

“กรณี เดอะ เม็ท ผมคิดว่าเป็นการดำเนินการเพื่อความเป็นธรรมสำหรับผู้อยู่อาศัย ผมเห็นด้วยที่ลูกบ้านควรจะเรียกร้องและคัดค้าน EIA ว่าทำถูกต้องหรือไม่ก่อนจะมีการก่อสร้างอาคารตึกสูงหลังใหม่ด้านหน้าโครงการ เพราะแต่เดิมที่ดินที่จะขึ้นโครงการใหม่นั้น ผู้พัฒนาโครงการเดอะ เม็ท ได้ให้สัญญากับผู้ซื้อไว้ว่าหากจะมีการพัฒนาที่ดินส่วนด้านหน้านี้ในอนาคตก็จะสร้างเป็นโครงการแนวราบ แต่สุดท้ายไม่รักษาสัญญา กรณีแบบนี้ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมกับ เดอะ เม็ท” ดร.โสภณ กล่าว

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผู้อยู่อาศัยโครงการเดอะ เม็ท จำนวน 370 ครอบครัว และชุมชนผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงในย่านสาทรได้แสดงความกังวลอย่างยิ่ง ภายหลังจากทราบว่า โครงการ 125 Sathorn ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ได้รับการอนุมัติ EIA แล้ว โดยตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการจึงดำเนินการอย่างรวดเร็ว ทั้งที่มีการยื่นรายงานคัดค้านความยาว 260 หน้าในเดือนมีนาคม 2564 ต่อคณะกรรมการตรวจสอบผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพิจารณารายงาน EIA

THE MET สู้เพื่อความเป็นธรรม กรณีคัดค้านการอนุมัติ EIA โครงการ 125 Sathorn

รายงานคัดค้านฉบับนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้รายงาน EIA โครงการ 125 Sathorn ได้รับการปฏิเสธเมื่อเดือนเมษายน 2564 ในรายงานนั้นยังรวมถึงข้อมูลผลการสำรวจความเห็นจากประชาชนกว่า 400 คนในชุมชนใกล้เคียง โดยมากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสำรวจได้แสดงการคัดค้านโครงการ 125 Sathorn แต่ทว่า เพียง 4 เดือน หลังจากนั้นโครงการ 125 Sathorn กลับได้รับการอนุมัติ EIA ทั้งที่ไม่ได้เสนอแนวทางที่ต่างไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญเพื่อแก้ไขข้อกังวลสำคัญหลายประการที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญได้ให้เหตุผลในการปฏิเสธการขออนุมัติในครั้งแรก

การอนุมัติ EIA โครงการใหม่ในหลายกรณี มีหลายครั้งที่การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมถูกปฏิเสธในขั้นตอนการส่งรายงาน EIA ครั้งแรก ซึ่งทำให้ชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการใหม่มีความหวังว่าหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมจะได้ยินและรับฟังพวกเขาบ้าง แต่สุดท้ายผลลัพธ์กลับสร้างความผิดหวังให้ชุมชนเนื่องจากรายงาน EIA ดังกล่าว ได้รับการอนุมัติทั้งที่มีการแก้ไขเนื้อหาแต่เพียงเล็กน้อย อันทำให้ผู้พัฒนาโครงการเป็นฝ่ายชนะในขั้นตอนที่กฎหมายได้จัดให้มีขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การคุ้มครองแก่ชุมชนที่อาศัยอยู่ก่อน

ในกรณี เดอะ เม็ท ก็เช่นเดียวกัน ผู้อยู่อาศัยในโครงการจึงมีความเห็นตรงกันว่า กระบวนการอนุมัติ EIA ที่รวดเร็วเช่นนี้ทำให้ดูเหมือนว่าคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญได้ให้การอนุมัติ EIA โครงการ 125 Sathorn โดยที่ไม่ได้มีการพิจารณารายงานการคัดค้านเพิ่มเติมหลังจากการประชุมครั้งแรกแต่อย่างใด

THE MET สู้เพื่อความเป็นธรรม กรณีคัดค้านการอนุมัติ EIA โครงการ 125 Sathorn

ย้อนประวัติคอนโดมิเนียมหรู The MET

เดอะ เม็ท เป็นโครงการคอนโดมิเนียมหรูความสูง 66 ชั้นที่พัฒนาขึ้นในปี 2546 โดย Pebble Bay (Thailand) Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Hotel Properties Limited (บริษัทสัญชาติสิงคโปร์) โดย Pebble Bay ได้ซื้อที่ดิน 10 ไร่บนถนนสาทรใต้จาก US Information Service โดยที่ดินแปลงนี้ Pebble Bay มีแผนพัฒนาเดอะ เม็ท เป็นโครงการคอนโดมิเนียมไฮไรส์บนพื้นที่ขนาดใหญ่ พร้อมด้วยโรงแรมแนวราบบนที่ดินแปลงเล็กหน้าเดอะเม็ทเดือนมิถุนายน 2547 ที่ดิน 10 ไร่นั้นจึงถูกแบ่งเป็นที่ดิน 7 ไร่สำหรับเดอะเม็ท และ 3 ไร่สำหรับโครงการโรงแรมแนวราบในอนาคต

