“สมคิด” มั่นใจ ประเทศไทยทะยานสูงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ พร้อมประกาศขับเคลื่อน เมกะโปรเจค – อีอีซี – ดิจิทัล พลิกโฉมสู่อนาคต

“สมคิด” มั่นใจ ประเทศไทยทะยานสูงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ พร้อมประกาศขับเคลื่อน เมกะโปรเจค – อีอีซี – ดิจิทัล พลิกโฉมสู่อนาคต

รองนายกฯ “สมคิด” นำทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ประกาศความพร้อมพลิกโฉมประเทศ ดันไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางความเจริญในอาเซียน  เผย 3 กลุ่มยุทธศาสตร์ ทั้ง เมกะโปรเจค อีอีซี  ดิจิทัล สนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้ทะยานขึ้นสูงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่  ด้านรัฐมนตรี “กอบศักดิ์” ย้ำ ขับเคลื่อนทุกมิติเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจ ทั้งสร้างคนเก่ง พัฒนาธุรกิจ และเสริมประสิทธิภาพภาครัฐ

 

                นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายในงานสัมมนา “Thailand Taking off to New Heights” ณ อิมแพค เมืองทองธานี จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาร่วม 3,000 คน  ประกอบด้วย นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ผู้บริหารจากหน่วยงานราชการ และสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ ว่า งานสัมมนาวันนี้เป็นเวทีประกาศความพร้อมของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในเวทีเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเป็นเวทีในการประกาศ          ทิศทางการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย ซึ่งนับจากนี้ไป เศรษฐกิจไทยจะทะยานไปสู่โฉมหน้าใหม่และเศรษฐกิจยุคใหม่ในระดับที่พัฒนาขึ้น และพร้อมเป็นศูนย์กลางการลงทุน การคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน

                รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วย 3 ยุทธศาสตร์สำคัญประกอบด้วย  1) โครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือ Mega Projects ที่จะช่วยยกระดับสมรรถนะของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพของประเทศ  อาทิ  โครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล โครงการรถไฟฟ้าในต่างจังหวัด โครงการรถไฟทางคู่ เชื่อมโยงการขนส่งทั้งภาคเหนือ กลาง อีสานและใต้  โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค รวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะ 3 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 และท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 รวมถึงโครงการลงทุนด้านพลังงาน ทั้งการสำรวจแหล่งพลังงาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ โครงการลงทุนในโครงข่ายในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

                2) กลุ่มโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งรัฐบาลตั้งใจพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อในภูมิภาค ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ในพื้นที่อีอีซีและพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยอง เชื่อม 3 สนามบิน การยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางและเมืองการบินของภูมิภาค และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โครงการท่าเรือมาบตะพุด ระยะที่  3 ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EECi เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0

                และ 3) กลุ่มโครงการเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล หรือ 4.0  อาทิ การลงทุนในระบบ  อินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ซึ่งล่าสุดรัฐบาลได้ริเริ่มโครงการลงทุนเคเบิลใต้น้ำ เชื่อมโยง ไทย ฮ่องกง จีน เพื่อให้ไทยสามารถเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ ในระดับภูมิภาค และการสร้างและพัฒนาดิจิทัลเทรดดิ้ง และการขับเคลื่อนภาคการผลิตและภาคบริการให้เกิดความตื่นตัวเรียนรู้และสามารถเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบดิจิทัลเทคโนโลยีได้ในที่สุด รวมถึงการก้าวสู่บริการของภาครัฐในแบบสมัยใหม่ หรือ e-Government เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ

                นายสมคิด กล่าวด้วยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจนทำให้เกิดการขยายตัวในหลายด้าน ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น การขอรับส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งในภาพรวมของประเทศและในพื้นที่อีอีซี ตลอดจนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการจัดอันดับความสามารถแข่งขันของไทยที่ขยับสูงขึ้นทั้งจาก IMD (International Institute for Management Development)  และ WEF (World Economic Forum) การได้รับการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจจาก World Bank ในปี 2560 ที่ดีขึ้นถึง 20 อันดับในเวลาเพียง 1 ปี และการจัดอันดับจาก US News ว่าไทยเป็นประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ และอันดับ 8 ของประเทศที่น่าลงทุนที่สุด

                “ภายใต้การดำเนินยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศ ผมมั่นใจว่าจะทำให้ในช่วง 3-4 ปีนับจากนี้ไป เป็นช่วงของการพลิกโฉมประเทศครั้งสำคัญไปสู่ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่อย่างแท้จริง โดยทุกโครงการรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมกับเรา เพื่อสร้างอนาคตของประเทศไทยด้วยกัน” นายสมคิด กล่าว

                ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลบีโอไอ           ได้กล่าวในหัวข้อ “การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน” ว่า รัฐบาลมุ่งเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศเพื่อสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรม สร้างสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างโอกาสและความเสมอภาคในสังคม ให้มีการเติบโตอย่างครอบคลุมทั่วทุกภาคส่วน

                รัฐบาลจึงได้กำหนดแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนให้คนไทยเก่งขึ้น สนับสนุนให้ภาคธุรกิจพัฒนาขึ้น และผลักดันให้ภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีแผนดำเนินงานใน 3 ส่วน คือ 1.การเพิ่มผลิตภาพทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมหลักที่ประเทศไทยมีความชำนาญ และการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพในอนาคต  นอกจากนี้ต้องพัฒนาปัจจัยด้านอื่นๆในการพัฒนา                      ขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การพัฒนาและเสริมสร้างทักษะบุคลากรในด้านที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมในอนาคต และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  2.การรวมกลุ่มในภูมิภาค เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน จำเป็นจะต้องบูรณาการเศรษฐกิจร่วมกับภูมิภาคด้วยการส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน  เปิดเสรีการค้าและบริการระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และ 3.การสร้างระบบนิเวศด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม  เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ด้วยการปรับปรุงมาตรการและปัจจัยเอื้อให้เกิดการจัดระบบนวัตกรรมให้มีการเชื่อมโยงระหว่างการผลิต

                “การดำเนินการดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงทุกบริษัทที่เข้าร่วมงานสัมมนาในวันนี้ ในนามของรัฐบาล ผมจึงขอเชิญชวนทุกท่านให้มาร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง และบรรลุเป้าหมายด้านเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” นายกอบศักดิ์กล่าว

                ด้านนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า งานสัมมนาครั้งนี้มีนักลงทุนไทยและต่างชาติ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังจำนวนมากเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้         โดยมีจำนวนร่วม 3,000 คน จึงนับเป็นเวทีใหญ่ที่ภาครัฐและบีโอไอ ได้ประกาศย้ำทิศทางในการส่งเสริมการลงทุนของไทย รวมถึงชี้แจงแนวทาง และความคืบหน้าของพื้นที่อีอีซีให้เข้าถึงกลุ่มผู้สนใจได้โดยตรง      เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอนาคต

                นอกจากนี้ ภายในงานยังมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมออกบูธแสดงผลงานและให้ข้อมูลแก่นักธุรกิจที่เข้าร่วมงาน อาทิ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรส. หรือ อีอีซี) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น  

พร้อมกันนี้ ยังมีพื้นที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนาต่อยอดจากการวิจัยและพัฒนา โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รวมทั้งบูธให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาสำหรับภาคเอกชน