‘เนปาล’ จำกัดจำนวนนักปีนเขา ‘เอเวอเรสต์’ หลังสร้างปัญหา ‘ขยะ-สิ่งแวดล้อม’

‘เนปาล’ จำกัดจำนวนนักปีนเขา ‘เอเวอเรสต์’ หลังสร้างปัญหา ‘ขยะ-สิ่งแวดล้อม’

ศาลสูสุดของเนปาลออกคำสั่งให้จำกัดจำนวนนักปีนเขาที่จะขึ้นไปท่องเที่ยวบน “เอเวอเรสต์” หลังสร้าง “ปัญหาขยะ” เต็มพื้นที่เบสแคมป์ และให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 

KEY

POINTS

  • ศาลสูงสุดเนปาลสั่งให้รัฐบาลจำกัดจำนวนนักปีนเขาที่จะขึ้นพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์และยอดเขาโดยรอบ พร้อมกำหนดมาตรการในการจัดการขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมของภูเขาด้วย
  • มีการพบ “ไมโครพลาสติก” ในตัวอย่างน้ำและหิมะจากบริเวณเบสแคมป์ ซึ่งอาจมาจากเสื้อผ้าปีนเขา เต็นท์ เชือก และรองเท้าบู๊ตที่ถูกทิ้งไว้ ขณะที่ธารน้ำแข็งคุมบูก็มีการพบ “สารเคมีตลอดกาล” ในระดับสูง อาจมาจากวัสดุที่ใช้ทำรองเท้ากันน้ำปีนเขา เต็นท์ และเสื้อผ้า
  • นอกจากนี้ ยังมีสิ่งปฏิกูลรั่วไหลออกมาจากถังบำบัดน้ำเสียในที่พักหลายร้อยแห่งที่ตั้งอยู่ทั่วอุทยานแห่งชาติ ส่งผลให้เกิดมลพิษต่อน้ำใต้ดิน โดยเฉพาะจุดพักแคมป์ที่ 4 จุดพักสุดท้ายที่ก่อนที่จะพยายามพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ เต็มไปด้วยขยะและอุจจาระแข็งที่ลอยมาตามลม

ไม่ว่ามนุษย์จะไปที่ใดในโลกก็จะนำพา “ขยะ” ไปด้วยเสมอ ไม่เว้นแม้แต่สถานที่ที่สูงที่สุดในโลกอย่าง “เอเวอเรสต์” ปัจจุบันมีขยะหลากหลายชนิดถูกทิ้งเกลื่อนกลาด โดยเฉพาะ “ไมโครพลาสติก” และ “อุจจาระ” ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในท้องถิ่น

3 พ.ค. 2567 ศาลสูสุดของเนปาลสั่งให้รัฐบาลจำกัดจำนวนนักปีนเขาที่จะขึ้นไปท่องเที่ยวบนเขาเอเวอเรสต์และยอดเขาอื่น ๆ ในช่วงฤดูปีนเขาตั้งแต่เดือนพ.ค. หลังจากที่ประชาชนเป็นกังวลเกี่ยวกับปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมบนเทือกเขาเอเวอเรสต์ที่เกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยว

ดีพัก บิกรัม มิสรา ทนายความผู้ยื่นคำร้องขอให้ลดจำนวนนักปีนเขา บอกกับเอเอฟพีว่า ศาลได้สั่งให้จำกัดจำนวนนักปีนเขา และกำหนดมาตรการในการจัดการขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมของภูเขาด้วย

ปัจจุบันเนปาลออกใบอนุญาตปีนเขาให้แก่ทุกคนที่ยินดีจ่ายเงินค่าสมัคร 11,000 ดอลลาร์ เพื่อขึ้นไปสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ ที่มีความสูง 8,850 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยในปี 2566 เนปาลได้ออกใบอนุญาตสำหรับปีนเขาเอเวอเรสต์ทั้งสิ้น 478 ใบ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงเป็นประวัติการณ์

ในปี 2562 มีผู้คนจำนวนมากขึ้นไปสำรวจบนเอเวอเรสต์ จนทำให้เกิดการจราจรติดขัด ส่งผลให้ทีมนักปีนเขา ต้องรอหลายชั่วโมงบนยอดเขาอันหนาวเหน็บกลางอุณหภูมิจุดเยือกแข็ง เสี่ยงต่อระดับออกซิเจนในร่างกายลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยและเหนื่อยล้าได้ เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 ราย

