เปิดสูตรคิดรอบรั้ว ‘เอสซี แอสเสท’

เปิดสูตรคิดรอบรั้ว ‘เอสซี แอสเสท’

 

ซ้ายสุด ม.ล.จิรทิพย์ เทวกุล นักวิจัยและสถาปนิกของศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ มจธ., ที่ 2 จากซ้าย ดร.ชำนาญ ติรภาส อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ., โฉมชฎา กุลดิลก Head of Corporate Brand และ ณัฏฐกิตติ์ ศิริรัตน์ Head of Marketing

เพื่อฝ่าพายุดิจิทัลและบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา “เอสซี แอสเสท” ประกาศโรดแมพ “SC RE-INVENTION 2020” รื้อความคิดสิ่งมีอยู่เดิมทิ้งและสร้างขึ้นใหม่ ทั้งปรับบทบาทจาก Developer ก้าวสู่ Living Solutions Provider

ล่าสุดเอสซี แอสเสท จับมือกับ “REDEK” ศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ ภายใต้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตั้งโครงการวิจัยชื่อ “Delphi” เพื่อการออกแบบโครงการแนวราบและพัฒนาพื้นที่ส่วนกลางภายในและโดยรอบบริเวณในอนาคตของโครงการที่เป็นไฮไลท์ในปีนี้ ใน 2 ทำเล ได้แก่ บริเวณกรุงเทพกรีฑากว่า 115 ไร่ และที่ บางกะดี จ.ปทุมธานีกว่า 240 ไร่

โดยมีจุดมุ่งหมายจะคิด “รอบรั้ว” ไม่เพียงแค่คนข้างในแต่ต้องการให้ความสำคัญกับผู้ที่อยู่อาศัยโดยรอบด้วยแน่นอนว่าโดยทั่วๆ ไป Developer ก็มักคิดเรื่องราวแค่ “ในรั้ว” โฟกัสเพียงแค่ลูกค้าที่ซื้อบ้านเท่านั้น

“โฉมชฎา กุลดิลก” Head of Corporate Brand และ “ณัฏฐกิตติ์ ศิริรัตน์” Head of Marketing บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกัน เปิดเผยถึงแนวคิดว่า เมื่อบริษัทได้ที่ดิน 2 แปลงดังที่กล่าวข้างต้นมาซึ่งถือว่าเป็นที่ดินผืนใหญ่ จึงอยากจะพัฒนาให้เป็นโครงการที่อยู่อาศัยที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งผู้อยู่อาศัย หรือลูกบ้าน รวมไปถึงคนภายในชุมชน จึงนำมาสู่การทำงานร่วมกับ REDEK “แน่นอนว่าเรื่องในรั้วเรารู้ดีที่สุดแล้ว แต่เราไม่รู้ว่าคนที่อยู่ในชุมชนเขาต้องการอะไร ดังนั้นเราคงทำเพียงลำพังไม่ได้ ต้องไปชวนผู้ที่มีความรู้มีความเชี่ยวชาญและมีวิธีการมาช่วย ซึ่งการมองแนวคิดแบบ Township ของภาคการศึกษาจะแตกต่างไป คือเขาไม่ได้มองผลกระทบเพียงแค่ลูกค้าของเรา แต่จะมองถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในระบบนิเวศเดียวกันทั้งหมด”

ทำไมใช้ชื่อ Delphi? มีคำตอบว่า คำๆ นี้เป็นชื่อเมืองในประเทศกรีซ ซึ่งก่อตั้งมาเกือบ 3 พันปีแล้ว ปัจจุบันเมืองนี้ก็ยังมีอยู่ ตามตำราบอกว่าเมืองนี้้ถือเป็นสะดือของโลก ทั้งยังเป็นที่ตั้งของวิหารอพอลโลและออราเคิล เทพพยากรณ์ ที่มีชาวกรีซศรัทธามากที่สุดทำให้ผู้คนต่างเดินทางหลั่งไหลเข้ามาส่งผลให้เมืองเจริญยิ่งขึ้น กล่าวโดยสรุปก็คือการเกิดขึ้นของเมือง Delphi แท้จริงนั้นเกิดขึ้นจากมนุษย์ กระทั่งสร้างแรงบันดาลใจและนำมาสู่โครงการวิจัยในครั้งนี้

ด้าน “ดร.ชำนาญ ติรภาส” อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. ผู้บริหาร REDEK หัวหน้าโครงการ เล่าถึงการตั้งโจทย์การทำวิจัยว่าไม่เพียงแค่ปัจจุบันแต่มีการมองไกลไปถึงความต้องการในอนาคตด้วย เพื่อให้รู้ความคิดและพฤติกรรมของผู้คนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาแต่ขอบเขตเนื้อหาหลักๆ จะมีอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ 1.Future Living
Trend ศึกษาถึงแนวโน้มการอยู่อาศัยในอนาคตว่าน่าจะเป็นอย่างไร 2.Site & Program Analysis ศึกษาลักษณะพื้นที่โครงการและบริเวณโดยรอบ ทั้งด้านกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ และ 3.Users Behavior Analysis ศึกษาพฤติกรรมความต้องการ ความคาดหวังของผู้อยู่อาศัยหรือลูกค้าโดยใช้หลักการ “Design Thinking”

“ในเรื่องของเทรนด์ในอนาคต เราตั้งโจทย์ว่า อะไรจะเป็นเหตุผลให้คนที่อยู่คอนโดฯ ในเมืองตัดสินใจย้ายออกไปอยู่บ้านเดี่ยวหรือทาวน์โฮมที่อยู่ชานเมือง เรื่องแรก ว่าด้วยอิมเมจของเอสซี แอสเสท สองเป็นเทรนด์เรื่องสุขภาพ การเข้าสู่สังคมสูงวัย และการดูแลใส่ใจสุขภาพมากขึ้น สุดท้ายเป็นเรื่อง Homelife and Neighbourhood สังคมเมืองตื่นเช้ามาก็ไปทำงาน
กลับมาก็นอน ปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจก็เพราะเขาอยากได้สังคมที่อบอุ่นมีเพื่อนบ้าน นอกจากนี้แนวโน้มการทำงานที่บ้านก็น่าจะมีมากขึ้น”

ส่วนการวิจัยด้านพื้นที่นั้น เป็นการลงไปสำรวจบริบทโดยรอบของทั้งสองทำเลทั้งเรื่องสาธารณูปโภค โครงการต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงความคิดเห็นพฤติกรรมผู้คนที่อยู่ในชุมชนนั้นๆ ด้วยสุดท้ายเป็นการเจาะตรง ที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็น
การสำรวจโดยใช้วิธีสัมภาษณ์และขอติดตามสังเกตพฤติกรรม ดร.ชำนาญ กล่าวสรุปว่า การวิจัยในครั้งนี้เป็นการทำครบทั้งเรื่องคน พื้นที่และภาพอนาคต เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า โครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องแก้ Pain อย่างไรให้ถูกต้องตรงตามหลัก “Human-Centric”

“ในยุคดิจิทัลกลายเป็นว่า คนสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ มีไม่น้อยที่ทำงานที่บ้าน เราเชื่อว่าความน่าอยู่ของบ้านจึงไม่ใช่แค่ตอนนอนกับตอนตื่นเท่านั้นแต่มันคือทั้งวัน ดังนั้น Journey ของคนจึงอยู่ในย่านแถวๆ บ้านแปลว่าความน่าอยู่มันก็คือย่านที่อยู่อาศัย เอสซี แอสเสท เลยคิดทำโครงการและชุมชนที่อยู่ใกล้ๆ ให้น่าอยู่ แต่การทำ Living Solutions เราคงไม่สามารถทำเองได้ทุกอย่าง แต่เรา เป็น Provider ได้ ถ้าผลวิจัยบอกว่ามี Pain เรื่องการเดินทางเราจะไปชวนแกร็บมาให้บริการ ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพก็มีโรงพยาบาลพระรามเก้าเป็นเครือข่าย หรือถ้าอยากล้างรถเราก็มีฟิกซิ ถ้าอยากขี่จักรยานเราก็มีโอโฟ่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็รอผลวิจัยซึ่งใช้เวลา 3 เดือน” โฉมชฎากล่าว

“Co-Creation” ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญของ เอสซี แอสเสท ณัฏฐกิตติ์ให้เหตุผลว่า น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าที่จะส่งต่องานไปให้ผู้ที่เชี่ยวชาญจริงๆ ซึ่งเป็นโมเดลที่วิน-วิน ทำนองว่าอีกฝ่ายก็ได้ลูกค้า ในเวลาเดียวกันเอสซี แอสเสท ก็ได้เอาใจลูกค้าของตัวเองเช่นกัน

รวมไปถึงกระแสที่กำลังมาแรง “Sharing Economy” หรือแนวคิดสังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน เพราะการคิดและทำอะไรเพียงคนเดียวอาจสร้างสำเร็จได้ช้า แต่หากมาร่วมมือกันทุกอย่างก็ล้วนเป็นไปได้ ผู้บริหารของเอสซี แอสเสทย้ำว่า ความร่วมมือก็ไม่มีข้อจำกัดอีกด้วยหากบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายอื่นที่มีที่ดินหรือโครงการที่พัฒนาอยู่ใกล้ๆ กันมีความสนใจมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ
ให้ย่านหรือชุมชนนั้นๆ น่าอยู่...ก็พร้อมคุยทุกเมื่อ