ยูเนสโกระดมสมอง สู่อนาคตการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ยูเนสโกระดมสมอง สู่อนาคตการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

การศึกษาถือเป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาให้คนเกิดความคิดเห็น และความรู้ที่ถูกต้อง รวมถึงพฤติกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่สังคมโลกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ภาคการศึกษาจึงต้องพัฒนาระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทสภาพแวดล้อมและก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยเหตุนี้ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) จึงให้ความสำคัญและสร้างความร่วมมือระหว่างนานาประเทศในการขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 6-8 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ เมืองกูรีตีบา รัฐปารานา ประเทศบราซิล หน่วยงาน Global Action Programme (GAP) on  Education for Sustainable Development ของ ยูเนสโก ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและจัดทำยุทธศาสตร์ทางด้านการศึกษา ได้จัดการประชุม UNESCO Symposium on The Future of Education for Sustainable Development ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ Transition to Sustainable Consumption and Production and Education for Sustainable Development (ESD) โดยในการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะระดมสมองและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติต่างๆ อาทิ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม การศึกษา กฎหมาย สื่อสารสาธารณะ รวม 14 คนจากทุกทวีปทั่วโลก เพื่อนำไปปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ทางด้านการศึกษา (พ.ศ. 2563 – 2567) ที่หน่วยงานดังกล่าวได้ร่างไว้ให้มีความครอบคลุมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ไทยกับการเป็นตัวแทน 1 ใน 14 ประเทศทั่วโลก

ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ผู้อำนวยการศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ และกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา ได้รับเกียรติเป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เล่าอย่างภูมิใจว่า การประชุมครั้งนี้มีผู้แทนจากหลายประเทศทั่วโลกเข้าร่วม และประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศ จากทวีปเอเชีย นอกจากประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ นั่นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในเวทีระดับสากล เนื่องจากไทยมีแนวคิดและกรณีศึกษาที่เป็นประโยชน์ รวมถึงสามารถถ่ายทอดและแบ่งปันให้กับนานาประเทศได้

“การเข้าร่วมงานประชุมในครั้งนี้ น่าจะเกิดจากการที่ตนได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง Cultivating a “Sufficiency” Mindset: Thailand’s Educational Strategy for a Society ในที่ประชุมระหว่างประเทศต่างๆ ทำให้องค์การระหว่างประเทศอย่าง ยูเนสโก หันมาให้ความสนใจว่าประเทศไทย มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักปฏิบัติที่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการศึกษาในรูปแบบต่างๆ หรือในมิติใดบ้าง ซึ่งในส่วนของประเทศไทยที่ตนได้ทำการศึกษา วิจัย และขับเคลื่อนมากว่า 10 ปี ในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่ภาคการศึกษาจนมีการบูรณาการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่หลักสูตรการศึกษาชาติในที่สุด และมีตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศเป็นทุนเดิม จึงคิดว่าทำให้ตนได้รับมอบโอกาสในฐานะตัวแทนของประเทศเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้”

เรียนรู้จากกรณีศึกษา “เมืองต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน”

การเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ผู้แทนจาก 14 ประเทศ ได้เรียนรู้นโยบายที่สำคัญ ตลอดจนแนวทางการวางยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ของการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ของเมืองกูรีตีบา ซึ่งถือเป็น 1 ในเมืองต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก และถูกยกย่องให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านกรณีศึกษาที่น่าสนใจซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน อาทิ การเยี่ยมชมการจัดการมหาวิทยาลัยเพื่อสิ่งแวดล้อม (UNILIVRE) โรงงานผลิตเครื่องสำอางที่เน้นกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม นอกจากนั้นยังได้เยี่ยมชม โครงการ The Green Exchange ที่ทำให้เห็นกระบวนการจัดการขยะแบบ Green garbage และรับฟังแนวทางความร่วมมือเพื่อพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน จากผู้แทนสภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมอีกด้วย

