ไขปมคาใจทำไมน้ำมันไทยราคาแพง?

ไขปมคาใจทำไมน้ำมันไทยราคาแพง?

 

ช่วงไม่กี่วันมานี้ คงไม่มีกระแสอะไรจะฮือฮาเท่า กับปัญหาราคาน้ำมันพุ่งสูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบสามปีไม่เพียงสร้างความเดือดร้อนทั่วหน้า แต่ยังมาพร้อมกับความเคลือบแคลงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น? กับสถานการณ์น้ำมันในช่วงนี้อีกผลกระทบที่ตามมาคือข่าวลือสนั่นในโซเชียลที่กำลังแพร่สะพัดไปไกลพอๆ กับกราฟน้ำมันที่พุ่งแรงโดยงานนี้มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องหลอก เรียกว่าบางครั้งประชาชนตาดำๆ อย่างเราอาจแยกไม่ออกว่าเรื่องไหน เชื่อถือได้หรือไม่กันแน่

หากจะตามล่าหาความจริงว่าด้วยเรื่องราคาน้ำมันของประเทศไทยต้องบอกว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อความ “ถูก” หรือ “แพง” นั้นมีที่มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน

วันนี้จึงถือโอกาสเปิดปมทุกข้อกล่าวหาพร้อมบทสรุปทุกข้อสงสัยในแบบที่สืบสาวกันถึงต้นตอว่าที่มาที่ไปของน้ำมันแพงนั้นแท้จริงแล้วเกิดจากอะไรกันแน่

คงต้องเปิดด้วยประเด็นคำถามสุดคาใจคนไทยทั้งประเทศว่า ทำไมน้ำมันไทยถึงแพง?

หนึ่งในข้อเท็จจริงที่ถือเป็นข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งหลายๆ คนรู้กันอยู่แล้วว่าราคาน้ำมันปลีกหน้าปั๊มนั้น หาใช่ค่าน้ำมันแท้จริงไม่ แต่ในราคาน้ำมันหนึ่งลิตร ยังถูกบวกด้วยสารพัดค่าอื่นๆ อีกหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ค่าภาษี ค่าการตลาด ไปจนถึงการแบ่งเงินส่วนหนึ่งที่ต้องส่งเข้ากองทุนน้ำมันให้กับภาครัฐ

ยกตัวอย่าง หากราคาน้ำมันขายปลีกเบนซินแก๊สโซฮอล์95 อยู่ที่ราคาลิตรละ30.25 บาท ราคานี้ประกอบไปด้วยราคาน้ำมัน 19.63 บาท, ภาษีสรรพสามิต  8.38 บาท, ค่าการตลาด 1.19 บาท และกองทุนน้ำมัน 0.45 บาท เรียกว่าราคาต้นทุนน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 65% เท่านั้น นี่จึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมน้ำมันไทยจึงมีราคาแพงทุกแบรนด์และทุกปั๊มนั่นเอง

ไขปมคาใจทำไมน้ำมันไทยราคาแพง?

สำหรับอีกหนึ่งข้อสงสัยต่อมา และมักมีความเข้าใจผิดกันพอสมควร นั่นคือแล้วน้ำมันที่ประเทศไทยเราสามารถผลิตได้เองไปไหน? ทำไมไม่เอามาขายให้คนไทย?หรือมัวแต่ส่งออกไปขายต่างประเทศ แล้วซื้อน้ำมันชาติอื่นกลับมาขายราคาแพงๆ

คำตอบเรื่องนี้ก็คือ ความจริงแล้วแม้ไทยจะมีแท่นขุดเจาะน้ำมัน มีโรงกลั่นเป็นของตัวเอง หากแต่น้ำมันที่ผลิตได้ในประเทศไทยนั้นรองรับความต้องการบริโภคของคนทั้งประเทศได้เพียง20% เรียกว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันไทยต้องนำเข้าน้ำมันมาจากต่างประเทศเพิ่ม

แน่นอนว่า สำหรับการนำเข้าน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจระดับโลก ที่ต้องมีค่าราคากลางของตลาดในการอ้างอิงยกตัวอย่างเช่น ตลาดดูไบเท็กซัสหรือลอนดอน แต่สำหรับประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคละแวกนี้ ล้วนใช้ราคาอ้างอิงน้ำมันของสิงคโปร์เหตุผลง่ายๆ ก็คือเป็นราคากลางที่อยู่ใกล้เรามากที่สุดนั่นเอง และทำให้ไม่ต้องเสียต้นค่าขนส่งแพงๆ ตามระยะทาง

ซึ่งการซื้อน้ำมันหรือนำเข้าจากต่างประเทศ เปรียบเสมือนการซื้อสินค้าในระบบเสรีการค้า ย่อมมีความผกผันตามตัวแปร เรื่องนี้ถือเป็นกลไกตลาดโดยปกติของการทำธุรกิจ

สาเหตุหนึ่งที่ราคาน้ำมันในบ้านเราขยับราคาขึ้น ก็เพราะช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับขึ้นถึง 20% โดยเฉพาะตลาดสิงคโปร์ได้ขยับขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้ก็พุ่งทะลุ90เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แล้วน้ำมันแพงในช่วงนี้  ตกลงว่าเพราะภาษีหรือปรับตัวตามตลาดโลก?

