“นักวิชาการรับใช้สังคม” พัฒนาต่อยอด ผลิตผลงานวิจัยเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน

“นักวิชาการรับใช้สังคม” พัฒนาต่อยอด ผลิตผลงานวิจัยเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน

 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมูลนิธิมั่นพัฒนา จัดทำโครงการ “การพัฒนานักวิจัยและระบบสนับสนุนนักวิจัยเพื่อชุมชนและสังคม” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยรุ่นใหม่ให้เป็น “นักวิชาการรับใช้สังคม” ภายใต้การจัดสรรทุนสนับสนุนนักวิจัยโครงการ“ทุนพัฒนานักวิจัยสู่ตำแหน่งวิชาการเพื่อชุมชนและสังคม” ที่มุ่งเน้นผลงานวิจัยเรื่องเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งมีรูปแบบการรับทุน 3 ประเภท ได้แก่ 1) ทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ คือ นักวิจัยเดี่ยวหรือกลุ่มที่จบปริญญาเอกไม่เกิน 5 ปี 2) ทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง คือ นักวิจัยที่มีบทความวิชาการอย่างน้อย 2 เรื่อง และ 3) ทุนพัฒนาการเขียนบทความวิจัยเชิงพื้นที่ คือ นักวิจัยที่มีประสบการณ์ทำงานวิจัยเชิงพื้นที่หรือชุมชน มีรายงานการวิจัยเชิงพื้นที่ไม่น้อยกว่า 3 เรื่อง แต่ไม่มีบทความวิชาการเชิงพื้นที่หรือประสงค์จะพัฒนาการผลิตบทความเชิงลึก โดยตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการมีการจัดกระบวนการอบรม และประชุมเชิงปฏิบัติการในเรื่องต่างๆ ให้กับนักวิจัยที่ได้รับทุน เพื่อให้นักวิจัยเหล่านี้สามารถนำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าอบรมไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยของตนเองให้เกิดประโยชน์และสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชุมชนและสังคมได้อย่างแท้จริง

ปลูกจิตสำนึกเด็กและเยาวชน “สร้างนักอนุรักษ์ของชุมชน”

ดร.อรุณี กาสยานนท์ อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก หนึ่งในนักวิชาการผู้ได้รับทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ในหัวข้อ “ถอดแบบความสำเร็จของชุมชนสู่บทเรียนการจัดการกองทุนขยะเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก: โรงเรียนบ้านพลายชุมพล อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก” กล่าวว่า ที่มาของงานวิจัยมาจากการมองเห็นปัญหาเรื่องขยะชุมชนว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ควรเร่งดำเนินการแก้ไข ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาขยะมาจากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และพฤติกรรมของคนในชุมชน จากการลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันกับเทศบาลตำบลพลายชุมพล โรงเรียน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และประชาชนในพื้นที่ นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต้องเริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็กๆ ก่อนที่จะขยายผลสู่ชุมชน โดยเริ่มจากการบ่มเพาะและสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กและเยาวชนให้เห็นความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายในชุมชน จึงนำมาสู่การจัดการขยะของโรงเรียนบ้านพลายชุมพล เพื่อใช้เป็นต้นแบบของการบริหารจัดการกับขยะในชุมชนร่วมกัน

“เราเริ่มโครงการและลงพื้นที่รับทราบปัญหาครั้งแรกในปีพ.ศ. 2558 นักวิจัย ผู้นำองค์การบริหารส่วนตำบล โรงเรียน และคนในชุมชน ร่วมกันสร้างโจทย์ในการแก้ปัญหาขยะ โดยเริ่มจากโรงเรียนก่อนเพื่อปลูกจิตสำนึกให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะกับคุณครูและนักเรียน รวมถึงการแปรรูปขยะให้สามารถนำไปขายสร้างเป็นรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชนได้ หลังจากนั้นจึงมีการพัฒนาโครงการวิจัยเพื่อเสนอขอทุนของโครงการฯ เพื่อนำมาต่อยอด และพัฒนาให้เป็นกรณีศึกษากับโรงเรียนหรือชุมชนอื่นที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนกับชุมชนต่อไป”  