“โครงการ The Green Exchange เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะในชุมชน ที่น่าสนใจและเราควรจะนำมาปรับใช้กับปัญหาการจัดการขยะของประเทศไทยได้ โดยจุดเด่นของโครงการฯ อยู่ที่กระบวนการบริหารจัดการปัญหาขยะที่ดึงคนมีรายได้น้อยในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้าร่วมคัดแยกขยะและนำขยะมาแลกสินค้าหรือบริการต่างๆ ได้ อาทิ อาหาร ตั๋วบัตรโดยสารรถประจำทาง สิ่งนี้คือจุดที่น่าสนใจที่เมืองกูรีตีบานำมาใช้เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน โดยที่ไม่ต้องมีนวัตกรรมที่ราคาสูง เพียงแต่ต้องมีการจัดการเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ ในชุมชนให้มาร่วมกันแก้ปัญหาขยะอย่างเป็นระบบและยั่งยืน”

ปัจจัยสู่ความสำเร็จของการศึกษาเพื่อการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน

จากการระดมสมองและสะท้อนแนวทางในการส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในมิติของการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน ดร.ปรียานุช ให้ความเห็นว่า เราจำเป็นต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือวิธีคิด(Mindset) ของคนในสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้มุ่งสู่เส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ให้เหมาะสมและตอบโจทย์เรื่องดังกล่าว นอกจากนั้นการสร้างตัวชี้วัดทางการศึกษาที่สามารถวัดเรื่องของแนวคิดและการปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวเกิดความยั่งยืน ก็คือการทำให้นโยบายหรือโครงการต่างๆ ที่ดีมีความต่อเนื่อง และการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนร่วมกัน ท้ายสุดการสร้างระบบการตลาดที่รับผิดชอบก็จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนักรู้ในเรื่องผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคของตนไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนั้น ดร.ปรียานุช ได้นำเสนอกรณีศึกษาจากการขับเคลื่อนสถานศึกษาพอเพียง ในประเทศไทยให้เห็นถึงวิธีการดำเนินงานและผลที่เกิดขึ้นว่า สามารถช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดความรู้และทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิต สามารถเรียนรู้ และเกิดความตระหนักในความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการผลิตและบริโภคอย่างรับผิดชอบ เพราะได้นำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์กับการเรียนการสอนและการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการลงมือปฏิบัติจริง (Hands-on) พร้อมทั้งการปลูกฝังความคิด Minds on ที่จะนำไปสู่อุปนิสัย “อยู่อย่างพอเพียง” ในที่สุด

 “รูปแบบการศึกษาดังกล่าวได้นำแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการบรรจุในหลักสูตร การอบรมคุณครูหรือนักเรียน และการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นทั้งต่อตัวผู้เรียนและผู้สอน จนเกิดการขยายผลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ ได้ต่อยอดการขับเคลื่อนไปในเรื่องการจัดการการเงินแก่ครู และนักเรียนในสถานศึกษาที่เป็นเครือข่าย อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับสำนักงานอัยการสูงสุด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิมั่นพัฒนา ขับเคลื่อนและส่งเสริมแนวคิดหลักพอเพียงสู่นิติธรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนในสถานศึกษา ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนตอบโจทย์กับแนวทางการพัฒนาการศึกษาที่นำไปสู่การสร้างความยั่งยืน อันเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล และยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ‘ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ สามารถมาประยุกต์ใช้กับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนได้จริง

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจของประเทศไทยต่อการส่งเสริมเรื่องการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน ก็คือการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนโครงการประชารัฐ ที่ทำให้เห็นถึงความใส่ใจและความตระหนักของภาคเอกชนต่อเรื่องการจัดการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ดร.ปรียานุช กล่าวปิดท้ายว่า ประเทศไทยมีองค์ความรู้และผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะความสำเร็จจากการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีหลายประเทศที่ สนใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา และทางศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ ก็ได้ให้คำแนะนำและนำเสนอกรณีศึกษาที่มีผลสำเร็จ เพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันแนวคิดที่เป็นประโยชน์ให้ขยายผลสู่ระดับสากลมาอย่างต่อเนื่อง