3 จังหวัด เครือข่ายอนาคตไทย ร่วมถอดบทเรียนโมเดลโครงสร้างเครือข่ายฯ

3 จังหวัด เครือข่ายอนาคตไทย ร่วมถอดบทเรียนโมเดลโครงสร้างเครือข่ายฯ

 

3 จังหวัด เครือข่ายอนาคตไทย ร่วมถอดบทเรียนโมเดลโครงสร้างเครือข่ายฯ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจ “อย่าให้ใครว่าไทย” ต่อเนื่อง

นับจากปี 2558 – 2560เป็นระยะเวลา 3ปีเต็มที่ “เครือข่ายอนาคตไทย” ซึ่งตั้งต้นจาก 6องค์กรหลักได้แก่มูลนิธิมั่นพัฒนา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และสภาหอการค้าไทย เปิดตัวโครงการ “อย่าให้ใครว่าไทย” ที่มีจุดมุ่งหมายกระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนทัศนคติลดเลิกพฤติกรรมเชิงลบ(ฟุ้งเฟ้อ ขี้โกง มักง่าย ไร้สติ) อันจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไทยและประเทศไทย เพื่อก้าวไปในอนาคตอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายทั้งองค์กรจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมจำนวน 119 องค์กร พร้อมได้มีการขยายเครือข่ายอนาคตไทยสู่ภูมิภาคในระดับจังหวัด

นายธาตรี ลิขนะพิชิตกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันมั่นพัฒนากล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3ปีที่ผ่านมาโครงการอย่าให้ใครว่าไทยดำเนินการภายใต้ยุทธ์ศาสตร์“รับรู้ -เรียนรู้-ร่วมแรง”เริ่มจากปี 2558มุ่งเน้นยุทธศาสตร์รับรู้และเรียนรู้ด้วยการสร้างกระแสและการปลูกจิตสำนึกผ่านเครื่องมือสื่อโฆษณาและกิจกรรมต่างๆ ต่อมาในปี 2559-2560ได้มีการขยายเครือข่ายไปสู่ระดับจังหวัดเริ่มต้นจากจังหวัดขอนแก่น  สุโขทัยและนครปฐม ตามลำดับ และเพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายในระดับจังหวัดเครือข่ายอนาคตไทยจึงได้ร่วมกับ“มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)”ทำการศึกษาโมเดลการขับเคลื่อนเครือข่ายอนาคตไทยในระดับจังหวัด กรณีตัวอย่าง เครือข่ายอนาคตไทยจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากเป็นจังหวัดแรกที่เข้าร่วมเครือข่ายอนาคตไทย

“โมเดลโครงสร้างเครือข่ายฯ จ.ขอนแก่น” ต้นแบบเครือข่ายอนาคตไทยระดับจังหวัด

ผศ.ดร.สันติ เจริญพรพัฒนาหัวหน้าทีมนักวิจัยมจธ.กล่าวถึงกรณีศึกษาเครือข่ายอนาคตไทยจังหวัดขอนแก่นว่า จากการศึกษาโมเดลโครงสร้างการดำเนินงานของเครือข่ายฯ จ.ขอนแก่น พบว่ามีลักษณะของการเชื่อมประสานระหว่างองค์กรเครือข่ายใน 4 กลุ่ม ได้แก่ องค์กรเครือข่ายอนาคตไทยในส่วนกลางคือมูลนิธิมั่นพัฒนาเป็นผู้บริหารจัดการเครือข่ายฯ ซึ่งถือเป็นแหล่งสนับสนุนเชิงแนวคิดและวิธีการการทำงาน (Knowledge network) เชื่อมต่อไปยังเครือข่ายอนาคตไทย จ.ขอนแก่น อันประกอบไปด้วยองค์กรที่เป็นเสมือนคณะทำงานของเครือข่าย (Assignment network) เช่น สำนักงานจังหวัดขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น หอการค้า จ.ขอนแก่น และแกนนำ/ผู้ประสานงานเครือข่ายอนาคตไทย จ.ขอนแก่น แล้วส่งต่อภารกิจโดยกลุ่มองค์กรผู้สื่อสารภารกิจ (Information network)คือแกนนำ/ผู้ประสานงานเครือข่ายอนาคตไทยจ.ขอนแก่นและกลุ่มชมรมต่างๆ ไปสู่สมาชิกเครือข่ายอนาคตไทยทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ (Socialnetwork) ซึ่งเป็นหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจของตนเองอยู่แล้ว โดยมีวิธีการทำงานในลักษณะของการฝากภารกิจ (Program development) ด้วยการนำประเด็นการรณรงค์ “อย่าให้ใครว่าไทย” ใน 4 มิติ (ฟุ้งเฟ้อ ขี้โกง มักง่าย ไร้สติ) สอดแทรกเข้าไปในภารกิจของแต่ละหน่วยงาน

“จุดเด่นของเครือข่ายอนาคตไทย จ.ขอนแก่น คือการมีคุณเข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น เป็นแกนนำที่เข้มแข็งและอุทิศตนให้กับการพัฒนาเครือข่ายฯ และสังคมในภาพรวม เป็นผู้มีทุนทางสังคมสูง ทำให้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ และเอกชน รวมถึงมีช่องทางการสื่อสาร การรณรงค์ ที่หลากหลาย ส่วนข้อจำกัดคือการวางแผนในระยะกลางและระยะยาว การพัฒนาเครือข่าย รวมถึงการติดตามและประเมินผล อีกทั้งการทำงานส่วนใหญ่เกิดจากการผลักดันและประสานโดยแกนนำ ลูกข่ายยังมีบทบาทในการริเริ่มและผลักดันอย่างจำกัด ซึ่งตามหลักของพัฒนาการของโครงสร้างเครือข่ายทางสังคมซึ่งมีอยู่ 4 ระดับ ได้แก่ เริ่มสร้าง(Forming)ขยายตัว(Expanding)อยู่ตัว(Matured)และยั่งยืน(Sustained)ถือว่าเครือข่ายอนาคตไทย จ.ขอนแก่น อยู่ในระดับที่ 2 คือ ระดับขยายตัว (Expanding) ซึ่งเป็นช่วงขยายเครือข่าย มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น มีกิจกรรมเครือข่ายสม่ำเสมอ โดยแกนนำมี Leadership ในการนำและขับเคลื่อนเครือข่าย ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบให้กับเครือข่ายอนาคตไทยระดับจังหวัดในจังหวัดอื่นๆ ที่จะนำไปเรียนรู้และปรับใช้ในการจัดโครงสร้างการดำเนินงานต่อไปได้”ผศ.ดร.สันติ กล่าว

“ขอนแก่น-สุโขทัย-นครปฐม” เปิดแผนงานปี 2561

จากกรณีศึกษาโมเดลโครงสร้างเครือข่าย จ.ขอนแก่น แกนนำเครือข่ายอนาคตไทยในระดับจังหวัดทั้ง 3 ท่านพร้อมคณะทำงานที่มาเข้าร่วมถอดบทเรียน ได้ร่วมกันระดมสมองเพื่อถอดรหัสโมเดลการทำงานและร่วมกันวางแผนการดำเนินงานในปี 2561 เพื่อที่จะไปพัฒนาให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

จัดตั้งชมรม “เครือข่ายอนาคตไทย” ในสถานศึกษา

คุณเข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่นนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น และแกนนำเครือข่ายอนาคตไทยจังหวัดขอนแก่นกล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2561 ของเครือข่ายอนาคตไทย จ.ขอนแก่น นั้น กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการขับเคลื่อนกิจกรรมมากที่สุดจากนี้ไปก็คือ กลุ่มนักเรียนระดับมัธยมและอุดมศึกษา ตลอดจนกลุ่มคนทำงานภาคราชการและเอกชน

“กรณีกลุ่มโรงเรียนมัธยมจะนำตัวการ์ตูนไดโนเสาร์ “Dino” มาเป็นMascot เพื่อรณรงค์ในกลุ่มนักเรียน ให้มีค่านิยมที่เหมาะสม สำหรับกลุ่มเด็กในระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย จะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งชมรมเครือข่ายอนาคตไทยในสถานศึกษา และมีการอบรม TraintheTrainer เพื่อสร้างคุณลักษณะที่ดีให้กับนักศึกษาและส่งต่อให้รุ่นน้องต่อๆ ไป ส่วนกลุ่มคนทำงานภาคเอกชนและภาคราชการ จะพยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งชมรมเครือข่ายอนาคตไทย, มีการจัดทำป้ายและโปสเตอร์รณรงค์ต่าง ๆ รวมถึงการประสานให้ผู้นำการขับเคลื่อนเป็นระดับจังหวัดเพื่อผลักดันให้เป็นวาระจังหวัดต่อไป”นายเข็มชาติ กล่าว

สร้างวินัยการเงิน “นักเรียน-นักศึกษา” ลดหนี้ กยศ.

