“พอแล้วดี” The Creator รุ่น 3 ค้นหาคุณค่าของแบรนด์ เพื่อการสื่อสารที่พอดี

“พอแล้วดี” The Creator รุ่น 3 ค้นหาคุณค่าของแบรนด์ เพื่อการสื่อสารที่พอดี

 

โครงการ “พอแล้วดี” The Creator รุ่น 3 จัดอบรมอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อมุ่งหวังให้นักธุรกิจรุ่นใหม่จำนวน 15 ธุรกิจ ได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีแนวคิดของความพอดี มีภูมิคุ้มกันในการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน พร้อมทั้งสามารถสร้างสรรค์คุณค่าให้กับสังคมได้ โดยการอบรมครั้งนี้เน้นเรื่องการค้นหาอัตลักษณ์และการสร้างแบรนด์อย่างพอดี รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์ ซึ่งจะช่วยสื่อสารแบรนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากรุ่นพี่ The Creator และเจ้าของธุรกิจที่มีชื่อเสียงมากมาย

อัตลักษณ์ของเรา สื่อสารให้ดีและดีพอ

คุณนภนีรา รักษาสุข ผู้ก่อตั้งบริษัทยินดีดีไซน์ ครีเอทีฟมืออาชีพที่คร่ำหวอดในวงการออกแบบมาเป็นเวลานาน การันตีด้วยผลงานรางวัลยอดเยี่ยมจากหลายเวที ได้ร่วมเป็นหนึ่งในโค้ชของโครงการฯ เพื่อมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) อย่างพอดี

“เพราะคนส่วนใหญ่จะตัดสินเรื่องต่างๆ จากสิ่งที่พวกเขาเห็นโดยใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที บวกกับประสบการณ์เดิมของแต่ละคน”

ด้วยเหตุนี้การสร้างตัวตนเพื่อที่จะสื่อสารให้คนภายนอกเห็นและรับรู้ จึงต้องสร้างจากตัวตนภายในของเรา จากความรู้สึกรับผิดชอบของเรา และต้องทำซ้ำๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดเป็นภาพจำแก่คนภายนอก สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราสามารถสื่อสารตัวตนออกไปได้อย่างชัดเจน ก็คือการที่เราต้องกลับมาทบทวนตัวเองเพื่อหาว่าอะไรคือจุดเด่น หรือความแตกต่างที่เรามีไม่เหมือนคนอื่น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถกำหนดจุดยืน และตำแหน่งของสินค้าหรือบริการของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อเราสามารถสร้างความชัดเจนของอัตลักษณ์ได้แล้ว เราก็จะมีกลุ่มลูกค้าที่เข้าใจความเป็นตัวเรา และเลือกเราจากสิ่งที่เราเป็นโดยไม่นำไปเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่น ในที่สุดเรื่องของราคาที่เคยเป็นตัวกำหนดในการเลือกใช้สินค้าและบริการก็จะไม่ใช่สิ่งสำคัญของการแข่งขันทางธุรกิจอีกต่อไป ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การที่เราทำแบรนด์ให้ชัดเจน จะช่วยให้เรามีพลังในการทำสิ่งดีๆ เพื่อส่งต่อให้กับคนอื่นๆ อีกมากมาย

การสร้าง Brand Identity เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว คุณนภนีราได้ให้แนวทางในการสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ไว้ดังนี้ สิ่งแรกคือ เจ้าของแบรนด์ต้องกำหนดระบบอัตลักษณ์ที่สามารถถ่ายทอดความเป็นตัวตนได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโลโก้ สีสันที่ใช้ รูปแบบตัวอักษร รูปภาพ รูปทรง และองค์ประกอบต่างๆ ให้มีความเหมาะสม แต่สิ่งสำคัญคือ อย่ายึดติดกับสูตรสำเร็จจนเกินไป (The rule is there is no rule) หากเราไม่รู้ว่าจะสร้างมันอย่างไรก็ให้ศึกษาหรือเรียนรู้จากแบรนด์อื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จ แต่ต้องเป็นการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจ และสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ใช่การลอกเลียนแบบ เรื่องต่อมาคือ แบรนด์ต้องมีความสมดุลในสิ่งที่เราเป็น กับสิ่งที่เราอยากให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็นอย่างไร เรื่องที่สาม การทำแบรนด์ ต้องมีความชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นต้องมีการวางแผนที่ดีว่าเราจะสื่อสารมันออกไปได้อย่างไร และต้องสื่อสารอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และสุดท้าย แบรนด์ต้องมีความซื่อตรง รับผิดชอบต่อตนเอง สังคม และโลกของเรา ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นได้ว่าการสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ก็มีแนวคิดที่คล้ายคลึงกับหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นั่นคือต้องประมาณตนเองรู้จักตนเองให้ดี รู้ว่าเราจะสื่อสารอะไร กับใครอย่างเหมาะสม ต้องมีความรู้ในการออกแบบ นอกจากนั้นต้องรู้จักวางแผนให้รอบคอบ และที่สำคัญคือแบรนด์ต้องมีคุณธรรม สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ และเกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

กฎเหล็กของการสร้างอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์ คือการค้นหาคุณค่าของแบรนด์ เพื่อสื่อสารไปยังผู้บริโภค ดังนั้นคุณค่าของแบรนด์คือสิ่งที่สำคัญที่ธุรกิจต้องสื่อสารให้ดี เพื่อให้เกิดความพอดีของการสร้างแบรนด์

“บรรจุภัณฑ์ บรรจุแบรนด์”

คุณอนุชิต ปัญญาวัชระ Director of New Possibilities บริษัทยินดีดีไซน์ โค้ชอีกหนึ่งท่านของโครงการฯ ได้มาถ่ายทอดบทเรียนเรื่อง “Sensible Packaging” ให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ได้เข้าใจถึงความสำคัญของการออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหลายคนมักเข้าใจว่าบรรจุภัณฑ์เป็นเพียงสิ่งที่ห้อหุ้มสินค้า แต่แท้จริงแล้วมันคือสิ่งที่ห่อหุ้มแบรนด์ทั้งแบรนด์ในทุก touch point ต้องสามารถสะท้อนความเป็นตัวตน บุคลิก และคุณค่าที่ชัดเจนของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

“กว่าที่เราจะผลิตสินค้าหรือบริการอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง เราต้องใช้เวลาในการคิดค้น ทดลอง และพัฒนาเป็นเวลานาน กว่าที่จะสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาได้ ดังนั้นบรรจุภัณฑ์ที่นำมาห่อหุ้ม จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเช่นเดียวกับสินค้าและบริการนั้นได้ ทำให้ลูกค้าได้เห็นว่านั่นคือการส่งมอบด้วยใจ หากสินค้าดี แต่บรรจุภัณฑ์ไม่ดีหรือไม่ไปในทิศทางเดียวกัน สิ่งที่เราพยายามสร้างขึ้นมาทั้งหมดก็จะไม่มีความหมาย”

คุณอนุชิตได้แนะนำแนวทางในการสร้างบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพว่า บรรจุภัณฑ์ที่ดีนั้นจะต้องสามารถส่งมอบความเป็นแบรนด์ของเราให้คนอื่นเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด ต้องแข็งแรงทนทาน สามารถปกป้องสิ่งที่อยู่ภายในได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นต้องสามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ได้อย่างเหมาะสม ต้องสะท้อนความคิด รวมถึงถ่ายทอดความเป็นแบรนด์ได้อย่างชัดเจน ข้อมูลที่ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์ต้องมีความเหมาะสม ถูกต้อง โปร่งใส และพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป แต่ต้องเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคควรรู้ และสุดท้ายคือ บรรจุภัณฑ์นั้นต้องรักษ์โลก และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

“ถ้าคุณทำแบรนด์ออกมาดีและชัด คนที่เอาไอเดียเราไปใช้ ก็จะส่งผลต่อเรื่องการจดจำแบรนด์มายังแบรนด์ของเราได้ ถ้าคุณทำแบรนด์ดี ก็เหมือนกับคุณมีกระปุกออมสินใบใหญ่ ทุกการลงทุนมันจะส่งผลกลับถึงแบรนด์ของเรา ถึงแม้ว่าคนอื่นจะลงทุนในแบรนด์ของเขา แต่คนก็จะนึกถึงแบรนด์ของเรา เราเองก็ได้ผลประโยชน์จากการลงทุนของคนอื่นไปด้วย ในขณะเดียวกันถ้าเราทำแบรนด์หรืองานออกแบบไม่ดี ก็อาจทำให้ลูกค้าเปลี่ยนไปนึกถึงแบรนด์อื่นแทน”

