SME Transform 2018 #พร้อมเปลี่ยน “เอสเอ็มอี” ไทยสู่ Global

SME Transform 2018 #พร้อมเปลี่ยน “เอสเอ็มอี” ไทยสู่ Global

 

เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่และกระแสตอบรับดีตามความคาดหมาย มีผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก สำหรับงาน SME Transform #พร้อมเปลี่ยน ประชารัฐร่วมใจ เชื่อม SME ไทยสู่สากล ซึ่งจัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา โดยมุ่งหวังพัฒนาศักยภาพเสริมแกร่งให้เอสเอ็มอีไทยขึ้นสู่ระดับ 4.0 ในระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ อาคารชาเลนเจอร์ฮอลล์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานและแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ประชารัฐร่วมใจ เชื่อม SME ไทยสู่สากล" ว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยจากนี้จะตั้งอยู่บนฐานของการปลูกต้นไม้ขนาดเล็กให้ค่อยๆโตขึ้นมาอย่างแข็งแรง คือว่าด้วย "Entrepreneurial Economy" หรือ เศรษฐกิจผู้ประกอบการไม่ได้ขับเคลื่อนโดยธุรกิจขนาดใหญ่เหมือนเช่นในอดีต  แน่นอนว่าผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเปรียบเหมือน "คนตัวเล็ก" จึงถือเป็นกำลังหลักที่มีความสำคัญ 

ในปัจจุบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs มีจำนวนกว่า 3 ล้านกิจการ คิดเป็นร้อยละ 99.7 ของจำนวนวิสาหกิจทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 10 ล้านคน  ถือเป็นห่วงโซ่การผลิตและเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่แท้จริง รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งให้ความสำคัญในการส่งเสริม SMEs ได้กำหนดให้การพัฒนา SMEs เป็นวาระแห่งชาติ ผ่านการขับเคลื่อนตามแนวคิด "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ผ่านกลไก "ประชารัฐ" โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นแกนหลักในการประสานและบูรณาการงานส่งเสริม SMEs ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และภาคการศึกษาที่เกี่ยวข้องในรูปแบบประชารัฐ เพื่อให้การส่งเสริม SMEs เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตามแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่  "ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน"

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า  ในเวลานี้เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ประกอบการ SMEsและสตาร์ทอัพทั่วโลกกำลังมีบทบาทที่ชัดเจนในฐานะบ่อเกิดแห่งนวัตกรรม และพลังสร้างสรรค์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่หรือยุค 4.0  ทั้งนี้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ดิจิทัล และอินเตอร์เน็ตถือเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการตัวเล็กๆ สามารถพัฒนาสินค้า บริการให้เกิดนวัตกรรมขึ้นได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามประเทศไทยเองก็กำลังจะเกิดภาพนี้เช่นเดียวกัน หากแต่ SMEs และสตาร์ทอัพไทยยังคงมีความท้าทายในเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยี การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆที่จำเป็น  การขาดทักษะและองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจที่สร้างความสามารถในการแข่งขันในโลกยุคใหม่ รวมถึงเรื่องของโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

"ด้วยเหตุนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับสสว.  และ SME Development Bank  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันจัดทำชุดมาตรการ ที่มุ่งเน้นให้ SMEs และสตาร์ทอัพไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่  ทักษะที่มีความจำเป็นในการประกอบกิจการเพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้ในยุคดิจิทัล และได้มีการจัดงานครั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้ถึงแนวทางและโอกาสในการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้กับ SMEs และสตาร์ทอัพ พร้อมกับแนะนำชุดมาตรการส่งเสริม 9 มาตรการ เกี่ยวกับความช่วยเหลือทางด้านการเงิน ซึ่งได้มีการปรับให้สอดคล้องและตอบสนองกับ SMEs ทุกกลุ่ม ทุกระดับ ทั่วประเทศเพื่อก้าวไปสุ่ยุค 4.0 ได้อย่างเข้มแข็งเพื่อเป็นกำลังใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เจริญเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน" ดร.อุตตม กล่าว

โดยภายในงานมีโซนกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย โซนเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง พบกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เกิดมูลค่าเพิ่ม นำสู่การยกระดับวิสาหกิจชุมชนสู่นักธุรกิจมืออาชีพ ซึ่งหนึ่งในชุมชนเข้มแข็งที่มาร่วมกิจกรรมคือ “บ้านเชียง” ชุมชนที่เดิมมีผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง เป็นสินค้าเอกลักษณ์ของชุมชน และหลังจากได้รับคำแนะนำจากทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ท้องถิ่นเพื่อต่อยอดการพัฒนาสินค้าใหม่ เพิ่มโอกาสทางการตลาด และพัฒนากระบวนการผลิตของสินค้าเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงที่เป็นศิลปะดั้งเดิมกว่าพันปี มาปรับปรุงพัฒนาทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมากขึ้น

