บทพิสูจน์ความสำเร็จ จากการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

บทพิสูจน์ความสำเร็จ จากการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

 

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มูลนิธิมั่นพัฒนาร่วมกับสำนักพิมพ์ Editions Didier Millet (EDM) จัดงานเปิดตัวหนังสือ Thailand’s Sustainable Business Guide หนังสือที่เปรียบเสมือนคู่มือแนะแนวการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทางแห่งความยั่งยืน ภายในงานได้รับเกียรติจากผู้นำองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนผู้ที่อยู่ในแวดวงของการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นภายในงานยังมีการสัมมนาเรื่อง “How to Future Proof Your Business in the Name of a Better World” โดยผู้บริหารองค์กรระดับประเทศ ที่ได้นำเรื่องความยั่งยืนไปใช้ในกลยุทธ์การบริหารองค์กร ได้แก่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี คุณกฤป โรจนเสถียร ประธานบริษัท ชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ท จำกัด และศาสตราจารย์นายแพทย์เทพ หิมะทองคำ ประธานกรรมการโรงพยาบาลเทพธารินทร์ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางในการนำเรื่องดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในองค์กรธุรกิจ ตลอดจน สะท้อนให้เห็น ถึงผลสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ธุรกิจต้องเท่าทันการเปลี่ยนแปลง พร้อมเรียนรู้และปรับตัว

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ฉายภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆ รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งเรื่องของความสามารถในการหารายได้ และความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้นำไปสู่การเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอน ตลอดจนความผันผวนในเรื่องต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจจะต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องกฎกติกาของการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องพร้อมเรียนรู้ และปรับตัว โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมในเรื่องการบริหารความเสี่ยงขององค์กร ที่จะกลายเป็นความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม นอกจากนั้นแล้วการคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนก็เป็นแนวความคิดหนึ่งที่ส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดความยั่งยืน คือเรื่อง ค่านิยมหลัก (Core value) สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดหรือวางรากฐานนโยบายของประเทศให้ความสำคัญมาตลอด โดยแนวคิดดังกล่าว ประกอบด้วยค่านิยมร่วม 4 ประการ ได้แก่ ยืนตรง  (มีหลักการ ซื่อตรง โปร่งใส) มองไกล (รอบรู้ ระวัง ตื่นตัว ไหวทัน) ยื่นมือ (ร่วมมือ ประสานเข้าใจ) ติดดิน (รู้จริง รู้ลึก ทำได้จริง) ที่องค์กรให้บุคลากรยึดมั่นและถือปฏิบัติ เพราะองค์กรมองว่าทรัพย์สินที่สำคัญที่สุด คือ บุคลากร ซึ่งเป็นตัวแทนที่สำคัญและมีบทบาทต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ทำให้ต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความน่าเชื่อถือ ตื่นตัว และรู้เท่าทันกับความเสี่ยงหรือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ทั้งหมดเป็นความจำเป็นที่ทำให้เราต้องให้ความสำคัญ และปรับตัวโดยที่จะต้อง มองไกล หมายถึง การมองไปสู่อนาคต และมองหาความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจที่เราทำ กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลก โจทย์ที่ท้าทายคือ วันนี้เราจะจัดการธุรกิจของเราอย่างไร บนข้อจำกัดของสิ่งเหล่านี้"

ค่านิยมร่วม คือความสำเร็จขององค์กรที่ยั่งยืน

เอสซีจี องค์กรขนาดใหญ่ที่นำเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมาปรับใช้ในแนวทางการดำเนินธุรกิจมากว่า 100 ปี ถึงแม้องค์กรจะเผชิญกับวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ยังสามารถบริหารธุรกิจภายใต้ความกดดันและความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ จนสามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ตลอดการดำเนินงานของเอสซีจี ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้องค์กรสามารถดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน โดยผู้บริหารและพนักงานทุกระดับของเอสซีจีจะต้องยึดถือและปฏิบัติตามค่านิยมหลักของการดำเนินธุรกิจ 4 ประการ ได้แก่ การตั้งมั่นในความเป็นธรรม คือ การที่ทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม การมุ่งมั่นในความเป็นเลิศ คือ การมุ่งกระทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจให้เกิดผลในทางที่ดี และเต็มความสามารถเพื่อการพัฒนาองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศ รวมถึงการพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร การเชื่อมั่นในคุณค่าของคน คือการให้ความสำคัญกับคุณค่าของพนักงาน โดยเอสซีจีมองว่าการพัฒนาบุคลากรเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้องค์กรเกิดความยั่งยืน และสิ่งสุดท้ายที่องค์กรก็ให้ความสำคัญ คือ การถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม บนพื้นฐานของหลักการทำงานที่ให้ความสำคัญต่อการคำนึงถึงหน้าที่ และความรับผิดชอบต่อสังคม และประเทศ

เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม เอสซีจี มองว่าเป็นสิ่งสำคัญ และได้ยึดถือให้เป็นนโยบายหลักในการทำงาน โดยแนวทางการดำเนินงานจะถูกขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับผู้บริหาร สู่ระดับปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับคนในองค์กร ที่เราต้องดูแลคนให้มีความสุขกายสบายใจ ก่อนที่จะส่งมอบความสุขนั้นสู่ชุมชนรอบข้าง สู่สิ่งแวดล้อมรอบโรงงาน และท้ายที่สุดความสุขก็จะถูกเคลื่อนย้ายไปสู่ผู้บริโภค ด้วยการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดี และขยายผลต่อไปถึงคู่ค้า และผู้ถือหุ้น ที่จะได้รับทั้งรายได้ หรือผลตอบแทนในการลงทุนที่พอดีและยั่งยืน

สังคมแห่งความยั่งยืน คือสังคมที่รู้จักการแบ่งปัน

คุณกฤป โรจนเสถียร ประธานบริษัท ชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ท จำกัด กล่าวว่า ชีวาศรม เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการดูแลสุขภาพในรูปแบบครบวงจร นอกจากจะเป็นรีสอร์ทให้ผู้เข้าพักได้มาผ่อนคลายแล้ว ยังมีสปาที่เป็นเอกลักษณ์ให้คนได้เข้ามาสัมผัสธรรมชาติ และมุ่งเข้าหาปรัชญาทางศาสนาพุทธ โดยตลอดสิบปีที่ผ่านมา ชีวาศรมยึดถือแนวทางการทำธุรกิจบนพื้นฐานของความพอเพียง และความเข้าใจในความต้องการของลูกค้า เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน

ชีวาศรมเริ่มจากการให้ความสำคัญกับลูกค้า ด้วยการมอบการดูแลที่ดี และมอบความสุขให้กับผู้ที่เข้าพักผ่อน เพราะเชื่อว่านี่จะเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสุขให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรของเรา ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่ทำงานอย่างมีความสุข ชุมชนรอบข้าง และพันธมิตรของชีวาศรม

โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ชีวาศรมมีทิศทางการบริหารจัดการองค์กรให้เป็นรีสอร์ทด้านสุขภาพระดับนานาชาติ ที่เริ่มมาจากการขยับขยายธุรกิจบนหลักแห่งความพอดีและพอเพียง รวมถึงคำนึงถึงความเสี่ยงของการบริหารธุรกิจ จึงเป็นการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่แข็งแรงและมั่นคง

การจะพัฒนาองค์กรให้เกิดความยั่งยืนได้นั้นเราต้องรู้ก่อนว่าเป้าหมายขององค์กรคืออะไร ซึ่งเมื่อรู้แล้วว่า ป้าหมายหลักขององค์กรของเรา คือ การดูแลเรื่องความเป็นอยู่และชีวิตที่ดี หรือที่เราเรียกว่า Wellness เราเองก็ต้องเริ่มสร้างสมดุลจากภายในองค์กรก่อน  ปลูกให้เป็นจิตสำนึก หรือ DNA แล้วเดินหน้าปฏิบัติ ท้ายที่สุดเราจะส่งมอบคุณค่าเหล่านี้ผ่านกิจกรรมของเรา โดยเริ่มจากสิ่งที่เราสามารถลงมือทำได้อย่างเช่น การทำระบบบำบัดน้ำเสียในโรงแรม ที่สามารถนำน้ำกลับมาใช้งานได้อย่างน้อย 2 ครั้ง การใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดการฟุ่มเฟือย และการลดการสร้างปัญหามลภาวะ เป็นต้น นอกจากนั้นแนวทางการดำเนินงานขององค์กรในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน นับว่าเป็นการลงทุนที่เม็ดเงินมหาศาล แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และสามารถใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว สิ่งเหล่านี้จึงเป็นแนวทางการบริหารความเสี่ยงสำหรับอนาคตในยุคที่ทรัพยากรรรมชาติกำลังลดลง       

เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ สร้างสุขเพื่อสังคม

ศาสตราจารย์นายแพทย์เทพ หิมะทองคำ ประธานกรรมการโรงพยาบาลเทพธารินทร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลเทพธารินทร์เป็นโรงพยาบาลที่มีแพทย์ส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและเยียวยาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งหากย้อนกลับไปกว่า 3 ทศวรรษที่แล้ว อัตราการสูญเสีย ตั้งแต่อวัยวะ จนถึงเสียชีวิตในผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยคิดเป็นอัตราที่สูงมาก จากวิกฤตของการรักษาคนไข้โรคเบาหวานที่เกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ และไม่สามารถช่วยเหลือคนไข้ได้อย่างทันท่วงที จึงนำมาสู่แนวคิดของการสร้างสาขาอาชีพที่จะสามารถช่วยคนไข้ให้เกิดความรู้ และเท่าทันในเรื่องโรคเบาหวาน หรือโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้

ในช่วงแรเราต้องทำงานอย่างหนักเพื่อระดมทีมแพทย์และพยาบาลวิชาชีพเข้ามาทำงานด้วยกัน เริ่มตั้งแต่การจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับโรคเบาหวาน และการดูแลตัวเองให้กับคนไข้ โดยในระยะยาวเราต้องสร้างและพัฒนาบุคคลากรให้มีชุดความรู้ของเราเอง เพื่อยกระดับการดูแลคนไข้โรคเบาหวานให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม"

ศ.นพ.เทพ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลเทพธารินทร์สร้างบุคคลากร 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่สามารถสอนและให้ความรู้กับคนไข้ได้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและภาวะโรคแทรกซ้อน และกลุ่มผู้ดูแลเท้า เพื่อมุ่งหวังให้อัตราการถูกตัดขาในผู้ป่วยโรคเบาหวานลดลง พร้อมทั้งทำงานเชิงบูรณาการควบคู่ไปกับการสอนให้ผู้ป่วยรู้จักระมัดระวัง และดูแลตัวเองเมื่อมีอาการของโรคเบาหวานอย่างถูกวิธี จนในที่สุดก็พัฒนามาจนถึงการทำหลักสูตรวิชาชีพอย่างเป็นรูปธรรม และผลลัพธ์ปลายทางคือ ในระยะเวลาเพียง 4  ปี อัตราการตัดขาในผู้ป่วยเบาหวานลดลงได้มากถึง 80%

เราอาจจะไม่ใช่โรงพยาบาลใหญ่ แต่การเคลื่อนตัวในการทำงานของเราส่งผลต่อสังคมเป็นอย่างมาก แผนการทำงานขององค์กรจะใช้กิจกรรมเข้ามาสอดแทรกในกระบวนการทำงานต่างๆ เพื่อให้คนรู้จักและเข้าใจการป้องกันโรค โดยเฉพาะการรณรงค์เชิญชวนคนไข้ลุกขึ้นมาออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะนอกจากนั้นเรามองว่าเป้าหมายของการทำโรงพยาบาลไม่ใช่การทำกำไรสูงสุด หากแต่ในระยะยาวเราอยากเห็นคนเจ็บป่วยน้อยลง และรู้จักดูแลตนเอง โรงพยาบาลก็จะเป็นมากกว่าสถานพยาบาลที่ให้การรักษา แต่โรงพยาบาลจะเป็นหน่วยงานด้านสุขภาพที่ดูแล ให้คำแนะนำ และสร้างรอยยิ้มให้กับประชาชนได้ด้วย"

สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม จากกรณีศึกษาของภาคธุรกิจที่นำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนไปประยุกต์ใช้กับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจได้ในหนังสือ Thailand’s Sustainable Business Guide ซึ่งวางจำหน่ายที่ร้าน Kinokuniya และ Asia Books ในราคา 1,350 บาท