ในการขออนุญาตก่อสร้างอาคารเดอะ เม็ท ได้ระบุไว้ว่า ที่ดินทั้งสองแปลงนั้นเป็นพื้นที่เพื่อใช้เป็นที่ตั้งอาคารเดอะ เม็ท ดังนั้น การขออนุมัติ EIA สำหรับโครงการ เดอะ เม็ท ในครั้งนั้นจึงได้รับการอนุมัติจากความเข้าใจว่าโครงการแนวราบจะได้รับการพัฒนาบนที่ดินหน้าโครงการด้วย ทั้งนี้ การออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของ เดอะ เม็ท และองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดได้รับรางวัลด้านสถาปัตยกรรมระดับนานาชาติมากมาย

ในปี 2559 Pebble Bay ได้ยกเลิกโครงการโรงแรมที่วางแผนไว้และขายที่ดิน 3 ไร่ ด้านหน้าเดอะเม็ทให้กับบริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในราคา 1.58 พันล้านบาท แต่ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากพีเอ็มทีฯ ได้ร่วมทุนกับกลุ่มทุนอสังหาฯ รายใหญ่จากญี่ปุ่นโดยพีเอ็มทีฯ ขายทรัพย์สินร้อยละ 40  ให้กับ Kanden Realty จากญี่ปุ่นในราคา 981 ล้านบาท จากนั้น พีเอ็มทีฯ ได้ประกาศแผนการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมไฮไรส์สูง 143 เมตรมีห้องพัก 756 ยูนิตที่จอดรถ 433 คันบนพื้นที่เพียง 3 ไร่ ด้านหน้าเดอะ เม็ท

THE MET สู้เพื่อความเป็นธรรม กรณีคัดค้านการอนุมัติ EIA โครงการ 125 Sathorn

ผลกระทบหากโครงการใหม่สร้างเสร็จ

ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยโครงการเดอะ เม็ทที่อาจเกิดขึ้นหากการก่อสร้างโครงการใหม่แล้วเสร็จ นิติบุคคลอาคารชุดโครงการเดอะ เม็ท ได้ให้ข้อมูลว่า ด้านหน้าของเดอะ เม็ท กับผนังด้านหลังโครงการ 125 Sathorn จะห่างกันเพียง 12-13 เมตร บริเวณด้านหลังอาคาร 125 Sathorn ที่หันไปทางเดอะเม็ทจะไม่ดึงดูดผู้ซื้อในอนาคต ผู้พัฒนาโครงการจึงวางแผนที่จะวางคอยล์ร้อน (CDU) ของเครื่องปรับอากาศทั้งหมด 800 ตัวของโครงการไว้ทางฝั่งนั้นของอาคาร ซึ่งเป็นด้านเดียวที่หันเข้าหาอาคารที่อยู่อาศัย

เดอะ เม็ท จึงเชื่อว่าโครงการ 125 Sathorn จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทางด้านสิ่งแวดล้อมต่อผู้อยู่อาศัยในโครงการเดอะ เม็ท ในระหว่างการก่อสร้าง อีกทั้งเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการอยู่อาศัยของผู้อยู่อาศัยในโครงการเดอะ เม็ทและชุมชนใกล้เคียงอย่างเลี่ยงไม่ได้

ผู้พัฒนาโครงการ เดอะ เม็ท ได้เคยให้สัญญากับผู้ซื้อไว้ว่าที่ดินด้านหน้าเดอะ เม็ท จะพัฒนาเป็นโครงการแนวราบแต่ปัจจุบันผู้พัฒนารายใหม่กำลังเตรียมการพัฒนาโครงการแนวสูงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยในโครงการเดอะ เม็ท และชุมชนใกล้เคียง ทำให้ชุมชนเหล่านี้ไม่สามารถนิ่งเฉยต่อปัญหานี้ได้ การตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการอนุมัติ EIA ของหน่วยงานรัฐจึงถือเป็นการป้องกันก่อนจะเกิดปัญหาในอนาคต เพราะประชาชนในชุมชนเดิมควรได้รับการปกป้องสิทธิจากการพัฒนาใหม่ที่บุกรุกเข้ามาในระยะประชิดมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่