ดร.อรุณี กล่าวต่อว่า โจทย์งานวิจัยในครั้งนี้ใช้โรงเรียนบ้านพลายชุมพลเป็นกรณีศึกษา เริ่มตั้งแต่การบูรณาการจัดการขยะเข้ากับการเรียนการสอนของครูในโรงเรียน การสร้างจิตสำนึกเรื่องการคัดแยกขยะด้วยการจัดตั้งธนาคารขยะ การนำขยะมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า สิ่งที่ได้นอกจากจะเป็นรายได้จากการขายขยะแล้วยังเป็นการสร้างจิตสำนึกสาธารณะที่เข้าไปอยู่ในจิตใจของเด็กและเยาวชน และได้เรียนรู้วิธีการออมผ่านกิจกรรมธนาคารขยะ ซึ่งเมื่อเยาวชนเห็นประโยชน์จากการออม ก็สามารถนำไปดำเนินการจัดตั้งเป็นธนาคารขยะในชุมชนได้ต่อไป โดยโครงการร่วมกับโรงเรียนและเทศบาลมีนโยบายต่อยอดเป็นกองทุนขยะ เพื่อนำเงินรายได้จากการขายขยะไปดูแลคนในชุมชน เช่น ผู้ป่วยติดเตียง เงินทุนหมุนเวียน เป็นต้น นอกจากนั้นทางโครงการยังได้ขยายผลลงไปยังระดับครอบครัวและชุมชน ทำให้เห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของพ่อแม่และส่งผลที่ดีต่อชุมชน

“เมื่อเยาวชนมีจิตสำนึกเรื่องการคัดแยกขยะที่โรงเรียน ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมการคัดแยกขยะที่อาจเกิดขึ้นที่ครอบครัว หรือกับชุมชนได้ ดังนั้นเราจึงมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนมีความตื่นตัวและมีจิตสำนึกในการดูแล หวงแหนสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยเมื่อเด็กและเยาวชนเหล่านี้มีจิตสำนึกในเรื่องดังกล่าว พวกเขาก็จะเป็นต้นแบบของการปฏิบัติและส่งผลการปฏิบัติสู่ระดับครอบครัวและชุมชน ดังนั้นการทำวิจัยครั้งนี้จึงเป็นการถอดบทเรียนความสำเร็จของชุมชนสู่บทเรียนการจัดการกองทุนขยะเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ที่นำไปสู่การบูรณาการจัดการขยะร่วมกันของคนในชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนอีกด้วย”

นวัตกรรมเชื่อมต่อเกษตรชุมชนสู่ความยั่งยืน

ดร.สัญญา ควรคิด อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม  จังหวัดนครปฐม หนึ่งในนักวิชาการผู้ได้รับทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลางในหัวข้อ “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะเขือเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนโดยระบบเกษตรแม่นยำสูงอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร” กล่าวว่าโครงการวิจัยนี้มาจากความต้องการที่จะพัฒนางานวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตและส่งเสริมการปลูกมะเขือเทศที่มีประสิทธิภาพสู่ชุมชนท้องถิ่นไทย โดยมุ่งเน้นการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตนและทีมวิจัยจึงเลือกชุมชนในอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนครเป็นพื้นที่กรณีศึกษา เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ในชุมชนได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากฝ่ายขยายผลศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 จังหวัดสกลนคร ให้ปลูกมะเขือเทศเป็นอาชีพเสริมหลังจากการทำนาเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชน อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศประสบกับปัญหาการปลูกมะเขือเทศให้มีประสิทธิภาพส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และไม่สามารถเก็บเกี่ยวเพื่อจัดจำหน่ายได้เพียงพอ

