แพทย์ชี้เด็กฉลาดสมองไวพ่อแม่สร้างได้

แพทย์ชี้เด็กฉลาดสมองไวพ่อแม่สร้างได้

 

นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชื่อดังระบุเด็กฉลาดสามารถสร้างได้ แนะเคล็ดลับและเทคนิคพัฒนาสมองด้วยการสร้างไมอีลินเพื่อการทำงานของสมองที่มีประสิทธิภาพเผยต้องทานอาหารครบ5หมู่ ตามช่วงวัยควบคู่กับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม

*ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและกุมารเวชศาสตร์ กล่าวว่า ในอดีตแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามศึกษาค้นคว้ากันมาเป็นระยะเวลานานว่ากลไกที่อยู่เบื้องหลังความเฉลียวฉลาดของมนุษย์คืออะไร ทราบเพียงแต่ว่าสมองเป็นอวัยวะสำคัญต่อบทบาทการรับรู้ การคิดวิเคราะห์ ความสามารถทางสติปัญญา การสื่อสาร และการเคลื่อนไหวของร่างกาย ดังนั้นสมองจึงถือว่ามีส่วนสำคัญต่อความเฉลียวฉลาด ในความเป็นจริงเราสามารถส่งเสริมพัฒนาการสมองลูกเราให้ดีขึ้นได้ โดยมีวิธีกระตุ้นพัฒนาการสมองลูกให้เต็มศักยภาพ ผ่านกระบวนการสร้างไมอีลิน (Myelination) ซึ่งมีความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งสัญญาณประสาทในสมอง

  แพทย์ชี้เด็กฉลาดสมองไวพ่อแม่สร้างได้

*ผศ.นพ.วรสิทธิ์อธิบายว่า ปลอกไมอีลินเป็นส่วนของเซลล์สนับสนุนเซลล์ประสาทที่มาพันรอบส่วนของแขนงประสาทนำออก การที่แขนงประสาทนำออกมีปลอกไมอีลินมาห่อหุ้มจะทำให้การส่งสัญญาณประสาทเป็นไปแบบก้าวกระโดด คือจากจุดหนึ่งกระโดดไปยังอีกจุดหนึ่ง แทนที่จะเป็นการส่งสัญญาณต่อๆ กันในระยะใกล้ซึ่งจะพบในกรณีที่แขนงประสาทนำออกไม่มีปลอกไมอีลินมาห่อหุ้ม เปรียบเทียบได้กับการกระโดด 1 ครั้งย่อมสามารถไปได้ไกลกว่าการเดิน 1 ก้าว จึงสามารถกล่าวได้ว่า การสร้างปลอกไมอีลินจะช่วยทำให้การส่งสัญญาณประสาทเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นกระบวนการที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาสมองของลูกน้อยเป็นอย่างยิ่ง(1-4)โดยเส้นใยประสาทที่มีไมอีลิน จะมีการส่งสัญญาณประสาท เร็วกว่าที่ไม่มีไมอีลินถึง 60 เท่า(5)

แพทย์ชี้เด็กฉลาดสมองไวพ่อแม่สร้างได้

ปัจจุบันแม้ว่าแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จะยังไม่สามารถปรับหรือไปควบคุมการสร้างไมอีลินให้เกิดขึ้นตามต้องการได้โดยตรง แต่เราสามารถส่งเสริมการสร้างไมอีลินได้ โดยการจัดหาสิ่งกระตุ้นที่เหมาะสมกับพัฒนาการของสมองในช่วงนั้น ๆ เช่น ในช่วงขวบปีแรก การฟังเสียงที่หลากหลายและการฟังเสียงดนตรีจะช่วยส่งเสริมการสร้างวงจรประสาทและการสร้างปลอกไมอีลินในส่วนของการรับเสียงและการแปลความหมายของเสียง ส่วนการฝึกการแก้โจทย์ปัญหาจะช่วยพัฒนาวงจรประสาทและการสร้างไมอีลินในสมองส่วนหน้าที่มีบทบาทในด้านการเรียนรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นมากในช่วงวัยเรียน เป็นต้น

นอกจากนี้การได้รับสารอาหารที่พอเพียงก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะปลอกไมอีลินมีองค์ประกอบเป็นไขมันถึงร้อยละ 70

นมแม่ แหล่งอาหารสำคัญในการสร้างปลอกไมอีลิน

นมแม่ มีสารอาหารหลักคือ ไขมัน โปรตีนแลคโตส(6)นอกจากนี้ยังมีสฟิงโกไมอีลิน ซึ่งเป็นไขมันชนิดฟอสโฟไลปิด ที่พบมากในนมแม่(7)นมแม่จึงเป็นแหล่งอาหารสำคัญในการสร้างไมอีลิน หลังจากผ่านพ้นช่วงวัยทารกไปแล้ว อาหารที่เด็กได้รับในแต่ละวันจะเป็นแหล่งสำคัญของวัตถุดิบในกลุ่มไขมันที่จะนำไปใช้ในการสร้างไมอีลิน รวมถึงปัจจัยการเลี้ยงดู กระตุ้นพัฒนาการตามวัยที่เหมาะสมด้วย

ยิ่งส่งสัญญาณหากันได้เร็วยิ่งดี

*ผศ.นพ.วรสิทธิ์กล่าวสรุปว่าการทำงานของสมองในด้านกระบวนการทางสติปัญญาและความเฉลียวฉลาด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำงานของเซลล์ประสาทในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง หรือสมองเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่หากต้องอาศัยการติดต่อเชื่อมโยงวงจรประสาทระหว่างสมองหลายๆ ส่วนให้มาทำงานร่วมกัน จึงจะช่วยให้มนุษย์สามารถคิดได้ วิเคราะห์ได้ วางแผนได้ ยับยั้งและควบคุมตนเองได้ การส่งเสริมการส่งสัญญาณประสาทผ่านวงจรประสาทสามารถกระทำได้โดยการฝึกหรือการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ นอกจากนี้การได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม จะทำให้สมองมีวัตถุดิบเพียงพอในการนำไปใช้สร้างเซลล์ในระบบประสาท ใช้ในการสร้างสารสื่อประสาทและสารเคมีอื่น ๆ รวมไปถึงการสร้างปลอกไมอีลิน อันเป็นพื้นฐานในการส่งสัญญาณประสาทอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

อ้างอิง

  1. Mind’s Machine, 2e, Figure 2.1 The Major Parts of the Neuron. https://2e.mindsmachine.com/figures/02/02.01.html. Textbook Reference: The Nervous System Is Composed of Cells, p. 22
  2. Hiroaki Asou, et al. Development of Oligodendrocyte and Myelination in the Central Nervous System. Keio J Med 44(2), 47-52 (1995)
  3. OtwinLinderkamp, Ludwig Janus, et al. Time Table of Normal Foetal Brain Development. Int. J. Prenatal and Perinatal Psychology and Medicine Vol. 21 (2009) No. 1/2, pp. 4–16
  4. Purves D, Augustine GJ, Fitzpatrick D, et al., editors. Increased Conduction Velocity as a Result of Myelination Neuroscience. 2nd edition. Sunderland (MA): Sinauer Associates; 2001
  5. Nature Education 2010, 3(9):59
  6. Olivia Ballard, JD, et al. Human Milk Composition: Nutrients and Bioactive Factors. PediatrClin North Am. 2013 February ; 60(1): 49–74. doi:10.1016/j.pcl.2012.10.002
  7. Francesca Giuffrida, Cristina Cruz-Hernandez, et al. Quantification of Phospholipids Classes in Human Milk. Lipids (2013) 48:1051–1058