นางพรพรรณ ดิลกวัฒนา แกนนำเครือข่ายอนาคตไทยและประธานชมรมคนรักในหลวงจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า สุโขทัยเป็นเมืองเกษตรกรรมเล็กๆ ประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจนและมีรายได้ต่อครัวเรือนต่ำ การขับเคลื่อนอย่าให้ใครว่าไทยส่วนใหญ่เป็นการทำงานร่วมกับสถานศึกษา สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2561 ของเครือข่ายอนาคตไทยจังหวัดนครปฐมและจังหวัดสุโขทัยเห็นพ้องร่วมกันที่จะดำเนินการโครงการสร้างวินัยทางการเงินในนักเรียน นักศึกษาที่กู้ยืมเงินจากกองทุนให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งปัจจุบันยังเป็นปัญหาระดับประเทศ เนื่องจากนักเรียนนักศึกษาไม่จ่ายคืนหนี้เงินกู้ยืมจำนวนมาก

“นอกจากนั้น จะมีการวางแผนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ประเด็นเรื่องการกู้หนี้ กยศ.ของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งปัจจุบันสำหรับจังหวัดสุโขทัยมีนักเรียนรวม 4 อำเภอที่มีคดีผิดนัดชำระหรือไม่ใช้หนี้มากถึง 400-500 คน จึงมีความคิดว่าอยากจะแก้ปัญหาที่ต้นทางด้วยการนำสถาบันการเงินเข้าไปคุย รวมถึงเชิญผู้ปกครองมาร่วมพูดคุยถึงปัญหาและหาทางออกร่วมกัน  ประเด็นเรื่องมักง่ายจะร่วมกับโรงพยาบาลประจำจังหวัด รณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของคนสุโขทัย ไม่มักง่ายเรื่องการบริโภคโดยสนับสนุนให้ปลูกผักอินทรีย์เพื่อสุขภาพ” นางพรพรรณ กล่าว

นางสาวยุพินดุษิยามี แกนนำเครือข่ายอนาคตไทยและประธานชมรมคนรักในหลวงจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า จ.นครปฐมทํางานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่ทำงานพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ ซึ่งมีความเข้มแข็งอยู่แล้วกลุ่มหลักๆ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ที่มีการรณรงค์ให้นักศึกษามีวินัยรักษากฎระเบียบ การจราจร การเข้าคิว และการมีจิตอาสาต่างๆ และชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีนนครปฐมที่เน้นการปลูกจิตสำนึกให้เด็กเยาวชนและประชาชนให้รู้จักรับผิดชอบในสิ่งแวดล้อมร่วมกัน โดยใช้หลักบวรคือ บ้าน วัด และโรงเรียน โดยบ้านคือ การทำงานกับประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัดก็เป็นการทำงานกับวัดกว่า 40 แห่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน และโรงเรียนต่างๆ ในเขต 3 อำเภอ ได้แก่ บางเลน นครชัยศรี และสามพราน  ส่วน “ชมรมคนรักในหลวง” เองก็มีแนวทางการทำงานและกิจกรรมที่สอดคล้องกับเครือข่ายอนาคตไทย โดยยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

“นครปฐมมีแผนที่จะดำเนินการหลายโครงการทั้งที่เป็นโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ เช่น โครงการอบรมเยาวชนต้นแบบโครงการทำดีด้วยหัวใจ โครงการครอบครัวจิตอาสา โครงการประกวดคลิปสั้นเรื่องการคอร์รัปชันของเด็กประถม มัธยมและอุดมศึกษา เป็นต้น และสำหรับปีนี้ยังเห็นว่าการแก้ไขปัญหาของโครงการเงินกู้ยืมกยศ.เป็นเรื่องสำคัญ เพราะอยากปลูกฝังให้เด็กมีวินัยทางการเงิน จึงคิดจัดอบรมเด็กมัธยมและนักศึกษา เพื่อหาทางแก้ปัญหาหนี้เงินกู้ กยศ.ด้วย” นางสาวยุพิน กล่าว

เครือข่ายอนาคตไทยทั้งในส่วนกลางและระดับจังหวัดยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจอย่างต่อเนื่องในปี 2561และคาดหวังที่จะเห็นทุกภาคส่วนในสังคมไทยได้ตระหนักเห็นความสำคัญของการสร้างค่านิยมใหม่บนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเข้ามาร่วมภารกิจเครือข่ายอนาคตไทยที่มุ่งพัฒนาสังคมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันต่อไป

ท่านสามารถติดตามข่าวสาร และสื่อรณรงค์ “อย่าให้ใครว่าไทย”ของเครือข่ายอนาคตไทยได้ที่ Facebook "เครือข่ายอนาคตไทย" (https://www.facebook.com/เครือข่ายอนาคตไทย) และสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน คิดดี...มีตังค์ ได้แล้วที่ App Store / Play Store หรือ Scan QR Code เพื่อ Download Application