นักวิจัยรุ่นใหม่กับแนวทางการสร้างงานวิจัย เพื่อความยั่งยืนแก่ชนบทไทย

นักวิจัยรุ่นใหม่กับแนวทางการสร้างงานวิจัย เพื่อความยั่งยืนแก่ชนบทไทย

 

เมื่อวันที่ 28 -30 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา มูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมมือจัดงานเวทีเสวนาเชิงปฏิบัติการพื้นที่ชนบทไทย โอกาสและความท้าทายของนักวิจัยรุ่นใหม่ (TSDF –TRF SUSTAINABILITY FORUM)ขึ้น ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่ ด้วยความมุ่งหวังที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาชนบทไทย พร้อมทั้งส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนนักวิจัยให้มีความรู้ ประสบการณ์ และเครื่องมือในการทำงานเชิงพื้นที่ พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการสร้างงานวิจัยที่ช่วยแก้ปัญหาและส่งเสริมให้พื้นที่ชนบทเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยภายในงานมีวีดิโอบันทึกการปาฐกถาพิเศษจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ที่ปรึกษามูลนิธิมั่นพัฒนา และนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ “นักวิจัยรุ่นใหม่กับแนวทางการสร้างงานวิจัยเพื่อความยั่งยืนแก่ชนบทไทย”ซึ่งเป็นการจุดประกายให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาชนบทไทย รวมถึงแนวทางในการทำงาน และการสร้างหัวข้องานวิจัยที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

การวิจัยชุมชนนำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ

เมื่อพูดถึงคำว่า “วิจัย” ส่วนใหญ่เรามักจะให้น้ำหนักไปที่เรื่องของการวิจัยพื้นฐานในความรู้ของศาสตร์    ต่างๆ เพราะว่าการวิจัยพื้นฐานจะเป็นจุดเริ่มของการวิจัยที่นำไปสู่การประยุกต์ผลงานต่อยอดในเรื่องอื่นๆ ได้อีกมากมาย รวมถึงการนำไปสู่การวิจัยชุมชนเช่นกันถ้าลองสังเกตให้ดีอย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลส่วนใหญ่ ก็เกิดจากการที่คนเหล่านั้นเข้าไปเจอปัญหาจากการใช้ความรู้กับชุมชน แล้วนำกลับเอามาศึกษาอย่างเป็นระบบ ใช้เวลาในการศึกษาอย่างจริงจังจนเกิดเป็นองค์ความรู้ ทฤษฎีใหม่ หรือกลายเป็นแนวทางในการปฏิบัติใหม่เกิดขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการได้ นักวิจัยเหล่านั้นก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง แต่สิ่งสำคัญของการวิจัยพื้นฐาน ต้องศึกษาในบริบทและภูมิสังคมของตนเองให้เกิดความเชี่ยวชาญเสียก่อนจึงจะเกิดประโยชน์ที่สุด

“ยกตัวอย่างนักวิชาการหลายคนที่ไปเรียนที่นิวซีแลนด์ ที่ออสเตรเลีย หรือไปเรียนที่อังกฤษมา แล้วก็มาทำวิจัยต่อยอดของอาจารย์ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่อยู่ในเมืองหนาว มันก็ไม่ใช่พื้นที่ไม่ใช่ภูมิสังคมของเรา แล้วเราจะไปสร้างความเป็นเลิศได้อย่างไร เราจะชนะอาจารย์เราได้อย่างไร แต่ถ้าเรามาเริ่มใหม่ในบ้านของเรานะครับ อาจารย์เขาไม่รู้เรื่องของเราหรอก แต่เรารู้ และเรารู้จริงด้วย แล้วค่อยเอาองค์ความรู้ที่ไปเรียนมาจากเมืองนอกมาประยุกต์ใช้กับบ้านเราจึงจะเกิดประโยชน์”