โดยเมื่อคณะวิจัยได้ลงพื้นที่เข้าไปศึกษาสภาพปัญหาจึงพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกมะเขือเทศเป็นอาชีพเสริมภายหลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวที่เป็นอาชีพหลัก ซึ่งตรงกับช่วงฤดูร้อนที่ผลผลิตมะเขือเทศมีราคาแพงและเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก แต่ในความเป็นจริง ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวทำให้การออกดอก ติดผลของมะเขือเทศไม่เต็มที่ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศไม่ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ ประกอบกับเกษตรกรไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องกระบวนการปลูกและผลิตมะเขือเทศที่เพียงพอ ทำให้เกิดโรคและแมลงซึ่งส่งผลต่อผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพและการจัดจำหน่ายได้ราคาต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศประสบปัญหามากมายในกระบวนการปลูกมะเขือเทศ สิ่งนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญที่ทีมวิจัยต้องหันกลับมาคิดเพื่อหาทางออกร่วมกับชาวบ้านในชุมชน จึงนำมาสู่การพัฒนานวัตกรรม “ระบบเกษตรแม่นยำสูง” และสร้างองค์ความรู้ร่วมกับเกษตรกรในชุมชน โดยการนำระบบดังกล่าวมาใช้ในกระบวนการปลูกและเพิ่มผลผลิตมะเขือเทศ เพื่อช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถปลูกมะเขือเทศให้ได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพตลอดทั้งปี

โครงการวิจัยนี้เป็นงานวิจัยชุมชนครั้งแรกที่ตนได้นำเอาองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเชี่ยวชาญอยู่เดิมมาพัฒนาเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ช่วยควบคุมและเพิ่มผลผลิต เป็นการนำแนวคิด เทคโนโลยี และการจัดการมาประยุกต์ใช้ในโรงเรือนสำหรับปลูกมะเขือเทศ ได้แก่ ระบบการให้น้ำและปุ๋ยแบบอัตโนมัติเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดปริมาณ ระยะเวลา ความถี่ในการให้น้ำและปุ๋ย และมีแหล่งพลังงานทดแทนจากระบบโซลาร์เซลล์เป็นแหล่งพลังงานในการทำงานอีกด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มผลผลิตและแก้ปัญหาในการปลูกมะเขือเทศของเกษตรกรชุมชนเต่างอย โดยนำระบบเกษตรแม่นยำสูงมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างองค์ความรู้ร่วมกับชาวบ้าน

“ระบบเกษตรแม่นยำสูง เป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในงานเกษตรกรรม โดยที่เกษตรกรสามารถปรับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ย่อยๆ รวมไปถึงการดูแลผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ ซึ่งยังคงรักษาสภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่”  

นอกจากนั้นเพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะเขือเทศ และมีความรู้เกี่ยวกับระบบเกษตรแม่นยำสูง โครงการฯ ต้องสร้างองค์ความรู้สำหรับชุมชน ที่เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการผลิตมะเขือเทศแบบบูรณาการ ที่มาจากความต้องการของเกษตรกร และการยอมรับนวัตกรรมดังกล่าวมาประยุกต์ใช้เพื่อบริหารจัดการระบบฟาร์มในการเพิ่มผลผลิตของมะเขือเทศ เช่น การให้น้ำและปุ๋ยแบบอัตโนมัติแทนแรงงานคน การสร้างโรงเรือนเพื่อป้องกันแมลง เป็นต้น นำไปสู่การได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัย สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้อีกด้วย

“ สิ่งสำคัญที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ คือการได้ทำความเข้าใจกับคนในชุมชน ว่าชาวบ้านหรือชุมชนประสบปัญหาหรือต้องการอะไร เมื่อเราทราบถึงความต้องการเราก็มาช่วยกันหาทางออกร่วม สิ่งนี้จึงก่อให้เกิดการทำงานที่ร่วมมือร่วมใจกัน ทั้งเรื่องการนำภูมิปัญญาของชาวบ้านกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้กับการทำงาน ส่วนนี้จึงเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นที่จนนำไปสู่การสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง พร้อมกันนี้ตนเชื่อว่าสิ่งที่นำไปถ่ายทอดและสร้างให้กับชุมชน จะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงและความแตกต่างกับวิธีการเพาะปลูกแบบเดิม นำไปสู่การทำให้คนในชุมชนเกิดการปรับตัว เรียนรู้และประยุกต์ใช้เครื่องมือได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ชุมชนเกิดความยั่งยืนและสมดุลมากขึ้นอีกด้วย”