สร้างสุข เพื่อแบ่งปัน

คุณมาริสา เชื้อวิวัฒน์ People Skills Development Consultant หนึ่งในโค้ชของโครงการฯ มาร่วมบรรยายเรื่อง “การสร้างสุขเพื่อการแบ่งปัน ​(People Development)” ว่า การสร้างความสุขให้กับตัวเองบนพื้นฐานของความพอดีนั้น ต้องเริ่มจากการรู้จักตนเอง รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดี และอะไรคือความสุข หากเรารู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีกับตนเอง มันจะช่วยให้เราสามารถเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ และเป็นหลักให้กับการก้าวเดินไปในทุกกิจกรรมที่ทำให้เราสามารถนำความสุขเหล่านั้นมาดำเนินชีวิต เมื่อเรามีความสุขเราก็สามารถนำความสุขเหล่านั้นแบ่งปันไปให้กับคนรอบข้างหรือสังคมได้ ในที่นี้ยกตัวอย่างถึงการวัดดัชนีความสุขมวลรวมของชาติในแบบฉบับของประเทศภูฏาน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าหลักของความสุขมวลรวมของชาตินั้น มีความคล้ายคลึงกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นั่นคือการรู้ตัวตน รู้พอดี รู้และเข้าใจว่า เราจะสร้างความสุขให้กับตัวเองได้อย่างไร

ในเรื่องของการสร้างความสุขที่ดูเหมือนจะเป็นนามธรรม แต่เราสามารถนำมาปรับใช้กับการบริหารความสุขในชีวิตประจำวันได้ ด้วยการเชื่อมโยงกับแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ที่เริ่มจากการรู้จักตนเอง ว่าอะไรคือความสุขที่ ‘พอดี’ กับตน และรู้จักใช้ประโยชน์กับความสุขบนหลักของเหตุผลที่ไม่มากไปหรือน้อยไป เพราะเราจะพบว่ามนุษย์ ถ้ามีความสุข เราจะมีภูมิคุ้มกัน นั่นคือเวลาเรามีความสุข เราจะสร้างเกราะคุ้มกันให้กับตัวเองได้ นอกจากนั้นในส่วนของ 2 เงื่อนไข เราจะเห็นว่ามีกรอบของความรู้ คือเราจะรู้ว่า เราจะทำอะไรเพื่อที่จะนำไปสู่ความสุขนั้น ความสุขต้องปลูกฝัง เราจึงจะได้มา และเราไม่ได้ต้องการความสุขที่ยิ่งใหญ่ แต่ขอให้เกิดคุณค่าของการมีความสุขในทุกๆ วัน จากนั้นพอเรามีความสุข เราจะรู้สึกอยากจะแบ่งปันความสุขนั้นให้กับคนหรือสังคมรอบๆ ข้าง ซึ่งคือคุณธรรมที่เกิดขึ้นนั่นเอง"

คุณมาริสา เน้นย้ำว่า การบริหารความสุขจะทำให้มนุษย์สามารถทำงานได้อย่างดี และประสบความสำเร็จ การใช้ทักษะการสร้างความสุขให้เกิดขึ้น อาจทำได้กับตัวบุคคล ขยายผลไปถึงระดับองค์กร และหน่วยธุรกิจ ซึ่งหากเรียนรู้ และเข้าใจวิธีการสร้างความสุขแล้ว ก็ไม่ต้องอาศัยตัวช่วยใดๆ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประสิทธิภาพ เพราะประสิทธิภาพเกิดจากความสุขใจที่ได้ลงมือกระทำ ดังนั้นเมื่อเรามีทักษะการสร้างความสุขให้ตัวเอง จะทำให้เราสามารถเผื่อแผ่ความสุขไปถึงคนรอบข้างได้ด้วย

เนื้อหาเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่วิทยากรซึ่งมากด้วยประสบการณ์และความสามารถ ได้นำมาถ่ายทอดให้กับบรรดานักธุรกิจรุ่นใหม่ ทางโครงการฯ ยังมีสาระความรู้ที่น่าสนใจอีกมากมายจากการอบรม โดยโครงการฯ เปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจจากภายนอก สามารถเข้าร่วมสัมผัสประสบการณ์จริงของกิจกรรมห้องเรียนรู้ “พอแล้วดี” The Creator เพียงลงทะเบียนเข้าร่วมฟังการอบรม และเวิร์กชอปในครั้งต่อไป หรือรับชมการถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง  YouTube และ Facebook Fan page พอแล้วดี The Creator” ได้ในทุกการอบรมอีกด้วย หรือสามารถติดตามรายละเอียดของโครงการได้ทางเว็บไซต์ www.PorLaewDeeTheCreator.com