ความยั่งยืนในชุมชนบนแนวทางศาสตร์ของพระราชา

การพัฒนาของประเทศในช่วง 30 –40 ปีมานี้ส่งผลให้เมืองเข้มแข็งขึ้น ทรัพยากรหลายอย่างต่างมาลงอยู่ที่เมืองมากมาย ส่วนชนบทก็กลับอ่อนแอลง และกลายเป็นฝ่ายที่รอจะให้รัฐหรือว่าองค์กรเอกชนเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งกลายเป็นค่านิยมและทัศนคติที่แม้แต่ชาวไร่ชาวนาเองก็คิดแบบนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่นักวิจัยสามารถลงไปช่วยเหลือชาวนาให้พ้นจากความยากจนเหล่านี้ไปได้ โดยการลงไปให้ความรู้แต่ไม่ใช่เป็นความรู้เรื่องการทำนาทำไร่ แต่นักวิจัยต้องลงไปให้ความรู้เรื่องของการบริหารจัดการ พร้อมกับการทำวิจัยช่วยชาวนาแก้ปัญหาไปพร้อมกัน ด้านบทบาทของมหาวิทยาลัยเองก็ควรมีส่วนสนับสนุนให้เกิดหลักสูตรพัฒนาชาวไร่ชาวนาให้กลายเป็นนักบริหารจัดการ เพื่อให้พ้นจากวงจรความจนเหล่านั้น

“เมื่อ 20 กว่าปีก่อน มีอาจารย์กลุ่มหนึ่งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ลงไปทำงานวิจัยในหมู่บ้านชาวนาที่สุพรรณบุรี แล้วนำเอาวิชาความรู้เรื่องการบริหารธุรกิจลงไปสอนชาวนา ให้รู้จักการบริหารการทำนา ตั้งแต่การเลือกพันธุ์การทำนาอย่างไร ให้ลงทุนน้อย แล้วได้ประโยชน์ การทำการตลาดเพื่อให้รู้จักการเพิ่มมูลค่า การสอนทำบัญชีเพื่อเข้าใจเรื่องต้นทุนและกำไรจนเดี๋ยวนี้ชาวนาเหล่านั้นกลายเป็นวิทยากรให้ที่อื่นด้วย”

เมื่อพูดถึงความจน นักวิจัยที่ลงไปทำงานในชุมชนจำเป็นต้องทำความเข้าใจบริบทพื้นที่ และภูมิหลังของชาวนาชาวไร่ เพราะถึงแม้จะเป็นเรื่องความยากจนเช่นเดียวกัน แต่นักวิจัยต้องเข้าใจว่าปัจจัยของความจนนั้นย่อมไม่เหมือนกัน ศักยภาพของชาวนาแต่ละพื้นที่ก็ต่างกัน ด้วยเหตุนี้วิธีการที่จะทำให้ชาวนาชาวไร่พ้นจากความจนก็มีกระบวนการและวิธีที่แตกต่างกันออกไป บทบาทของนักวิจัยที่ลงไปทำงานชุมชนจึงต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน แล้วเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้โดยอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญ การเป็นพี่เลี้ยง ให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการ ดังพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “ช่วยเขาเพื่อให้เขาช่วยตนเองได้”

ความยั่งยืนหรือมิติของการพึ่งพาตนเองได้มี 3 มิติ ได้แก่การพึ่งตนเองทางด้านจิตใจ คือการไปฝึกฝนให้ชาวนาเหล่านั้นมีจิตใจที่กล้าแข็ง มีความรู้ มีความมานะ วิริยะ อุตสาหะ และมีความเชื่อมั่นในตนเองการพึ่งตนเองทางด้านสังคม คือ การให้ชุมชนในชนบทเขาสามารถรวมตัวกันให้แน่นได้ และการพึ่งตนเองทางด้านเศรษฐกิจ คือ การทำให้ชาวนาพึ่งตนเอง มีวีธีแก้จน และสามารถพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้เดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืนสิ่งสำคัญคือต้องทำให้ทั้ง 3 มิตินี้ เกิดขึ้นพร้อมกันอย่างสมดุล ไม่เน้นที่มิติใดมิติหนึ่งเท่านั้น ก็จะทำให้ชาวนามีภูมิคุ้มกัน และเกิดความยั่งยืนในชุมชน

 

