CreatingFutureGreatLeaders ปี2 สร้างนักบริหารรุ่นใหม่ “ดีและเก่ง” ขับเคลื่อนธุรกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

CreatingFutureGreatLeaders ปี2 สร้างนักบริหารรุ่นใหม่ “ดีและเก่ง” ขับเคลื่อนธุรกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

 

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา มูลนิธิยุทธสารณนครเพื่อสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย(TMA)ได้จัดหลักสูตรอบรมCreatingFutureGreatLeadersประจำปี 2561 ซึ่งมีวัตถุประสงค์มุ่งค้นหานิสิต นักศึกษา และเยาวชนสาขาการบริหารจัดการธุรกิจจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศให้เข้าร่วมอบรมบ่มเพาะเป็นนักธุรกิจและผู้บริหารรุ่นเยาว์ที่สามารถเรียนรู้ ปรับตัว เข้าสู่โลกธุรกิจยุคใหม่ ตาม FutureGlobalCompetencyและ “สร้างนักบริหารดีและเก่ง”ให้เป็นแบบอย่างแก่เยาวชนไทยต่อไปโดยทางโครงการฯได้รับเกียรติจากผู้บริหารนักธุรกิจระดับแนวหน้าของประเทศที่เต็มไปด้วยศักยภาพและประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจ มาร่วมเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เป็นระยะเวลา 13วัน ระหว่างวันที่  20 มิถุนายน -3 กรกฎาคม 2561ณ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย

คุณวิชัย เบญจรงคกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง จำกัด ในฐานะประธานโครงการ“สร้างนักบริหารดีและเก่ง” กล่าวเปิดโครงการฯ ว่า มูลนิธิฯจัดโครงการต่อเนื่องมาเป็นเวลา 14 ปีแล้ว เพื่อมุ่งหวังให้นักศึกษาได้รับรู้แนวโน้มและกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในโลกการบริหารธุรกิจแนวทางใหม่ เนื่องจากปัจจุบันการบริหารธุรกิจยุคใหม่มีตัวแปรที่สลับซับซ้อนและส่งผลกระทบมากขึ้น ไม่ว่าสถานการณ์การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น การใช้เทคโนโลยีมาช่วยการตัดสินใจธุรกิจบุคลากรในองค์กรมีการแข่งขันมากขึ้นทั้งด้านความรู้และการใช้เครื่องมือต่างๆ หลักสูตรฯนี้จึงเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาในการก้าวเป็นผู้บริหารและผู้นำที่มีศักยภาพทั้งดีและเก่ง รวมถึงมีคุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับสากลได้ต่อไป

“นอกจากหลักสูตรฯจะให้ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่างๆ ของการเป็นผู้นำแล้ว นักศึกษายังได้เรียนรู้และออกพื้นที่จริงเพื่อรับการถ่ายทอดความคิดจากชุมชน หน่วยงาน ภาคเอกชนต่างๆ ซึ่งจะทำให้นิสิตนักศึกษาได้สัมผัสกับประสบการณ์จริงของโลกภายนอกห้องเรียนและที่สำคัญเรามุ่งมั่นให้นักศึกษาได้เห็นมุมมองความคิดของการทำความดี มีคุณธรรมจริยธรรมในการบริหารกิจการซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้บริหารที่จะทำให้องค์กรเกิดความก้าวหน้าประสบความสำเร็จและยั่งยืน”

สำหรับเนื้อหาหลักสูตรตลอดระยะเวลา 13วันของโครงการฯ นั้น จะประกอบด้วยองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่างๆในการก้าวสู่การเป็นผู้บริหารและผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ตาม FutureGlobalCompetencyครอบคลุมเนื้อหาทั้งด้าน BusinessAcumen และด้าน LeadershipEssential เช่น ในเรื่อง BusinessEthic,StrategicThinkingandGlobalMindset,BusinessTransformation Through Digital Disruption,Innovation,Leadership Communication, Design Thinking, Business Etiquette เป็นต้น ในการอบรมได้รับเกียรติจากผู้บริหารและนักธุรกิจชั้นนำของประเทศไทยร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ตรงให้แก่เหล่านิสิตและนักศึกษาตลอดโครงการรวมทั้งการพานิสิต นักศึกษาลงพื้นที่ศึกษาดูงานจริงในชุมชนและบริษัทที่มีชื่อเสียง

คุณสิริมน ณ นคร ManagingDirectorบริษัท โอเพ่นไดอะล็อก จำกัด ในฐานะหัวหน้าโครงการ(ProjectHeadMaster) กล่าวว่าตลอดระยะเวลา 13วัน นอกจากนิสิตนักศึกษาจะได้รับความรู้และทักษะด้านการบริหารต่างๆจากวิทยากรซึ่งเป็นผู้บริหารและนักธุรกิจชั้นแนวหน้าแล้ว นิสิตนักศึกษายังได้ลงมือปฏิบัติการทำแผนธุรกิจภายในโจทย์“เราจะพลิกธุรกิจไทยสู่สากลได้อย่างไร”โดยน้องๆ นิสิต นักศึกษาจะนำข้อมูลความรู้ที่ได้จากวิทยากรมาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้กับการทำแผนธุรกิจต่อไป

“หัวใจหลักในการดูแผนธุรกิจ หรือ BusinessCase ที่ดี จะต้องประกอบด้วย 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่Ploblem คือ การวิเคราะห์ปัญหาที่ชัดเจน และการปรับใช้เพื่อก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจSolution คือ การพัฒนาและการสร้างแบรนด์ได้แก่ การสร้างผลงานทางธุรกิจและการเกิดนวัตกรรรม รวมถึงการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆที่แตกต่างจากที่มีอยู่เดิม และสุดท้ายCommunication&PresentationSkillคือ นอกจากคิดเก่งแล้ว จะต้องอธิบายเป็นคำพูดให้ได้ หรือถ่ายทอดให้คนอื่นได้เก่งด้วย”

ธุรกิจยั่งยืนบนแนวทางของความเป็นไทย

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา ให้เกียรติบรรยายหัวข้อ Sustainable Enterprise: The Thai Approach แก่น้องๆ นิสิตนักศึกษาจากโครงการสร้างนักบริหารดีและเก่งในการอบรมวันแรก โดย ดร.บัณฑูร ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องของการดำเนินธุรกิจกับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เราทุกคนว่าต่างมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแยกออกไม่ได้ ธุรกิจเป็นกลไกทางสังคมที่มีพลังในการสร้างและเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ในขณะเดียวกันธุรกิจก็เป็นส่วนที่สร้างปัญหาให้กับโลก ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การเพิ่มปริมาณขยะ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นำไปสู่ปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ หรือการเกิดปัญหาโลกร้อนที่เรากำลังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ ปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่ก่อเกิดการแย่งชิงทรัพยากร ความไม่เท่าเทียม การบริโภคที่เกินพอดี และความอดอยากขาดแคลนของคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงได้ ที่ร้ายแรงไปกว่านั้นคือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะกลายมาเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเองเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการเรียกร้อง และแนวคิดเรื่องความยั่งยืนขึ้นในเวทีโลกขึ้น ตั้งแต่ ค.ศ.1972 ซึ่งเป็นการประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมครั้งแรกโดยองค์การสหประชาชาติ ณ เมืองสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน หลังจากนั้นมีการขับเคลื่อน โดยการเริ่มก่อตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องสิ่งแวดล้อม คือ UNEP และเกิดสนธิสัญญาต่างๆ มากมาย แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องของความยั่งยืนกลับไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจาก การดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นเพียงการทำกิจกรรม หรือโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วจบไป รวมถึงการขาดกลไกดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มแข็งขององค์การสหประชาชาติ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้จริง ส่งผลให้เกิดการทบทวนต่อเรื่องดังกล่าว เกิดเป็น“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals: SDGs ) 17 ข้อ 169 เป้าประสงค์ 241 ตัวชี้วัดขึ้น เมื่อกันยายน ค.ศ.2015 ซึ่งเป้าหมายทั้งหมด สามารถจัดกลุ่มเป็นเรื่องหลัก 5 เรื่อง (5P) ได้แก่ People, Planet, Prosperity, Peace และ Partnership ทั้งนี้เป้าหมายดังกล่าวจะเป็นจุดร่วมกันของโลกในการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น โดยไม่มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน แต่จะให้แต่ละประเทศที่เข้าร่วมเป็นผู้กำหนดแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมกับปัญหาและบริบทของแต่ละประเทศด้วยตนเอง

ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้นำเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มาเป็นกรอบในการพัฒนาประเทศเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากการกำหนดและจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ20 ปี ซึ่งได้ระบุไว้ในมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ยังได้วางแนวทางและยุทธศาสตร์เพื่อให้ตอบโจทย์ 5 P ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกเป้าประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยยุทธศาสตร์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้อยู่บนแนวคิด “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์ของพระราชา” เพราะสามารถพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ที่ผ่านมาศาสตร์ของพระราชานั้นเป็นแนวทางการพัฒนาที่สามารถส่งเสริม และแก้ปัญหาได้จริงทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และนำไปสู่ความเจริญความก้าวหน้าของประเทศบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้านการขับเคลื่อน SDGs ในภาคธุรกิจมีการจัดตั้งกลุ่มUN Global Compactขึ้น ซึ่งเป็นการรวมตัวของบริษัทภาคเอกชนขนาดใหญ่หลายบริษัทที่ตระหนักถึงเรื่องของความยั่งยืน โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านแรงงาน ด้านสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านคอร์รัปชัน ในประเทศไทยเอง โดยการริเริ่มรวมตัวของ 15 องค์กรชั้นนำ ก่อตั้ง Global Compact Network Thailand เพื่อขับเคลื่อนงานตามแนวทางของ UN Global Compact  ซึ่งมีรูปแบบการความร่วมมือหลายรูปแบบ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้บรรลุความสำเร็จ ได้แก่ ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนด้วยกันเองหลาย ๆ องค์กรเพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ได้แก่ การขจัดความยากจน การแก้ปัญหาเรื่อง Climate Change การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ตลอดจนการสื่อสารสังคม

“การขับเคลื่อน SDGs เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะนำไปสู่การปรับประเทศครั้งใหญ่ และจะสามารถขับเคลื่อนอย่างสำเร็จได้ ด้วยความร่วมมือของทุกคน โดยเฉพาะภาคเอกชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 59 จาก 156 ประเทศในเรื่องความก้าวหน้าการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจากรายงาน SDGs Index and Dashboards ประจำปี 2561 จัดทำโดย Sustainable Development Solutions Network (SDSN)”

จากการเรียนรู้เรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแนวทางการดำเนินธุรกิจในแบบของไทยแล้วนั้น จะทำให้น้องๆ เริ่มเห็นบริบทและก้าวต่อไปของประเทศ เพื่อที่จะสามารถกำหนดทิศทางของธุรกิจให้ตอบโจทย์สังคมไทยอย่างยั่งยืนได้

ทั้งนี้หลังจากการอบรบทั้ง 13 วันแล้ว ได้มีการนำเสนอผลงานและแผนธุรกิจจากนิสิต นักศึกษาทั้ง 5 ทีม ซึ่งในปีนี้ทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศ มาจากทีม School Ranger ซึ่งได้นำเสนอแผนธุรกิจเรื่องPlatform ในการรวบรวมทุนและโครงการ รองชนะเลิศอันดับ 1ทีม 7 Harmonyซึ่งได้นำเสนอแผนธุรกิจเรื่อง ริสแบนด์ช่วยเรื่องความปลอดภัย“KhoWhere”และรองชนะเลิศอันดับ 2ทีม HOW THAI ซึ่งได้นำเสนอแผนธุรกิจเรื่องHerbal Thai Massage “พริ้มไพล (Primplai)”พวกเขาเหล่านี้ จะเป็นความหวังของประเทศในการดำเนินธุรกิจด้วยคุณธรรม และนำธุรกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง