ลุ้นตัวโก่ง ประมูลคลื่นรอบใหม่ กับเดิมพันขั้นสูงสุดของ dtac

ลุ้นตัวโก่ง ประมูลคลื่นรอบใหม่ กับเดิมพันขั้นสูงสุดของ dtac

 

จุดเปลี่ยนของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในอดีตกับปัจจุบันนั้นมาถึงแล้ว เดิมผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องมีคลื่นความถี่มากมาย ก็สามารถเปิดให้บริการลูกค้าได้ เพราะในระบบ 2G นั้นใช้คลื่น 5-10MHz ก็เพียงพอ การลงทุนในส่วนของคลื่นความถี่ไม่มากเท่ากับการวางเสาและสถานีฐานให้ครอบคลุมทั่วประเทศเป็นรากฐานของผู้ให้บริการมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ในปัจจุบัน ความเจริญเติบโตของการสื่อสารด้านข้อมูล มีบทบาทจากน้อยจนเพิ่มสูงขึ้นมากแบบทวีคูณ เกินกว่าการใช้งานด้านเสียง (voice)

ความต้องการใช้งานด้านข้อมูลหรือ data ทำให้คลื่นความถี่ เข้ามามีบทบาทที่สำคัญสูงสุดสำหรับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะต้องมีคลื่นความถี่ให้เพียงพอ ต้องสะสม และสำรองไว้ให้ลูกค้าได้ใช้งานอย่างไม่ติดขัดและมีประสิทธิภาพสูงสุดของโครงข่ายตน ยิ่งมีคลื่นมาก ก็ยิ่งทำให้การรับส่งข้อมูลเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและรองรับลูกค้าได้เป็นจำนวนมาก ประกอบกับเทคโนโลยีล่าสุดที่ออกแบบมา รับกับความต้องการในการใช้รับส่งข้อมูลเป็นจำนวนมากๆ ต้องใช้คลื่นความถี่หลายคลื่นมารวมกัน ทั้งคลื่นความถี่ต่ำและคลื่นความถี่สูง และอุปกรณ์เครื่องลูกข่ายก็ผลิตมารองรับการรวมคลื่นนั้นให้ใช้งานได้อย่างสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพให้การใช้งานมีประสบการณ์ที่ดีที่สุด การใช้คลื่นเพียงคลื่นเดียว หรือคลื่นที่มีความจุหรือปริมาณน้อยๆนั้น ดูเป็นไปได้ยากและไม่อาจจะเป็นไปได้อีกต่อไปเหมือนในยุค 2G ที่ผู้ให้บริการจะถือเพียงคลื่น 1800 หรือ 900 ก็พอแล้ว

เมื่อ dtac เหลือคลื่นหลังจากสัมปทานเดิมในคลื่น 1800 ความจุ 20MHz และ คลื่น 850 ความจุ 10MHz สิ้นสุดลง และจะเหลือเพียงคลื่น 2100 ที่มีความจุ 15MHz ให้บริการลูกค้าทั้งประเทศ ซึ่งคลื่น 2100 นี้ ในปัจจุบันมีการให้บริการเป็น 3G ปริมาณ 10MHz และ 4G ปริมาณ 5MHz แน่นอนว่าถ้าเหลือคลื่นเพียงเท่านี้ให้บริการ dtac จะไม่สามารถให้บริการในตลาดได้อีกต่อไป หรือถ้าให้บริการได้ คงต้องเปลี่ยนรูปแบบการเป็นผู้ให้บริการไปอย่างสิ้นเชิง โดยอาจจะกลายเป็นผู้ให้บริการต้นทุนต่ำ ใช้คลื่นที่มีให้บริการแบบผู้ให้บริการที่เป็นรัฐวิสาหกิจเช่น TOT หรือ CAT ที่มีความถี่ไม่มาก อาศัยการโรมมิ่งกับผู้ให้บริการหลักรายอื่นหรือเลวร้ายสุดอาจถึงจะต้องควบรวมกิจการกับผู้ให้บริการรายอื่น

ลุ้นตัวโก่ง ประมูลคลื่นรอบใหม่ กับเดิมพันขั้นสูงสุดของ dtac

จากข่าวล่าสุด ทาง กสทช. จะกำหนดให้มีการประมูลคลื่น 1800 โดยจัดแบบ N-1 เป็นจำนวน 3 ใบอนุญาตๆละ 15MHz ดังนั้นในปัจจุบันผู้ให้บริการมีอยู่ 3 ราย และมีคำสั่งไม่ให้ JAS เข้าร่วมประมูล ก็จะเหลือผู้สมัครเข้าแข่งขัน 3 รายทำให้ใบอนุญาต ภายใต้กติกา N-1 จะเหลือให้ประมูลเพียง 2 ใบเท่านั้น

ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมนี้ ถ้าจัดลำดับตามปริมาณลูกค้าของแต่ละค่าย เราจะเห็นว่า AIS และ TRUE มีลูกค้าในมืออยู่มากสุด และมีศักยภาพทางการเงิน มีความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบเพื่อลงทุนในคลื่นความถี่เพิ่มเติมให้นำมาให้บริการกับลูกค้าปริมาณของตนได้อย่างไม่ติดขัด เมี่อย้อนดูรายงานผลประกอบการ 2 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า มีความเติบโตสูงขึ้นเป็นอย่างมาก และเมื่อหากต้องลงสนามแข่งขัน เป็นไปได้สูงว่า AIS และ TRUE จะอัดงบสู้จนนาทีสุดท้าย ส่วน dtac ที่สัมปทานเดิม 1800 จะหมดลง ก็มีความต้องการขั้นสูงสุดที่จะต้องสู้ชิงเอาใบอนุญาต 1 ใน 2 ใบนี้มาให้ได้เช่นกัน

เมื่อหันมาดูในช่วงที่ผ่านมา dtac ได้พยายามต่อสู้กับวิกฤตการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงทุนด้านการลงเสาสัญญาณเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในคุณภาพของเครือข่ายตนให้กลับคืนมา รวมไปถึงการแตกบริการ LINE MOBILE ขึ้นมาเพื่อให้บริการในลักษณะต้นทุนต่ำ โดยลดต้นทุนต่างๆและใช้ราคาเข้าลงสู้ในสนามเพื่อความอยู่รอดหลังจากปริมาณลูกค้าลดลงเรื่อยๆ ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ประกอบกับการที่ CEO dtac ประกาศลาออกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้หัวเรือใหญ่ dtac มีสภาพสั่นคลอน ไร้ทิศทางที่แน่นอน และที่สำคัญสุดคือ ใครจะมีอำนาจตัดสินใจ เข้าไปเคาะประมูลคลื่นในรอบชี้ชะตาที่จะถึงนี้ ความผันผวนและวิกฤตการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นอยู่ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า dtac คิดถึงผลประโยชน์ของลูกค้าคนไทย หรือคำนึงแต่ผลประโยชน์ของบริษัทแม่เป็นหลัก ซึ่งความล้มเหลวต่างๆส่งผลให้ความน่าเชื่อถือใน dtac ตกต่ำกว่าทุกยุคที่ผ่านมา

การเข้าร่วมในสนามรบรอบนี้ เพื่อชิงใบอนุญาต 1800 ปริมาณ 15MHz มาให้ได้ เป็นเดิมพันที่สูงสุดของ dtac เพราะราคาใบอนุญาตน่าจะขึ้นไปสูงกว่าการประมูลคลื่น 1800 รอบที่แล้วอย่างเลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนว่ากฎ N-1 ทำให้เหลือแค่ผู้ไปต่อเพียง 2 ราย และรายใหญ่ทั้ง AIS และ TRUE ก็มีลูกค้าเป็นแบ็คยืนค้ำยันอยู่ข้างหลังรอใช้งานอยู่มากสุด ส่วน dtac ก็จะหมดสัมปทานในคลื่นเดิม ต้องสู้ฝ่าฝันเอามาให้ได้ และเมื่อประมูลได้ไปในราคาสูงๆ ต้นทุนก็สูงเป็นเงาตาม dtac ที่มีลูกค้าเป็นแบ็คน้อยกว่ารายอื่นๆ จะสามารถบริหารจัดการต้นทุนเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงต้นทุนการลงสถานีฐานเพิ่มเติมหลังสัมปทานเดิมที่ต้องคืนให้ CAT ไปเพื่อการนำคลื่นที่ประมูลรอบนี้มาเริ่มให้บริการ นับเป็นการลงทุนที่สูงมากภายใต้บรรยากาศและเงื่อนไขที่ต้อง play safe เพราะฐานลูกค้าน้อยสุด ทำให้เราต้องมาลุ้นกันล่ะครับว่าผลการประมูลจะออกมาอย่างไร ถ้าได้ dtac ก็มีโอกาสที่จะหายใจได้ไปต่อ แต่ก็คงจะสาหัสเอาการเพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงในการประกอบการค้ำคออยู่ และภาระนั้นก็จะตกลงมาสู่ลูกค้า dtac ยิ่งในยุคปัจจุบัน การย้ายค่ายเป็นไปได้อย่างง่ายดาย ก็เพิ่มความยากลำบากในการเหนี่ยวรั้งไม่ให้ลูกค้าย้ายออกไปใช้บริการค่ายที่มีคุณภาพและราคาที่คุ้มค่ากว่า และถ้าแพ้ประมูล ก็จะกระทบถึงชะตากรรมกับความอยู่รอดของ dtac สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมภายหลังการประมูลในรอบนี้อย่างแน่นอน..