ความจริงแล้ว ภาครัฐมิได้เพิ่มการจัดเก็บภาษีแต่อย่างใด มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 สะท้อนให้เห็นว่า ราคาภาษีน้ำมันนั้นยังคงที่ แต่ราคาน้ำมันในประเทศที่ราคาสูงขึ้นกะทันหันนั้น สาเหตุหลักจึงเกิดจากผลกระทบจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตลอดสองเดือนที่ผ่านมา อย่างที่กล่าวไปในตอนต้น

แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้น้ำมันทั่วโลกราคาสูงขึ้น?

ไขปมคาใจทำไมน้ำมันไทยราคาแพง?

เป็นที่ทราบกันว่า ตลาดน้ำมันโลกจะมีความหวั่นไหวทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์สำคัญระดับโลก ที่ให้บรรดานักลงทุนหรือผู้ผลิตส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกมองว่าสามารถสร้างผลกระทบหรือเสี่ยงต่อโอกาสที่จะขาดแคลนน้ำมันในอนาคตทั้งระยะสั้นและระยะยาว จึงพร้อมใจกันขึ้นราคา

สำหรับสองเดือนที่ผ่านมานั้น ต้นเหตุที่น้ำมันดีดตัวขึ้น เกิดจากหลายปัจจัย

ปัญหาหลักๆ คือปัญหาข้อพิพาทหรือการเมืองระหว่างตัวประเทศเจ้าของบ่อน้ำมันรายใหญ่ เช่นการที่สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นในทันทีและยังเกิดข้อจำกัดในการขนส่งเชลออยล์ด้วยระบบท่อในประเทศ

รวมถึงสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของเวเนซุเอลา ประเทศส่งออกน้ำมันรายสำคัญของโลก ที่ถูกมาตรการคว่ำบาตร และวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดเงินเฟ้อในประเทศ จนส่งผลให้ไม่สามารถผลิตและส่งออกน้ำมันดิบจำหน่ายได้ หรือส่งน้ำมันได้น้อยลง

ขณะเดียวกันประเทศกลุ่ม OPEC และ NON-OPEC ที่เข้ามาแทรกแซงควบคุมราคาน้ำมันเพื่อต้องการให้ราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้น

ไขปมคาใจทำไมน้ำมันไทยราคาแพง?

ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนคือสิ่งที่ชี้ชะตาของราคาน้ำมันทั่วโลก และส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมราคา 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว มาอยู่ที่ระดับ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 40% สรุปได้ว่าแม้ภาษีไม่ได้ขึ้น แต่เหตุที่ราคาขายปลีกบ้านเราแพงขึ้น ก็เพราะมีการขยับปรับตัวตามตลาดโลกนั่นเอง

ประเด็นสุดท้ายของความคาใจ แล้วทำไมราคาน้ำมันเพื่อนบ้านถูกกว่าประเทศไทย?

ต้องยอมรับว่าปัจจัยสำคัญเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ “นโยบายภาษี” และโครงสร้างราคาน้ำมันของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งคำตอบที่ถูกที่สุดคือ มีทั้งไทยถูกกว่า และเพื่อนบ้านถูกกว่า

หากไม่นับประเทศที่ผลิตน้ำมันได้น้อยหรือไม่เพียงพออย่างฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา ฯลฯ ประเทศเหล่านี้ ล้วนราคาน้ำมันแพงสูสีหรือแพงกว่าบ้านเราแน่นอน นั่นเพราะรัฐบาลเก็บภาษีน้ำมันสูงไม่ต่างจากไทย

ขณะเดียวกัน ถ้าเปรียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง มาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน ที่สำคัญยังมีน้ำมันมากกว่าเรา รวมถึงทางรัฐบาลยังมีมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันและไม่มีการจัดเก็บเงินภาษีจากน้ำมันเหมือนไทยจึงทำให้สามารถขายน้ำมันในราคาจริงได้

ในความเป็นจริงจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกันได้เหมาะสมมากนัก