ขยะเกลื่อนเอเวอเรสต์

จนถึงตอนนี้ เนปาลได้ออกใบอนุญาตให้กับนักปีนเขาขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์แล้ว 403 คน และ 542 คนสำหรับปีนเขาอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 945 คน ทั้งนี้ในแต่ละปีจะมีนักเดินป่าและนักปีนเขามากกว่า 60,000 คนไปเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติสครมาถา ซึ่งเอเวอเรสต์ก็อยู่ในเขตอุทยานนี้ด้วยเช่นกัน

นักปีนเขาที่หวังจะพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์มักใช้เวลาบนภูเขานานถึงสองเดือน รวมถึงหลายสัปดาห์ในการปีนขึ้นเหนือเบสแคมป์แบบค่อยเป็นค่อยไปและกลับลงมาอีกครั้ง ช่วยให้พวกเขาปรับตัวเข้ากับระดับความสูงก่อนที่จะปีนขึ้นไปในแคมป์ที่สูงขึ้นแล้วจึงขึ้นสู่ยอดเขา

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเท่าใดนักที่สองข้างทางระหว่างทางเดินไปยังเบสแคมป์คลาคล่ำไปด้วยทุ่งขยะจำนวนมาก มีทั้งกระป๋อง ขวด พลาสติก บรรจุภัณฑ์ เศษอาหาร มูลสัตว์และมนุษย์ ไปจนถึงศพของนักปีนเขาที่ถูกแช่แข็งจากความหนาวเย็น และจำเป็นต้องทิ้งร่างอันไร้วิญญาณเอาไว้ที่นี่ เนื่องจากการดำเนินการขนย้ายมีความเสี่ยงและมีค่าใช้จ่ายสูง

เส้นทางดังกล่าวแทบจะเป็นเส้นทางเดียวที่ใช้สัญจรขึ้นไปยังเบสแคมป์ได้ ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวจะใช้เส้นทางนี้เท่านั้น แต่การขนส่งเสบียงอาหารและอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ต้องอาศัยเส้นทางนี้ โดยใช้สัตว์เป็นพาหนะ เช่น จามรี ล่อ ม้า ลา และวัว

การศึกษาในปี 2553 ประมาณการว่าการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติสครมาถาก่อให้เกิดขยะมูลฝอย 4.6 ตันต่อวัน ในช่วงที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่นในเดือนเม.ย.-พ.ค. และต.ค.-พ.ย. ท้ายที่สุดแล้วขยะส่วนใหญ่ก็ถูกทิ้งลงในหลุมฝังกลบซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน หรือบางครั้งก็ใช้การเผา ซึ่งเป็นการเพิ่มอนุภาคและสารเคมีที่เป็นพิษในอากาศ ขี้เถ้าที่เหลือจะถูกฝังกลบสามารถปนเปื้อนในแหล่งน้ำใต้ดินได้

“ไมโครพลาสติก-อุจจาระ” ลอยตามลม

มีการพบ “ไมโครพลาสติก” ในตัวอย่างน้ำและหิมะจากบริเวณเบสแคมป์ ซึ่งอาจมาจากเสื้อผ้าปีนเขา เต็นท์ เชือก และรองเท้าบู๊ตที่ถูกทิ้งไว้ ขณะที่ธารน้ำแข็งคุมบูก็มีการพบ “สารเคมีตลอดกาล” ในระดับสูง อาจมาจากวัสดุที่ใช้ทำรองเท้ากันน้ำปีนเขา เต็นท์ และเสื้อผ้า

สารเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพสำหรับนักปีนเขาชั่วคราว แต่เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงกว่าสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนใกล้เคียงที่จำเป็นต้องอาศัยอยู่เกือบตลอดทั้งปี โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในเบสแคมป์

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งปฏิกูลรั่วไหลออกมาจากถังบำบัดน้ำเสียในที่พักหลายร้อยแห่งที่ตั้งอยู่ทั่วอุทยานแห่งชาติ ส่งผลให้เกิดมลพิษต่อน้ำใต้ดิน โดยเฉพาะจุดพักแคมป์ที่ 4 จุดพักสุดท้ายที่ก่อนที่จะพยายามพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ เต็มไปด้วยขยะและอุจจาระแข็งที่ลอยมาตามลม

สิ่งปฏิกูลเหล่านี้สามารถแพร่กระจายในอากาศ อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในลำไส้เล็กและทางเดินหายใจส่วนบน รวมถึงโรคที่เกิดจากน้ำ เช่น อหิวาตกโรคและไวรัสตับอักเสบ A ในหมู่นักปีนเขาและคนท้องถิ่น อัลตัน ไบเออร์ส นักธรณีวิทยาภูเขา ประมาณการว่าในแต่ละปีมีอุจจาระที่อยู่ในเบสแคมป์ประมาณ 5,400 กิโลกรัม โดยยังไม่ได้นับรวมอุจจาระที่ฝั่งอยู่รอบ ๆ ที่พัก

