บนเส้นทางสร้าง 'ประโยชน์' ‘เพียงพนอ บุญกล่ำ’

บนเส้นทางสร้าง 'ประโยชน์' ‘เพียงพนอ บุญกล่ำ’

 

เป็นผู้หญิงเก่งที่ปตท.พยายามติดต่อให้มาร่วมงานอยู่นานหลายปี ที่สุดก็ประสบความสำเร็จ ปัจจุบัน "เพียงพนอ บุญกล่ำ"ดำรงตำแหน่งเป็น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกฎหมาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)

เธอบอกว่าถือเป็น "จุดเปลี่ยน" จากเป้าหมายของชีวิตที่ต้องการเป็นนักกฎหมายในสำนักงานกฎหมายมาโดยตลอดไม่ใช่นักกฎหมายในบริษัทที่เรียกว่า In-house ซึ่งที่ผ่านมา เธอสนุกกับบทบาทการเป็นที่ปรึกษา เพราะได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ได้พบเจอผู้คนและเรียนรู้ธุรกิจที่หลากหลาย

คุณเพียงพนอ ได้ทำงานให้กับปตท. ในฐานะที่ปรึกษามาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544  จึงรู้สึกคุ้นเคย เข้าใจข้อจำกัดและวิธีคิดขององค์กรแห่งนี้เป็นอย่างดีอย่างไรก็ตามปัจจัยที่นำมาสู่การตัดสินใจจริงๆคือแนวคิดการ "อุทิศตน" เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติของคุณเพียงพนอเอง ที่ผ่านมาเธอแบ่งเวลาเพื่อไปถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับนักศึกษาในสถาบันการศึกษาหลายแห่งอีกทั้งยังรับเชิญเป็นวิทยากรไปบรรยายในเวทีต่างๆเป็นครั้งคราว แต่มองเห็นว่ายังไม่เกิดประโยชน์ในวงกว้างมากพอ

 "เรามาสะดุดคิดว่าปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นองค์กรใหญ่ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เมื่อพิจารณาตัวเองเห็นว่า ตนเองสั่งสมประสบการณ์มาพอสมควร น่าจะสามารถบริหารจัดการ รับมือกับปัญหา และดูแลเรื่องที่ยากๆได้ เพราะเรื่องของปตท.คงไม่มีง่าย ถ้าเราอยากทำประโยชน์ให้กับสังคม ปตท.ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ดีนอกจากนี้เรายังมีโอกาสสร้างบุคลากรให้กับองค์กรของประเทศด้วย

เมื่อเข้ามาทำงานจริงๆ แล้ว เธอก็ไม่ผิดหวัง เพราะทั้งผู้บริหาร รวมถึงเพื่อนร่วมงานทุกคนในปตท. ล้วนปฏิบัติกับเธอแบบมืออาชีพ คือให้การยอมรับ ความเชื่อมั่นและความเชื่อใจ ไม่แตกต่างไปจากสมัยที่อยู่ในฐานะของที่ปรึกษา สิ่งที่แตกต่างไปคือ เนื้อหาของงาน

"เมื่อเข้ามาอยู่ในตำแหน่งผู้บริหาร เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ ต้องบริหารงานในภาพที่ใหญ่ขึ้นข้อดีของการทำงานตรงนี้คือ ได้มีโอกาสทราบที่มาของการตัดสินใจต่างๆ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ รวมถึงมีบทบาทหรือได้ทำกิจกรรมบางอย่างที่เราสนใจ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจไม่มีโอกาสได้ทำ หากไม่ได้ทำงานใน ปตท."

               

หลักคิด สร้างความสำเร็จ

อาจกล่าวได้ว่า คุณเพียงพนอเป็นคนที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งซึ่งเธอมองว่าปัจจัยความสำเร็จ คือ การมีหลักคิดที่ดี เราต้องชอบในสิ่งที่ทำ มีทัศนคติเปิดรับ และขวนขวายหาความรู้และทักษะที่จำเป็น

"ทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญ EQ สำคัญกว่าIQถ้าเราเปิดใจเรียนรู้ เราจะรู้ว่าตัวเองมีจุดอ่อนจุดแข็ง มีสิ่งที่ควรปรับปรุงอะไรบ้าง ไม่มีอะไรที่มันง่าย แต่ถ้าเราได้ทำสิ่งที่เราชอบ ปัญหา อุปสรรคจะเป็นเรื่องปกติ เราต้องทำอะไรที่เรารัก  และรักในสิ่งที่ทำเราจึงจะทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด ทุกวันนี้ เรายังเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ และยากขึ้นเรื่อยๆด้วย เพราะชีวิตคือการเรียนรู้"

