“รวมพลังเรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง” เครือข่ายโรงเรียนพอเพียงกับการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

“รวมพลังเรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง” เครือข่ายโรงเรียนพอเพียงกับการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

เมื่อปลายปีที่แล้ว ศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานรวมพลังเรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง(Together Learning:Sufficiency Living)ประจำปี 2560โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายโรงเรียนพอเพียงในระดับพื้นที่ที่เป็นแบบอย่างและมีผลงานการปฏิบัติที่เป็นเลิศในการจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงนำเสนอสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรม และแนวทางการพัฒนารวมถึงการขยายผลสู่ชุมชนและสังคมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัยประธานกรรมการมูลนิธิยุวสถิรคุณ กล่าวเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง“พระราโชบายด้านการศึกษาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร

สืบสานรัชกาลที่ 9 น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่หัวใจเด็กและเยาวชน

ดร.ปรียานุชธรรมปิยา ผู้อำนวยการศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณกล่าวถึงความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำไปปรับใช้ในการปฏิบัติทุกมิติของสถานศึกษาโดยปัจจุบันมีกลุ่มโรงเรียนพอเพียง 3 ประเภท ได้แก่ 1) สถานศึกษาพอเพียง (สถพ.) สถานศึกษาที่เป็นแบบอย่างในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 23,796 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ของสถานศึกษาทั้งประเทศ2) สถานศึกษาพอเพียงที่มีผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (สปล.)สถานศึกษาพอเพียงที่สามารถรักษาสภาพความเป็นสถานศึกษาพอเพียงแบบอย่าง และมีการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาทั้งระบบ (Whole School Approach) โดยผู้บริหาร ครู และผู้เรียนมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมี 742แห่ง และ 3) ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา(ศรร.)คือ สถานศึกษาพอเพียงที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นพี่เลี้ยงขยายผลไปสู่สถานศึกษาอื่นๆ ปัจจุบันมี ศรร.ที่ผ่านการประเมินโดยกระทรวงศึกษาธิการแล้วจำนวน205แห่ง

“ในปี 2560 นี้หลังจากที่เริ่มจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาพอเพียงมาเกือบ 10 ปี เราได้นำนวัตกรรมใหม่ๆเข้าสู่สถานศึกษาพอเพียงหลายอย่างด้วยกัน เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดตามพระราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูรในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษายกตัวอย่างเช่นการเชื่อมโยงการจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาพอเพียงกับหลักนิติธรรมซึ่งเมื่อปลายปีที่แล้วมูลนิธิยุวสถิรคุณ ร่วมกับสำนักอัยการสูงสุด มูลนิธิมั่นพัฒนาและสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการขับเคลื่อนการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สังคมแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่หลักนิติธรรมในสถานศึกษาพอเพียง นอกจากนี้แล้ว เรายังได้ร่วมมือกับเครือข่ายขับเคลื่อน “การเงินพอเพียง” อาทิ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สมาคมนักวางแผนการเงินไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาหลักสูตรการเงินพอเพียงในโรงเรียนทุกระดับซึ่งคาดว่าปี 2561 นี้จะสามารถขยายผลใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศ รวมถึงการร่วมมือกับเครือข่ายประชารัฐภาคเอกชนในการสืบสานและน้อมนำปรัชญาพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่9สู่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

การบริหารโรงเรียนพอเพียงสู่ความยั่งยืน

โรงเรียนบัวใหญ่พิทยาคม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่นหนึ่งในสถานศึกษาที่น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการสถานศึกษาและจัดการศึกษาภายในโรงเรียน

นายเรืองยศ แวดล้อม ผู้อำนวยการโรงเรียนบัวใหญ่พิทยาคมกล่าวว่า โรงเรียนบัวใหญ่พิทยาคม เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่มีขนาดเล็กและมีนักเรียนเพียง 399คนในอดีตโรงเรียนประสบปัญหาเด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปทางกลุ่มเสี่ยงเป็นจำนวนมาก ตนในฐานะผู้บริหารจึงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวด้วยการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การบริหารตลอดจนการจัดการเรียนรู้ จนกลายเป็นสถานศึกษาพอเพียงเมื่อปี 2554 ซึ่งในตอนนั้นมีการจัดประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้บริหารและครูในโรงเรียน จนสามารถกำหนดกรอบ นโยบาย วิสัยทัศน์ และกำหนดแผนการดำเนินงานจัดการเรียนรู้ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบบูรณาการ นำมาสู่นโยบายการบริหารจัดการโรงเรียน 5ระบบ ประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการ การกำหนดยุทธศาสตร์วิสัยทัศน์ที่มีเป้าหมายชัดเจน โดยก่อนและหลังทำกิจกรรมครูและนักเรียนจะต้องถอดบทเรียนการเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน 2) หลักสูตรและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการบูรณาการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระและเพิ่มกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเข้าไปในทุกระดับชั้นเรียน 3) หลักสูตรการเรียนการสอนเพิ่มเติม โดยการเพิ่มหลักสูตรวิชาโครงงานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาเป็นวิชาเพิ่มเติม มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการประยุกต์ใช้เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้นักเรียนนำแนวคิดเรื่อง 3 หลักการ2 เงื่อนไข มาปรับใช้กับกระบวนการทำโครงงานที่พวกเขาสนใจ และในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ทางโรงเรียนจะจัดงาน Open House ให้นักเรียนทุกระดับชั้นนำเสนอโครงงานที่เกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยการเปิดโอกาสสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับผู้ปกครอง คนในชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ได้เกิดการซึมซับและเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้4) การบูรณาการในกิจกรรมเสริมหลักสูตรเป็นกิจกรรมเสริมที่บ่มเพาะให้เกิดความพอเพียง อาทิกิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ระหว่างเรียน 5) ระบบการสร้างเครือข่ายอบรมบ่มเพาะกิจกรรมต่างๆ ระหว่าง คุณครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชนเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนองค์ความรู้เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่ในห้องเรียน ไปสู่ภายนอกห้องเรียน สร้างโอกาสให้เด็กมีประสบการณ์นอกห้องเรียน และเกิดการมีส่วนร่วมภายในชุมชน

“สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดก็คือ นักเรียนของเรามีพฤติกรรมที่ดีขึ้น รู้จักความพอประมาณ มีความรับผิดชอบ และรู้จักแบ่งเวลา ทั้งนี้แผนระยะยาวของโรงเรียนบัวใหญ่พิทยาคมคือการพัฒนาจากสถานศึกษาพอเพียงที่มีผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (สปล.) ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา (ศรร.)เพื่อเป็นโรงเรียนพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนต่างๆ ที่สนใจเข้ามาศึกษา ดูงาน และร่วมกันเป็นพลังขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับสถานศึกษาทุกระดับ”

น้อมนำปรัชญาฯ พัฒนาคนคุณภาพ

วิทยาลัยการอาชีพไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี หนึ่งใน 53โรงเรียนพอเพียงในระดับอาชีวศึกษา ที่ได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารและจัดการศึกษา จนประสบความสำเร็จ และได้รับโล่เกียรติคุณ ปี 2559

นายวิชิต วิเชียร ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพไชยา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งวิทยาลัยการอาชีพไชยาคือการขยายโอกาสทางการศึกษาด้านวิชาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและท้องถิ่นโดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างคนให้มีคุณภาพ มีรายได้ที่มั่นคง และนำไปสู่อาชีพที่ยั่งยืน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการบริหารและการจัดการเรียนรู้ภายในสถานศึกษา ที่เกิดจากการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคณะผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง นักเรียน ชุมชน และภาคีเครือข่ายเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของวิทยาลัยได้

“การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการบริหารและจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา ก็เพื่อจะสร้างอุปนิสัย ‘อยู่อย่างพอเพียง’ ให้กับนักเรียนได้ค่อยๆ เรียนรู้ และซึมซับ เพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพ ให้เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ และมีคุณภาพซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

นายวิชิต กล่าวต่อว่า การเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาปรับใช้ เริ่มตั้งแต่การกำหนดในแผนการดำเนินงานที่สามารถนำมาปรับใช้ในสถานศึกษาได้จริง คือ การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 9 ฐานการเรียนรู้ ผ่าน2 ทักษะ ได้แก่ 1) ทักษะชีวิตที่เน้นเรื่องชีววิถี ด้วยการนำเรื่องใกล้ตัวมาสอดแทรกในสาระการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนสามารถนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตในปัจจุบันได้ อาทิ ฐานการเรียนตลาดนัดวิถีพอเพียงที่ทางวิทยาลัยจะเปิดพื้นที่ให้เด็กมาเรียนรู้เรื่องการสร้างอาชีพและหารายได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้บทบาทของการเป็นผู้ผลิต และทำให้พวกเขารู้จักคุณค่าของเงินมากขึ้น 2) ทักษะวิชาชีพมีการตั้งศูนย์บ่มเพาะการทำธุรกิจขึ้นมา เพื่อให้เด็กได้ทดลองทำธุรกิจได้จริง เช่น ฐานการเรียนรู้ศูนย์ฝึกวิชาชีพชุมชนให้เด็กบริการซ่อมเครื่องจักรกลทางการเกษตรและฝึกอาชีพให้แก่ประชาชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและการนำวิชาชีพไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนหรือ ฐานการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นการนำไข่เค็มซึ่งเป็นของขึ้นชื่อของอำเภอไชยา มาพัฒนา ดัดแปลงเป็นไอศกรีมไข่เค็ม สร้างอาชีพให้นักเรียนและคนในชุมชนร่วมกันเป็นต้น

“การจะนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาปรับใช้กับแนวทางการบริหารและการจัดการเรียนรู้ สิ่งแรกคือผู้บริหารต้องเปิดใจและลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้คุณครูและนักเรียน เห็นถึงตัวอย่างแนวทางในการนำไปปฏิบัติได้จริง นอกจากนั้นเราต้องดึงทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็น คุณครู นักเรียน ผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งประชาชนในพื้นที่ เพื่อจะให้การขับเคลื่อนในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจภายในสถานศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างความต่อเนื่อง และยั่งยืนได้ด้วยดี”