ศาสตร์ของพระราชากับการทำงานวิจัยชุมชน

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นแนวทางในการทำงานพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน ที่เราทั้งหลายเคยได้รับรู้มา ก็คือ “เข้าใจ เข้าถึง ร่วมพัฒนา” ถือเป็นแนวทางหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจ ให้นักวิจัยตระหนักต่อการทำงานวิจัย และการพัฒนาอย่างมีภูมิคุ้มกันที่ดี เช่นในเรื่องความเข้าใจต่อชุมชน ก็ไม่ใช่เพียงแค่การลงไปศึกษาหรือทำความเข้าใจโดยผิวเผิน ว่าเขาเป็นอย่างไร ทำมาหากินอย่างไร แล้วตัดสินว่าเราเข้าใจเขาแล้ว แต่ต้องทำความเข้าใจไปถึงต้นเหตุ และความคิดที่ส่งผลต่อการกระทำเหล่านั้น ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการศึกษาที่ยาวนานพอ ยิ่งไปกว่านั้นต้องทำให้ชาวบ้านเข้าใจได้ว่าสิ่งที่นักวิจัยกำลังลงไปศึกษา หรือทำวิจัยจะส่งผลอย่างไรต่อพวกเขา ดังนั้นการเข้าใจนอกจากที่เราจะเข้าใจเขาแล้ว ชาวบ้านเองก็ต้องเข้าใจเราด้วยเหมือนกัน การเข้าถึงชาวบ้านก็ด้วย เมื่อเราเข้าถึงพวกเขาแล้ว พวกเขาก็ต้องสามารถเข้าถึงเราได้อย่างง่ายเช่นกัน

“บางครั้งอาจารย์บอกว่าเข้าถึงหมดรู้หมดเลยว่าบ้านไหนมีรายได้เท่าไหร่ บ้านไหนจน บ้านไหนรวย บ้านไหนเล่นการพนัน แล้วเขารู้ถึงอาจารย์ไหม  เวลาเขาเดือดเนื้อร้อนใจขึ้นมา อาจารย์ไม่ได้อยู่กับเขา เขาจะสามารถเข้าถึงอาจารย์บ้างได้ไหม เขามาติดต่ออาจารย์ แล้วอาจารย์ก็รีบวิ่งไปช่วยเหลือทันทีเลยไหมการเข้าใจและเข้าถึงต้อง 2 ทาง ท่านรับสั่งว่าอย่างนี้ครับ ถ้าต่างคนต่างเข้าใจซึ่งกันและกันแล้ว การร่วมมือกันพัฒนาก็จะง่ายขึ้น”

นอกจากนั้นสิ่งที่ย้ำเตือนสำหรับนักวิจัยที่ลงไปทำงานชุมชน ก็คือ การเข้าถึงชาวบ้าน ต้องเข้าถึงด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ต้องเข้าไปอย่างนอบน้อมให้เหมือนกับว่าเราเป็นลูกหลาน เป็นพี่น้อง ก็จะทำให้เข้าใจและเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น ต้องไม่ดูถูกว่าชาวบ้านรู้น้อยกว่านักวิชาการอย่างเรา เพราะเขาเองก็มีองค์ความรู้ที่นักวิจัยอย่างเราไม่มีเช่นกัน

“ศาสตร์ในโลกนี้ เราอาจจะแบ่งได้เป็น 3 ศาสตร์  ได้แก่ ศาสตร์ชาวบ้านที่ปู่ย่าตายายเราสอนมาเป็นหลายร้อยปี แล้วถ่ายทอดมาจากประสบการณ์ ทำจนเชี่ยวชาญ ซึ่งเราเรียกว่าปราชญ์ชาวบ้าน ศาสตร์สากล ก็คือวิชาที่สอนตามมหาวิทยาลัยทั่วโลก ที่อาจารย์ไปเรียนมา และศาสตร์ของพระราชาซึ่งเป็นศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ได้ค้นคว้าศึกษา และรับสั่งทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม ศาสตร์ของพระราชาเป็นตัวอย่าง ให้นักวิชาการสมัยใหม่ ต้องลงไปหาชาวบ้าน ไปรับรู้ปัญหา ไปรับรู้แนวทางพัฒนา โดยผสมผสานศาสตร์ระหว่างศาสตร์ชาวบ้าน ศาสตร์สากล และศาสตร์ของพระราชา ถ้าอาจารย์เรียนรู้เรื่องได้นะครับ อาจารย์จะไม่เสียเวลาหลงทาง ทำให้งานวิจัย การประยุกต์การออบแบบเพื่อจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชนบทดีขึ้นด้วย”

สามารถติดตามผลการดำเนินกิจกรรมและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ได้ ที่เว็บไซต์ของมูลนิธิมั่นพัฒนา www.tsdf.or.th