อุทยานแห่งชาติในประเทศที่พัฒนาแล้วมีโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการขยะ การเก็บขยะ การรีไซเคิล และการบำบัดน้ำเสีย ที่เบสแคมป์ของเอเวอเรสต์ มีเพียงถังเก็บน้ำอยู่ใต้โถส้วม ในแต่ละปี ขยะของมนุษย์ประมาณ 22,000 กิโลกรัม จะถูกนำไปฝังกลบในบ่อขยะที่อยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตร

 

สร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นอกจากคำสั่งศาลให้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่งออกมาแล้ว หน่วยงานของรัฐและประชาชนในพื้นที่ต่างพยายามแก้ไขปัญหาขยะล้นเอเวอเรสต์มาโดยตลอด

ชาวเชอร์ปาในท้องถิ่นก่อตั้งคณะกรรมการควบคุมมลพิษแห่งสครมาถา ตั้งแต่ปี 2535 มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบขยะในภูเขาและยอดเขาต่าง ๆ พร้อมควบคุมปริมาณขยะและการทำความสะอาดเบสแคมป์เป็นระยะ แต่จำนวนขยะก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ในปี 2557 รัฐบาลเนปาลเริ่มกำหนดให้นักปีนเขาทุกคนที่ปีนขึ้นไปเหนือเบสแคมป์เอเวอเรสต์ ต้องนำขยะมูลฝอยจำนวน 8 กิโลกรัม กลับมาจากภูเขา หรือไม่ก็ถูกริบเงินมัดจำ 4,000 ดอลลาร์ แน่นอนว่า หากคุณสามารถจ่ายเงิน 75,000 ดอลลาร์เพื่อขึ้นไปบนภูเขาได้ การเสียเงินมัดจำอาจไม่ใช่สิ่งจูงใจมากนัก นักท่องเที่ยวจึงไม่ให้ความร่วมมือมากนัก

องค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ Sagarmatha Next ก่อตั้งขึ้นในปี 2559  กำลังทำงานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในภูมิภาคคุมบู โดยร่วมมือกับบริษัทและองค์กรต่าง ๆ จากทั่วโลก ทางกลุ่มได้สร้างความตระหนักรู้ด้วยการผลิตงานศิลปะและของที่ระลึกจากขยะ นอกจากนี้ ยังเปิดตัวโครงการ “Carry Me Back” ที่ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวนำขยะมูลฝอยขนาด 1 กิโลกรัม กลับไปแปรรูปและกำจัดขยะที่ท่าอากาศยานลุกลา

หน่วยงานท้องถิ่นยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกในการสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนบนเอเวอเรสต์ ทั้งการสร้างแผนการจัดการขยะมูลฝอยที่ยั่งยืน 5 ขั้นตอน ได้แก่ การแยกขยะ การรวบรวม การคัดแยกและการทำลาย การถ่ายโอนไปยังสถานีขนส่ง และการขนส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลในกาฐมาณฑุ 

ขณะที่ โครงการ NeverRest เสนอแผนแนวคิดสำหรับเบสแคมป์เอเวอเรสต์ที่ยั่งยืน ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น เต็นท์พลังงานแสงอาทิตย์แบบพกพาซึ่งจะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โถปัสสาวะพกพาที่ใช้ได้ทุกเพศ พร้อมตัวกรองอเนกประสงค์ที่เปลี่ยนปัสสาวะให้เป็นน้ำ ห้องส้วมเตาเผาขยะที่เปลี่ยนขยะของมนุษย์ให้เป็นเถ้า และเต็นท์โดมทรงกลมที่ออกแบบมาเพื่อกักเก็บความร้อนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการใช้พลังงาน

ผ่านมาแล้ว 71 ปีนับตั้งแต่เซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี และ เทนซิง นอร์เกย์ สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้เป็นครั้งแรก ยอดเขานี้กลายเป็นสถานที่สำหรับพิสูจน์ความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ ชัยชนะของคนทั่วโลก ซึ่งแลกมากด้วยปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ซึ่งถ้าหากการแก้ไขปัญหาขยะบนเอเวอเรสต์สำเร็จจะเป็นแนวทางให้แก่พื้นที่ห่างไกลบนภูเขาสูงอื่น ๆ ทั่วโลก


ที่มา: Channel News AsiaEarthThe Conversation