ชะตากรรม ‘GDPไทย‘ หลังไตรมาส1 จ่อทรุด ’เอกชน‘ คาดกรอบ 67 ขยายตัว 1.5-2.7%

ชะตากรรม ‘GDPไทย‘ หลังไตรมาส1 จ่อทรุด  ’เอกชน‘ คาดกรอบ 67 ขยายตัว 1.5-2.7%

จับตา GDP ไตรมาส 1/67 จ่อลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2567  จากคาดการณ์เดิมที่ 2.2 – 3.2% เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 เผชิญปัจจัยลบเพียบ เปิดสมมุติฐานเอกชนในการทำข้อมูลเศรษฐกิจของ กกร.ประเมิน GDP ปีนี้ 2 กรณีคือกรณีฐานเศรษฐกิจขยายตัวสูงสุด 2.7% และกรณีแย่สุดจีดีพี 67 อาจโตแค่ 1.5%

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังจะประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 1/2567 รวมทั้งแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยปี 2567  ในวันจันทร์ที่ 20 พ.ค.2567  ที่จะถึงนี้ ในการแถลง GDP ครั้งที่ผ่านมา สศช.ได้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ 2.2 – 3.2% ซึ่งจะขยายตัวได้ต่อเนื่องจาก 1.9% ในปี 2566  อย่างไรก็ตามต้องจับตาการแถลงตัวเลขของ สศช.ว่าในไตรมาสที่ 1 จีดีพีจะขยายตัวได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากมีการขยายตัวต่ำมากอาจนำไปสู่การปรับลดประมาณการปี 2567 ทั้งปีลงหรือไม่

โดยก่อนหน้านี้หลายหน่วยงานเศรษฐกิจได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปี 2567 ลง เช่น สำนักเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดจีดีพีลงเหลือ 2.4% จากประมาณการเดิมที่ 2.8%  และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)  มาที่ 2.2-2.7% ในการแถลงครั้งล่าสุด

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ถือว่าเผชิญปัจจัยลบทางเศรษฐกิจหลายประการ โดยการส่งออกสินค้าและการผลิตที่ฟื้นตัวได้ช้า มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกกลับมาติดลบ 0.2% หลังจากที่ในเดือน มี.ค.การส่งออกหดตัว 10.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าไทยเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยการค้าโลกในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การค้าโลกจากเดิมโตได้ 3.3% เหลือโต 3% และปรับลดคาดการณ์การส่งออกของประเทศ Emerging Markets จากเดิมโตได้ 4.1% เหลือโต 3.7%

นอกจากนี้ IMF ยังประเมินว่าความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งรัสเชีย-ยูเครน และอิสราเอล -อิหร่านที่ยกระดับขึ้นจะกระทบต่อปริมาณการค้าโลกได้ ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นปัจจัยลบต่อแนวน้มการส่งออกสินค้าของไทยในระยะข้างหน้า ทำให้คาดว่าการส่งออกจะเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม

สารพัดปัจจัยฉุด GDP ไตรมาส1/67

ในส่วนของภาคการผลิตซึ่งถือว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะฉุดGDP ไทย โดยการแถลงล่าสุด 7 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มี.ค.2567 อยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัว 5.13% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62.39%  ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 100.85 หดตัวเฉลี่ย 3.65% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย 60.45% ซึ่งกำลังการผลิตที่ยังหดตัวต่อเนื่องทำให้การลงทุนใหม่ๆของภาคเอกชนที่จะขยายการลงทุนยังไม่เกิดขึ้น

สำหรับในเครื่องยนต์สำคัญทางเศรษฐกิจอีกตัวคือภาคท่องเที่ยวถึงแม้ว่าในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวขึ้นนักท่องเที่ยวช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. ยอดสะสม 9.4 ล้านคน  แต่การใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว (Spending per Head) ยังต่ำกว่าปี 2562   โดยใช้จ่ายอยู่ที่ 45,760 บาท ซึ่งยังคงต่ำกว่าปี 2562 ที่มีSpending per Head เฉลี่ย 47,895 บาท อยู่ราว 4.5%

2 สมมุติฐานเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ในการประเมินGDP ปี 2567 ที่ กกร.มีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 2.2 -  2.7% นั้นภาคเอกชนมีการประเมินข้อมูลโดยมีการวางสมมุติฐานไว้ 2 กรณีคือ

1.กรณีที่เป็นพื้นฐาน (Base case) ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัว 2.2 – 2.7% นั้นมาจากสมมุติฐานว่าภาคการส่งออกจะขยายตัวได้ 0 .5 – 1.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยการส่งออกของไทยยังถือว่าฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้และสอดคล้องกับมุมมองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งได้ปรับลดประมาณการปริมาณการค้าโลกปี 2567 ลงสู่ 3.0% (จากเดิม 3.3%) อีกทั้งสินค้าส่งออกบางกลุ่มได้รับ ผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้าง

ส่วนในสมมุติฐานนี้นั้นคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 35 ล้านคน โดยการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยนั้นพบว่านักท่องเที่ยวตะวันออกกลางลดลง 60% ตั้งแต่ Q2/2567 จากผลกระทบของสงครามการค้า แต่นักท่องเที่ยวโซนเอเซียฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี ทำให้จำนวนโดยรวมยังอยู่ที่ 35 ล้านคนได้ทั้งนี้ต้องจับตาการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว

 2.กรณีเลวร้าย (Worst case) โดยกรณีนี้ กกร.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง 1.5 – 2% จากปีก่อน โดยกรณีนี้การส่งออกอาจจะหดตัว 0.5% ถึงขยายตัวได้ 0.5% โดยการส่งออกที่ขยายตัวได้ต่ำจะมาจากปัจจัยสถานการณ์ในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้นและขยายวงกว้างไปทั่วอ่าวเปอร์เซียร์ตลอดช่วงไตรมาสที่ 3 และเริ่มคลี่คลายเล็กน้อยในไตรมาสที่ 4 ซึ่งส่งผลให้การขนส่งและการเดินทางมีความยากลำบากกระทบต่อการขนส่งในตะวันออกกลาง ขณะที่การส่งออกไปยุโรปได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย

ส่วนปัจจัยเรื่องของภาคการท่องเที่ยวในสมมุติฐานนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังประเทศไทย 32.5 ล้านคน เนื่องจากสงครามในตะวันออกกลางส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวตะวันออกกลางลดลง 80% และนักท่องเที่ยวยุโรปลดลง 40% ในช่วงที่เหลือของปี

ขณะที่นักท่องเที่ยวจากจีนและโซนเอเซียฟื้นตัวได้ช้ากว่า base case  โดยการประมาณการ GDP 2567 ในส่วนี้ยังไม่รวมผลของมาตรการ Digital Wallet ทั้งนี้ หากนโยบายเติมเงินใน digital wallet ดำเนินการได้เต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท รัฐประเมินว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ได้ 1.2-1.6% ในช่วงการดำเนินโครงการอย่างไรก็ตามมาตรการนี้หากสามารถใช้ได้จริงภายในปีนี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจปี 2568 มากกว่า