“เดิมใช้เทคโนโลยีแบบเก่าคือเตาเผา ทางกรมฯ ได้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเผาจากศูนย์เซรามิคลำปางมาให้คำแนะนำและพัฒนาให้ประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดระยะสองปี สามารถช่วยลดต้นทุน ลดความสูญเสียให้  และยังเพิ่มผลิตภาพมากขึ้น”

ในด้านโซนพลิกโอกาสสร้างธุรกิจ (Startup Zone)สำหรับผู้ที่พกความฝันคิดจะเป็นผู้ประกอบการก็ต้องมาแสวงหาไอเดียที่โซนนี้ เพราะจะมีผลงานแสดงของนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ พร้อมกับบริการต่างๆที่ช่วยเสริมศักยภาพสู่การเป็นสตาร์ทอัพ อาทิ แบรนด์ “Lemon ME” สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่พัฒนานวัตกรรมนำมูลไส้เดือนมาแปลงเป็นเจลแทนปุ๋ยสารเคมีในการปลูกผักไฮโดรโปรนิก ที่ทำให้ผักมีความปลอดภัยกว่า และผลิตภัณฑ์มาจิกุ นวัตกรรมกะเปาะแก้ว powerbank น้ำหยดสำหรับการปลูกต้นไม้ขนาดเล็กที่อยู่ได้ยาวนาน 3-5 วัน ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ร่วมพัฒนาภายใต้การดูแลของ UPI ของกระทรวงอุตสาหกรรม ปัจจุบันธุรกิจกำลังเข้าโมเดิร์นเทรด และอนาคตจะวางแผนขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ

สำหรับโซนปรับเปลี่ยนยกระดับธุรกิจ (Spring Up Zone) เป็นโซนที่จัดแสดงเครื่องมือยุคใหม่  รวมไปถึงเทคโนโลยีดิจิทัล อินเตอร์เน็ต และไอโอทีที่มีความสำคัญยิ่งต่อการประกอบธุรกิจในโลกยุคนี้  พร้อมกับมีคำแนะนำสำหรับ SMEs จาก Big Brother บริษัทรายใหญ่หรือพี่ใหญ่ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ SMEs เกิดการเติบโตอย่างมั่นคง และพร้อมขยายโอกาสไปสู่ตลาดระดับโลก   

เช่นเดียวกับโซน SME ONE  ที่เป็นวันสต็อปช่วยเชื่อมต่อทุกความต้องการธุรกิจ  คือมาจุดเดียวจะมีครบทุกหน่วยงานที่ให้บริการปรึกษา ให้คำแนะนำทางธุรกิจแบบครบวงจรแก่ SMEs  ซึ่งถือเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อนของหน่วยงานต่างๆ ที่ให้การส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการแบบครบถ้วน รวมถึงโซนการเงินเสริมแกร่ง (Financial Zone) เพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย รวดเร็ว ด้วยแพ็คเก็จสินเชื่อ SMEs  จากทุกธนาคารในโปรโมชั่นสุดพิเศษ สำหรับ SMEs ทุกระดับ และโซนช็อปสินค้าดีมีคุณภาพ  (Premium Product) แหล่งรวมสินค้า SMEs คุณภาพดี ได้มาตรฐานในราคาโรงงานอีกด้วย

ด้าน รัตนาภรณ์ บันเทิงจิต เจ้าของผลิตภัณฑ์เงาะอบแห้งนาสาร แบรนด์ไอยะ (I Yha ) ได้ต่อยอดธุรกิจสวนเงินของครอบครัวกว่าหกสิบปีโดยนำมาแปรรูป กล่าวว่า จากเดิมผลิตผลต้องขายราคาตามราคาตลาด ไม่สามารถควบคุมได้

แต่หลังได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักวิจัยนวัตกรรมในด้านเทคโนโลยีพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการประชารัฐ จึงมีการยกระดับผ่านการแปรรูป มีส่งเสริมบรรจุภัณฑ์และวางแผนการตลาด โดยยังได้รับสินเชื่อตามกองทุนสินเชื่อเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐสามล้านบาทเพื่อลงทุนด้านเครื่องจักรในการผลิต ทำให้วางจำหน่ายได้ตลอดปี และยังขยายตลาดส่งออกต่างประเทศ”

สำหรับการจัดงาน SME Transform #พร้อมเปลี่ยน ประชารัฐร่วมใจ เชื่อม SME ไทยสู่สากล ในครั้งนี้ นับเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลตามกรอบแนวทาง “ประเทศไทย 4.0”  เพื่อหวังให้ SMEsไทย ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล ด้วยการบริหารจัดการการโดยใช้เทคโนโลยีและ ภูมิปัญญา ทั้งยังมีเป้าหมายทำให้ “GDP SME” เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ 36  เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2564