เธอมองว่า เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นักกฎหมายที่ดีจึงควรต้องเรียนรู้อยู่ตลอด อาจเรียกได้ว่า “ตลอดชีวิต” ต้องมีครบทุกทักษะไม่ว่าจะเป็นการฟัง พูด อ่าน และเขียน เพื่อนำมาใช้ในการทำงาน และสร้างโอกาสให้เราเอง

หลายต่อหลายคนมักมีบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจ เป็นต้นแบบความสำเร็จแต่สำหรับคุณเพียงพนอเธอไม่มีบุคคลต้นแบบเฉพาะเจาะจง แต่จะเลือกมุมมอง แง่คิดที่ดี ที่ตรงกับความสนใจของตนเองมาปรับใช้

"ไม่ได้คิดจะต้องเป็นเหมือนใคร เพราะถ้าคิดจะเป็นEinsteinเราก็คงเป็นไม่ได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าใครที่มีอิทธิพลทางความคิดมากที่สุด คงเป็นคุณพ่อของเราเอง"

คุณพ่อของคุณเพียงพนอเป็นเพียงคนธรรมดา ซึ่งมีพื้นเพอยู่จังหวัดพิษณุโลก แต่ถือเป็น "ปราชญ์ชาวบ้าน" เธอยอมรับว่าได้วิธีคิดและวิธีปฏิบัติหลายสิ่งหลายอย่างมาจากคุณพ่อทั้งการรักษาคำพูด และที่สำคัญ เวลาเราทำอะไร เราต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด

"ประโยคสั้นๆ ง่ายๆ ที่ท่านสอนเราตั้งแต่เด็กมีหลายเรื่องเช่น คุณพ่อไม่ได้บอกว่าเราต้องเรียนเก่งที่สุด แต่เราต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุดเต็มกำลังความสามารถ ผลจะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไร เพราะเราควบคุมผลลัพธ์ไม่ได้ คุณพ่อจะไม่ผิดหวังถ้าเราสอบไม่ได้เป็นที่หนึ่ง แต่จะผิดหวังถ้าเราไม่ตั้งใจเรียน ไม่ตั้งใจอ่านหนังสือ ในเรื่องของการเลือกวิชาเรียน สาขาเรียน พ่อก็บอกว่าเราเป็นคนเรียนเพราะฉะนั้นเราต้องตัดสินใจเลือกเอง และเมื่อตัดสินใจแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด"

หลักคิดสำคัญ อีกประการที่คุณพ่อของเธอสอน คือ “อย่าตัดสินคนจากภายนอก” โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักจะมองและตัดสินกันจากภายนอก ซึ่งการเป็นนักกฎหมายที่ต้องพบเจอผู้คนมากมาย คุณเพียงพนอมองว่า การมองคนมีความสำคัญที่ต้องฝึกฝนและทำความเข้าใจ

บนเส้นทางสร้าง \'ประโยชน์\' ‘เพียงพนอ บุญกล่ำ’

ชีวิตที่ดีคือ ชีวิตที่มีสมดุล และมีประโยชน์

การมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จนั้น ไม่ได้หมายถึงต้องทุ่มเทให้กับการทำงานเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องรักษา“ความสมดุลของชีวิต” ไม่ว่าจะเป็นการให้เวลากับครอบครัว หรือการให้เวลากับตัวเอง เช่น การไปเที่ยวผ่อนคลาย และการทำงานอดิเรก ซึ่งสำหรับเธอนั้นไม่ได้แปลว่าต้องแบ่งเท่ากันแบบ 50:50 แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะบริหารจัดการอย่างไรให้เหมาะสม มีความลงตัว

"ตอนที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ เราอาจต้องใช้เวลาไปกับการทำงานเยอะมาก ต้องค้นคว้า ต้องวิ่งติดต่องาน ต้องทุ่มเทมากกว่าเมื่อเทียบกับเวลาที่ให้กับชีวิตส่วนตัว แต่พอเราโตขึ้น หน้าที่การงาน รวมถึงการใช้เวลาก็จะเปลี่ยนไป โดยสรุปแล้ว ชีวิตที่ดีควรต้องมีสมดุลในทุกๆเรื่อง ต้องมีวินัยในการจัดการแง่มุมต่างๆ ของชีวิตถ้าหน้าที่การงานประสบความสำเร็จ แต่ครอบครัวไม่มีความสุขก็ถือว่าเราล้มเหลว ขณะเดียวกันถ้าเราทุ่มเทเวลาอยู่กับครอบครัว มีความสุขกับครอบครัวแต่ทำงานแบบซังกะตายไปวันๆ ไม่ชอบงานที่ทำก็ถือว่าล้มเหลวเหมือนกัน"

