หลักสูตรภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน(Ph.D. in Sustainable Leadership) สร้างผู้นำบนพื้นฐานแนวคิด “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

หลักสูตรภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน(Ph.D. in Sustainable Leadership) สร้างผู้นำบนพื้นฐานแนวคิด “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

 

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัว “ศูนย์วิจัยภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ Center for Research on Sustainable Leadership (CRSL) ขึ้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมาโดยมีภารกิจหลักในการผลิตงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์แห่งการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนพร้อมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวซึ่งเกิดจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ให้เกิดการรับรู้ในระดับชาติและนานาชาติ และท้ายสุดคือการสร้างดุษฎีบัณฑิตรุ่นใหม่ที่มีทักษะในการสร้างองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนพร้อมกันนี้ภายในงานได้มีการเปิดหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต “สาขาวิชาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน” (Ph.D. inSustainable Leadership) เป็นแห่งแรกในประเทศไทย และของโลกอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร รองคณบดีงานวิจัย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา เล่าถึงที่มาของศูนย์ฯ และหลักสูตรดังกล่าวว่า ศูนย์วิจัยภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547โดยในตอนนั้นคณาจารย์ของวิทยาลัยการจัดการได้รับเงินทุนในการทำวิจัยบุกเบิกการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในองค์กรธุรกิจจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้รับทุนวิจัยในเรื่องเดียวกันอย่างต่อเนื่องจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมูลนิธิมั่นพัฒนา ปัจจุบันมีการขยายเครือข่ายในการวิจัยและเครือข่ายสนับสนุนการวิจัยครอบคลุมไปยังส่วนอื่นๆเช่น การศึกษา การพัฒนาชุมชน อีกด้วย ในส่วนของสถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงองค์กรธุรกิจหลากหลายขนาดต่างๆ เป็นต้น

“พูดได้ว่าวันนี้การรับรู้และการยอมรับเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ถ้าย้อนกลับไปช่วงปี 2545 – 2546 ที่เราเริ่มขับเคลื่อนเรื่องนี้ ไม่มีภาคธุรกิจเอกชนไหนฟังในสิ่งที่เรากำลังทำ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเน้นการวิจัยสร้างองค์ความรู้ และกรณีศึกษา เพื่อสามารถยืนยันและสร้างความเชื่อมั่นแก่สังคม โดยเฉพาะภาคธุรกิจให้เกิดการรับรู้ และตระหนักได้ว่าเรื่องนี้มีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง จนปัจจุบันมีภาคธุรกิจหลายแห่งยอมรับพร้อมทั้งนำไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจของตนเอง ตลอดจนเกิดการขับเคลื่อน ส่งผลให้เกิดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เพราะที่ผ่านมามีบทพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถึงโลกและประเทศของเราเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตซับไพรม์ วิกฤตเรื่องค่าแรง ฯลฯ แต่ภาคธุรกิจที่นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ก็สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้อย่างมั่นคง ที่สำคัญคือ ไม่ใช่แค่ผ่านพ้นมาได้ แต่กลับมีผลประกอบการและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย”

ด้วยความพร้อมทั้งในเรื่องขององค์ความรู้ และบุคลากรที่มีความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนความเชี่ยวชาญในหลายศาสตร์จึงเกิดเป็น “ศูนย์วิจัยภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”(Center for Research on Sustainable Leadership - CRSL) และ หลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต “สาขาวิชาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน” (Ph.D. in Sustainable Leadership) ขึ้น และถือได้ว่าศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ และเป็นศูนย์วิจัยด้านการจัดการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศ

ศาสตราจารย์ .ดร.ฟิลิป ฮาลิงเจอร์ ศาสตรเมธาจารย์มั่นพัฒนา (TSDF Chair Professor of Leadership) ประจำศูนย์วิจัยภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิชาการด้านภาวะผู้นำที่มีชื่อเสียงระดับโลก ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนแบบ Problem – basedlearningและผู้ออกแบบหลักสูตร Ph.D. in Sustainable Leadershipเล่าถึงเนื้อหา และการเรียนในหลักสูตรปริญญาเอกสาขาวิชาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน โดยกล่าวถึงกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาศึกษาหลักสูตรดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น คณาจารย์ที่มีความสนใจ ผู้บริหารในองค์กร หรือผู้บริหารรุ่นใหม่ รวมทั้งผู้ชำนาญการและผู้เชี่ยวชาญในสายงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ผู้แทนจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และหน่วยงานภาครัฐ ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายสำคัญของหลักสูตรนี้

หลักสูตรดังกล่าวเน้นการบูรณาการองค์ความรู้ในศาสตร์ของการจัดการ และภาวะผู้นำ เพื่อสร้างบุคลากรให้มีความสามารถในการจัดการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้จากกรอบแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสร้างเป็นผลงานวิจัยที่จะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้

“ประสบการณ์การทำงานของวิทยาลัยการจัดการกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เรามีบุคลากรผู้ชำนาญในสาขานี้ และมีเครือข่ายที่แข็งแรงพอที่จะทำให้เราเปิดหลักสูตรขึ้นมาได้ นอกจากนั้นเรายังมีงานวิจัยที่ลงพื้นที่ทำงานจริงกับองค์กรใหญ่ๆ จนถึงระดับการบริหารจัดการชุมชน ซึ่งความรู้เหล่านี้สามารถนำมาเป็นต้นแบบในการศึกษา และพัฒนาต่อยอดได้"

ทั้งนี้หลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต “สาขาวิชาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืน” (Ph.D. in Sustainable Leadership) ใช้เวลาในการศึกษา 3 ปี โดยในปีแรกจะเน้นที่การศึกษาองค์ความรู้หลักคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาวะผู้นำที่ยั่งยืน ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนั้นยังมีวิชาเลือก และรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัย ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกงานในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืนอีกด้วย ส่วนในปีที่เหลือนั้นมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเน้นการทำงานวิจัยที่สอดคล้องกับความสนใจและความเชี่ยวชาญของตนเอง โดยทางหลักสูตรพยายามส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เข้าร่วมเวทีการนำเสนอผลงานระดับสากล เพื่อพัฒนางานวิจัยให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

นอกจากนั้นแล้วทางหลักสูตรยังได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิมั่นพัฒนา ในการสนับสนุนทุนการทำงานวิจัยให้แก่ผู้เรียนอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตรหนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การสอนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy PhilosophySEP)ในระดับปริญญาเอกนั้น ไม่ได้เน้นที่การเรียนเพื่อการนำไปปฏิบัติใช้ แต่เน้นให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในกรอบความคิด และรู้ว่าจะสามารถนำเรื่องดังกล่าวไปต่อยอดในประเด็นอื่นๆ ได้อย่างไร โดยในการเรียนรู้จะเน้นจากการเรียนผ่านประสบการณ์และกรณีศึกษาตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากนักปฏิบัติโดยตรง ประกอบกับการให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกงาน และมีการฝึกฝนเรื่องการทำงานวิจัยอย่างเข้มข้น ก่อนจะนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปถ่ายทอดในเวทีโลกต่อไป และผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นจากนักศึกษาปริญญาเอกเหล่านี้ก็จะกลายเป็นกลไกหนึ่งในการขยายผลองค์ความรู้ให้กับหลักสูตรการจัดการและการพัฒนาภาวะผู้นำอย่างยั่งยืนต่อไป

“เราอยากจะเห็นนักวิจัยระดับปริญญาเอกที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วของเรากลับไปสร้างประโยชน์ให้กับองค์กร และชุมชนได้อีกทั้งต้องสามารถเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่มีความมั่นใจ และสามารถเล่าเรื่องศาสตร์ของพระราชา ให้สังคมภายนอกทั้งในระดับชุมชน ประเทศ และระดับสากล เกิดการรับรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความเป็นมืออาชีพ สามารถพูดคุยเรื่องศาสตร์แห่งการจัดการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักวิชาการที่เกี่ยวข้องได้ในระดับนานาชาติ”

ทั้งนี้จะมีการเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาเอกPh.D. in Sustainable Leadershipขึ้นอีกครั้งในเดือนกันยายน 2561 นี้ ผู้ที่มีความประสงค์ในการศึกษาสาขาวิชาดังกล่าว สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.cmmu.mahidol.ac.th/phdinsl