เมื่อถามถึงเป้าหมายชีวิต เธอตอบว่า เป้าหมายชีวิตของเธอ คือ การมีชีวิตที่ดี - ชีวิตที่มีประโยชน์

"เราถามตัวเองว่า ชีวิตที่ดีคืออะไร อะไรที่ทำให้เรารู้สึกดี และมีความสุขกับตัวเอง และค้นพบคำตอบว่าไม่จำเป็นว่าต้องมีเงิน มีตำแหน่ง มีฐานะที่ดี ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่ได้ทำประโยชน์ มีคุณค่าและความหมายต่อคนอื่น ซึ่งกว่าจะถึงจุดที่เรารู้สึกดีกับตัวเองได้ แปลว่าเราต้องมีความสุข พอใจกับสิ่งที่ทำ และสิ่งที่ทำนั้นก็เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ได้ช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับคนอื่น ได้แก้ปัญหาให้กับองค์กรและประเทศชาติ หรือได้มีโอกาสในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่เรามีให้กับคนอื่น"

สำหรับการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นนั้น เธอให้ความสำคัญกับการ “สร้างคน” ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องท้าทาย เพราะการสร้างคนไม่ได้มีรูปแบบสำเร็จ เปรียบเสมือนกับการตัดเสื้อผ้าที่ต้องวัดตัวสั่งตัด เพราะแต่ละคนต่างมีจุดเด่น จุดด้อยและความต้องการที่ไม่เหมือนกัน

"พอขึ้นเป็นผู้บริหารหรือเป็นหัวหน้างาน เปรียบเสมือนเราเป็นโค้ช เราต้องจัดสรรมอบหมายงาน และดูแลงาน ถ้าเราลงมือทำงานต่างๆ เอง ลูกน้องในทีมก็จะไม่เก่ง ไม่ได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง อีกทั้งยังหมายถึงว่า เรากำลังใช้ศักยภาพแบบผิดๆ เป็นการทำร้ายลูกน้อง ทำร้ายตัวเอง รวมถึงทำร้ายองค์กรอีกด้วย"

เธอออกตัวว่า เธออาจเป็นเจ้านายหรือผู้สอนงานที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา วิจารณ์ตรงๆ ถ้าเปรียบเป็นครู คงเป็นครูที่ดุ แต่เธอเชื่อว่า เธอเป็นครูที่นักเรียนจะได้เรียนรู้และเมื่อวันเวลาผ่านไปจะเป็นที่จดจำของนักเรียนได้ ในฐานะหัวหน้า เธอต้องการให้ลูกน้องและเพื่อนร่วมงานได้ประโยชน์จากการที่ได้ทำงานร่วมกัน

"สำหรับตัวเอง ลูกน้องจะรักหรือเปล่าไม่เป็นไร ระหว่างเรากับลูกน้องไม่ได้มีเฉพาะเรื่องงานเท่านั้น เราต้องให้หลักคิดทั้งในการทำงาน และหลักคิดในการดำเนินชีวิต เราไม่ชอบออกคำสั่งแต่จะพยายามให้ลูกน้องเกิดความรู้สึกอยากทำและได้ดึงศักยภาพของตัวเองออกมา ถ้าใครมาเพื่อหวังจะได้รับธงคำตอบ เราจะให้เขาไปคิดมาก่อน ถ้าเขาคิดได้คิดเป็น ก็จะเป็นทักษะที่จะติดตัวเขาไปตลอดเราไม่ใช่เจ้านายที่เข้าไปลูบหลังลูบไหล่เวลาลูกน้องไม่สบาย เราจะบอกให้เขาไปกินยา"

เมื่อถามว่าในอนาคตข้างหน้าเธอจะมีจุดเปลี่ยนของชีวิตอีกหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่า  "Never Say Never" อย่างที่คุณเพียงพนอบอกว่า ไม่ควรฟันธงอะไรเนิ่นๆ รวมถึงชีวิตของตัวเธอเองเช่นกัน

"เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเป็นนักกฎหมายภายในบริษัท แต่ในวันนี้เราก็มาเป็น จึงอย่าบอกว่าเราจะไม่ทำอะไร เพราะเรายังไม่รู้ บางเรื่องเป็นเรื่องของจังหวะ เวลา โอกาส ณ ตอนนี้มันอาจไม่ใช่ หรือแม้กระทั่งไม่ได้คิดว่าอยากทำแบบนั้นแต่อนาคตมันอาจใช่ สำหรับตนเอง ตอนนี้ยังไม่ได้คิดว่าในอนาคตจะทำอะไร แต่ที่บอกได้ คือ หากยังมีกำลังอยู่ก็จะทำในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อทั้งเราเอง คนอื่น และสังคม"

บนเส้นทางสร้าง \'ประโยชน์\' ‘เพียงพนอ บุญกล่ำ’